สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผังเมืองใหม่ ติดปมถนนแคบ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

นักวิชาการติง ผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่ขัดแย้งสูง ชี้กฎหมายระบุให้ก่อสร้างได้แต่ในทางปฏิบัติทำไม่ได้ ติดข้อกำหนดความกว้างถนน
ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท จำกัด (AREA) ร่วมกับโรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย จัดสัมมนาหัวข้อ “ผังเมืองใหม่กทม.กับทำเลปี 2555” มีนักวิชาการและนักวิเคราะห์จากทั้ง 2 องค์กรร่วมเป็นวิทยากร วิเคราะห์แนวโน้มกฎหมายผังเมืองรวมกทม.ฉบับใหม่ที่กำลังจะประกาศใช้ และแนวโน้มทำเลที่จะเปลี่ยนไป

นายอัศวิน พิชญโยธิน ประธานกรรมการที่ปรึกษา โรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (กทม.) ฉบับใหม่มีข้อขัดแย้งในตัวเองมาก โดยเฉพาะเรื่องข้อกำหนดความกว้างถนนในการก่อสร้างอาคาร เช่น พื้นที่สีเหลือง (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย) พื้นที่ ย.2 ที่ผังเมืองรวมกทม.ฉบับปี 2549 ไม่อนุญาตให้สร้างทาวน์เฮ้าส์ แม้ร่างผังเมืองใหม่จะอนุญาตให้สร้าง แต่ก็กำหนดไว้ว่าพื้นที่ถนนต้องมีขนาดกว้าง 12 เมตร ซึ่งพื้นที่ ย.2 อย่างถนนร่มเกล้าแทบไม่มีซอยที่มีความกว้างดังกล่าว จึงกลายเป็นว่า ถ้าจะสร้างทาวน์เฮาส์ต้องติดริมถนนใหญ่ พื้นที่สีเหลือทำเลในซอยจึงสร้างไม่ได้

 “ความกว้างถนนสำหรับก่อสร้างอาคารหลายประเภทที่กำหนดเพิ่มขึ้น ไม่สอดคล้องกับสภาพถนนจริง เช่น ในย่านสุขุมวิท ซึ่งเป็นทำเลที่นิยมก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ร่างผังเมืองใหม่กำหนดให้สร้างได้เมื่อมีความกว้างถนน 16 เมตรขึ้นไป แต่อยากรู้ว่าสุขุมวิทมีซอยที่มีขนาดกว้างถึง 16 เมตรอยู่กี่ซอย ผมมั่นใจว่ามีน้อยมาก ตอนนี้พื้นที่สุขุมวิทและพื้นที่สีเหลืองเสียศักยภาพไปแล้ว”

 นอกจากนี้ ร่างผังเมืองฉบับใหม่ยังไม่สอดคล้องกับจังหวัดอื่นๆ ในปริมณฑล โดยพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนที่ติดกับจังหวัดนนทบุรี มีอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (เอฟเออาร์) ต่ำเพียง 2.5 เท่า ทำให้สร้างอาคารได้ไม่สูง ราคาคอนโดมิเนียมในแถบดังกล่าวจึงสูงถึง 80,000 บาทต่อตร.ม. ขณะที่เมื่อข้ามไปถึงนนทบุรี มีเอฟเออาร์ได้ 10 เท่า ทำให้สร้างอาคารได้สูงกว่า ราคาคอนโดมิเนียมในนนทบุรี จึงราคาอยู่ที่ 25,000 บาทต่อตร.ม. เท่านั้น

 อย่างไรก็ตาม ในร่างผังเมืองฉบับใหม่ มีระบุบทเฉพาะกาลในลักษณะที่ไม่เคยมีมาก่อน คือ มาตรา 58 ใจความว่า ผู้ประกอบการที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้าง ก่อนจะประกาศบังคับใช้ผังเมืองฉบับใหม่ ให้เจ้าหน้าที่พิจารณาตามเกณฑ์ของผังเมืองฉบับปี 2549 ดังนั้น ผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะก่อสร้างอาคารในพื้นที่ ที่จะได้รับผลกระทบจากผังเมืองฉบับใหม่ ควรเร่งยื่นขออนุญาตตั้งแต่ขณะนี้ เพราะแม้จะไม่ได้รับอนุญาตก่อสร้างก่อนผังเมืองใหม่บังคับใช้ แต่ก็ถือว่ายื่นขออนุญาตไปแล้ว เข้าข่ายตามมาตรา 58  อย่างไรก็ดี มาตรานี้ อาจจะถูกตัดทิ้งในขั้นตอนก่อนเซ็นอนุมัติได้

แนวโน้มเอกชนระดมขยายถนนเอง
 ด้าน นายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด กล่าวว่า จากกรณีผังเมืองฉบับใหม่ มีแนวโน้มจะกำหนดเกณฑ์ความกว้างถนนเพิ่มขึ้น เชื่อว่าผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่จะรวมตัวกันตัดถนนใหม่ หรือร่วมกันเวนคืนพื้นที่ในซอยบางส่วนให้สามารถสร้างถนนในซอยตามเกณฑ์ใหม่ได้ โดยขณะนี้ทราบมาว่ามีผู้ประกอบการบางกลุ่ม เริ่มเตรียมตัวทำดังกล่าวแล้ว

 สำหรับบริเวณที่จะได้รับผลกระทบทันที เช่น พื้นที่สีน้ำตาล (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก) ย.9-ย.10 ทำเลพร้อมพงษ์ บริเวณดังกล่าวเคยกำหนดเกณฑ์การก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่พิเศษ (10,000 ตร.ม.ขึ้นไป) ว่ามีความกว้างถนนที่ 10 เมตร แต่ฉบับใหม่กำหนดไว้ที่ 16 เมตร ซึ่งซอยในแถบพร้อมพงษ์ทั้งซอยสุขุมวิท 39 และ 49 นั้น มีความกว้างเพียง 10.60 เมตร และ 15.00 เมตรตามลำดับ

 ขณะที่ นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท จำกัด กล่าวว่า ร่างผังเมืองฉบับใหม่เป็นการกำหนดโดยพิจารณารวมสาธารณูปโภคในอนาคต แต่ในความเป็นจริง ไม่สามารถตอบได้ว่าสาธารณูปโภคเช่นรถไฟฟ้าจะเสร็จเมื่อใด
 อีกทั้ง ผังเมืองยังกำหนดอัตราส่วนเอฟเออาร์เอาไว้ต่ำ ขณะที่กำหนดอัตราส่วนของที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวม (โอเอสอาร์) และเกณฑ์ความกว้างถนนไว้สูง จึงเป็นการร่างผังเมืองที่ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นจริง

 นอกจากนี้ ผังเมืองดังกล่าวยังเป็นการผลักให้คนออกนอกเมือง เนื่องจากที่อยู่อาศัยในเมืองจะราคาสูงขึ้น ทำให้ประชาชนไม่สามารถหาที่อยู่อาศัยราคาถูกในเมืองได้ จนต้องออกนอกเมืองในที่สุด และผังเมืองยังไม่ได้ระบุถึงการป้องกันน้ำท่วมด้วย จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนร่างผังเมืองอีกครั้งหนึ่ง


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ผังเมืองใหม่ ติดปมถนนแคบ

view