สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภาษีคาร์บอน ชนวนบนฟ้า ก่อสงครามการค้าโลก

จาก โพสต์ทูเดย์

นอกจากวิกฤตหนี้สาธารณะที่จะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดแล้ว ภาษีคาร์บอนที่สหภาพยุโรป (อียู)

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

นอกจากวิกฤตหนี้สาธารณะที่จะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดแล้ว ภาษีคาร์บอนที่สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศให้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา ก็เป็นเผือกร้อนที่ไม่อาจละสายตาหรือมองข้ามได้เช่นกัน

เพราะแม้จะได้รับเสียงสนับสนุนจาก 27 ชาติสมาชิกเป็นอย่างดี แต่ก็เรียกเสียงประณามจากบรรดาธุรกิจสายการบินส่วนใหญ่ทั่วโลก และตบท้ายด้วยเสียงคัดค้านแน่วแน่จาก 26 ประเทศ ซึ่งรวมถึงชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐ จีน รัสเซีย และอินเดีย จนถึงขั้นที่จะพบปะหารือกันอย่างจริงจังเพื่อหาแนวทางต่อต้านการเก็บภาษี คาร์บอนของอียูในวันที่ 21 ก.พ.นี้ ที่กรุงมอสโก

เหตุผลหลักที่ประเทศส่วนใหญ่ไม่เอาภาษีคาร์บอนกับยุโรปด้วยทั้งๆ ที่อียูยืนยันหนักแน่นว่าส่งผลดีในการอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เนื่องจากลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อน และสภาพอากาศแปรปรวนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะภาษีดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนค่าใช้จ่ายของธุรกิจการบิน

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นหลายสายการบินได้ประเมินตัวเลขคร่าวๆ แล้วพบว่า ภาษีดังกล่าวจะทำให้สายการบินมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงถึง 1.75 หมื่นล้านยูโร ในช่วง 8 ปีข้างหน้า

 

ขณะที่นักวิเคราะห์ของรอยเตอร์สระบุว่า เมื่อคำนวณตามกฎระเบียบการบินใหม่ของอียูจะพบว่าสายการบินต่างๆ ต้องจ่ายค่าคาร์บอนสูงถึง 505 ล้านยูโร เฉพาะในปี 2555 เพียงปีเดียว

เหตุผลประการต่อมาก็คือ การจัดเก็บภาษีคาร์บอน หรือที่เรียกกันว่า ระบบจัดการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme ETS) นี้ เป็นกฎข้อบังคับที่หลายประเทศเห็นว่าไม่เป็นธรรมอย่างมาก

พูดแบบไม่ซับซ้อนก็คือ ระบบการจัดเก็บภาษีคาร์บอนจะมัดมือชกเก็บจากทุกเที่ยวบินที่บินเข้าออกจาก ประเทศยุโรป ในขณะที่ประเทศที่ไม่ใช่อียูไม่ได้จัดเก็บ และยังไม่มีการคำนึงถึงระยะทางของสายการบิน ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายของแต่ละสายการบินไม่เท่ากัน จนส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน

โก๊ะชุนปง ประธานบริหารสิงคโปร์แอร์ไลน์ส อธิบายว่า เมื่อเปรียบเทียบสิงคโปร์แอร์ไลน์สที่บินตรงจากสิงคโปร์ไปยังยุโรป กับสายการบินที่บินเข้ายุโรปด้วยระยะทางที่ใกล้กว่า สายการบินดังกล่าวก็ย่อมมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าสิงคโปร์แอร์ไลน์ส

ความไม่พอใจที่อียูเดินหน้าเก็บภาษีคาร์บอนดังกล่าวโดยไม่ฟังเสียงทัดทาน จากฝ่ายใด บวกกับการที่นำมาบังคับใช้โดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริงในการดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้หลายประเทศจำต้องหามาตรการตอบโต้ที่สาสมเท่าเทียมกัน

เป็นบรรยากาศตึงเครียดที่ ทอม เอ็นเดอร์ส ประธานกรรมการบริหาร แอร์บัส หนึ่งในผู้ผลิตเครื่องบินโดยสารรายใหญ่ของโลกอดวิตกไม่ได้ว่าภาษีคาร์บอนได้ กระตุ้นให้สงครามการค้าระหว่างประเทศเกิดขึ้นแล้ว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือประเทศจีน โดยเมื่อปีที่แล้วจีนซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของแอร์บัสได้เลื่อนการเซ็นสัญญา ซื้อเครื่องบินแอร์บัส เอ 380 จำนวน 10 ลำ มูลค่า 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย และไม่เอาภาษีคาร์บอนกับอียูด้วย

แม้ว่าแอร์บัสจะไม่ได้รู้เห็นกับการตัดสินใจเรื่องภาษีคาร์บอนของอียู แต่เพราะเป็นบริษัทสัญชาติอียูเลยทำให้ต้องพลอยโดนฟ้าโดนฝนอย่างไม่อาจหลีก เลี่ยงได้ ทั้งๆ ที่จีนคือลูกค้ารายใหญ่รายสำคัญ ซึ่งเป็นตลาดที่บรรดาผู้ผลิตเครื่องบินทั้งแอร์บัสและโบอิ้งคาดการณ์ว่าจะ เติบโตเป็นผู้ซื้ออันดับ 2 รองจากสหรัฐในช่วงปี 2554-2573 เลยทีเดียว

เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจีนยังได้แบนสายการบินของตนเองที่นำภาษีคาร์บอนของอี ยูมาใช้โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาล พร้อมๆ กับการเดินหน้าเก็บภาษีคาร์บอนจากสายการบินที่บินจากยุโรปเข้ามายังจีน

โทนี ไทเลอร์ อธิบดีสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไอเอทีเอ) กล่าวว่า การตอบโต้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ระหว่างรัฐบาล ได้ผลักให้ธุรกิจสายการบินทั้งหมดอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก จนทำให้สายการบินซึ่งมีแนวโน้มชะลอการเติบโตจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาของโลก ย่ำแย่ลงไปอีก ซึ่งแน่นอนว่าหมายรวมถึงธุรกิจสายการบินของอียูเองด้วย

เรียกได้ว่ารายได้แทบไม่เข้า รายจ่ายยังต่อคิวประดังเข้ามา

อย่างไรก็ตาม ที่น่าวิตกและน่ากลัวยิ่งกว่าก็คือ ความจริงที่ว่าอียูมาไกลเกินกว่าที่จะหันหลังกลับเพื่อให้ตัวเองขายหน้า ส่งผลให้บรรดานักวิเคราะห์มองว่าอียูมีแต่ต้องยืนกรานเดินหน้าต่ออย่างเดียว และทำใจยอมรับกับผลลัพธ์ดุเดือดที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ภาษีคาร์บอน ชนวนบนฟ้า ก่อสงครามการค้าโลก

view