สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดคำให้การโต้งถอนหายใจเจอไล่ซักพรก.กู้เงิน

เปิดคำให้การโต้งถอนหายใจเจอไล่ซักพรก.กู้เงิน

จาก โพสต์ทูเดย์

กรณ์-คำนูณชำแหละพ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูย้ำไม่มีความจำเป็น‘กิตติรัตน์’โดนตุลาการไล่ซักถึงกับถอนหายใจยันไม่โอนภาระให้ประชาชน

องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำวินิจฉัยคำร้องของนายกรณ์ จาติกวณิช สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และคณะ และ นายคำนูณ สิทธิสมาน สว.สรรหา และคณะ กรณีพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบ บริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศพ.ศ.2555 และพ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินพ.ศ.2555 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรค1และ2 หรือไม่ ในวันที่ 22 ก.พ.เวลา 14.00น.

สำหรับการไต่สวนเพื่อฟังคำชี้แจงของศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง โดยเริ่มที่นายกรณ์ ชี้แจงว่า สำหรับพ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯยังไม่มีความจำเป็นอย่างชัดเจน เพราะรัฐสภาเพิ่งได้ผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2555 ซึ่งในกฎหมายได้จัดสรรงงบประมาณ 6.8 หมื่นล้านบาทเพื่อชำระดอกเบี้ยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯเอาไว้  จึงไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการแหล่งเงินมารับหนี้ เม็ดเงินจัดสรรไว้ในหมวดบริหารหนี้สาธารณะ

"การวัดระดับหนี้สาธาณะ วัดโดยรายได้ประเทศ ปัจจุบันเมื่อเทียบกับจีดีพี 41% ต่ำมากถ้าเทียบกับหลายๆประเทศ ที่สำคัญ คือ ในส่วนของรัฐบาลได้บริหารภายใต้กรอบการยั่งยืนทางการคลังไม่เกิน 60% ส่วนต่าง 20 % กู้ได้อีก2ล้านล้านบาทยังอยู่ในกรอบของความยั่งยืน รัฐบาลสามารถกู้ยืมได้อยู่แล้ว ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องเพดานทางการคลัง โดยไม่กระทบความเชื่อมั่นไม่ต้องซ่อนตัวเลขให้ต่ำกว่าความเป็นจริง"นายกรณ์ กล่าว

นายกรณ์ กล่าวว่า ภาพรวมของพ.ร.ก.โอนหนี้ 1.14 ล้านล้านบาทลักษณะนี้มีผลข้างเคียงหลายประเด็นมีจุดอ่อนตัวกฎหมายมีผลกระทบ ความมั่นคงเศรษฐกิจ คือ การลดการเรียกเก็บเงินเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝากเหลือเพียง 0.01% จะส่งผลต่อระดับความเชื่อมั่น โดยเฉพาะหากเกิดสถานการณ์วิกฤตจะมีการดูแลอย่างไร รัฐบาลจะต้องค้ำประกันให้กับสถาบันคุ้มครองเงินฝากหรือไม่ เพราะตามหลักกองทุนสถาบันคุ้มครองเงินฝากควรมีอยู่ในระดับ 2 แสนล้านบาทซึ่งตอนนี้มีอยู่ 8 หมื่นล้านบาท แน่นอนว่าถ้ามีการลดการนำส่งเข้ามายังกองทุนคุ้มครองเงินฝากจะทำให้ยอดตัว เลขลดลง

"ปัญหาในระยะยาวภาระหนี้จะส่งต่อไปยังผู้กู้เงินในดอกเบี้ยสูงขึ้น ต้นผู้ประกอบการสูงง ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน เช่นเดียวกับผู้มีเงินออม 60 ล้านบบัญชี มีโอกาสได้รับดอกเบี้ยดลดลง ส่งผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจในครัวเรือน" นายกรณ์ กล่าว

นายกรณ์ กล่าวว่า สำหรับพ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทเพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำ ปรากฎว่ายังไม่มีความชัดเจนในแผนการใช้เงินว่าจะมีการลงทุนตามยุทธศาสตร์ อย่างไร โดยมีการให้สัมภาษณ์จาก นายสมิทธ ธรรมสโรช คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ว่าการเสนอแผนของกยน.เมื่อวันที่ 26 ม.ค. เช่นดียวกับ นายปราโมทย์ ไม้กลัด กรรมการกยน.ระบุเช่นกันว่าไม่มีแผนชัดเจน กยน.กรอบกว้างๆไม่มีความชัดเจนแท้จริง ไม่มีความชัดเจนใดๆ

นายคำนูณ ซึ่งได้ทำคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเฉพาะพ.ร.ก.โอนหนี้ ชี้แจงว่า รัฐบาลยังไม่มีความจำเป็นต้องลดภาระดอกเบี้ยในหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เพื่อเพิ่มเพดานในการกู้เงินฟื้นฟูน้ำท่วมเพราะปัจจุบัน คณะรัฐมนตรีมีวงเงินงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยอยู่แล้ว หรือดำเนินการไปพลางก่อน ได้

สว.สรรหา กล่าวว่า งบประมาณดังกล่าว ประกอบด้วย งบประมาณการเยียวยาฟื้นฟูและป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ จำนวน 1.2 แสนล้านบาท เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจำนวน  6.6 หมื่นล้านบาทซึ่งอยู่ภายใต้พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย รวมทั้งยังมีพ.ร.ก.ที่ผ่านรัฐสภาไปอีก 2 ฉบับก่อนหน้านี้ เท่ากับว่าให้รัฐบาลมีเงินงบประมาณใช้ถึง 7 แสนล้านบาท แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีเงินเพียงพอในการดำเนินการได้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องตราพ.ร.ก.ฉบับนี้แต่อย่างใด

"ในทางการเมืองรัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภาฯ ดังนั้น การเสนอในสภาฯจึงกระทำได้ตลอด ไม่มีอุปสรรคขัดข้อง" นายคำนูณ กล่าว

ต่อมา นายกิตติรัตน์ ในฐานะผู้ถูกร้องได้ทำการชี้แจง ซึ่งในช่วงแรกนายกิตติรัตน์ อธิบายถึงรายละเอียดของรัฐธรรมนูญมาตรา 184 เกี่ยวกับอำนาจในการตราพ.ร.ก.ปรากฎว่านายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้แย้งขึ้นมาทันทีว่า "ประทานโทษท่านรองนายกฯเพราะตอนนี้ประเด็นมันแคบเข้ามาแล้วหลังจากผู้ร้อง ได้ชี้แจงมาก่อนหน้านี้ ตอนนี้เป็นโอกาสชี้แจงของท่าน ไม่ต้องอธิบายรัฐธรรมนูญให้พวกเราได้เข้าใจอีกครั้งหนึ่ง นี่ไม่ได้เป็นการประท้วงในสภาฯครับ แต่เป็นการเตือนท่านเพื่อรักษาเวลาเท่านั้น กรุณาชี้แจงในส่วนของผู้ร้อง" ซึ่งนายกิตติรัตน์ เกิดอาการชะงักกลางคันก่อนจะชี้แจงต่อ

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ยอมรับว่าประเทศไทยมีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีประมาณ 4.2ล้านล้านบาท และสามารถกู้เงินได้เพิ่มขึ้นเพราะยังหนี้สาธารณะยังไม่ถึง 60%ของจีดีพี แต่ถ้าเราไม่มีการจัดการอะไรและมีความจำเป็นต้องกู้เงินอยู่จะส่งผลให้มี หนี้สาธารณะถึง 50% โดยในนั้นจะมีหนี้ส่วนหนึ่งอย่างมีนัยสำคัญ คือ หนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จำนวน 1.14 ล้านบาท จึงเล็งเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ควรมีการจัดบริหารหนี้ส่วนนี้อย่างเป็นระบบ เพราะรัฐบาลที่ผ่านมาไม่เคยมีการบอกว่าจะลดหนี้ก้อนหนี้อย่างไร

"หนี้ส่วนนี้เป็นของประเทศไม่มีความประสงค์ยัดเหยียดให้เป็นหนี้ของหน่วย งานใดเพียงลำพัง ส่วนการลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนสถาบันคุ้มครองเงินฝาก กระทรวงการคลังได้ปรึกษากับธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว โดยเล็งเห็นว่าสถาบันการเงินของไทยในเวลานี้มีความเข้มแข็งภายใต้การดูแลของ ธนาคารแห่งประเทศจนเงินในกองทุนของสถาบันมีสูงกว่า 8 หมื่นล้านบาท จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเอาเงินจำนวนมากขนาดนั้นไปกองเอาไว้ ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝากก็ยังเปิดโอกาสให้สามารถกลับมาเรียกเก็บเงินจากธนาคาร ได้อยู่แล้วในอัตราไม่เกิน 1%" นายกิตติรัตน์ กล่าว

จากนั้น นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซักถามว่า เมื่อมีการโอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรับผิดชอบ หนี้ส่วนนี้ยังไม่พ้นความเป็นหนี้สาธารณะใช่หรือไม่

นายกิตติรัตน์ ตอบว่า ยังเป็นหนี้สาธารณะ

นายวสันต์ ถามอีกว่า หมายความว่าการจะกู้เงินตามพ.ร.ก.สองฉบับที่ผ่านไปแล้ว (พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ.2555 และ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ.2555) รวมไปถึงพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการ น้ำและสร้างอนาคตประเทศ 3.5 แสนล้านบาทด้วย จำเป็นต้องผลักภาระการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นของหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไปให้พ้นก่อนถูกต้องหรือไม่เพื่อให้ภาระงบประมาณรายจ่ายในเรื่องนี้ลดลง

นายกิตติรัตน์ ชี้แจงว่า ทำให้รัฐบาลไม่จำเป็นต้องตั้งงบประมาณในปีงบประมาณ 2556 ต้องชำระดอกเบี้ยในส่วนนี้เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้ดูแล และการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมงวดแรกจะเริ่มในวันที่ 31 ก.ค.2555  ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีความพร้อมในการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมไปสมทบ กับผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯเพราะมีกองทุนเพื่อการ ฟื้นฟูฯมีทรัพย์สินที่ดูแลอยู่ส่วนหนึ่งและสามารถทำให้เกิดผลตอบแทนในจำนวน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินเอาไว้ที่ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี

นายวสันต์ ถามอีกว่า ตามหลักฐานที่ปรากฎรัฐบาลเสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 เข้าสู่สภาฯในเดือนพ.ย.2554 หลังจากนั้นมีช่วงเวลาปิดสมัยประชุมสามัญทั่วไปจนถึงปลายเดือนธ.ค.ทำไมรัฐ บาาลไม่พิจารณาออกพ.ร.ก.ในช่วงนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อครหาว่าชิงออก พ.ร.ก.ทั้งๆที่สภาเปิดสมัยประชุมอยู่ เพราะถ้าออกพ.ร.ก.ช่วงสภาปิดเสียงครหาจะน้อยกว่านี้

นายกิตติรัตน์ กล่าวพร้อมถอนหายใจบางช่วงว่า "เออ...ผมเองไม่ใช่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองครับ แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่ดำเนินการไม่ได้คำนึงถึงแนวคิดทางการเมืองเป็นหลัก แต่เป็นการดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นใจทางเศรษฐกิจ เรื่องของเงื่อนเวลาขอเรียนตามจริงว่าผมเองได้พูดต่อสาธารณชนหลายครั้งว่า การป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดอุทกภัยซ้ำมีความจำเป็นต้องลงทุนด้วยเงินหลายแสน ล้านบาท คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาความเสียหายจากการสำรวจของธนาคารโลกและสภาพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดังนั้น เรื่องเงื่อนเวลาจึงไม่คำนึงว่าถ้าจะไปเร่งตรงนั้นแล้วจะเกิดผลประโยชน์ที่ ดีกว่าในทางการเมืองอะไร"

นายวสัตน์ ถามเพิ่มเติมว่า ถ้าออกพ.ร.ก.ช่วงปิดสภาฯจะมีข้อแก้ตัวได้แต่การที่มาออกพ.ร.ก.ทั้งๆที่สภา เปิดอยู่เหมือนไม่ให้ความเคารพฝ่ายนิติบัญญัติเลย ตรงนี้ทำไมไม่คิดออกตั้งแต่ตอนนั้น เพราะอุทกภัยก็เห็นๆกันอยู่ กว่าจะถึงสิ้นปี 2554 น้ำในบางแห่งก็ยังไม่แห้ง ซึ่งเห็นสภาพความเสียหายและวิธีการป้องกันมาตั้งแต่ต้นแล้ว กรุณาตอบตรงนีดนึงว่าทำไมตอนนั้นจึงไม่คิดในช่วงเดือนธ.ค.2554 ทั้งเดือน

นายกิตติรัตน์ ถอนหายใจและชี้แจงอีกครั้งว่า การดำเนินการคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำอย่าง ยั่งยืน (กยน.) ได้มีการประชุมระดับผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ซึ่งการที่ทำให้เกิดกรอบที่ชัดเจนว่าเรามีความจำเป็นจะต้องลงทุนด้วยวงเงิน งบประมาณเท่าไหรมีความจำเป็นที่ต้องมีคำอธิบาย ถ้าเราเร่งดำเนินการอะไรถ้ายังไม่เกิดความแน่ชัดว่าจะเป็น3.5 แสนล้านบาท หรือตัวเลขอื่นๆ และเสนอตัวเลขสูงเกินความจำเป็นจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการสูญเสียความ เชื่อมั่นได้เพราะมองว่ารัฐบาลชุดนี้อยากจะใช้เงินฟุ่มเฟือย หรือ การเสนอตัวเลขต่ำไปและในที่สุดต้องมาแก้ไขในภายหลังย่อมจะสูญเสียความเชื่อ มั่นอีก

"เรื่องนี้ผมได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที 27 ธ.ค.ไม่ได้มีความเข้าใจหรือความชำนาญในเรื่องของการเสนอในช่วงสภาปิดหรือสภา เปิดแต่อย่างใดด้วยความเคารพ" นายกิตติรัตน์ กล่าว


ศาลรธน.คึกคัก 'กรณ์'ยังมั่นใจออกพ.ร.ก.ไร้เหตุผล


เปิด!ปากคำสองฝ่ายแจง'2พ.ร.ก.'ศาลนัดชี้ขาด22ก.พ.


'อภิสิทธิ์'ซัด'กิตติรัตน์'รับเองไม่กระทบหนี้สาธารณะ


'กิตติรัตน์'ปัดตอบลาออก หากศาลชี้พ.ร.ก.ขัดรธน.


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : เปิดคำให้การ โต้ง ถอนหายใจ เจอไล่ซัก พรก.กู้เงิน

view