สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รีดค่าต๋งแบงก์รัฐ0.47%แขนขาลีบ บีบศก.รากหญ้า

จาก โพสต์ทูเดย์

ผลการเจรจาระหว่างตัวแทน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย กิตติรัตน์ ณ ระนอง

โดย...กนกวรรณ บุญประเสริฐ

ผลการเจรจาระหว่างตัวแทน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย ที่ได้ข้อสรุปมาว่า ธนาคารทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือธนาคารรัฐ จะต้องถูกเรียกเก็บค่าต๋งในอัตราเท่ากัน 0.47% ของฐานเงินฝากนั้น ก่อให้เกิดแรงสะเทือนต่อระบบเศรษฐกิจไทยไม่น้อย

เพราะผลที่ตามมาคือ ธนาคารรัฐเจอเก็บค่าต๋งเข้าไปเต็มเปา 1.5 หมื่นล้านบาท เมื่อคิดจากฐานเงินฝากร่วม 3 ล้านล้านบาท

ขณะที่ธนาคารพาณิชย์เจอรีดค่าต๋งเพิ่มขึ้นอีกแค่ 0.07% คิดเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาประมาณ 4,200 ล้านบาท

เพราะในอดีตนั้น ธนาคารพาณิชย์ต้องจ่ายค่าต๋งเพื่อดูแลผู้ฝากเงินกันอยู่แล้ว 0.4%

งานนี้ถ้าเปรียบให้ กิตติรัตน์ เป็นนักเจรจาต่อรอง ก็ถือว่าพ่ายแพ้หลุดลุ่ย

ถ้าเป็นการขึ้นเวทีชกมวยก็ถือว่า “กิตติรัตน์” เสียเชิงมวย เมาหมัดจนแพ้น็อกแบบราบคาบพนาสูรให้กับข้อเรียกร้องของภาคเอกชน

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ “กิตติรัตน์” มีท่าทีแข็งกร้าวต่อข้อเสนอของธนาคารเอกชนที่เสนอให้เก็บค่าต๋งธนาคารรัฐ ด้วยข้อความโดนใจว่า “ถ้าจะพูดให้แรงก็คืออย่าหวัง” เพราะธนาคารรัฐไม่ได้อยู่ในความคุ้มครองของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

การเปลี่ยนใจอย่างกะทันหันชนิด 360 องศา โดยให้ธนาคารรัฐจ่ายเงินค่าต๋งพรวดเดียว 0.47% เพื่อนำเงินส่งเข้ากองทุนพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นกองทุนที่ยังไม่มีกระทั่งวัตถุประสงค์ หลักการใช้เงิน ถือว่าเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ของขุนคลังหน้าใหม่ไฟคุโชน

ว่ากันว่างานนี้บรรดานายธนาคารเอกชนจะพากันหัวเราะกันเริงร่า เพราะถือว่าได้กำจัดจุดแข็งของคู่แข่งที่น่ากลัวไปเปลาะหนึ่ง ให้มีต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะธนาคารออมสิน

เพราะในช่วง 23 ปีที่ผ่านมา ธนาคารออมสินถือว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการที่เติบโตรวดเร็วจนน่ากลัว

ทั้งในแง่ขนาดสินทรัพย์ เงินให้สินเชื่อ และเงินรับฝากที่โตทะลุหลัก 1 ล้านล้านบาท ขยายตัวจนฉุดไม่อยู่

เพราะพิษของการคุ้มครองเงินฝากที่ลดลงทำให้บรรดาเศรษฐีเงินเย็นที่วิตก กังวลในเรื่องความมั่นคงทั้งหลายพากันขุดเงินออกมาจากตุ่ม ขนออกไปจากไห แห่เอาเงินมาฝากธนาคารออมสินกันเพียบ

สะท้อนได้จากยอดขายสลากปีหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท

ผลจากการกระทำของ “กิตติรัตน์” กำลังก่อให้เกิดความวุ่นวายไปทั้งระบบ เพราะการที่ไปออกเกณฑ์ให้ธนาคารรัฐจ่ายค่าต๋งในอัตรา 0.47% ทั้งๆ ที่ในอดีตไม่เคยเรียกเก็บธนาคารพาณิชย์ก็มีกำไรกันเป็นแสนล้านบาท เมื่อมีการเก็บรวมกันถึงปีละ 1.5 หมื่นล้านบาท ก็วุ่นวายไปทั้งระบบ

ความวุ่นวายอันดับแรกที่จะเกิดเริ่มจากกำไรของธนาคารรัฐที่ต้องหดหายไป นำไปสู่การปรับตัวครั้งใหญ่ ทั้งด้านการบริหารจัดการที่ต้องลดต้นทุนทุกรูปแบบ และหันมาหารายได้จากค่าธรรมเนียมอื่นเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์

ที่สำคัญธนาคารรัฐจะเลิกการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เลิกช่วยเหลือคนยากจนให้เข้าถึงสินเชื่อ เพราะคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการปล่อยกู้แล้วจะเป็นหนี้เสีย ซึ่งจะมีผลต่อการตั้งสำรอง ซึ่งจะเข้าไปดูดกำไรให้ลดน้อยลงไปอีก

ภาพที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ไปคือ “ธนาคารรัฐ” ซึ่งเดิมเคยเป็นแขนขาของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนัก หน่วงตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่รัฐบาลไทยรักไทยนำคำว่าประชานิยมมาสู่รากเหง้าของสังคมไทย

รวมถึงรัฐบาลอื่นๆ ที่ล้วนเลือกใช้นโยบายกึ่งการคลัง คือการดันสินเชื่อของธนาคารรัฐปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 12 ล้านล้านบาท ออกมาหมุนเวียนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทดแทนเงินงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายโครงการได้ช่วยให้คนยากจนลืมตาอ้าปากได้ อย่างเช่น โครงการพักหนี้เกษตรกร โครงการแก้หนี้นอกระบบ การให้สินเชื่อในโครงการธนาคารประชาชน สินเชื่อแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ และล่าสุด ธนาคารออมสินก็สนองนโยบายรัฐบาลแบบสุดฤทธิ์สุดเดช ด้วยการถูกสั่งให้ปล่อยกู้ให้นิคมอุตสาหกรรมที่จมน้ำ 1.5 หมื่นล้านบาท นาน 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 0.01% โดยไม่มีหลักประกัน เพื่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำและระบบป้องกันน้ำท่วม ซึ่งล่าสุดได้ข่าวว่าจะมีการบีบให้ธนาคารออมสินขยายเวลาปล่อยกู้เป็นนาน 15 ปี

ธุรกรรมแบบนี้ ธนาคารพาณิชย์เคยออกมาช่วยเหลือสังคม หรือแม้กระทั่งลูกค้าตัวเองบ้างหรือไม่

นี่คือสิ่งที่กิตติรัตน์ควรจะปกป้องธนาคารรัฐ และชี้แจงทำความเข้าใจให้ธนาคารพาณิชย์รับทราบในบทบาทหน้าที่ของธนาคารรัฐ ที่จำเป็นต้องได้รับสิทธิพิเศษเรื่องต้นทุนทางการเงิน เพื่อชดเชยกับเรื่องที่ต้องช่วยเหลือสังคม

หรืออย่างกรณีของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ถูกสั่งให้เข้าแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรตามนโยบายรัฐบาลเป็นเวลานานมากกว่า 10 ปี จนรัฐเป็นหนี้ค้างชำระกับ ธ.ก.ส.มากมายกว่า 1.05 แสนล้านบาทเข้าไปแล้ว

ถามว่าการทำหน้าที่สนองนโยบายช่วยเหลือสังคม แต่กลับถูกกำกับด้วยหลักเกณฑ์เดียวกับเอกชน แล้วจะให้ธนาคารรัฐเดินหน้าอย่างไรต่อไป

ผลเสียอีกข้อหนึ่งที่จะเกิดต่อมาคือ เศรษฐกิจรากหญ้า ซึ่งเป็นฐานใหญ่ของประเทศจะหยุดชะงักลงไปไม่น้อย

เพราะเหล่าธุรกิจเอสเอ็มอี พ่อค้าแม่ค้า คนยากจน คงจะเข้าถึงสินเชื่อลำบากมากขึ้น

เพราะธนาคารรัฐพิจารณาสินเชื่อเข้มงวดขึ้น กู้ได้ยากมากขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อธนาคารรัฐแต่ละแห่งมีภาระต้องส่งค่าต๋ง ผลคือรายได้เงินนำส่งของรัฐบาลจะต้องลดไปด้วย

ดังนั้น การทำกรอบงบประมาณปี 2556 ที่กำลังดีดลูกคิดอยู่นี้ อาจต้องหักรายได้เงินนำส่งของธนาคารรัฐลงหรือไม่ ซึ่งอาจจะกระทบต่อการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นได้

ประเด็นที่ควรจะพิจารณาคือ รัฐบาลจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร ให้กลไกขับเคลื่อนต่อไปในการดำเนินนโยบายกึ่งการคลังเพื่อผลักดันเศรษฐกิจ ฐานราก

อย่างไรก็ตาม เรื่องการเก็บค่าต๋งธนาคารรัฐตามแนวคิดของ “กิตติรัตน์” ยังไม่สะเด็ดน้ำ เพราะยังไม่รู้ว่าจะไปลงเอยที่จุดไหน เพราะล่าสุดได้ข่าวว่าทางเอสเอ็มอีแบงก์อาจจะไม่ต้องเสียค่าต๋งนี้ เพราะไม่ได้เปิดเคาน์เตอร์รับฝากเงินจากรายย่อย

ขณะเดียวกันยังมีคำถามอีกมากมายที่รอคำตอบ เช่นเรื่องจะคิดค่าต๋งจากเงินฝากฐานเดิมทั้งหมด หรือมาเริ่มต้นคิดจากฐานเงินฝากใหม่ ฐานเงินฝากจากสลากจะคิดค่าต๋งหรือไม่

ที่สำคัญต้องแก้ พ.ร.บ.ของธนาคารแต่ละแห่ง เพื่อเปิดช่องให้สามารถจ่ายค่าต๋ง 1.5 หมื่นล้านบาทนี้ได้ ซึ่งระยะเวลาที่เหลือก่อนเริ่มต้นเก็บเงินในเดือน ก.ค.นี้ จะทันแก้ พ.ร.บ.หรือไม่

รวมถึงความชัดเจนของการจัดตั้งกองทุนพัฒนาประเทศ ที่ยังเป็นแค่มโนภาพที่กำลังถูกโจมตีว่าเป็นการไซฟอนเงินจากธนาคารรัฐเอามา ตั้งกองทุนนอกงบประมาณถลุงกันเล่นมือเติบหรือไม่

เพราะถ้ากองทุนพัฒนาประเทศไม่มีหลักการที่ชัดเจน ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะเรียกค่าต๋งจากธนาคารรัฐได้

ที่สำคัญต้องรอคำตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าจะล้ม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้าง อนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 (3.5 แสนล้านบาท) และ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกอง ทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 (1.14 ล้านล้านบาท) หรือไม่ในวันที่ 22 ก.พ.นี้

ถ้า พ.ร.ก.นี้ล้ม เรื่องเก็บค่าต๋งก็ต้องล้มไปด้วย

แต่ถ้า พ.ร.ก.นี้ผ่าน ก็ถือว่าธนาคารรัฐจะต้องเสียค่าโง่ครั้งสำคัญเป็นครั้งประวัติศาสตร์ ที่คนกระทรวงการคลังต้องจดจำไปอีกนาน...


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : รีดค่าต๋ง แบงก์รัฐ แขนขาลีบ บีบศก.รากหญ้า

view