สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปมใหญ่กองทุนภัยพิบัติ

จาก โพสต์ทูเดย์

หากเป็นไปตามแผน ในสัปดาห์หน้ากองทุนประกันภัยพิบัติ วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

หากเป็นไปตามแผน ในสัปดาห์หน้ากองทุนประกันภัยพิบัติ วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท จะดีเดย์เปิดตัวรับประกันความเสี่ยง

วางแผนจัดงานใหญ่ด้วยการเชิญ 67 บริษัทประกันภัยมาเซ็นเอ็มโอยูรับประกันภัยน้ำท่วม

งานนี้จะมีนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาเป็นผู้กดปุ่มเปิดงานเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนอีกแรงหนึ่งด้วย

กองทุนประกันภัยพิบัติตั้งขึ้นตาม พ.ร.ก.กู้เงินตั้งกองทุนประกันภัย 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของ พ.ร.ก.เจ้าปัญหาของรัฐบาลที่ออกมาบริหารแก้ไขน้ำท่วมทั้งระบบ

สำหรับกองทุนประกันภัยพิบัติ ต้องถือว่าเป็นกองทุนประกันภัยที่เดินหน้าจัดตั้งขึ้นได้เร็วที่สุดในโลก เพราะหลังจากเคาะเป็นกฎหมายไม่ถึง 2 เดือน ก็จะเดินหน้ารับประกันลุยน้ำท่วมรอบใหม่ชนิดหมูไม่กลัวน้ำร้อน

 

แม้ว่าที่ผ่านมาฝ่ายค้านจะไม่ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ พ.ร.ก.ประกันภัยพิจารณาเป็นโมฆะ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเรียกความเชื่อมั่นจากผู้ ประกอบการ เพราะหลังน้ำท่วมบริษัทประกันเสียหายย่อยยับ ทุนหายกำไรหด ทำให้ปฏิเสธรับประกันภัยน้ำท่าม หากรับก็จะคิดค่าเบี้ยจนผู้ประกันจ่ายไม่ไหว

แต่ฝ่ายค้านก็ได้ทิ้งปมข้อสังเกตไว้หลายประเด็น ไม่ว่าจะแหล่งที่มาของเงิน หากเกิดความเสียหายมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท ที่เป็นเงินกู้ประเดิมไว้ รัฐบาลจะหาเงินจากที่ไหนมาอุดความเสียหาย

หรือว่าจะเป็นการเปิดช่องให้นำเงินของกองทุนไปช่วยเหลือบริษัทประกันภัย ที่มีความอ่อนแอทางการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ตรงประเด็น เพราะมีหน่วยงานที่ดูแลในส่วนนี้อยู่แล้ว

และการตั้งคณะกรรมการของกองทุนก็ถูกท้วงติงว่าไม่มีการระบุคุณสมบัติต้องห้าม ป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนในการทำหน้าที่

อย่างไรก็ตาม เมื่อ พ.ร.ก.ประกันภัยผ่านสภา รัฐบาลก็เดินหน้าตั้งกองทุนประกันทันที

เริ่มจากการตั้งประธานกรรมการกองทุนที่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ที่ต้องการนั่งในตำแหน่งนี้เอง แต่ก็ถอนตัวในนาทีสุดท้าย เพราะจากการสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่าจะเป็นการขัดหลักกฎหมายดูไม่งาม

หลังจากนั้นก็มีการดึง พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มานั่งในตำแหน่งนี้แทน แต่ก็ได้รับการต่อว่าจากผู้ประกอบการประกันภัยถึงความไม่เหมาะสม เพราะเป็นกองทุนใช้เงินภาษี เงินหลวง แต่ตั้งคนนอกเข้ามานั่งบริหาร แทนที่จะเป็นปลัดกระทรวงการคลังที่เป็นของหลวง แต่กลับได้นั่งเป็นแค่กรรมการ

ที่สำคัญ คณะกรรมการมีตัวแทนจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม หอการค้า นักกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ แต่ไม่มีตัวแทนจากผู้ประกอบการธุรกิจประกันภัย แม้ว่าจะมีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ประกันภัย (คปภ.) เป็นกรรมการ แต่ก็เป็นฝ่ายกำกับ ไม่ได้เป็นแทนผู้ประกอบการจริงๆ

แค่ร่างทรง โครงสร้างของกองทุนประกันก็ไม่ลงตัว ผิดฝาผิดตัวตั้งแต่เริ่มต้นเสียแล้ว

แต่ที่น่าเป็นห่วงมากๆ สำหรับการจัดตั้งกองทุนประกัน คือ บทบาทหน้าที่ภารกิจที่ไม่ชัดเจนว่าตั้งขึ้นมาเพื่ออะไรกันแน่

สมัยที่ออก พ.ร.ก.มาใหม่ๆ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ให้กองทุนประกันภัยรับประกันภัยต่อจากบริษัทประกัน ในส่วนของประกันภัยน้ำท่วมรายย่อยประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เท่านั้น เพราะเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบจากเบี้ยที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นมาก

หลังจากน้ำท่วมใหญ่ ประกันภัยน้ำท่วมกลายเป็นมีค่าเบี้ย 812% เลยทีเดียว เรียกว่าต้องการคุ้มครองแค่ 1 แสนบาท ต้องจ่ายเบี้ยสูงลิ่วถึง 1 หมื่นบาท

ในส่วนของรายใหญ่ กองทุนไม่ต้องเข้าไปแบกรับความเสี่ยง เพราะยังถือเป็นคนทุนหนา มีอำนาจการต่อรองกับบริษัทประกัน ยังสามารถดูแลตัวเองได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อ กิตติรัตน์ มาเป็น รมว.คลัง ก็มีการรื้อใหญ่กองทุนประกันภัยให้ลุยไฟรับประกันรายใหญ่ชนิดไม่กลัวตายจากน้ำท่วม

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายที่ผู้เกี่ยวข้องต้องมึน ไม่ว่าอายุของกองทุนที่เดิมต้องการอยู่สั้น 23 ปี เหตุการณ์ปกติกองทุนก็จะสไลด์ออกไปให้ระบบประกันทำหน้าที่ตามเดิม

แต่พอถึงยุค กิตติรัตน์ สั่งลุยบอกว่าจะดันกองทุนประกันภัยให้เป็นกองทุนประกันภัยรับช่วงต่อที่ใหญ่ ที่สุดในภูมิภาค รับประกันในไทยไม่พอ จะออกไปลุยรับประกันต่อนอกประเทศ

ถือเป็นการมองไกลที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะลำพังจะเดินหน้ารับประกันภัยให้พ้นวิกฤตปีนี้ไปก่อน ยังไม่รู้จะออกมาเป็นลูกผีลูกคน

ยังมีไอเดียของ กิตติรัตน์ ที่ทำให้กองทุนประกันภัยออกนอกลู่นอกทางอีก เช่น นโยบายการนำเงินของกองทุนไปให้เปล่ากับนิคมฯ ไม่คิดดอกเบี้ย ไม่ต้องคืนเงินต้น ให้กับนิคมฯ ที่เคยถูกน้ำท่วม สร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมรอบใหม่ ถึง 2 ใน 3 ของเงินที่นิคมฯ กู้สร้างเขื่อน

คิดง่ายๆ ได้ว่า หากนิคมฯ ไหนกู้เงินธนาคารออมสินมาสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม 900 ล้านบาท จะเป็นเงินกู้จริงๆ จากธนาคารออมสิน 300 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.01% เป็นเวลา 15 ปี ปลอดชำระเงินต้น 5 ปีแรก

ส่วนอีก 2 ใน 3 ของเงินกู้รัฐบาลจะใจป้ำเป็นซานตาคลอสเติมเงินให้นิคมฯ โดยรัฐบาลอ้างว่าเป็นการลดความเสี่ยงกับกองทุนประกันช่องทางหนึ่ง เพราะหากนิคมฯ ป้องกันน้ำท่วมได้ กองทุนประกันก็ไม่เสียหาย

กองทุนประกันภัยพิบัติยังมีภารกิจท้าทายเรื่องการเคาะเบี้ยประกันน้ำท่วม ที่จะรับต่อจากบริษัทประกันในสัปดาห์นี้ให้ได้ เพื่อเปิดตัวในสัปดาห์หน้า

เริ่มตั้งแต่คำจำกัดความภัยพิบัติว่าเป็นอย่างไร จะกินความครอบคลุมขนาดไหน ต้องเป็นน้ำท่วมอย่างไรถึงเรียกว่าภัยพิบัติ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญที่ต้องเปิดตัวในสัปดาห์หน้าแล้ว แต่ยังเคาะออกมาไม่ได้

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องค่าเบี้ยประกันมีการเคาะออกมาเบื้องต้นจะคิดค่าเบี้ยประกันเพียง 1% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม จะมีการจำกัดความรับผิดชอบความเสียหาย ไม่ได้เป็นปลายเปิดรับประกันไม่อั้น โดยในส่วนของการรับประกันรายย่อย กองทุนจะรับประกันไม่เกิน 1 แสนบาทเท่านั้น หากใครต้องการความคุ้มครองมากกว่านั้น ต้องไปซื้อเพิ่มจากบริษัทประกัน ซึ่งต้องยอมรับว่าต้องเสียเบี้ยแพง

ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะรับประกันไม่เกิน 20% ของทุนประกันหลักไม่เกิน 50 ล้านบาท และผู้ประกอบการรายใหญ่จะรับประกันความเสี่ยง 20% ของทุนหลักประกัน 200 ล้านบาท

การกำหนดเบี้ยประกันไม่นิ่ง เพราะมีผู้ประกอบการวิ่งขอให้กองทุนรับประกันไม่อั้น ไม่ต้องจำกัดทุนหลักประกัน ปลายเปิดเป็นพันล้านบาท

ลำพังกองทุนอ้าแขนรับประกันรายใหญ่ ก็ทำให้ไปเบียดบังรายย่อยเอสเอ็มอีเกือบทั้งหมด กองทุนประกันภัยจึงกลายร่างอุ้มรายใหญ่เป็นหน้าที่หลัก มากกว่าดูรายย่อยรายเล็ก

ยิ่งการขยายวงประกันมากขึ้นเท่าไร ความเสี่ยงของกองทุนประกันมือใหม่หัดขับก็มีความเสี่ยงขึ้นมากเท่านั้น

การบริหารความเสี่ยงของกองทุนประกันก็เป็นเรื่องที่ยังคิดไม่ตก เพราะการรับประกันเข้ามา กองทุนยังไม่มีความชัดเจนว่าจะประกันต่อออกไปจากกองทุนกระจายความ เสี่ยงอย่างไร เพราะการประกันต้องโดนโขกเบี้ยสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มีการคาดว่าจะมีการเข้าทำประกันคิดเป็นทุนประกันรวมกันทั้งหมดถึง 1 ล้านล้านบาท หากกองทุนประกันทำประกันภัยต่อ คาดว่าจะต้องมีส่วนต่างของเบี้ยประกันที่กองทุนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายสูง

เพราะหากคิดจากเบี้ยที่รับประกันจากบริษัทประกัน 1% และเวลาไปประกันต่อต้องจ่ายเบี้ยสูงถึง 812% จะทำให้กองทุนประกันต้องยอมเข้าเนื้อหลายหมื่นล้านบาทต่อปี

ครั้นกองทุนประกันจะรับความเสี่ยงเองทั้งหมด ไม่ทำประกันภัยต่อ ก็ต้องลุ้นกองทุนเสียหายยับเยินหากมีน้ำท่วมไม่ได้ แม้ว่ารัฐบาลประกาศว่าเอาน้ำอยู่ แต่ถ้าพลาดเหมือนปีที่ผ่านมา กองทุนประกันเจ๊งทันที 23 แสนล้านบาท

ความเร่งรีบของกองทุนประกันเพื่อเรียกความเชื่อมั่นน้ำท่วม เอาชนะธรรมชาติที่ผันผวน ท่ามกลางการเตรียมพร้อมของภาพรวมในการป้องกันน้ำท่วมน้อยนิด เน้นเรื่องการสร้างภาพทำงานมากกว่าทำงานจริง ทำให้กองทุนประกันภัยตกอยู่ในความเสี่ยงเหมือนเดินอยู่บนเส้นด้าย โดยมีเงินภาษีของคนทั้งประเทศเป็นประกัน

คงไม่นานจากวันนี้ ก็จะรู้กันว่ากองทุนประกันภัยพิบัติจะช่วยผู้ประกอบการจนตัวเองจมน้ำหรือไม่ และความเสียหายที่เกิดขึ้นใครจะเป็นผู้รับผิดชอบกับเงินภาษีประชาชน


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ปมใหญ่ กองทุนภัยพิบัติ

view