สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชูผลงาน คึกฤทธิ์ ฉายภาพสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย

จาก โพสต์ทูเดย์

ยก "ลักษณะไทย-สี่แผ่นดิน" ผลงานชิ้นเอกของ มรว.คึกฤทธิ์ เป็นงานเขียนที่อธิบายความสำคัญของสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทยได้ดีที่สุด

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

สถาบันคึกฤทธิ์ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ โพสต์ทูเดย์ สยามรัฐ มติชน และเดอะเนชั่น จัดงานสัมมนาแห่งศตวรรษ ปราช์สยาม นาม “คึกฤทธิ์” เพื่อระลึกการครบรอบ 100 ปี ชาตะกรรม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี และศิลปินแห่งชาติ

อย่างไรก็ดี การสัมมนาได้มีการหยิบหัวข้อ “คึกฤทธิ์ กับ สถาบันพระมหากษัตริย์” โดยพล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรมช.มหาดไทย กล่าวว่า ความจริงพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีคำว่าสถาบัน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ต้องปกป้องสถาบัน เพราะมีชาติกำเนิดที่มาจากเชื้อพระวงศ์และม.ร.ว.คึกฤทธิ์มีความผูกพันต่อ สถาบันมาตั้งแต่รัชกาลที่ 6 และเป็นความโชคดีที่ถูกเลี้ยงดูมาในวังขณะที่บ้านเมืองอยู่ในช่วงหัวเลี้ยว หัวต่อ ที่กำลังปกครองในระบอบสมบูรณายาสิทธิราชมาสู่ระบอบประชาธิปไตย

แต่การที่พระบามสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ และได้รับอิทธิพลความคิดการเมืองและการปกครองมา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ จึงได้ตระหนักตามมา เพราะไม่ได้ถูกเลี้ยงดูในวังแบบโบราณ และการศึกษาต่อประเทศอังกฤษ 9 ปี จึงได้ซึมซับเข้ามาในใจ เพราะฉะนั้น เมื่อกลับมาก็เป็นในฐานะบุคคลที่รู้จักประชาธิปไตย และรู้จักราชวงศ์ จึงสามารถเป็นตัวเชื่อมระหว่างคนรุ่นใหม่

นอกจากนี้ การเขียนเรื่องสีแผ่นดินของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มาจากความทรงจำของท่าน และเป็นการสะท้อนถึงความสำคัญของพระมหากษัตริย์ในยุคนั้น เปรียบเทียบได้กับพระไตรปิฎก และเป็นการสะท้อนที่ทำออกมาได้ดี เป็นการเชิดชู อีกทั้ง ตอบโต้กลุ่มความคิดก้าวหน้าแบบฝ่ายซ้าย ที่กำลังระบาดขณะนั้นได้อย่างสำเร็จมาก ถ้าไม่ได้หนังสือเล่มดังกล่าว คนไทยส่วนใหญ่จะไม่เข้าใจกับคำว่าสถาบันกษัตริย์ เพราะฉะนั้น ท่านมีส่วนทำให้เราเข้าใจว่าสถาบันมีความสำคัญของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ทำให้คนรุ่นหลังได้เข้าใจคำดังกล่าว เมื่อตอนกรณีพิพาทอินโดจีน สยาม-ฝรั่งเศส และมีการสู้รบกัน ช่วงนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้รับราชการทหารมียศสิบตรี จึงทำให้คิดว่าตอนที่เป็นทหารมีความใกล้ชิดกับนายทหารชั้นประทวน จนมีความเข้าใจเข้าถึงประชาชน และด้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง

“ผมเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิม.ร.ว.คึกฤทธิ์ และท่านถือว่าเป็นแหล่งความรู้มหาศาล หากใครที่เคยเข้าบ้าน จะรู้ว่าเปรียบได้ดั่งมหาวิทยาลัย ที่สำคัญทุกคนที่ไปอยากรู้เรื่องพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน เพราะท่านมีความใกล้ชิดมาก ซึ่งผมได้ฟังม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เล่าครั้งเข้าไปอยู่ในวังและมีโอกาสเข้าเฝ้า เคารพสักการะ โดยยืนยันว่าและย้ำว่าประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นลำพังไม่ได้หากปราศจากพระมหา กษัตริย์”

ใครที่เป็นราชวงศ์แล้วต้องรักษาประชาธิปไตยไว้ให้ได้ คนที่เป็นราชวงศ์จะไม่สนับสนุนประชาธิปไตยไม่ได้ และการพูดคุยเหมือนกับอาจารย์สอนหนังสือ คือ สอนแบบกาลามสูตร เชื่อด้วยเหตุผล พระมหากษัตริย์ ถูกจำกัดโดยรัฐธรรมนูญ เพราะไมได้เป็นผู้ร่าง แต่กษัติรย์มีหน้าที่เพียงรับรู้เท่านั้นเอง

“อาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์เคยกล่าวไว้ในปาฐกถาที่โรงแรมมณเฑียร ปี 2524 ว่า สำหรับพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันแล้ว ท่านไม่อยากพูดอะไรมาก เพราะทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่า พระองค์ท่านทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจทั่วทั้งแผ่นดินไทย อย่างไม่น่าเชื่อว่าจะมีมนุษย์คนไหนทำงานหนักได้เท่านี้อีกแล้ว”

ธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หนังสือเรื่องแรกที่ได้อ่านคือ “สี่แผ่นดิน” เมื่อสมัยเรียนอยู่ ป.7 โดยทำเป็นพ็อคเก็ตบุ๊ค 4 เล่มเล็กๆ ซึ่งวรรณกรรมดังกล่าวเป็นงานชิ้นเอกของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ และทั้งหมดถูกสอดประสานลวดลายและความรู้สึกของคนไทยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ผ่านนวนิยาย โดยสะท้อนมุมมองผ่านตัวละครที่ชื่อ “แม่พลอย” ที่มีความรู้สึกต่อสถาบันกษัตริย์

ทั้งนี้ สถาบันกษัตริย์อยู่คู่คนไทยมานานกว่า 700-1,000 ปี แต่การสกัดแก่นสารสำคัญเกี่ยวกับสถาบันมาอธิบายให้คนไทยด้วยกันให้ฟังเข้าใจ เป็นเรื่องยาก แต่การที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้ทำหนังสือบทความ “ลักษณะไทย” ถือว่าเป็นหนังสือที่ดีมากเล่มหนึ่ง เช่นเดียวกับนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดิน เพราะมีการเล่าวิวัฒนาการตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งองค์ประกอบ การยึดโยงของสังคมไทยมีความเป็นมาอย่างไร ทั้ง ไพร่ ศักดินา

ผมเคยถามม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เรื่องศาสนาพุทธกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะมีความพยายามที่ผ่านมาเรียกร้องให้บรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติใน รัฐธรรมนุญนั้น ทั้งที่ คนไทยสามารถนับถือศาสนาใดก็ได้ ท่านบอกว่ามีกฎข้อเดียวคือ กษัตริย์ที่ต้องนับถือศาสนาพุทธเท่านั้น เพราะมีการสอนให้ใจกว้างกว่า

นอกจากนี้ การสัมมนายังได้มีการยกหัวข้อ “คึกฤทธิ์ กับ สื่อมวลชน” โดย อัศศิริ ธรรมโชติ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ กล่าวชื่นชมการทำงานของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ต่อการทำหน้าที่สื่อมวลชน ตั้งแต่สมัยยังเป็นหนุ่มจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ท่านเชื่อว่าการนำความรู้เรื่องประชาธิปไตยให้สู่คนกรุงเทพ จะนำไปสู่ประชาชนทั้งประเทศได้

 

อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์ในการตั้งสยามรัฐขึ้นมา เพื่อต้องการบอกข่าวสารด้านการเมืองให้กับประชาชน และถือเป็นโรงเรียนการเมืองนอกสถานศึกษา และพยายามให้ความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งท่านจะยอมรับผู้นำประเทศทุกคน

“หากท่านฟื้นขึ้นมา และเห็นบ้านเมืองขณะนี้ ก็อาจเสียชีวิตครั้งที่ 2 รวมถึงเสรีภาพของหนังสือพิมพ์อยู่ในตัวของคนทำหนังสือพิมพ์เท่านั้นเอง”

สมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน กล่าวว่า ผมเป็นลูกศิษย์ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ระยะไกล ไม่ได้มีความใกล้ชิดส่วนตัว จนมีโอกาสได้มาเป็นนักข่าว และมีโอกาสสัมภาษณ์ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ โดยมองว่าวรรณกรรมที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เขียนนั้น สามารถเข้าใจได้ง่าย มีการสอดแทรกความรู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศไปยังผู้อ่าน รวมถึงมีความเป็นกันเอง ไม่มีการแบ่งแบกชนชั้น

ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ได้ประสบการณ์มาโดยตรง คือ กรณีที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ต่อว่า ที่ผมได้ถ่ายภาพท่านขณะที่รักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู และนำมาเผยแพร่ จนต้องทำให้ผมไปขอโทษท่าน และผมต้องลาออกจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สิ่งที่ได้รับมาในครั้งนั้น คือ สื่อมวลชนต้องเคารพในสิทธิเสรีภาพในความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น ส่งผลให้ระหว่างที่เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เมื่อปี 2539 ผมจึงได้บรรจุเรื่องดังกล่าวลงในรัฐธรรมนูญด้วย

“ผมอยากเห็นหนังสือพิมพ์ที่เป็นเสาหลักของบ้านเมืองกลับคืนมา เหมือนหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ในสมัยที่ม.ร.ว. เป็นผู้บริหาร ซึ่งเป็นผู้สื่อสารการเมือง ที่ให้ข้อเท็จจริง ความรู้ การศึกษา และเป็นเวทีสาธารณะสำหรับประชาชนทั่วไป”

ขณะที่ อนันต์ ปัญยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในหัวข้อ “คึกฤทธิ์ กับ การเมืองระหว่างประเทศ” สมัยที่ได้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงวอชิงตัน ดีซี ทางการสหรัฐอเมริกาได้มีการโจมตีประเทศกัมพูชา โดยใช้ไทยเป็นฐานทัพ และไม่ได้แจ้งกับทางการไทย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้เรียกผมกลับประเทศ เพื่อตอบโต้และแสดงความไม่พอใจต่ออเมริกา เนื่องจากได้ลุกล้ำอธิปไตยไทย

ระหว่างที่กลับมาอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศไทย 2 สัปดาห์ พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ รมว.ต่างประเทศขณะนั้น ได้มอบหมายให้พื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีน ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งถือว่าพล.อ.ชาติชาย มีวิธีคิดแตกต่างจากทหารทั่วไป เนื่องจากไปเป็นทูตในหลายประเทศ จากสถานการณ์การเมืองในประเทศก่อนหน้านั้น

ทั้งนี้ มองว่าจีนในขณะนั้น เป็นประเทศมหาอำนาจทางคอมมินิสต์ ที่เป็นพี่ใหญ่ของภูมิภาคอาเซียนหลายประเทศ ทำให้ไทยสามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์กับเวียดนาม และลาว ได้ง่ายขึ้น

อนันต์ ยังบอกว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มีความรู้และประสบการณ์ รวมถึงมองทุกเรื่องได้ลึก กว้าง และไกล เป็นอย่างมาก เนื่องจากได้เรียนที่อ๊อกฟอร์ด ที่สร้างนายกฯให้กับประเทศไทยมาแล้วถึง 2 ท่าน คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

นอกจากนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ระหว่างเรียนคงได้ทราบประวัติศาสตร์ประเทศอังกฤษ ที่ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร มีเพียงผลประโยชน์ถาวรเท่านั้น ซึ่งไทยไม่สามารถทำในลักษณะนั้นได้ เนื่องจากไม่ใช่ประเทศมหาอำนาจ

อย่างไรก็ตาม ไทยแม้จะไม่มีมิตรแท้ แต่ต้องไม่มีศัตรูถาวร โดยจะรักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก
นโยบาย ด้านการต่างประเทศ 4 ข้อ ขณะนั้น ที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 19มี.ค. 2518 โดยมีใจความสำคัญ คือ การรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและจะเป็นมิตรกับทุกประเทศ ที่มีเจตนาดีต่อประเทศไทย พร้อมทั้งจัดระบบความสมดุลระหว่างมิตรและอดีตศัตรู โดยการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเวียดนามเหนือ รวมถึงลาว และการออกพ.ร.บ.ป้องกันคอมมิวนิสต์ การที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ และพล.อ.ชาติชาย มีความเห็นตรงกันในเรื่องดังกล่าว ถือเป็นครั้งแรกที่ระบบการเมืองควบคุมระบบทหารได้


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ชูผลงาน คึกฤทธิ์ ฉายภาพ สถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย

view