สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ยรรยง พวงราช พาณิชย์ดันข้าวไทย 2 ปีราคานำตลาดโลก

จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


อีก เพียง 1 สัปดาห์ ก็จะสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ฤดูกาลผลิต 2554/2555 ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ราคารับจำนำสูงลิ่ว ทั้งข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 20,000 บาท หวังยกระดับรายได้ชาวนา และ ไม่ยอมถอยให้ผู้ส่งออกที่พยายามคัดค้าน เพราะแข่งขันในตลาดโลกไม่ได้ "นายยรรยง พวงราช" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงอนาคตข้าวไทย อีก 2 ปีข้างหน้า ต้องไปได้สวย

- เมื่อปิดโครงการข้าวรับจำนำจะน้อยกว่าคาดการณ์เท่าไร

จน ถึงขณะนี้มีข้าวเปลือกเข้าโครงการราว 6.2 ล้านตันเท่านั้นตัวเลขนี้ไม่ได้สะท้อนความล้มเหลว เราประเมินข้าวจำนำน้อยมาจาก 2-3 สาเหตุ คือ 1.น้ำท่วมช่วงปลายปี 2554 กระทบผลผลิตข้าว 10 ล้านไร่ คิดเป็น 7-8 ล้านตัน 2.เป็นรอยต่อกับโครงการประกันรายได้โดยให้เกษตรกรแจ้งขึ้นทะเบียน ตามพื้นที่ปลูกเพื่อรับเงินชดเชย ทำให้เกิดปัญหาการขึ้นทะเบียนสูงกว่าปกติ เช่น ชาวนา 3 ล้านครัวเรือน กลายเป็น 4.7 ล้านครัวเรือน จำนวนไร่ก็เพิ่มขึ้น และคูณเป็นผลผลิตต่อไร่ จึงเป็นช่องทางทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน 3.ไทยยังอาศัยข้อมูลคาดการณ์ผลผลิตจากหน่วยงานของต่างประเทศ ซึ่งเป็นคู่แข่ง หรือไม่ก็คู่ค้าของไทย ผลจึงคาดเคลื่อนจากความจริง โดยตั้งสมมติฐานผลผลิตบวกเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะเป็นดัชนีชี้วัดการทำงาน

ปี นี้คาดว่าช่วงนาปีจะทำได้ 7-8 ล้านตัน นาปรังอีก 11 ล้านตัน รวมทั้งปีแล้วจะได้ 30 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 20 ล้านตันข้าวสาร แต่นำเข้าจำนำเพียง 6.2 ล้านตัน อยู่ในมือผู้ประกอบการโรงสีและผู้ส่งออกราว 2-3 ล้านตัน และชาวนาบางส่วนเก็บสต๊อกข้าวไว้ขายช่วงปลายฤดู ถึงอย่างนั้นก็ยังมีข้อดี เมื่อจำนำน้อยช่วยให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณ 60,000 ล้านบาท จึงสามารถใช้ต่อเนื่องทันทีตอนเริ่มโครงการจำนำข้าวเปลือกนาปรัง เดือนมีนาคม 2555

- จะช่วยให้ผู้ส่งออกแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างไร

ความ จริงราคารับจำนำของรัฐบาลเป็นวิธียันราคาตลาดโลกไว้ไม่ให้ตก เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาแล้ว ราคาข้าวในตลาดขึ้นเฉลี่ย ตันละ 2,000 บาท จากเดิมข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 8,000-9,000 บาท เป็น 9,000-11,500 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลิเดิม ตันละ 13,000-17,000 บาท เป็น 15,000-16,000 บาท เมื่อไทยยังยืนราคาจำนำสูงต่างประเทศก็ต้องขยับราคาเสนอซื้อเป็นตันละ 500-600 เหรียญสหรัฐ เพราะตอนนี้อินเดียส่งออกเริ่มแผ่วลง เวียดนามข้าวหมด ประโยชน์โดยรวมของการจำนำ เพื่อยกระดับราคาข้าวไทยให้สูงขึ้น

- รัฐบาลจะทำอย่างไรกับสต๊อกข้าวบ้าง

รัฐบาล มีนโยบายนำมูลค่าข้าวแลกแท็บเลตจีน ผมอยากให้เกิดขึ้นจริง แต่ถูกโจมตีว่าไม่มีโอกาสเป็นไปได้ การทำตลาด หากจะอิงกลไกตลาดอย่างเดียวเป็นไปไม่ได้ เราต้องใส่ความพยายามลงไปด้วย

จาก นี้ไปอีก 1-2 ปี ผมอยากตัดใจ โดยยืนราคาจำนำสูง เพื่อให้ตลาดโลกยอมรับราคาข้าวไทย เพราะข้าวถึงจะเป็นสินค้าเกษตรจำเป็นพื้นฐานที่ประชากรโลกต้องบริโภค 3,000 ล้านคน เหมือนก่อนหน้านี้ ราคาเนื้อวัว กก.ละ 100 บาท ขยับเป็น 150 บาท ผู้บริโภครับไม่ได้ แต่ในที่สุดตอนนี้ก็รับได้แล้ว เรื่องสำคัญ ข้าวไทยมีคุณภาพเหนือข้าวประเทศอื่น มีมาตรฐาน เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ 1 ใน 3 ของโลก แต่ไม่ใช่ผู้ผลิตข้าวรายใหญ่เหมือนอินเดียไทยจึงไม่ได้สต๊อกข้าวเก็บจนเป็น ข้าวเก่าดังนั้น คุณภาพจึงดี

- นโยบายขายผ่านรัฐต่อรัฐยังมีหรือไม่

การ ทำจีทูจีนั้น หารือกับเอกชนแล้ว ส่วนใหญ่เห็นด้วย เพราะไม่กระทบตลาดเอกชน อาจให้หน่วยงานรัฐบาลไปรับหน้าเสื่อเจรจา เช่น องค์การคลังสินค้า (อคส.) หรือกรมการค้าต่างประเทศ ต่อจากนั้นจะเลือกขายข้าว เอกชน หรือเปิดให้ปรับปรุงต้องหารือกัน

ส่วนเรื่องความโปร่งใสมีหลายคน กังวล ผมกลับมองว่าทุกคนเคยอยู่ในวงการค้ามา 50 ปีแล้ว จะให้ทำอย่างเดิม เพื่อให้พวกเขาได้ราคาถูกหรือ ทั้งที่เป็นประเทศเปิดกว้าง หากเทียบประเทศที่รัฐบาลจะเป็นผู้ผูกขาดธุรกิจ โดยมีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจคอยดูแล อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน แต่ไทยปล่อยให้เอกชนไปลุย และผลสะท้อนกลับมาที่ชาวนายังจนอยู่ เอกชนควรปรับตัวด้วย ผู้ส่งออกหรือโรงสีอยากได้ข้าว ก็ต้องรวมตัวกันเข้ามาสร้างอำนาจการต่อมากขึ้น จะซื้ออย่างไร ราคาเท่าไร และระบายสต๊อกอย่างไร

- วางแนวทางสนับสนุนการทำตลาดข้าวอย่างไร

ปัจจุบัน ตลาดข้าวมีแค่ 2 ประเภทเท่านั้น คือกลุ่มแรก ประเทศที่เปิดประมูล เช่น ฟิลิปปินส์ อิรัก อินโดนีเซีย ควรจะรวมกลุ่มกัน ไม่ใช่แยกกันไปเป็นเบี้ยหัวแตก แล้วไปเสนอขายราคาต่ำ ทางออก คือต้องให้รายใหญ่ไปรวมกลุ่มกับรายเล็กให้เข้มแข็ง เพื่อเสนอขายข้าวคุณภาพดีของไทย กลุ่มที่ 2 ประเทศ ที่ไม่มีการประมูล จะอาศัยกลไกตลาดเป็นหลัก กลุ่มนี้จะต้องเน้นการประชาสัมพันธ์ คุณภาพ แบ่งตลาดข้าวเป็นเซ็กเมนต์เฉพาะ อาจจะมุ่งเจาะตลาดค้าปลีก เปลี่ยนลักษณะการจำหน่ายจากตู้เป็นถุง 50 กก. เหลือ ถุงเล็ก ขนาด 1-5 กก. เพื่อให้เหมาะกับผู้บริโภคยุคใหม่ที่อยู่ในครอบครัวเดียวมีคนไม่มาก หรือเน้นทางอาหารพร้อมรับประทาน สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตในปัจจุบัน

แนว ทางนี้หารือกับผู้ส่งออกรายใหญ่เห็นด้วย มีเพียงบางรายยังกังวล เพราะข้าวอยู่ในมือรัฐบาลหมด พวกนี้จึงไม่สามารถหาซื้อข้าวได้ จึงอาจกระทบต้นทุนค่าบริหารจัดการภายใน ทั้งค่าจ้างแรงงาน 300 บาท ฉะนั้นทุกคนต้องร่วมกันปรับแผนตลาด เอาข้าวเป็นตัวตั้งต้น ใครขายข้าวขาว ขายข้าวนึ่ง วางแผนเดินสายไปทำและขยายตลาด ทุ่มงบฯการทำประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ครอบคลุมทุกกลุ่ม

ปลัดยรรยง สรุปว่า มองอนาคตช่วง 1-2 ปีนี้ ไทยจะต้องพัฒนาการทำตลาดข้าวในเวทีโลกชนิดไร้รูปแบบ เพื่อสร้างมาตรฐานราคาสมกับคุณภาพข้าวไทย


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ยรรยง พวงราช พาณิชย์ดันข้าวไทย 2 ปีราคานำตลาดโลก

view