สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แง้มห้องประชุมแก้รธน.แค่อ้าปากก็ไม่มีใครยอมใคร

แง้มห้องประชุมแก้รธน.แค่อ้าปากก็ไม่มีใครยอมใคร

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

การประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) ได้เริ่มอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 ก.พ. ทั้งนี้ ภาพของการประชุมกมธ.นัดแรกทีเพิ่งผ่านไปนับว่าเป็นไปอย่างราบรื่นภายใต้ความ พยายามของรัฐบาลที่ต้องการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นมากที่สุด เพราะทราบดีว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีหลายฝ่ายจับจ้องเป็นอย่างมาก

เปิดการประชุมเข้ามาในเวลา 10.00น.สงวน พงษ์มณี สส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย ทำหน้าที่ประธานการประชุมชั่วคราวในฐานะมีอาวุโสสูงสุด จากนั้นเข้าสู่กระบวนการเลือกประธานกมธ. และเป็นไปตามคาดเมื่อ ‘สามารถ แก้วมีชัย’ สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นประธานกมธ.ตามโผที่ออกมาก่อนหน้านี้ แม้พรรคประชาธิปัตย์จะพยายามเสนอชื่อ ‘สุทัศน์ เงินหมื่น’ สส.บัญชีรายชื่อ ลงแข่งแต่สุดท้ายเจ้าตัวประกาศถอนตัวเพื่อให้การประชุมเดินหน้าต่อไปได้

“การพิจารณากมธ.พิจารณาเฉพาะที่มาของสมาชิก สภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) เท่านั้น ไม่ใช่การยกร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะหน้าที่ดังกล่าวเป็นของส.ส.ร.เท่านั้น โดยยืนยันการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของกมธ.จะสามารถมีคำอธิบายต่อสาธารณะได้” สัญญาประชาคมจากประธานกมธ.

 

ถึงการเลือกประธานกมธ.จะเป็นไปด้วยดี แต่เมื่อเข้าสู่วาระการเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งอื่นๆโดยเฉพาะตำแหน่ง รองประธานกมธ.คนที่ 1 ปรากฏว่ากลายเป็นเวทีโต้วิวาทะระหว่างฝ่ายค้านและรัฐบาลอย่างดุเดือด

ฝ่ายรัฐบาลพยายามเสนอให้ที่ประชุมเห็นด้วยกับการให้มีรองประธานกมธ.จำนวน 4 คน ‘วิชาญ มีนชัยนันท์’ สส.กทม.พรรคเพื่อไทย ให้เหตุผลว่า ถ้ามีรองประธาน 4 คนจะเพียงพอกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพราะในระยะยาวจะมีรายละเอียดพิจารณามาก และการให้รองประธานกมธ.คนที่ 1 กับประธานกมธ.มาจากพรรคเดียวกันก็เป็นบรรทัดฐานที่รัฐสภายึดถือมานานแล้ว

ด้าน ฝ่ายค้านโดย ‘ธนา ชีรวินิจ’ สส.กทม.พรรค ประชาธิปัตย์ สวนว่า อยากให้มีรองประธานเพียงแค่ 3 คน เพราะจะสามารถแบ่งตัวได้พอดีใน 3 ฝ่าย ได้แก่ รัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภาพอดี

สุทัศน์ เสริมอีกว่า “หลักการดังกล่าวเป็นการยึดเฉพาะการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.ทั่วไป แต่สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือว่ามีความสำคัญมากกว่าเพราะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ประกอบกับรัฐบาลเป็นผู้เสนอแก้ไขเอง ดังนั้น ถ้าประธานกมธ.และรองประธานกมธ.คนที่ 1 มาจากพรรคเดียวกัน ภาพที่ออกมาจะดูไม่ดีเหมือนเป็นเผด็จการ จะส่งผลเสียในอนาคต จึงขอเสนอให้รองประธานกมธ.คนที่ 1 มาจากวุฒิสภา ถ้าที่ประชุมรับข้อเสนอพรรคประชาธิปัตย์จะขอถอนตัวจากตำแหน่งรองประธาน กมธ.คนที่ 1”

ประธานกมธ.พยายามไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองหาข้อสรุปให้ได้เพราะไม่ต้องการลง มติตัดสิน เนื่องจากเห็นว่าถ้าแค่การประชุมนัดแรกถึงขั้นต้องมีการลงมติเสียงข้างมาก ตัดสินในบางเรื่อง จะทำให้ภาพที่ออกไปดูไม่ดี ทั้งที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ต้องการสร้างความปรองดอง และเห็นด้วยหากให้วุฒิสภามานั่งในตำแหน่งรองประธานกมธ.คนที่ 1 ซึ่งที่สุดแล้วนายธนา ยอมให้ตั้งรองประธานกมธ.จำนวน 4 คน

ผลสรุป คือ สมชาย พรรณพัฒน์ สว.นครปฐม เป็นรองประธานกมธ.คนที่1 พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรองประธานกมธ.คนที่ 2 พีรพันธุ์ พาลุสุข สส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย เป็นรองประธานกมธ.คนที่ 3 และ เรืองศักดิ์ งามสมภาค สส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย เป็นรองประธานคนที่ 4

ต่อมา เริ่มพิจารณาเกี่ยวกับกำหนดวันและเวลาในการประชุมกมธ. พรรคเพื่อไทย พยายามเสนอให้ประชุมถึง 3-4 วันต่อสัปดาห์ ได้แก่ วันจันทร์ช่วงบ่าย วันอังคารเช้า วันพุธช่วงเช้า วันพฤหัสบดีเต็มวัน แต่กมธ.ซีกพรรคประชาธิปัตย์แสดงความคิดเห็นคัดค้านอย่างเต็มที่ถึงกับตั้ง ข้อสงสัยว่า “ทำไมต้องกำหนดวันประชุมเยอะขนาดนั้น”

“ในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้แก้ไขรัฐ ธรรมนูญ2550 โดยกำหนดวันประชุมต่อสัปดาห์ไม่มากเท่ากับครั้งนี้ ทางทีดีควรกำหนดวันประชุมไว้เพียง1-2วันก็น่าเพียงพอ เพราะถ้าไปกำหนดวันจันทร์จะมีผลต่อกมธ.ซีกสว.เพราะต้องประชุมวุฒิสภา หรือ วันอังคารสส.ต้องติดประชุมพรรคการเมือง ดังนั้น การประชุมเฉพาะวันพุธและพฤหัสบดีเหมาะสมที่สุด วันนั้นเป็นวันที่สมาชิกจะมากันพร้อมที่สุด และถ้าในอนาคตหากมีเรื่องด่วนที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมประธานกมธ.ก็สามารถ เรียกประชุมกมธ.เป็นกรณีพิเศษได้”  เทพไท เสนพงศ์ สส.นครศรีธรรมราช กมธ.ประชาธิปัตย์ กล่าว

การทำหน้าที่ประธานกมธ.ครั้งแรกของ ‘สามารถ แก้วมีชัย’ ได้พยายามแสดงบทบาทในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งหลายประเด็นหลายครั้ง และประเด็นเรื่องวันและเวลาการประชุม เป็นอีกเรื่องที่ประธานกมธ.ใช้อำนาจประธานสรุปเห็นด้วยกับข้อเสนอของพรรคประ ชาธิปัตย์ทันที คือ ให้ประชุม 2 ครั้งต่อสัปดาห์ในวันพุธและวันพฤหัสบดี เวลา 9.00น.-12.00น.

เช่นเดียวกับ ประเด็นร้อนอย่างการเสนอรื้ออำนาจฝ่ายตุลาการที่กำลังถูกจับตามองอยู่ในขณะ นี้ ‘สามารถ แก้วมีชัย’ ได้แสดงบทบาทประนีประนอมเช่นกัน ภายหลัง ‘วิรัตน์ กัลยาศิริ’ สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายเรียกร้องให้ กมธ.กำหนดแนวทางให้ชัดเลยต้องบัญญัติถ้อยคำห้ามไม่ให้ส.ส.ร.ยกร่างแก้ไขรัฐ ธรรมนูญโดยแก้ไขอำนาจตุลาการ ซึ่งประธานกมธ.ได้เอาน้ำเย็นเข้าลูบด้วยการบอกว่า “ประเด็น นั้นเราคงไปกำหนดอะไรไม่ได้เพราะเรามีหน้าที่กำหนดที่มาส.ส.ร.และส่งมอบ หน้าที่ต่อให้ส.ส.ร.เท่านั้นเพราะถ้าทำอย่างนั้นจะเหมือนเข้าไปก้าวก่ายหน้า ที่ส.ส.ร.”

ไม่ต่างอะไรกับ จังหวะของการเสนอแต่งตั้งที่ปรึกษาประจำกมธ.หลังจากพรรคเพื่อไทยพยายามเสนอชื่อ ‘พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน’ หัวหน้าพรรคมาตุภูมิมาเป็นที่ปรึกษา พร้อมกับให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เสื้อหลากสี เข้ามาร่วมเป็นที่ปรึกษาเช่นกัน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ มองว่ายังไม่มีความเหมาะสมที่จะกำหนดลักษณะนี้ เพราะควรรอให้กมธ.พิจารณาไปสักระยะก่อนจึงค่อยให้กลุ่มภาคประชาชนที่ไม่เห็น ด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแสดงความคิดเห็น

“ถ้ารัฐบาลจะเสนอลักษณะนี้พรรคประชาธิปัตย์ก็อยากให้ประธานส.ส.ร .2540 (อุทัย พิมพ์ใจชน) และ 2550 (นรนิติ เศรษฐบุตร) มาร่วมเป็นที่ปรึกษาด้วยเพราะในอนาคตคาดว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญจะยึดแนวทาง ของรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับนี้เป็นหลัก” อลงกรณ์ พลบุตร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ระบุ

เมื่อการประชุมเริ่มทำท่าจะหาทางออกไม่ได้ในประเด็นนี้ ถึงที่สุดแล้ว ‘สามารถ’ ใช้อำนาจประธานขอชะลอการตั้งที่ปรึกษากมธ.จากคนนอกเอาไว้ก่อนและขอให้ที่ ประชุมเสนอที่ปรึกษาเฉพาะในสัดส่วนของพรรคการเมืองและวุฒิสภาที่เป็น กมธ.ก่อนแทน ประกอบด้วย ชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา พล.อ.ชูชาติ สุขสงวน สว.สรรหา สุทัศน์ เงินหมื่น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ชาญชัย ชัยรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนา สนอง เทพอักษรณรงค์  สส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย

กว่าการประชุมจะจบลงได้ต้องใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมงทั้งทีการประชุมนัดแรกมีวาระเพียงแค่การแต่งตั้งบุคคลเท่านั้น ซึ่งตามหลักแล้วน่าจะเสียเวลามากเท่านี้ ทำให้เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นแล้วว่าการประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 นับจากนี้ไปคงปะทุเดือดแบบไม่มีใครยอมใครอย่างแน่นอน


'ปู'คุมแก้รธน.เบ็ดเสร็จ ในสภาเอาอยู่-นอกสภาไม่แน่

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ได้เดินหน้านับหนึ่งสมใจปรารถนาของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” แล้ว สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ภายหลังรัฐสภามีมติเสียงข้างมากเห็นชอบรับหลักการในวาระที่ 1 ด้วยคะแนน 399 เสียง 199 เสียง

จากนี้ไปจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 45 คน ซึ่งจะเริ่มประชุมครั้งแรกในวันที่ 29 ก.พ.นี้ เพื่อตั้งประธาน กมธ.พร้อมกับกำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาแก้ไขถ้อยคำด้วย คาดว่าการทำงานอยู่ในระหว่าง 30-45 วัน

เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าไปได้อย่างนี้ ถือว่าสร้างความใจชื้นให้กับรัฐบาลพอสมควร เพราะตอนแรกเกรงกันว่าจะเกิดกระแสตีกลับอย่างรุนแรง หาก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.บริหารหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันทางการเงิน ไม่ผ่านการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

สุดท้ายทุกอย่างเป็นไปตามทางที่โรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบตามที่ปูเอาไว้ แม้จะมีกระแสต้านมากวนใจเล็กน้อยบ้างในช่วงแรกของการพิจารณาวาระที่ 1 แต่ก็ไม่เป็นผลระคายเคืองรัฐบาลเท่าไหรนัก

ขณะเดียวกัน ตัวเลข 399 เสียงที่ออกมาให้ความเห็นชอบนั้น นับว่าเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายของรัฐบาลเช่นกัน

โดยตอนแรกรัฐบาลยังกะเกณฑ์เอาคร่าวๆ ด้วยซ้ำว่าเสียงที่น่าจะให้ผ่านคงอยู่ประมาณไม่เกิน 360 หรือ 370 เสียงด้วยซ้ำ โดยบวกเอาจากฐานเสียงของรัฐบาล 300 เสียงกับ สว.เลือกตั้งและ สว.สรรหาที่มีจุดยืนไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดบางส่วน

ลงลึกไปในตัวเลข 399 เสียง ส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อยพบว่ามีส่วนสำคัญมาจาก “พรรคภูมิใจไทย” (34 เสียง) ไม้เบื่อไม้เมาของพรรคเพื่อไทยในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมา

 

โดยสัญญาณที่พรรคภูมิใจไทยได้แสดงออกมาระหว่างการอภิปราย พบว่า มีแนวโน้มสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับอยู่แล้ว แม้จะมีเงื่อนไขเกี่ยวกับการห้ามแตะต้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และระบบการเมืองการปกครอง

ประกอบกับบทบาทของพรรคในช่วงระยะหลังมานี้ มักแสดงตีตนออกห่างพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้าน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่ร่วมลงชื่อในญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งล่าสุดเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วม

ไม่เพียงเท่านี้ มีหลายต่อหลายครั้งที่ไม่ค่อยเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วม ฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) จนสร้างความฉงนให้กับประชาธิปัตย์เช่นกันว่าพรรคภูมิใจไทยมีจุดยืนต่อการ เป็นฝ่ายค้านอย่างไร

ท่าทีเหล่านี้ เป็นการแสดงออกให้เห็นว่าพรรคภูมิใจไทยกำลังปลีกตัวออกมาเป็น “พรรคฝ่ายค้านอิสระ” เสมือนหนึ่งแต่งตัวรอการร่วมรัฐบาลในอนาคต หากกลุ่มบ้านเลขที่ 111 พ้นโทษการตัดสิทธิทางการเมืองหรือไม่ สิ้นเดือน พ.ค. คงได้เห็นคำตอบพร้อมกันทั่วประเทศ

ขณะที่คะแนนเสียงอีกส่วนรัฐบาลได้แรงสนับสนุนมาจาก “สว.เลือกตั้ง” แน่นอนว่าสว.กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นพวกไม่เอาพรรคประชาธิปัตย์

จุดยืนของ สว.เลือกตั้ง ต้องการให้เปลี่ยนระบบที่มาของ สว.ให้มาจากการเลือกตั้งหมด โดยมองว่าระบบปัจจุบันไม่ยุติธรรมเป็นอย่างมาก

กล่าวคือ ระบบปัจจุบันกำหนดให้ สว.เลือกตั้งมีวาระ 6 ปีก็จริง แต่ดำรงตำแหน่งได้วาระเดียว ตรงกันข้ามกับ สว.สรรหา มีวาระ 6 ปีเหมือนกัน และต้องรับการสรรหาใหม่เมื่อเป็น สว.มา 3 ปี แต่บุคคลที่ได้รับการสรรหาเข้ามาใหม่กลับมาสามารถเป็น สว.ได้ถึง 6 ปี เท่ากับว่าถ้าหากคนที่เคยเป็นแล้วได้รับการสรรหาเข้ามาอีกจะทำให้มีวาระถึง 9 ปี ซึ่งถือเป็นความไม่ยุติธรรม

อย่าได้แปลกใจว่า ทำไมการทำงานของวุฒิสภาในปัจจุบันถึงเกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกกันอย่างชัดในปัจจุบัน

ดูจากภาพรวมการควบคุมเสียงในรัฐสภาณ ขณะนี้ ไม่ใช่ปัญหาของรัฐบาลอีกแล้ว ส่งผลให้การพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ข้างหน้าคงจะผ่านไปอย่างง่ายดาย

แม้การเมืองในรัฐสภาอาจเป็นสิ่งมีชีวิตเชื่องๆ ที่รัฐบาลสามารถควบคุมได้แบบไม่ยากเย็นนัก แต่กับการเมืองนอกสภา อาจเป็นม้าพยศที่ยากต่อการควบคุมของรัฐบาล

จุดเปราะบางสำคัญที่สุด คือ รูปธรรมของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่คำตอบว่าแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง

ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่ได้หลักประกันชัดเจนมากนักกับหลายคำถามที่ละเอียดอ่อนว่าจะเกิดขึ้นกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ประกอบด้วย

การแก้ไขหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์

การรื้อองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

การนิรโทษกรรมผ่านการยกเลิกมาตรา 309

การแตะต้องโครงสร้างอำนาจตุลาการ

ทุกคำถามเหล่านี้รัฐบาลได้ให้คำตอบเพียงแค่ “เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ร. รัฐบาลเข้าไปทำอะไรไม่ได้” แต่คำตอบนี้ก็ได้รับการสวนกลับมาว่า“ที่มาของ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งที่ต้องอิงฐานการเมือง เท่ากับว่าฝ่ายการเมืองย่อมจะเข้าไปมีบทบาทด้วย”

สถานการณ์ลักษณะนี้ไม่ต่างอะไรกับ“ทุกทางออกมีปัญหา ทุกปัญหาไร้ทางออก”ยิ่งรัฐบาลยังให้ความชัดเจนเหล่านี้ไม่ได้อย่างเป็นที่ ประจักษ์ต่อคนในสังคมเท่าไหร รัฐบาลย่อมหนีไม่พ้นกับการเผชิญกับม็อบการเมืองเท่านั้น

เหมือนกับสมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชนเจอมาแล้ว จนต้องทำให้นายกรัฐมนตรีของพรรคต้องตกเก้าอี้ถึง 2 ครั้ง และสูญเสียอำนาจทางการเมืองไปในที่สุด

เพราะฉะนั้น ความย่ามใจของรัฐบาลที่มีต่อการคุมเสียงในรัฐสภา อาจไม่ได้เป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจบลงแบบแฮปปี้เอนดิง ตราบใดที่ยังไม่สามารถคุมการเมืองนอกสภาได้


ยก 2 แก้รธน.เดือดแน่

จาก โพสต์ทูเดย์

ผ่านยกแรกแบบท่วมท้น!!!! ด้วยคะแนนเสียง 399 ต่อ 199 เสียง เห็นชอบในหลักการวาระแรกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในขั้นตอนการลงมติที่ประชุมร่วมรัฐสภา

แม้ตามหลักการจะเพียงแค่การแก้ไขเฉพาะมาตรา 291 มาตราเดียว แต่เป็นมาตราเดียวที่ส่งผลต่อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ด้วย “อำนาจ” สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)ที่จะตั้งขึ้น

เสียงสะท้อนแสดงความเป็นห่วงจาก สว.และ สส.ซีกฝ่ายค้าน มองว่ามาตรานี้ไม่ต่างจากการเซ็น “เช็คเปล่า” ให้อำนาจ ส.ส.ร.เข้าไปกำหนดทิศทาง ลงรายละเอียดในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ที่สำคัญ รัฐสภาในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถเข้าไปปรับแก้เนื้อหาสาระใดๆ ทำได้เพียงแค่การลงมติ รับ หรือ ไม่รับ ในเนื้อหาที่ ส.ส.ร.ร่างขึ้นเท่านั้น

เงื่อนไขแบบ “มัดมือชก” เช่นนี้เอง ทำให้ฝ่ายค้านต้องการให้ระบุชัดเป็นลายลักษณ์อักษรลงไปในมาตรา 291 ว่าจะไม่แตะต้อง 3 ปมร้อน เพื่อเป็นหลักประกันขั้นแรกตั้งแต่เริ่มต้น ที่จะไม่ถูกหมกเม็ด บิดพลิ้วในภายหลัง

พิจารณาจากท่าทีของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน การแปรญัตติจะแบ่งออกเป็น 3 เรื่อง ประเด็นแรก คือ การที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องยึดเอาหมวดพระมหากษัตริย์ หรือหมวด 1 หมวด 2 ซึ่งเป็นบทหลักที่เกี่ยวกับประเทศ ไม่มีการแก้ไข

ประเด็น 2 ต้องมีหลักประกันในเรื่องของความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการและองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

ประเด็น 3 ไม่ให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกใช้ไปในลักษณะของการไปนิรโทษกรรม ซึ่งจะไปเขียนได้หลายแบบ เช่น ระบุว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือการจัดทำนั้นต้องไม่ไปเป็นการไปล้มล้างคำ พิพากษาของศาล หรือว่าจะต้องไม่ไปเอื้อประโยชน์ให้กับผู้หนึ่งผู้ใด

ทว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่กรรมาธิการฝ่ายรัฐบาลจะยอมรับข้อเรียกร้องถึงขั้น “ผูกมัดตัวเอง” บรรจุลงไปในรายละเอียดว่าจะไม่แตะต้องประเด็นเหล่านี้ เพราะนั่นเท่ากับการตีกรอบให้ ส.ส.ร.ไม่สามารถขยับไปแตะต้องประเด็นเหล่านี้ที่เชื่อมโยงไปยังอีกหลายมาตรา ในรัฐธรรมนูญ

ยิ่งจับสัญญาณจากหนึ่งในทีมกฎหมายจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเคยออกมาแสดงความคิดเห็นว่าต้องการให้โละองค์กรอิสระอย่าง ศาลรัฐธรรมนูญ หรือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีที่มาที่ไปจากรัฐประหาร ยิ่งสะท้อนจุดหมายปลายทาง

การอภิปรายในวาระแรก รัฐบาลยืนยันว่าไม่ได้มีเป้าหมายแตะต้องเรื่องสถาบัน พร้อม “ลอยตัว” โยนให้เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ร.

อีกประเด็นที่ต้องถกเถียงกันหนัก คือ ที่มาของ ส.ส.ร. เพราะที่ผ่านมาเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งเป็นห่วงว่า การสรรหาส่วนหนึ่งผ่านการเลือกตั้ง 77 คน จาก 77 จังหวัด อาจเกิดการครอบงำจากฝ่ายการเมือง

ทางออกอาจจะไปกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ คัดกรองผู้ที่จะเข้ามาเป็น ส.ส.ร. ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติ ข้อต้องห้ามไม่ให้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรืออะไรอื่นๆ ที่สามารถคัดกรองคนจากฝ่ายการเมืองได้มากกว่าที่เป็นอยู่

ส่วน ส.ส.ร.ที่มาจากการสรรหา การตั้งต้นจากการเสนอชื่อขององค์กรอื่นๆ นอกเหนือจากองค์กรทางวิชาการสถาบันการศึกษาต่างๆ ยิ่งทำให้เกิดความเคลือบแคลงในที่มาที่ไปของ ส.ส.ร.จากภาคสรรหา โดยเฉพาะการให้อำนาจประธานรัฐสภากำหนดประเภท หลักเกณฑ์

กระบวนการขั้นตอนการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มมาตรา 291จึงน่าจะเป็นเวทีที่ดุเดือด เกิดการปะทะทางความคิด ต่อสู้กันในเนื้อหารายละเอียดอย่างหนักหน่วง

แม้สัดส่วน 45 กรรมาธิการ เป็นตัวแทนจากเพื่อไทย 19 คน มากกว่าประชาธิปัตย์ที่มี11 คน หรือเกือบเท่าตัว ขณะที่ สว. 10 คนภูมิใจไทย 2 คน ชาติไทยพัฒนา 1 คนชาติพัฒนา 1 คน และพลังชล 1 คน การที่เพื่อไทยจะเข้ามาคุมทิศทางในชั้นกรรมาธิการย่อมไม่ใช่เรื่องยาก

ความดุเดือดยังไม่จำกัดอยู่ในแค่ชั้นกรรมาธิการ แต่ยังลุกลามออกมายังภายนอกสภา ที่เวลานี้กลุ่มแนวร่วมคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มออกมาวอร์มอยู่ข้าง สนาม

ทั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดย สนธิ ลิ้มทองกุล พล.ต.จำลองศรีเมือง พิภพ ธงไชย สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ฯลฯ ยังพร้อมเพรียงร่วมประกาศจุดยืนออกแถลงการณ์ เรื่อง “หยุดนิติกรรมอำพรางล้มล้างรัฐธรรมนูญยึดอำนาจประเทศไทย”

ก่อนเรียกความฟิตนัดชุมนุมผู้ประสานงานและตัวแทนพันธมิตรฯ ในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศในวันที่ 10 มี.ค. เวลา 10.00 น. ขณะที่กลุ่มกรีน กลุ่มเสื้อหลากสี กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ล้วนออกมาประกาศตัวเคลื่อนไหวคัดค้านชัดเจนก่อนหน้านี้

สัญญาณความรุนแรงข้างถนนทำท่าจะเริ่มก่อตัวหนักขึ้นเรื่อยๆ!!!

เมื่อทางฝั่งกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ออกมานัดชุมนุมวัดขุมกำลังกันอีกระลอกภายใต้ชื่องาน “คอนเสิร์ตหยุดรัฐประหาร เปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญ” ที่โบนันซ่า เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา

จังหวะเดียวกับที่ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มต้นกระบวนการในสภา จังหวะเดียวกับที่ทางพันธมิตรฯ ออกมาฮึ่มฮั่ม

จับอาการจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรอดีตนายกฯ ที่วิดีโอลิงก์มาขอบคุณ 399 เสียงที่เห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมครวญเพลงเนื้อหาอยากกลับบ้าน ปลุกใจบรรดาคนเสื้อแดง พร้อมกำชับเรื่องเงินเยียวยา ให้เร่งทำเรื่องให้เสร็จใน 3 เดือน ยิ่งน่าเป็นห่วง

แรงปะทะคู่ขนานทั้งในและนอกสภาที่จะคุกรุ่นขึ้นตามการสุกงอมของการแก้ไข รัฐธรรมนูญ ย่อมทำให้บรรยากาศการเมืองในช่วงเวลานี้ดุเดือดอย่างไม่อาจปฏิเสธได้?


ถึงวันเปลี่ยน'รธน.'วุฒิสภาเริ่มเปลี่ยนไป

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าจะเดินหน้าได้ ก็เริ่มนับหนึ่งให้เห็นแล้ว โดยวันนี้ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการครั้งแรกหลังจากรัฐสภาให้ความ เห็นชอบในวาระที่ 1 เพื่อเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งสำคัญของ กมธ.

เมื่อมองการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปข้างหน้าแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องย้อนกลับหลังเช่นกัน โดยการมองกลับหลังนั้นเป็นการมองผ่านผลการลงมติเมื่อกลางดึกวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 399 ต่อ 199 และงดออกเสียง 14 เสียง

ตัวเลขที่ออกมาแสดงถึงนัยสำคัญต่อท่าทีในอดีตและในอนาคตเป็นอย่างมาก

ความน่าสนใจของตัวเลขที่ออกมาไม่ได้อยู่ที่การออกเสียงของฝ่ายรัฐบาลหรือ ฝ่ายค้าน เพราะเสียงในซีกการเมืองสภาล่างไม่แตกแถว แต่ปรากฏว่าในส่วนของสภาสูง หรือวุฒิสภา กลับมีความผิดปกติเล็กน้อยถึงปานกลาง

คะแนนเสียงที่ผิดปกติตกอยู่ใน “สว.สรรหา” พบว่าในเสียงสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 399 เสียง มีเสียงของ สว.สรรหาจำนวน 17 เสียง และงดออกเสียงถึง 8 คน จากทั้งหมด 14 เสียง ทั้งนี้ในส่วนของคะแนนงดออกเสียงต้องตัดออกไป 1 เสียงของ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา เพราะเป็นการงดออกเสียงตามมารยาททางการเมืองในฐานะรองประธานรัฐสภา

คะแนนงดออกเสียงแม้ว่าจะไม่ได้แสดงถึงการสนับสนุนอย่างชัดเจน แต่ในทางการเมืองถือเป็นการเห็นด้วยกับรัฐบาลทางอ้อมอย่างหนึ่ง และพร้อมจะแปลงเป็นเสียงสนับสนุนในอนาคต

เท่ากับว่ารัฐบาลมีเสียงสนับสนุนจาก สว.สรรหา ในมือแล้วอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 20 คน

สว.สรรหา 75 คน เป็นฐานการเมืองที่รัฐบาลชุดนี้พยายามจะเจาะมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ยังทำได้ไม่เต็มไม้เต็มมือมากนัก เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า สว.สรรหา ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้ฝ่ายค้านสภาสูงรบกับขั้วการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลังจากวุฒิสภาในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นระบบเลือกตั้ง ซึ่งต้องตกอยู่ใต้ปีกของฝ่ายการเมืองไปโดยอัตโนมัติ

 

การเจาะมาได้กว่า 20 คน และกำลังมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อรวมกับฐาน สว.เลือกตั้งเดิมที่รัฐบาลมีอยู่แล้ว 50-60 เสียง ดังนั้นรัฐบาลมีเสียง สว.ในมือแน่ๆ ไม่ต่ำกว่า 70 เสียง และจะกลายเชื้อเพลิงสำคัญที่ทำให้รัฐนาวา ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล่นฉิวบนมหาสมุทรแห่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เจาะลึกลงไปใน สว.สรรหา ที่ให้การสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยพลิกปูมและดูหน้าค่าตาของ สว.กลุ่มนี้แล้วจะพบว่าล้วนเป็นคนกันเองกับขั้วเพื่อไทยแทบทั้งสิ้น หรือไม่ก็เป็นแนวร่วมต่อต้านกลุ่ม 40 สว.

“พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์” อดีตรอง ผบ.ตร. หนึ่งในผู้ออกเสียงสนับสนุน มีสถานะเป็นเพื่อนร่วมโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 26 เช่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ นอกจากนี้ความแนบแน่นยังแสดงให้ได้จาก “สิริกร มณีรินทร์” ภริยา เคยดำรงตำแหน่ง รมช.ศึกษาธิการ ในรัฐบาลทักษิณด้วย

ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 พล.ต.อ.วงกต จะเริ่มรักษาระยะห่างจาก พ.ต.ท.ทักษิณ และเก็บตัวเงียบมาตลอด แต่เมื่อได้ลงคะแนนสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็นคำตอบอยู่ในตัวแล้วว่าความสัมพันธ์ของบุคคลทั้งสองเป็นอย่างไร

“พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี” นับเป็น สว.ที่ไม่ค่อยถูกกับ 40 สว.มากเท่าไหร่นัก และในอดีตเคยเป็นแกนนำก่อตั้งกลุ่ม 64 สว.เพื่อคานอำนาจระหว่างกัน มากันที่ “ประสงค์ ตันมณีวัฒนา” ผู้สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกคน เป็นเพื่อนร่วมรุ่นวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปรอ.4313) กับ พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ อดีต รมว.พลังงาน ภริยาของ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล

“เพ็ญพักตร์ ศรีทอง” สว.อีกคนที่ลงคะแนนรับหลักการ คือ นักเรียนชายคา “วปรอ.4010” ร่วมกับ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ลูกพี่ลูกน้องของ พ.ต.ท.ทักษิณ และนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้

ส่วน พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ อดีตรอง ผบ.ตร. ถึงจะไม่เคยปรากฏความชัดเจนว่าสนับสนุนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมาก่อน แต่กระนั้นเมื่อเหตุการณ์เด้ง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี จาก ผบ.ตร. ไปเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้แสดงท่าทีสนับสนุนให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เป็น ผบ.ตร.คนใหม่ พร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ พล.ต.อ.วิเชียร อย่างตรงไปตรงมา

ไม่เพียงเท่านี้ จะเห็นได้ว่า สว.สรรหา ที่มีส่วนเชื่อมโยงกับขั้วการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ กลับไปลงคะแนนสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญสวนทางกับการลงมติของฝ่ายค้าน เช่น “ปัญญา เบ็ญจศิริวรรณ” ญาติสามีของ “นาถยา เบ็ญจศิริวรรณ” สส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้ง “วิชัย ไพรสงบ” สว.สรรหาอีกราย โดยในอดีตเคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจาก “อัญชลี วานิชเทพบุตร” สส.ภูเก็ต สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์

ขณะที่ สว.สรรหา กลุ่มงดออกเสียง มีความน่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะพบมีสายสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมกับพรรคเพื่อไทยไม่น้อย เช่น “สม จาตุศรีพิทักษ์” พี่ชาย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกเว้นวรรคการเมืองกลุ่ม 111 พรรคไทยรักไทย

“พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์” อดีต สว.กทม. ปี 2549 และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เพื่อนร่วมรุ่น นรต.25 กับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร.สมัยรัฐบาลสมชาย

เมื่อ สว.สรรหา ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นป้อมปราการสำหรับการต่อกรกับกองทัพการเมืองข้าง พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ถูกเจาะเข้าไปทีละน้อย ทำให้อนาคตการทำงานของวุฒิสภาน่าจับตามองอย่างยิ่ง จะมีทิศทางต่อไปอย่างไรภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองที่เริ่มปะทุเวลานี้


บจ.สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พี แอนด์ อี,คณะบุคคลที่ปรึกษา พี.เอ.ที.,สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา

Tags : แง้มห้องประชุม แก้รธน. แค่อ้าปาก ไม่มีใครยอมใคร

view