สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

1ปีหลังสึนามิ ศก.ซามูไรยังไม่ฟื้น เงินฝืด-เยนแข็ง ยังอาละวาด น้ำท่วม ไทยตามซ้ำดาบ2

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ในช่วงปีที่ผ่านมา นอกจากประเทศกรีซจะประสบวิบากกรรมทางเศรษฐกิจจนแทบโงหัวไม่ขึ้นแล้ว ญี่ปุ่น ยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลก ก็ผจญชะตากรรมไม่แตกต่างกันสักเท่าไรนัก

ต่างกันแต่เพียงว่า วิบากกรรมที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญหน้าอยู่นั้น ได้แรงหนุนอย่างดีจากเหตุเหนือความคาดหมายอย่างแผ่นดินไหวและสึนามิถล่ม ครั้งใหญ่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554 ก่อนลุกลามเป็นวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และตามมาด้วยอุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปีของไทย ที่ซ้ำแผลเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังไม่สมานดีจากสึนามิให้อักเสบหนัก

เพราะบรรดาโรงงานผลิตชิ้นส่วนอุตสาห กรรม เครื่องจักร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิปคอมพิวเตอร์ และเซมิคอนดักเตอร์ ต่างเจิ่งนองไปด้วยน้ำถ้วนหน้า จนภาคการผลิตที่ญี่ปุ่นต้องใช้เพื่อฟื้นฟูประเทศจากภัยพิบัติก่อนหน้านี้มี อันต้องหยุดชะงัก

เกือบหนึ่งปีหลังคลื่นซัดผ่าน ในที่สุดญี่ปุ่นก็มีข่าวดีให้ชื่นใจบ้าง เมื่อกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นล่าสุดในเดือน ม.ค. 2555 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน

ข่าวดีดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนทั้งญี่ปุ่นและต่างชาติยิ้มออก เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันที่เกิดขึ้นนี้ กลายเป็นสัญญาณทางบวกว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นกำลังเดินหน้าฟื้นตัวขึ้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์หลายสำนัก ต่างออกโรงเตือนตะโกนเป็นเสียงเดียวกันว่า ยังเร็วเกินไปที่จะฟันธงลงไปว่าญี่ปุ่นรอดและพร้อมจะพลิกกลับขึ้นมาผงาดอีก ครั้ง

เพราะต้องไม่ลืมว่า ญี่ปุ่นยังคงมีปัญหาและปัจจัยเสี่ยงมากมายที่ยังหาทางแก้ไม่ออก ตอบโจทย์ไม่ได้เป็นชนักปักหลังอยู่

โจทย์ใหญ่แรกสุดซึ่งรุมเร้าญี่ปุ่นมานานตั้งแต่ก่อนที่แผ่นดินไหวและ คลื่นสึนามิจะแวะทักทายประเทศก็คือ ปัญหาเงินฝืด ที่ทำให้ราคาของสินค้าและบริการในตลาดทั่วไปลดลงอย่างต่อเนื่อง

แน่นอนว่า สินค้าที่ราคาถูกลงย่อมเป็นเรื่องที่ดี แต่การลดลงของสินค้าและบริการแบบติดต่อกันนานๆ ก็ไม่ส่งผลดีกับเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมเท่าไรนัก

สาเหตุเป็นเพราะสินค้าราคาถูกลงในครั้งนี้เกิดจากความเชื่อว่าสถานการณ์ เศรษฐกิจจะถดถอย ทำให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจเชื่อว่าสินค้าราคาต่างๆ จะปรับลดราคาลงไปได้อีก ผลก็คือ คนก็ไม่ใช้จ่ายเพื่อรอให้ของถูก นักธุรกิจก็หยุดลงทุนพร้อมปรับลดต้นทุนสินค้า รวมทั้งค่าจ้างแรงงาน ซึ่งลงเอยไม่พ้นการปลดคนงาน ออก จนคนว่างงานเพิ่มขึ้น

สรุปให้เข้าใจได้ง่ายก็คือว่า ภาวะเงินฝืดนี้ต่อให้สินค้าราคาถูกลงจริง แต่คนก็ไม่ซื้อ เนื่องจากไม่มั่นใจว่าตนเองจะมีเงินไหลเข้ากระเป๋าอีกหรือเปล่า สุดท้ายก็ทำให้ภาคเศรษฐกิจจริงหดตัว

ทั้งนี้ ตัวเลขที่กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่นเพิ่งจะเปิดเผยเมื่อ ช่วงปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ของญี่ปุ่นยังปรับตัวลดลง 0.3% ขณะที่ดัชนีซีพีไอพื้นฐานที่ไม่ได้รวมหมวดอาหารสด โดยส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าคงทนประเภทตู้เย็น โทรทัศน์ ปรับลดลงเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันในปี 2554 มาอยู่ที่ 99.8 จุด เมื่อเทียบกับฐาน 100 จุด ในปี 2553 ซึ่งราคาสินค้าคงทนเหล่านี้ลดลงในอัตราที่เร็วกว่าการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ ต้นทุนด้านพลังงาน ซึ่งรวมถึงการใช้น้ำมันเบนซินและไฟฟ้า

หมายความว่า ผู้ผลิตญี่ปุ่นนอกจากต้องเจ็บปวดกับสินค้าราคาถูกแล้ว ยังต้องปวดหัวกับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น

เมื่อยิ่งดิ้นก็ยิ่งเจ็บ ทางเลือกที่เหลือก็คือ อยู่เฉยๆ ไม่เดินหน้าขยับขยายลงทุนใดๆ และคอยประคับประคองตัวให้พอรอดเป็นดีที่สุด ซึ่งเป็นทางเลือกที่รัฐบาลญี่ปุ่นปวดใจ เพราะสถานการณ์ในปัจจุบันต้องการแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนของของธุรกิจต่างๆ อย่างยิ่งยวด เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าเข้าสู่ภาวะถดถอย

ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ กิจกรรมการผลิตของประเทศหยุดชะงักจนธนาคารกลางของญี่ปุ่นต้องออกมาปรับลดการ คาดการณ์การเติบโตในปี 2555 จาก 2.2% มาอยู่ที่ 2% พร้อมเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจแบบเต็มที่ เช่น การคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ที่ 0-0.1% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์

 

สำหรับโจทย์ที่ 2 ที่ตามมาก็คือ ค่าเงินเยนที่เดินหน้าแข็งค่าขึ้นจนกระทบกับการส่งออก โดยมีสาเหตุมาจากวิกฤตหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นในยุโรปและสหรัฐ ที่ทำให้เกิดภาวะการเงินตกต่ำ

ความไม่เชื่อมั่นที่เกิดขึ้นส่งผลให้นักลงทุนทั่วโลกมองหาสินทรัพย์ปลอดภัย และค่าเงินเยนของญี่ปุ่นก็เป็นหนึ่งในนั้น

ส่งผลให้ที่ผ่านมาค่าเงินเยนของญี่ปุ่นต่อเงินเหรียญสหรัฐและเงินยูโร เดินหน้าแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จนธนาคารกลางต้องประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่ม ด้วยการขยายโครงการซื้อสินทรัพย์จากสถาบันการเงินภายในประเทศอีก 10 ล้านล้านเยน เป็น 65 ล้านล้านเยน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดสภาพคล่องในระบบการเงินของญี่ปุ่นที่จะเป็นประโยชน์ต่อ ภาคการส่งออกของประเทศในแง่ที่ว่า สินค้าส่งออกราคาไม่แพง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในระยะยาวก็ยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญคนใดรับประกันได้ว่าเงินเยนจะไม่แข็งค่า ขึ้นอีก ตราบใดที่วิกฤตหนี้สาธารณะยังคงวนเวียนอยู่ภูมิภาคยุโรป

นอกจากนี้ ยังไม่มีใครรับประกันได้อีกว่า ต่อให้ค่าเงินเยนอ่อนลง เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นกลับมาแข็งแกร่งได้ เพราะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันอยู่ในภาวะถดถอย จนทำให้ปริมาณความต้องการสินค้าในตลาดโลกลดลง

ยังไม่นับรวมกับสภาพเศรษฐกิจที่เปราะบางของญี่ปุ่นด้วยความจริงที่ว่า หนี้สาธารณะของญี่ปุ่นในขณะนี้สูงถึง 220.3% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่นับว่าเป็นภาระหนี้ที่สูงที่สุดในบรรดาประเทศอุตสาหกรรม

ฮิเดโตชิ คาเมซากิ หนึ่งในคณะผู้บริหารธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ถึงกับคาดการณ์ว่า ตราบใดที่เศรษฐกิจยุโรปยังไม่กระเตื้องขึ้น ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นเองยังไม่สามารถจัดการตัดลดรายจ่ายและจัดการเก็บภาษี เพิ่มได้ ตราบนั้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ยังคงหมิ่นเหม่อยู่ปากเหวที่หากไม่ระวังแล้วก็ล้ม ได้ทุกเมื่อ

โจทย์ปัญหาข้อที่ 3 ที่ยังค้างคาอยู่ก็คือ การชะงักงันของภาคการผลิตอันเนื่องมาจากเหตุภัยพิบัติทั้งจากในประเทศและนอก ประเทศ ซึ่งไม่ใช่ที่ไหนอื่นไกลนอกจากน้ำท่วมในไทย

ขณะนี้บรรดาโรงงานผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ของญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในไทยยังคงอยู่ในช่วงฟื้นฟู ซึ่งกว่าจะกลับมาผลิตได้อย่างเต็มที่เทียบเท่ากับตอนก่อนเกิดเหตุอุทกภัยก็ ปาเข้าไปครึ่งปีหลัง 2555

ปัญหาก็คือว่า จะมีผู้ผลิตสักเท่าไรที่จะอดทนกับภาวะขาดทุนได้จนถึงเวลานั้น

เพราะขณะนี้ผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นหลายราย ไล่เรียงตั้งแต่ พานาโซนิค โตชิบา หรือแม้แต่โซนี่ ต่างออกมารายงานตัวเลขการขาดทุนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ล่าสุดผู้ผลิตชิปรายใหญ่สุดของญี่ปุ่นอย่าง เอลพิดา เมโมรี อิงก์ ถึงขั้นยื่นต่อศาลโตเกียวขอล้มละลายเลยทีเดียว

สำหรับโจทย์สุดท้ายที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องตีให้แตกก็คือ ปัญหาพลังงาน ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในเศรษฐกิจ ที่เติบโตได้พึ่งพาการผลิตเพื่อการส่งออกอย่างญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ก่อนหน้าจะเกิดเหตุธรณีพิบัติภัยและสึนามิเมื่อเดือน มี.ค.ปีที่แล้ว ญี่ปุ่นพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าราว 30% ของการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมดภายในประเทศ และมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เชิงพาณิชย์ถึง 54 เตา นับเป็นประเทศที่มีการใช้พลังงานนิวเคลียร์มากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย

วิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นเจอกับกระแสต่อต้านนิวเคลียร์จากประชาชนในประเทศ จนต้องร่างแผนลดการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์เริ่มมองเห็นเค้า ลางความยุ่งยากที่จะตามมา เพราะแดนซามูไรที่อยู่ในช่วงฟื้นฟูประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจ จำเป็นต้องใช้พลังงานมหาศาลในการประกอบกิจกรรมต่างๆ

แต่เมื่อพลังงานไม่พอ ญี่ปุ่นก็ต้องนำเข้าเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนส่วนที่ขาดไป สวนทางกับการส่งออกที่แม้จะกระเตื้องขึ้น แต่ก็ยังไม่ทัดเทียมกับการนำเข้าที่เข้ามา

ทั้งนี้ ปริมาณการส่งออกเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4,510 ล้านเยน ขณะที่ปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5,985 ล้านเยน โดยส่วนใหญ่ที่นำเข้าก็คือ น้ำมันและพลังงานอื่นๆ นอกเหนือจากอุปกรณ์ก่อสร้าง

ส่วนต่างมากกว่า 1,000 ล้านเยน หมายถึงการขาดดุลงบประมาณของประเทศอย่างมหาศาล ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะถดถอย นับเป็นข่าวร้ายที่กระหน่ำซ้ำเติมเข้ามาอีก

ด้วยเงื่อนไขเพียงแค่นี้ ก็เพียงพอที่จะสรุปได้ไม่ยากว่า ครบรอบ 1 ปีสึนามิซึ่งจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า แดนซามูไรยังคงต้องฟันฝ่าอีกยาวกว่าจะตั้งหลักฟื้นตัวขึ้นมาได้


บจ.สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พี แอนด์ อี,คณะบุคคลที่ปรึกษา พี.เอ.ที.,สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา

Tags : 1ปีหลังสึนามิ ศก.ซามูไรยังไม่ฟื้น เงินฝืด เยนแข็ง ยังอาละวาด น้ำท่วม ไทยตามซ้ำดาบ2

view