สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เฟดเมิน คิวอี3 ว่างงานยังไม่น่าไว้ใจ เงินเฟ้อยังหอกข้างแคร่

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ธนพล ไชยภาษี

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า หัวเรือใหญ่ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อย่าง เบน เบอร์แนนคี ยังไม่เห็นถึงความจำเป็นที่เฟดจะต้องงัดเอานโยบายการเงินแบบผ่อนปรนเชิง ปริมาณ (Quantative Easing) ออกมาใช้เป็นรอบที่ 3 ทำให้ตลาดหุ้นและตลาดทองคำตกอกตกใจ จนทำให้ราคาทองร่วงกราวรูดไปเกือบ 100 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์เมื่อวานนี้

ทั้งๆ ที่เบอร์แนนคีเองก็เห็นเช่นกันว่า แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะอยู่ในช่วงการฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่ทว่าสภาพปัญหาหลายอย่างก็ยังไม่อยู่ในระดับที่น่าพอใจนัก

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการว่างงานของสหรัฐที่ตัวเลขอัตราการว่างงานดีขึ้นกว่า เมื่อหลายปีก่อนจะใกล้ๆ แตะ 10% ลดลงมาอยู่ที่ 8.3% ในเดือน ม.ค. ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของเศรษฐกิจสหรัฐ

แต่เมื่อพิจารณาในเบื้องลึกจะเห็นว่า อัตราการว่างงานที่ลดลงนั้นไม่ได้เป็นเพราะนายจ้างกลับมาจ้างงานอีกครั้งใน ปริมาณมาก แต่กลับเป็นเพราะว่ามีแรงงานจำนวนไม่น้อยที่ถอดใจและเลิกหางานกันแล้ว คือออกจากระบบแรงงานไปเลย

นอกเหนือจากที่ปริมาณการจ้างงานในระยะยาวนั้นยังคงเกิดขึ้นน้อยมากเมื่อเทียบกับการจ้างงานในลักษณะ “พาร์ตไทม์” หรืองานชั่วคราว

นั่นคือสัญญาณที่บ่งบอกได้ว่า การฟื้นตัวของสหรัฐนั้นแม้ว่าจะเดินไปข้างหน้าได้อยู่บ้าง แต่ก็เป็นการก้าวเดินที่ยังก้าวกะเผลก ไม่ใช่การย่ำเท้าอย่างมั่นคงและหนักแน่นดังที่ควรจะเป็น

นั่นคือโจทย์สำคัญว่า แล้วเพราะเหตุใดเฟดถึงไม่เลือกที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการคิวอีดังที่ เคยเป็นมา ทั้งๆ ที่สภาพเศรษฐกิจสหรัฐยังคงอยู่ในห่วงแห่งความเปราะบางเช่นนี้ แม้ว่าเฟดจะยังคงไว้ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเช่นเดิม ที่ระหว่าง 0-0.25% ไปจนถึงปลายปี 2547

การเข้าซื้อคืนพันธบัตรของเฟดในมาตรการคิวอีนั้น แน่นอนว่าจะเป็นวิธีการช่วยกดให้ระดับดอกเบี้ยการกู้ยืมอยู่ในระดับต่ำต่อไป ซึ่งถือเป็นการอัดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบโดยทางอ้อม ที่จะช่วยให้ภาคธนาคารปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจมากขึ้น อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในท้ายที่สุด และสุดท้ายแรงงานซึ่งก็คือประชาชนชาวสหรัฐจะสามารถกลับมามีงานทำได้อีกครั้ง

แต่ทว่า การอัดฉีดสภาพคล่องผ่านนโยบายคิวอีทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมานั้น จะเห็นว่าในปี 2551 เฟดใช้นโยบายคิวอีครั้งแรกเข้าซื้อคืนสินทรัพย์ที่มีปัญหาของธนาคาร และสถาบันการเงินสหรัฐมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้ธนาคารเจ๊ง หลังจากที่ภาคธนาคารต้องหั่นมูลค่าสินทรัพย์ลงกันเป็นว่าเล่น

และในปี 2553 เฟดใช้นโยบายคิวอีครั้งที่ 2 เมื่อเดือน พ.ย. มูลค่า 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เข้าซื้อคืนพันธบัตรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการกดให้ดอกเบี้ยให้อยู่ใน ระดับต่ำ

แต่ทว่า จากการพิมพ์แบงก์ในปริมาณมหาศาลของเฟดเพื่อนำมาซื้อคืนพันธบัตรเหล่านี้ ส่งผลทำให้ปริมาณเงินไหลเข้าสู่ระบบการเงินของสหรัฐเป็นจำนวนมหาศาล

ทว่า เงินเหล่านั้นกลับถูกนำไปใช้เก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์และตลาดซื้อขายล่วง หน้า ทั้งทองคำและน้ำมัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักลงทุนในตลาดทองคำเมื่อวานนี้จะตกใจถึงขนาดปล่อย ให้ราคาทองคำร่วงลงมาเกือบร้อยเหรียญ เมื่อรู้ว่าเฟดจะไม่ปล่อยคิวอี 3 ออกมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดน้ำมันที่พุ่งมาอย่างต่อเนื่องติดต่อกันนั้น ถือว่าสร้างผลเสียให้กับเศรษฐกิจสหรัฐเสียเอง เมื่อชาวสหรัฐซึ่งประสบกับปัญหารายได้และว่างงานอยู่แล้วต้องมีรายจ่ายกับ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น

ปริมาณเงินมหาศาลอีกส่วนหนึ่งไหลออกจากสหรัฐไปทั่วโลก โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย ทำให้ค่าเงินของเอเชียแข็งขึ้นกันถ้วนหน้าอย่างรุนแรง ดังเห็นได้จากตลอดในปีที่แล้ว และผลของคิวอีในครั้งนั้นก็ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ของสหรัฐเองอ่อนยวบลงอย่าง รุนแรง

แน่นอนว่า ผลจากการใช้มาตรการคิวอี 2 ของเฟดในช่วงปี 2553-2554 นั้นถูกก่นด่าไปทั่วทั้งในสหรัฐและทั่วโลก และได้ส่งผลในรูปแบบที่สหรัฐเองก็ไม่สามารถควบคุมได้ด้วย โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นไม่หยุด ขณะที่กระแสเงินที่ปล่อยออกมาก็ถูกนำไปใช้เพื่อการเก็งกำไรมากกว่าที่จะถูก นำไปกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคจริงอย่างแท้จริง

ดังจะเห็นได้ว่าเฟดใช้นโยบายคิวอีมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ปริมาณการจ้างงานถาวรในสหรัฐกลับอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจนัก เรียกได้ว่าอัดเงินเข้ากระเป๋าซ้าย ก็ไหลออกกระเป๋าขวาไปเสียอย่างนั้น โดยไม่ได้เนื้อได้หนังแต่อย่างใด

ลักษณะของปัญหาดังกล่าว มีความคล้ายคลึงกับกรณีการปล่อยกู้ระยะยาวดอกเบี้ยต่ำของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่ดำเนินมาแล้วถึง 2 รอบ คือครั้งแรกในเดือน ธ.ค. 2554 ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 4.8 แสนล้านยูโร และรอบ 2 เมื่อ 2 วันก่อน มูลค่าการปล่อยกู้พุ่งขึ้นไปถึง 5.3 แสนล้านยูโร

วัตถุประสงค์หลักของการปล่อยกู้ของอีซีบีนั้นก็คือ หวังว่าธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินยุโรปจะนำเงินไปซื้อพันธบัตรของชาติ ที่มีปัญหาหนี้สาธารณะ เช่น อิตาลี และสเปน เพื่อฟื้นความมั่นใจให้กับตลาดทุนมากขึ้น หรือนำไปปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจ

แต่ทว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ ธนาคารพาณิชย์เหล่านั้นกลับเก็บเงินไว้เองเพื่อรักษาสภาพคล่องของธนาคาร หรือไม่ก็นำไปเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้าอย่างเช่นตลาดน้ำมัน

ความเหมือนของมาตรการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำของ “อีซีบี” และนโยบายคิวอีของ “เฟด” จึงอยู่ที่การให้ผลในด้านตรงกันข้ามกับวัตถุประสงค์ที่วางเอาไว้ และสุดท้ายเงินก็ไปกระจุกอยู่ที่ธนาคารและตลาดเก็งกำไร ไม่ได้ลงถึงเศรษฐกิจภาคจริงอย่างที่ควรจะเป็น นั่นคือคำตอบว่าเพราะเหตุใดการจ้างงานในสหรัฐถึงไม่กระเตื้องในระดับที่ควร น่าจะพอใจกว่านี้ และเป็นคำตอบว่าเพราะเหตุใดเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนจึงเสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะ ถดถอยอย่างเต็มที่

ยิ่งในปัจจุบันนี้ แนวโน้มของราคาน้ำมันรังแต่จะมีทิศทางปรับตัวขึ้นสูงเรื่อยๆ ไม่ว่าจะมาจากการเก็งกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้าอย่างต่อเนื่อง หรือจากปัจจัยความตึงเครียดในวิกฤตปัญหานิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งราคาน้ำมันนี้เองที่กำลังสร้างปัญหาให้กับผู้บริโภคชาวสหรัฐไม่หยุด หย่อน ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นให้ดัชนีเงินเฟ้อของสหรัฐปรับขึ้นได้ทุกเมื่อ

ดังนั้น การใช้มาตรการคิวอีครั้งที่ 3 ของเฟดนั้นถือว่ามีเสี่ยงสูงในเบื้องลึก ที่ปัญหาการว่างงานอันเปราะบางอันยากที่จะแก้ไขของสหรัฐนั้นยังคงอยู่ในภาวะ ตึงตัวโดยแท้จริง

แต่สำหรับเอเชีย การปฏิเสธมาตรการคิวอี 3 ของเบอร์แนนคีถือเป็นข่าวน่าฟังมากที่สุดในรอบสัปดาห์ ที่ลำพังในขณะนี้เอเชียก็ต้องเสี่ยงรับมือกับกระแสทุนที่จะไหลเข้ามาจากฝั่ง ยุโรปจากนโยบายปล่อยกู้ของอีซีบีอยู่แล้ว

ยิ่งหากมีดอลลาร์ไหลบ่ามาจากสหรัฐซ้ำอีกระลอก รับรองว่าเอเชียเละไม่มีชิ้นดี!


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เฟด เมิน คิวอี3 ว่างงาน ยังไม่น่าไว้ใจ เงินเฟ้อ หอกข้างแคร่

view