สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พบ บ.ณัฐวุฒิ-พวก ส่อพิรุธอื้อ? ปมรับเคลียร์มวลชนท่อก๊าซ ปตท.13 โครงการ

จากสำนักข่าวอิสรา

alt

พบ บ.ณัฐวุฒิ-พวก ส่อพิรุธ? ส่งหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง กมธ.พลังงาน พบเนื้อหา ขนาดรูปแบบตัวอักษร แบบเดียวกัน ตอกย้ำสัมพันธ์ลึก ด้านตัวแทน ปตท. ยืนไม่ทราบข้อมูลลึกบริษัทฯ ใช้ที่อยู่เดียวกัน กรรมการไขว้หุ้นกัน เพราะเอกสารที่แจ้งไว้ ไม่ปรากฏ

           ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายมนตรี ปาน้อยนนท์ ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน ได้เชิญ น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ร้อง พร้อมด้วยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด, กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด , กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอคทีฟ คอนสตรัคชั่น จำกัด , กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แม็ส มีเดีย แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถูกร้อง เข้าชี้แจงข้อเท็จจริง กรณี ปตท. ได้ว่าจ้างบริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด เข้ารับงานเป็นที่ปรึกษามวลชนสัมพันธ์โครงการท่อส่งก๊าซ 14 โครงการมูลค่าหลายสิบล้านบาท และในจำนวนนี้ มี 3 โครงการ ที่ใช้วิธีการเปิดประมูล และมีการตรวจพบว่า บริษัท เอกชน 3 ราย คือ บริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด บริษัท แอคทีฟ คอนสตรัคชั่น จำกัด และ บริษัท แม็ส มีเดีย แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ที่เข้าร่วมการประมูลงาน เป็นกลุ่มบริษัทเดียวกัน ตามสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบ และนำเสนอข้อมูลไปก่อนหน้านี้

         อย่างไรก็ตาม ในการประชุม คณะกรรมาธิการพลังงาน ครั้งนี้ มีเพียงน.ส.มัลลิกา และนายจิร จบหิมเวศน์ ผู้จัดการฝ่ายสนับสนุนโครงการหน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ตัวแทนจาก ปตท. ที่เข้าชี้แจงข้อมูลเท่านั้น ส่วนนายณัฐวุฒิ และตัวแทนบริษัทเอกชน ทั้ง 3 แห่ง ไม่ได้เดินทางมา โดยนายณัฐวุฒิแจ้งว่า ติดภารกิจ ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่จังหวัดอุดรราชธานี

         ส่วนบริษัทเอกชนทั้ง 3 แห่ง ส่งหนังสือชี้แจงข้อร้องเรียนเข้ามาแทน โดยมีเนื้อหาเหมือนกัน ว่า การเข้ามารับงานของ ปตท. เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎข้อบังคับของ ปตท. ไม่ได้กระทำเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้มี สิทธิทำสัญญากับหน่วยงานรัฐ โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม อีกทั้งบริษัทก็ไม่ได้ใช้อุบายหลอกลวงหรือกระทำการโดยวิธีอื่นใด ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของ รัฐ พ.ศ.2542 ตามที่ถูกร้องเรียน ส่วนกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ขอให้ทาง ปตท. เป็นผู้ชี้แจงเกี่ยวกับรายละเอียดเอง

         ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากการตรวจสอบหนังสือชี้แจงข้อร้องเรียนของบริษัทเอกชน ทั้ง 3 แห่ง ที่ยื่นเข้ามาให้คณะกรรมาธิการฯ รับทราบครั้งนี้ พบว่า มีเนื้อหาถ้อยคำ ขนาดรูปแบบตัวอักษร การจัดหน้า ตัวเลขไทย และประโยคคำพูดเหมือนกันเป็นอย่างมากจนผิดสังเกต อาทิ

         ข้อความขึ้นต้น ในหนังสือ ที่ระบุว่า “ด้วยข้าพเจ้า .......กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท.... ได้รับหนังสือเชิญเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ในวันพุธที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ เวลา ๑๐.๐๐ น. นั้น ข้าพเจ้าขอชี้แจ้ง ดังนี้”

          ทั้ง 3 บริษัท ใช้ประโยคนี้ เหมือนกัน เพียงแต่ชื่อกรรมการผู้มีอำนาจบริษัท ไม่เหมือนกัน ขณะที่บริษัท แอคทีฟ คอนสตรัคชั่น จำกัด มีการเพิ่มคำว่า “เนื่อง” เข้ามาอยู่ด้านหน้าประโยคก่อนคำว่า “ด้วย”

          หรือประโยคต่อมาที่ระบุว่า “ตามที่บริษัทฯ ข้าพเจ้าได้เสนองานกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยการเข้าร่วมยื่นซองประกวดราคาโครงการมวลชนสัมพันธ์ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นั้น ข้าพเจ้าขอชี้แจงว่า ข้าพเจ้าได้ดำเนินการตาม กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และเงื่อนไขของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ได้กำหนดไว้ ทุกประการ”

          ทั้ง 3 บริษัท ใช้ประโยคนี้ เหมือนกัน เพียงแต่ บริษัท แอคทีฟ คอนสตรัคชั่น จำกัด ใช้คำขึ้นต้นนำหน้าว่า “จากการ” แทนคำว่า “ตาม”

          ขณะที่บริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด ได้เปลี่ยนเนื้อหารายละเอียดโครงการ จากคำว่า โครงการมวลชนสัมพันธ์ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เป็นคำว่า ประกวดราคางานวางแผนประชาสัมพันธ์ มวลชนสัมพันธ์ และกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน โครงการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติ แทน


          แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ในประโยคคำพูดนี้ บริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด และบริษัท แม็ส มีเดีย แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด พิมพ์ชื่อ ปตท. ผิด โดยใช้ 3 จุด “ป.ต.ท.” เหมือนกัน

          นอกจากนี้ ประโยคลงท้าย ในหนังสือชี้แจงของทั้ง 3 บริษัท ยังระบุเนื้อหาเหมือนกันว่า ข้าพเจ้าได้ดำเนินการประกอบธุรกิจอย่างสุจริตและอยู่ภายใต้กฎระเบียบของ กฎหมายทุกประการ อีกทั้งการเสนอข่าวออกมาในลักษณะต่างๆ นั้น ทำให้ข้าพเจ้าได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก .. เรื่องของกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) น่าจะเป็นผู้ชี้แจงเกี่ยวกับรายละเอียดข้างต้นนี้ได้ดีที่สุด”

          ซึ่งในส่วนของบริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด และบริษัท แม็ส มีเดีย แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด พิมพ์ชื่อ ปตท. ผิด โดยใช้ 3 จุด “ป.ต.ท.” เหมือนกัน อีก


           ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ข้อสังเกตเรื่องรูปแบบและเนื้อหาหนังสือชี้แจงของบริษัทเอกชน ทั้ง 3 แห่ง ดังกล่าว ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือ ต่อที่ประชุม ในช่วงที่มีการพิจารณาข้อมูลว่า บริษัทเอกชนทั้ง 3 ราย ที่เข้าร่วมประมูลงานครั้ง นี้ มีความสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันหรือไม่

           โดยกรรมาธิการรายหนึ่ง ระบุว่า การที่บริษัทเอกชนทั้ง 3 ราย ส่งหนังสือชี้แจง ที่มีรูปแบบ หรือหาเนื้อ ที่เหมือนกันอย่างมาก ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า เอกชนทั้ง 3 รายเป็นกลุ่มเดียวกัน คนคิดคนเขียนหนังสือฉบับนี้เหมือนจะเป็นคนเดียวกัน

           “หนังสือที่บริษัททั้ง 3 ราย ส่งมาให้พิจารณา มีรายละเอียดเหมือนกันอย่างมาก ต่างกันแต่เพียงโลโก้บนหัวหนังสือ และลายเซ็นกรรมการ ด้านท้ายหนังสือเท่านั้น ที่มีความแตกต่างกัน และถ้าสังเกตตอนท้ายหนังสือของบริษัทแห่งหนึ่ง มีรอยลบด้วยน้ำยาลบคำผิด (ลิควิดเปเปอร์) ลบข้อมูล และมาเพิ่มข้อมูลที่อยู่บริษัทอีกแห่งหนึ่งแทน ซึ่งถ้าบริษัทเอกชนทั้ง 3 ราย มีความสัมพันธ์จริง ปตท. ควรให้ความสนใจ จะอยู่เพิกเฉยไม่ได้ เพราะปตท.เป็นตัวแทนของรัฐ การดำเนินงานทุกอย่างต้องมีความโปร่งใส ”

            ขณะที่ น.ส.มัลลิกา ยืนยันต่อที่ประชุมว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบขั้นตอนการส่งหนังสือชี้แจงข้อร้องเรียนของ บริษัททั้ง 3 ราย เข้ามาให้คณะกรรมาธิการฯ รับทราบแล้ว ได้รับการยืนยันว่า บุคคลที่นำหนังสือของทั้ง 3 บริษัท มาจากบุคคลคนเดียวกัน และขอให้คณะกรรมาธิการฯ บันทึกเหตุการณ์นี้ ไว้ในรายงานการประชุมครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ น.ส.มัลลิกา ยังได้มอบเอกสารข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเอกชนทั้ง 3 แห่ง ซึ่งพบว่า มีกรรมการหลายคนถือหุ้นไขว้กันไปมา ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน ระหว่างบริษัทเอกชนทั้ง 3 แห่ง ให้คณะกรรมาธิการฯ เป็นหลักฐาน ประกอบการสอบสวนเรื่องนี้ด้วย และคณะกรรมาธิการฯ มีอำนาจเพียงพอที่จะตรวจสอบเรื่องนี้

            “ เรื่องนี้ มีประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ บริษัทเอกชน ที่เข้าร่วมการประมูลงานของ ปตท. เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน มีบริษัทสองแห่งตั้งอยู่ที่ตึกเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจน ว่าบริษัทเอกชนทั้ง 3 แห่ง ฝ่าฝืน พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) หรือไม่ และ ปตท. มีสถานะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่รัฐกำหนดไว้ และมีความจำเป็นหรือไม่ว่า บริษัทของนายณัฐวุฒิ จะต้องได้รับจ้างงานเพียงบริษัทเดียว ซึ่งอาจทำให้บริษัทอื่นเสียโอกาส”

            ส่วนนายจิร จบหิมเวศน์ ผู้จัดการฝ่ายสนับสนุนโครงการหน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ตัวแทนจาก ปตท. ได้ยืนยันต่อคณะกรรมาธิการฯ ถึงประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทเอกชน ทั้ง 3 แห่ง ที่เข้าร่วมประมูลงานของ ปตท. ว่า ปตท. ไม่เคยรับทราบข้อมูลเรื่องนี้มาก่อน โดยในช่วงการประมูลงานนั้น จากการตรวจสอบ รายชื่อกรรมการในเอกสารหนังสือรับรองที่ยื่นในการเสนอราคาที่ได้รับจากแต่ละ บริษัท ไม่พบ

            ความซ้ำซ้อนและเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด ขณะที่ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นนิติบุคคล ประเภทบริษัทจำกัด จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่บริษัทยื่นประมูลเข้ามา ก็ไม่ได้ระบุรายชื่อ หรือจำนวนผู้ถือหุ้น รวมทั้งความเกี่ยวโยงของผู้ถือหุ้นแต่ละรายด้วย

           “วันที่เปิดประมูลงาน 3 โครงการ มีผู้มาประมูลหลายราย วันที่ยื่นซองประมูลการแสดงหลักฐาน 3 บริษัท ไม่ปรากฏชื่อกรรมกการ ที่อยู่ซ้ำกัน เครือญาติเดียวกัน ไม่ได้ปรากฏข้อมูลนี้ไว้ ผมจึงเรียนว่าผมไม่ทราบว่าซ้ำกันหรือไม่ซ้ำกัน” นายจิร กล่าว

            นายจิร กล่าวต่อไปว่า ส่วนการเข้ามารับงาน ปตท. ของบริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด ตามที่มีการร้องเรียนนั้น จากการตรวจสอบข้อมูลที่ชัดเจนพบว่า โครงการที่บริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ ได้รับไป มีจำนวน 13 โครงการ เป็นวิธีพิเศษ 10 โครงการ ประมูล 3 โครงการ และในช่วงปี 2548-2554 ปตท. ก็ได้จ้างงานบริษัทอื่นๆ โดยวิธีพิเศษ ประมูลเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับเหตุผลจำเป็น ตามระเบียบพัสดุของปตท. และไม่เคยให้สิทธิ์สัมปทาน กับบริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด แต่อย่างใด

            “ส่วนการจ้างงานโดยวิธีพิเศษ ของ ปตท. ก็เป็นเพราะต้องการผู้ที่มีอาชีพเชี่ยวชาญเรื่องนี้เป็นพิเศษมาทำงาน ไม่เช่นนั้นจะทำให้งานมีปัญหาล่าช้ากว่าแผน เพราะงานนี้ แตกต่างจากการทำสินค้าทั่วไป คนทำงานต้องมีความเข้าใจคนทุกกลุ่ม รู้จักเครือข่ายเป็นอย่างดี และระเบียบปตท. ก็เปิดให้ดำเนินการได้” นายจิระบุ

             ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในระหว่างการประชุมครั้งนี้ มีคณะกรรมาธิการบางส่วนเห็นควรว่าจะส่งเรื่องให้แก่คณะกรรมาธิการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบ หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยตรง เพราะงานของคณะกรรมาธิการ ควรจะดูแลเรื่องพลังงานของประเทศเป็นหลัก แต่ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าว ถือว่ามีความเกี่ยวข้องกับคณะกรรมาธิการพลังงาน เช่นกัน ควรตรวจสอบและทำความจริงให้ปรากฏชัดเจน เพราะยังมีประเด็นที่น่าสงสัยว่า เหตุใดบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จึงเน้นใช้วิธีว่าจ้างแบบวิธีพิเศษมากกว่าการจ้างแบบประมูล และนำเกณฑ์ใดมาเป็นตัวกำหนดราคากลาง เนื่องจากถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ อาจเกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.ฮั้วฯ ได้

             เบื้องต้น คณะกรรมาธิการฯ ส่วนใหญ่ ก็เห็นด้วย ที่จะให้สอบเรื่องนี้ต่อไป แต่จะเน้นที่กระบวนการทำงานของ ปตท. เป็นหลัก พร้อมขอให้ ปตท. จัดส่งข้อมูลรายละเอียดการประมูลงานด้านนี้ ของ ปตท. ในอดีตตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน ว่ามีโครงการอะไรบ้าง งบประมาณเท่าไร วิธีพิเศษเท่าไร มีการประมูลงานเท่าไร เหตุผลการใช้วิธีการแต่ละส่วนเพราะอะไร บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประมูลงานมีบริษัทอะไรบ้าง มาให้รับทราบอีกครั้ง ในการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ครั้งต่อไป และจะมีการออกหนังสือเชิญตัวแทนบริษัทเอกชน ทั้ง 3 แห่ง รวมถึงนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้มาชี้แจงข้อมูลอีกครั้ง ถ้ายังไม่มีจะใช้กฎหมายบังคับ และหากพบว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น จะมีการส่งเรื่องให้ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาต่อไป

             ทั้งนี้ ส่วนเรื่องการโอนหุ้นบริษัทไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด ของนายณัฐวุฒิ ให้พี่ชาย และคนใกล้ชิด นั้น นายมนตรี ปาน้อยนนท์ ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่า ควรจะเป็นหน้าที่ของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะรับหน้าที่ในการตรวจสอบข้อมูลเรื่องนี้มากกว่า

http://www.isranews.org/Investigative/71-Investigative/5584--13-.html


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พบ บ.ณัฐวุฒิ-พวก ส่อพิรุธอื้อ ปมรับเคลียร์มวลชน ท่อก๊าซ ปตท. โครงการ

view