สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดปรองดอง พระปกเกล้า โละคดีคตส.ที่ยังไม่สิ้นสุด

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เปิดรายงานข้อเสนอเส้นทางปรองดอง"พระปกเกล้า" ย้ำต้องเร่งหาความจริง โละคดีคตส. ที่ยังไม่สิ้นสุด เสนอออกพ.ร.บ.นิรโทษฯการชุมนุมตามพรก.ฉุกเฉิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ (กมธ.ปรองดอง) สภาผู้แทนราษฎร ที่มีพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ เป็นประธานสถาบันพระปกเกล้า ได้นำเสนอรางรายงานการวิจัย เรื่องการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ซึ่งมีข้อเสนอกระบวนการสร้างความปรองดองในชาติ

โดยสรุปคือ ในการสร้างความปรองดองระยะสั้น 1. ต้องเร่งค้นหาความจริงของเหตุการณ์ โดยสนับสนุนให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ซึ่งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องให้งบประมาณและบุคลากรที่เพียงพอ ทั้งนี้เมื่อได้ข้อเท็จจริงแล้วต้องนำมาเปิดเผยเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และถอดบทเรียนไม่ให้เหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำอีก

 2.ต้องให้อภัยผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง ผู้ที่ร่วมชุมนุมทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้บังคับบัญชา และผู้ที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยแบ่งเป็น 2 ทางเลือก คือ 1.ออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองทุกประเภท รวมถึงความผิดตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานฉุกเฉิน พ.ศ. 2548และคดีอาญาที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง เช่น การทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชน และทางเลือกที่ 2. ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเฉพาะคดีกระทำความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เว้นแต่ความผิดทางอาญา เช่นทำลายทรัยพ์สินของทางราชการหรือเอกชน

"หากผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรมยังไม่ได้ถูกฟ้องร้องต่อศาล ให้พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือฟ้องร้อง หากได้ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลแล้ว ให้พนักงานอัยการถอนฟ้อง แต่หากพนักงานอัยการไม่ถอนฟ้อง ให้จำเลยร้องขอต่อศาล ให้พิพากษายกฟ้องหรือจำหน่ายคดี ทั้งนี้หากคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในศาลแล้ว ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ ซึ่งวิธีที่เสนอนั้น ถือว่ามีข้อดี คือลดเงื่อนไขที่นำไปสู่ความขัดแย้ง และสังคมเดินหน้าด้วยความสงบสุข"

 3.ต้องสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ในส่วนการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาจากการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยมีข้อเสนอ 3 ทางเลือก คือ 1.ให้ผลการพิจารณาของคตส.สิ้นสุด และโอนคดีทั้งหมดให้ป.ป.ช.ดำเนินการใหม่ ตามกระบวนการยุติธรรมปกติ แต่ไม่กระทบกับคดีที่ถึงที่สุดแล้ว  2.ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดยคตส.ทั้งหมด และให้ดำเนินการตามกระบวนยุติธรรมปกติ และถือว่าคดีไม่ขาดอายุความ และ 3.ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดยคตส.ทั้งหมดและไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและที่ตัดสินไปแล้วมาพิจารณาอีก ซึ่งประเด็นดังกล่าวนั้นมีข้อดี คือ จะสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม

4. ต้องมีการกำหนดกติกาทางการเมือง โดยรวมถึงการแก้ไขกฎหมายหลักและรัฐธรรมนูญ โดยยอมรับว่าการใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ที่ยกร่างมาจากฐานของรัฐธรรมนูญ 2540 มีหลายประเด็นที่เป็นปัญหา แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น การถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และองค์กรอิสระ จากกรณีที่กำหนดให้ส.ส.ที่ได้รับตำแหน่งบริหารต้องลาออกจากการเป็นส.ส. และ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง ทำให้ส.ส.ต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของนายกฯ ซึ่งถือว่าเป็นการรวบอำนาจ ทำให้ฝ่ายบริหารอยู่เหนืออำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ การได้มาซึ่งบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์อิสระและการตรวจสอบองค์กรอิสระ ซึ่งมีข้อโต้แย้งว่าไม่ยึดโยงกับประชาชนฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย การยุบพรรคการเมืองได้ง่าย

สำหรับข้อเสนอการสร้างความปรองดองระยะยาวนั้น รายงานฉบับดังกล่าวนำเสนอ 2 ประเด็น คือ 1.สร้างการยอมรับความเห็นที่แตกต่าง และ 2.วางรากฐานทางสังคม เช่น รายได้ สิทธิ อำนาจ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้เป็นธรรม ส่วนการสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดองนั้น จำเป็นต้องให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการสื่อสารกับสังคม รวมถึงเว้นการกระทำใดๆ ที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าไม่เคารพกฎหมายและหลักนิติรัฐ เช่น การใช้มวลชนกดดันการเรียกร้องหรือกดดันองค์กรค่างๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในรายงานฉบับนี้ ได้สอบถามผู้ทรงคุณวุฒิเชิงลึก จำนวน 47 คน ถึงความเห็นเกี่ยวกับความขัดแย้งและการจัดการขัดแย้ง ทั้งนี้มีชื่อบุคคลปรากฎในท้ายเล่มรายงาน อาทิ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย นายบรรหาร ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายปานเทพ พัวพวงษ์พันธ์ นายพิภพ ธงไชย แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นต้น

สำหรับเนื้อหาส่วนดังกล่าวไม่ได้เจาะจงเป็นตัวบุคคล แต่ได้สรุปเป็นความเห็นในภาพรวม โดยมีที่น่าสนใจ คือ ความขัดแย้งในสังคมปัจจุบัน เกิดจากการกระจุกตัวของอำนาจ และผูกขาดด้านประโยชน์ส่วนตัว จึงใช้อำนาจเพื่อแสวงหาประโยชน์ สำหรับประเด็นที่ทำให้ความขัดแย้งขยายตัว เพราะสื่อมวลชนเป็นตัวเร่งสถานการณ์ สำหรับปัจจัยความขัดแย้งในอนาคตสามารถเกิดได้อีก หากรัฐบาลแทรกแซงการทำงานของฝ่ายต่างๆ และไม่ควบคุมมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาลยุติการเคลื่อนไหว รวมถึงใช้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อบุคคล

 สำหรับแนวทางจัดการความขัดแย้ง รายงานส่วนดังกล่าวระบุว่าต้ององตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ ที่ประกอบด้วย นายกฯ ผู้นำฝ่ายค้าน ประธานรัฐสภา เป็นต้น ทั้งนี้ต้องทำงานร่วมกับคอป. และคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (ศอ.นธ.)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าด้วยว่า กมธ.ปรองดอง ได้ทำรายงาน ฉบับที่ 1 เพื่อเสนอต่อสภาฯ ต่อแนวทางการสร้างความปรองดอง โดยสรุปได้ว่ารัฐบาล พรรคการเมือง กลุ่มบุคคลและองค์กรต่างๆ ต้องช่วยสร้างบรรยากาศที่ดี โดยใช้หลักเข้าใจในสถานการณ์ เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และพัฒนา ด้วยการดึงทุกฝ่ายร่วมแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ทั้งนี้รัฐบาลและองค์กรที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจบนพื้นฐานของหลักนิติธรรม

"ความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมา และนำไปสู่ความสูญเสีย ถือว่าเป็นความผิดของรัฐ เพราะรัฐมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิของประชาชน ดังนั้นรัฐควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการ เร่งรัดการจ่ายเงินชดเชย เยียวยา ทั้งทางเพ่งและทางอาญาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง ทั่วถึง และเร่งปฏิรูปองค์กร หน่วยงาน รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ให้ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม โดยที่สำคัญต้องแสดงความเสียใจ หรือ ขอโทษต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นทางการ และกรณีการเสียชีวิตของสื่อมวลชนต่างประเทศ" รายงานฉบับกมธ.ปรองดอง สรุปตอนท้าย

พล.อ.สนธิ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า รายงานของสถานบันพระปกเกล้านั้น ถือว่าเป็นความเห็นทางวิชาการ ซึ่งจำเป็นต้องให้กมธ.ปรองดอง นำไปศึกษาก่อนที่จะหารือเพื่อทำเป็นความเห็นของกมธ. เบื้องต้นนั้น กมธ.จะยึดรายงานของสถาบันพระปกเกล้าเป็นหลัก ทั้งนี้ทางกมธ.เห็นว่าควรขยายเวลาการทำงานของกมธ.ต่อไปอีก 30 วัน หลังจากที่จะครบกำหนดการทำงานในวันที่ 16 มี.ค.นี้


ความอัปลักษณ์ของงานวิจัยสร้างปรองดองแห่งชาติ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ปัญญาพลวัตร
       โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
       
       ผมเขียนบทความนี้หลังจากอ่าน รายงานการวิจัยเรื่องการสร้างความปรองดองแห่งชาติของสถาบันพระปกเกล้า ที่เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติซึ่งเผยแพร่ตามสื่อมวลชนอย่างกว้างขวาง ความ รู้สึกภายหลังที่อ่านรายงานฉบับนี้คือ สถาบันพระปกเกล้ากำลังหลงทางโดยใช้วิชาการรับใช้ผู้มีอำนาจทางการเมือง และผมเห็นว่าสถาบันพระปกเกล้าควรทบทวนบทบาทของตนเองอย่างเร่งด่วน
       
       รายงานวิจัยดังกล่าวอ้างว่าสาเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองในสังคม ไทยเกิดจากมุมมองต่อประชาธิปไตยที่แตกต่างกันในขั้นอุดมการณ์และขั้นผล ประโยชน์ มีการกระจุกตัวของอำนาจ ใช้อำนาจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน แทรกแซงกลไกในการตรวจสอบ การรัฐประหารและมีปัญหาอันเป็นพื้นฐานคือความเหลื่อมล้ำทางสังคม
       
       ต่อประเด็นการขยายตัวของความขัดแย้งหรือเร่งให้ความขัดแย้งทวีความ เข้มข้นขึ้น รายงานฉบับนี้ระบุว่า เกิดจากการกระทำของสื่อมวลชน และกลุ่มต่างๆ เช่น นักการเมือง นักลงทุน นักวิชาการและเงื่อนไขที่ส่งผลต่อการสร้างความขัดแย้งในอนาคตคือ รัฐบาลแทรกแซงการทำงานของฝ่ายต่างๆ ไม่ควบคุมมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาลให้ยุติการเคลื่อนไหวและการใช้กฎหมายเพื่อ เอื้อประโยชน์ต่อบุคคล
       
       ผมเห็นว่าการวิเคราะห์สาเหตุความขัดแย้งของรายงานการวิจัยฉบับนี้มี ส่วนถูกอยู่บ้าง แต่มีการเน้นส่วนสำคัญที่เป็นรากฐานผิดพลาดไป กล่าวคือความเหลื่อมล้ำทางสังคม แม้ว่าจะเป็นปัญหาสำคัญ แต่มิใช่ปัญหาใจกลางหรือเป็นปัญหาพื้นฐาน เพราะปัญหานี้เกิดจากสาเหตุสำคัญอื่นอันได้แก่ การขาดคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและหน่วยงานของรัฐใน ทุกระดับ
       
       เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญของชาติขาดคุณธรรมและจริยธรรม ระหว่างที่พวกเขาพยายามกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง จะใช้วิธีการที่ทุจริต ฉ้อฉลและรุนแรง เช่น การซื้อตำแหน่ง การซื้อเสียง การชุมนุมเผาเมือง การใช้ชีวิตมวลชนเป็นบันได เป็นต้น และเมื่อได้อำนาจแล้ว พวกเขาก็ใช้อำนาจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง แต่งตั้งบุคคลที่พร้อมรับใช้ตนเองโดยไม่คำนึงถึงจริยธรรมและความสามารถ เช่น ตั้งคนที่มีชื่อในบัญชีดำของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นรัฐมนตรี แต่งตั้งผู้ถูกดำเนินคดีก่อร้ายเป็นรัฐมนตรีช่วย แต่งตั้งดาราตลกหรือหัวหน้ารักษาความปลอดภัยในม็อบให้ดำรงตำแหน่งสำคัญทาง การเมือง และแต่งตั้งบุคคลในเครือข่ายที่ไร้ความรู้ความสามารถใดๆ ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจต่างๆ
       
       การทุจริตประพฤติมิชอบเป็นวัฒนธรรมหลักของบุคคลเหล่านี้ ครอบคลุมทั้งการทุจริตจากงบประมาณแผ่นดิน การเรียกค่าหัวคิวในโครงการต่างๆ การทุจริตเชิงนโยบายออกนโยบายเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนของตนเอง การบอกข้อมูลข่าวสารสำคัญที่มีผลต่อกำไรทางธุรกิจแก่บุคคลใกล้ชิด การนำเงินภาษีของประชาชนไปให้แก่มวลชนของตนเองเพื่อสร้างความนิยมโดยปราศจาก ความละอายต่อแผ่นดิน ขณะเดียวกันก็บ่อนเซาะกลไกการตรวจสอบทางสังคมให้อ่อนเปลี้ยในทุกระดับทั้งระ ดังองค์การและบุคคล โดยการแก้กฎหมาย ลดอำนาจ การใช้เงินซื้อ และการข่มขู่คุกคาม
       
       ผลสืบเนื่องจากการการทุจริตและการแพร่หลายของระบบอุปถัมภ์มีหลาย ประการ ประการแรก คือเกิดการกระจุกของทรัพยากรและเงินของแผ่นดินอยู่ในกลุ่มนายทุนการเมือง เหล่านี้ และสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันก็คือทำให้ประชาชนทุกกลุ่มในสังคมได้รับการจัดสรรทรัพยากรของชาติอย่าง ไม่เป็นธรรม ได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น เกิดการกระจายตัวของความยากจน อันนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในที่สุด
       
       ส่วนประการที่สอง เกิดการกีดกันกลุ่มอื่นเข้าสู่อำนาจทางการเมืองอย่างเป็นระบบ เพราะนักการเมืองและข้าราชการที่ขาดคุณธรรม จะใช้ระบบพวกพ้อง เครือญาติ ในการสืบทอดตำแหน่งอำนาจ โดยผ่านกลไกระบบอุปถัมภ์จัดตั้งหัวคะแนนในการเลือกตั้ง การใช้นโยบายประชานิยม และการซื้อเสียง
       
       ดังปรากฏเป็นที่ประจักษ์ในประเทศไทยว่า ครอบครัวชินวัตรผูกขาดอำนาจทางการเมืองระดับชาติมาสามรุ่นแล้ว นับจากทักษิณ ชินวัตรไปสู่สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส่วนครอบครัวอื่นๆ ที่ผูกขาดตำแหน่งทางการเมืองระดับชาติ เช่น ตระกูลชิดชอบแห่งบุรีรัมย์ ตระกูลศิลปะอาชาแห่งสุพรรณบุรี ตระกูลขจรประศาสน์ เป็นต้น สำหรับตระกูลอื่นๆ หากไม่มีสมาชิกตระกูลดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับชาติ ก็จะให้ไปดำรงตำแหน่งในระดับท้องถิ่นแทน ด้วยเหตุนี้ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอำนาจทางการเมืองจึงเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่าง ผนึกแน่นภายในโครงสร้างอำนาจการเมืองเช่นนี้
       
       พัฒนาการของความขัดแย้งของสังคมไทยที่ผ่านมาจึงมีจุดเริ่มต้นจากการ ที่กลุ่มนักการเมืองผู้ไร้คุณธรรมและจริยธรรมถูกตรวจสอบอย่างหนักหน่วงเข้ม ข้นจากภาคประชาชน จนทำให้อำนาจของเขาสั่นคลอนและในท้ายที่สุดก็ถูกรัฐประหาร เมื่อหมดอำนาจทางการเมืองชั่วคราวนักการเมืองกลุ่มนั้นจึงถูกตรวจสอบหนัก ขึ้นจากกลไกที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาใหม่ เหตุที่ต้องใช้กลไกตรวจสอบใหม่ก็เพราะกลไกที่มีอยู่เดิมถูกครอบงำและถูกทำ ให้ไร้ประสิทธิภาพโดยนักการเมืองกลุ่มนั้นเสียแล้ว
       
       และเมื่อกลไกตรวจสอบใหม่อันได้แก่ คตส. ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการรวบรวมข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นระบบจนนำไปสู่การฟ้องร้อง จนในที่สุดทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นตัวแทนของนายทุนการเมืองก็ถูกตัดสินจำคุกโดยศาล ต้องหนี้หัวซุกหัวซุนอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลาหลายปี
       
       แต่ทักษิณ ชินวัตรก็ไม่ยอมแพ้และไม่ยอมรับความผิดของตนเอง จึงสนับสนุนการจัดตั้งมวลชนเสื้อแดงชุมนุมเพื่อโค่นล้มรัฐบาลอภิสิทธิ์ ในการชุมนุมมีการใช้ความรุนแรงเผาบ้านเผาเมืองถึงสองครั้งสองคราในปี 2552 และ 2553 และมีคนเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง ซึ่งสาเหตุสำคัญคือ การที่แกนนำของฝ่ายชุมนุมเสื้อแดงต้องการสังเวยชีวิตของผู้ชุมนุมเพื่อใช้ เป็นเงื่อนไขทำลายฝ่ายตรงข้าม และสร้างความชอบธรรมแก่ตนเองในการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองอีกครั้ง ซึ่งพวกเขาทำได้สำเร็จ และเป็นที่มาของการสร้างเรื่องการปรองดอง และการทำวิจัยเพื่อปรองดองแห่งชาติของสถาบันพระปกเกล้า
       
       แม้การวิเคราะห์สาเหตุความขัดแย้งของสถาบันพระปกเกล้าจะไม่สอดคล้อง กับข้อมูลทางการเมืองของสังคมไทยมากนัก แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นเรื่องที่สร้างความเสื่อมเสียแก่สถาบัน แต่เรื่องที่น่าอเนจอนาถทางวิชาการ และส่อแววไปถึงการนำสถาบันกึ่งวิชาการ (ผมไม่แน่ใจว่าสถาบันพระปกเกล้าเป็นสถาบันวิชาการหรือสถาบันทางการเมือง) ไปรับใช้นักการเมืองโดยมิได้คำนึงถึงหลักการทางวิชาการและข้อเท็จจริงเชิง ประจักษ์ ก็คือ การเสนอแนวทางการสร้างความปรองดองซึ่งเผยแพร่อยู่ในสื่อ มวลแขนงต่างๆ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการเสนอแนวทางที่เลอะเทอะ อัปลักษณ์ น่าขยะแขยง และน่าอดสูมาก สำหรับสถาบันที่อ้างความเป็นวิชาการมารองรับอำนาจ
       
        ข้อเสนอประการแรก
ของงานวิจัยชิ้นนี้คือ ต้องเร่งค้นหาความจริงของเหตุการณ์ โดยสนับสนุนให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่ง ชาติ (คอป.)ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน และเมื่อได้ข้อเท็จจริงแล้วต้องนำมาเปิดเผยเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และถอดบท เรียนไม่ให้เหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำอีก

       
        ข้อเสนอนี้ผมเข้าใจว่า คงเป็นการค้นหาความจริงเฉพาะเหตุการณ์ในปี 2553 มิได้ครอบคลุมความจริงอันเป็นต้นเหตุและเงื่อนไขแห่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ปี 2544 แต่ประการใด อันที่จริงเรื่องนี้มีผู้ที่เคยศึกษาเรื่องนี้มาไม่น้อย และระบุว่า การวินิจฉัยของศาลรัฐธรมนูญปี 2544 เกี่ยวกับคดีซุกหุ้น เป็นปฐมเหตุให้องค์การตรวจสอบนักการเมืองทั้งหลายถูกแทรกแซงได้ง่ายขึ้น หรือ การศึกษาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เคยหลุดออกมาสู่สาธารณะซึ่งสรุปในทำนองที่เป็นผลลบต่อคนเสื้อแดงและกลุ่ม ทุนนักการเมือง ก็ปรากฏว่าถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มเสื้อแดงอย่างรุนแรง
       
       ดังนั้นหากให้คอป. ค้นหาความจริงและพบว่าความจริงดังกล่าวไม่เป็นคุณต่อกลุ่มทุนนักการเมืองและ คนเสื้อแดง ขอถามว่ารายงานแบบนี้จะได้รับการยอมรับจากกลุ่มเหล่านั้นหรือไม่ และภายใต้บรรยากาศของการเมืองไทยที่กลุ่มทุนการเมืองและลัทธิแดงมีอำนาจนำ อยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการของ คอป. ก็มีบุคคลบางคนเคยทำงานกับรัฐบาลสมัคร และเป็นเสื้อแดง องค์ประกอบแบบนี้ ความจริงจะถูกสร้างให้อยู่ในลักษณะใดก็เป็นเรื่องที่ทำนายได้ไม่ยากอยู่แล้ว
       
       ดังนั้น ข้อเสนอข้อนี้นอกจากไม่ตอบโจทย์ของสาเหตุความขัดแย้งแล้วยังเป็นการสนับสนุน ให้เกิดการสร้างมายาภาพขึ้นมาแทนความจริงอีกด้วย จึงนับว่าเป็นข้อเสนอที่เลอะเทอะมาก
       
        ข้อเสนอที่สอง
ให้อภัยแก่การกระทำที่เกี่ยวข้องผ่านกระบวนการนิรโทษกรรม โดยเสนอทางเลือก 2 ทาง ทางแรก นิรโทษกรรมทุกคนที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมา และทางที่สองนิรโทษเฉพาะคดีการกระทำผิดตาม พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ไม่นิรโทษให้คดีอาญาอื่นแม้จะเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง

       
        ข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอที่สุดแสนอัปลักษณ์และน่าขยะแขยงทาง วิชาการมาก เพราะ 1) ไม่สอดคล้องกับการวิเคราะห์สาเหตุใดๆในงานวิจัยแม้แต่น้อย เมื่อข้อเสนอไม่ได้เกี่ยวข้องกับสาเหตุแล้วมันจะแก้ปัญหาได้อย่างไร 2) เป็นข้อเสนอที่ทำลายล้างหลักนิติรัฐเพราะให้อภัยแก่คนทำความผิดโดยที่ผู้ กระทำผิดเหล่านั้นยังไม่ได้รับโทษและยังไม่ได้สำนึกถึงความผิดของตนเอง การให้อภัยแก่คนเหล่านี้ก็เท่ากับว่าเป็นการส่งเสริมค่านิยมการใช้ความ รุนแรง ค่านิยมอนาธิปไตย ให้ได้รับการยอมรับและอาจกลายเป็นเยี่ยงอย่างแก่คนอื่นๆ ต่อไปคนจำนวนหนึ่งในสังคมอาจกระทำการใดๆโดยไม่ต้องคำนึงถึงความถูกผิดทาง กฎหมายและคุณธรรม จึงเท่ากับว่าเป็นข้อเสนอที่นำไปสู่การทำลายความสงบสุขของสังคม และ3) เป็นข้อเสนอเพื่อตอบสนองความต้องการของนักการเมืองผู้มีอำนาจนำอยู่ใน ปัจจุบันโดยขาดการวิเคราะห์ผลสืบเนื่องอย่างเป็นระบบทั้งในทางหลักการ วิชาการ ความเป็นไปได้ของผลสืบเนื่องและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
       
        ข้อเสนอประการที่สาม
การเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการ ยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีต่อผู้ถูกกล่าวหาจากการตรวจสอบของ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยมีทางเลือกสามทาง

       
       1) ใช้กระบวนการยุติธรรมตามปกติ ให้ผลการพิจารณาของ คตส. สิ้นผลลง และโอนให้ ป.ป.ช.ทำใหม่ โดยไม่กระทบคดีที่ถึงที่สุดแล้ว ความหมายของข้อเสนอนี้คือ ให้ยกเลิกสำนวนคดีที่ทำโดย คตส. ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในศาล แต่ขณะนี้ยุติชั่วคราวเพราะผู้ต้องหาคือทักษิณ ชินวัตร หนีไปต่างประเทศ ข้อเสนอนี้ได้กำหนดให้ ป.ป.ช. ไปทำคดีใหม่ทั้งหมดหรือเริ่มนับหนึ่งใหม่ ซึ่งในทางปฏิบัติก็แทบจะไม่มีทางดำเนินคดีเหล่านี้ให้เกิดประสิทธิผลได้ด้วย เงื่อนไขสองประการคือ ประการแรก ในขณะนี้ป.ป.ช.มีคดีต้องดำเนินการอยู่นับหมื่นเรื่อง คงใช้เวลานานนับสิบปีจึงจะดำเนินคดีเหล่านี้ได้ และประการที่สอง ภายใต้อำนาจการเมืองที่ทักษิณ ชินวัตรควบคุมกลไกรัฐได้เกือบทั้งหมด การจะได้รับความร่วมมือจากข้าราชการก็คงเกิดขึ้นยากมาก จึงทำให้ ป.ป.ช.ไม่สามารถได้ข้อมูลหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้องได้
       
        2) เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส. ทั้งหมด และให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมตามปกติ แปลว่า ทักษิณ ชินวัตร และนักการเมืองอื่นๆ พ้นโทษทุกอย่าง แต่ให้เริ่มทำคดีใหม่ จากตำรวจ อัยการ หรือ ป.ป.ช. แล้วแต่กรณี ข้อเสนอนี้นักวิจัยคงนอนฝันไปและคิดแบบไร้เดียงสาว่า กระบวนการยุติธรรมในขั้นต้น และกลาง จะปลอดจากอำนาจการเมือง
       
       3) เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส. ทั้งหมด และไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่ ข้อนี้เป็นข้อเสนอที่มากไปยิ่งกว่าความมืดบอดทางปัญญาใดๆจะบรรยายถึงได้ แสดงถึงจิตใจที่อันเปี่ยมไปด้วยอคติ ลำเอียง ของผู้เสนอ และสร้างความรู้สึกน่าสะอิดสะเอียดแก่ผู้อ่านที่ยังมีสามัญสำนึกของความถูก ต้องหลงเหลืออยู่บ้าง เพราะเป็นข้อเสนอที่ทำให้อาชญากรหนีคุกอย่างทักษิณ ชินวัตร และพวกพ้อง หลุดพ้นจากความผิดทั้งปวง และไม่ต้องมีการดำเนินคดีใดๆอีกต่อไป
       
        ข้อเสนอจากงานวิจัยเรื่องการสร้างความปรองแห่งชาติของสถาบันพระปกเกล้าจึง เป็นข้อเสนอที่จะทำให้สังคมแตกเป็นเสี่ยง เพราะเป็นข้อเสนอที่ไปรับใช้และสร้างประโยชน์แก่ผู้มีอำนาจทางการเมืองโดย ไม่คำนึงถึงความถูกต้องทางวิชาการ ความเป็นจริงเชิงประจักษ์ และความชอบธรรมทางสังคมใดๆ ทั้งสิ้น
       
        สถาบันพระปกเกล้าในยามนี้ ควรทบทวนบทบาทของตนเอง และควรมุ่งเน้นพันธกิจในการสร้างประชาธิปไตยแก่ภาคประชาชน มากกว่าจะไปแสวงหาเงินจากโครงการอบรมนักการเมืองที่เป็นแหล่งทำลายคุณภาพการ ศึกษาและสร้างเครือข่ายผลประโยชน์ทางการเมืองให้เข้มข้นขึ้น ควรยุติการวิจัยที่รับใช้นักการเมือง และควรจะไปวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมเรียนรู้และตื่นตัว ทางการเมืองจะดีกว่า เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเสนองานวิจัยครั้งนี้ และรื้อฟื้นเกียรติภูมิกลับขึ้นมาใหม่


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปิดปรองดอง พระปกเกล้า โละคดีคตส. ยังไม่สิ้นสุด

view