สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หัสวุฒิ ประธานศาลปกครอง หวั่นแก้รธน.นองเลือด!

จาก โพสต์ทูเดย์

"มีความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งเพื่อจ้องล้มศาลปกครอง ขอให้สื่อมวลชนช่วยกันติดตามให้ดี"

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม ,นิติพันธุ์ สุขอรุณ

ปลุกให้สังคมจับตาการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อ"หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล" ประธานศาลปกครองสูงสุดกล่าวในงานเลี้ยงสื่อมวลชนเมื่อต้นเดือนก.พ. ว่า"มีความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งเพื่อจ้องล้มศาลปกครอง ขอให้สื่อมวลชนช่วยกันติดตามให้ดี"

หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล

ทุกสายตาจ้องมาที่พรรคเพื่อไทยที่ประกาศชัดว่าในการเขียนรัฐธรรมนูญครั้ง นี้ควรยุบทิ้งศาลปกครองศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่ามีอำนาจมาก ฝ่ายแกนนำเสื้อแดงก็ออกมาสนับสนุนให้ลดอำนาจศาล และต้องทำให้ศาลยึดโยงกับประชาชน

"ศาล" เสาหลักที่อำนวยความยุติธรรมให้กับประเทศจึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่พรรคเพื่อไทยประกาศต้องเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะศาลปกครองที่ พรรคทักษิณหงุดหงิดมาตลอด จากที่ถูกตัดสินคดีความผิดต่างๆและมองว่าศาลปกครองเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงาน

หัสวุฒิ เพิ่งแถลงผลงาน 11 ปี ศาลปกครอง เมื่อ2 วันก่อน เพื่อยืนยันให้สังคมรู้ว่าศาลปกครองมีผลงานคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน และเป็นที่พึ่งหวังของประชาชนได้อย่างแท้จริง

ประธานศาลปกครองสูงสุด เปิดใจกับ "โพสต์ทูเดย์"ถึงการปลุกกระแสให้ลดอำนาจองค์กรตุลาการ ว่าขณะนี้ยังไม่รู้จะเขียนรัฐธรรมนูญกันอย่างไร อาจเป็นเพียงกลลวงก็ได้ที่ออกมาพูดว่า ไม่เห็นจำเป็นต้องมีศาลปกครอง หรือควรให้เป็นแผนกหนึ่งของศาลยุติธรรม เพราะคดีไม่เห็นมีเยอะ แต่ขอถามฝ่ายการเมืองที่มีอำนาจแก้ไขว่า ท่านเห็นตัวเลขจริงๆ แล้วหรือว่าคดีไม่เยอะ ศาลปกครองไม่มีประโยชน์แล้วใช่ไหม นักการเมืองคนไหนจะกล้าตอบบ้าง หรือที่ว่าศาลไม่ถูกตรวจสอบถ่วงดุล ขอให้พูดชัดๆ ถ้าพูดโดยไม่มีเหตุผลใครก็พูดได้

"ความจริงคนพูดก็รู้ว่ามันมี (เน้นเสียง) แต่เพื่อต้องการพูดให้มันเป็นอีกอย่าง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองเลยต้องพูดอย่างนั้น ซึ่งใครก็พูดได้ชาวบ้านฟังแล้วก็เออตามนั้นว่ามันไม่มีระบบตรวจสอบจริงๆ"

หัสวุฒิ ยืนยันว่าคดีที่ศาลปกครองดูแลอยู่เพิ่มขึ้นทุกปีโดย 11 ปี มีคดีที่เข้าสู่การพิจารณาสูงถึง70,921 คดี พิจารณาเสร็จแล้ว 56,050 คดี สะท้อนให้เห็น 2 นัย คือ ประชาชนรู้ว่าศาลปกครองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพมากขึ้น เขาจึงต้องการรักษาสิทธิเสรีภาพเขาด้วยการฟ้องคดี อีกแง่หนึ่งก็ชี้ว่าเขามีสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง แต่การใช้สิทธิเสรีภาพนี้มันทำไม่ได้ มันเกิดปัญหากับฝ่ายปกครอง มันจึงมีข้อพิพาทคดีเลยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นภาระที่ศาลปกครองต้องแบกรับ"

"ถ้าท่านพูดว่าเราขัดขวางการบริหารปฏิบัติราชการทางปกครอง ท่านก็ต้องยกตัวอย่างมาให้ชัด ผมเห็นถ้าจะมีปัญหาอย่างเดียวก็คือ คดีมันช้า แต่เราไม่ได้นิ่งนอนใจ มันเป็นปัญหาของศาลทั่วโลก เราก็พยายามแก้ปัญหานี้ทุกวิถีทางกระทั่งทุกวันนี้ ตุลาการทำงานกันจนจะอาเจียนแล้ว"

ประธานศาลปกครองสูงสุดพูดหนักแน่น ตลอดเวลา 11 ปี บอกได้เลยว่าศาลปกครองไม่เคยใช้อำนาจนอกเหนือไปจากการพิจารณาคดี

ถ้าไม่มีศาลปกครอง ใครจะได้ประโยชน์ เสียประโยชน์? หัสวุฒิ ถอนหายใจ"

จะมองในแง่ไหนล่ะ ถ้ามองจากบทบาทของเราเรามีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมทางปกครองให้กับประชาชน ฉะนั้นคำถามนี้ต้องกลับไปถามประชาชนว่า ถ้าไม่มีศาลปกครอง (เน้นเสียง) ประชาชนจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ ไม่ใช่เราจะได้ประโยชน์หรือไม่ได้ประโยชน์ ถูกไหม

"แม้ผมจะเคยพูดว่ามีกลุ่มคนที่มีความคิดเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของศาล แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องนี้ใหญ่โตจนเกินไป อย่างที่บอก มันไม่ชัดเจน ถึงมันชัดเจนเราก็คงทำอะไรไม่ได้ ที่เราต้องทำก็คือ ต้องมุ่งประโยชน์กับประชาชนมาก ซึ่งมันก็ย้อนกลับไปว่า แล้วศาลเป็นของใคร มันก็เป็นของประชาชน ฉะนั้นถ้าประชาชนเห็นว่า เฮ้ย...ไอ้ที่อยู่อย่างนี้มันไม่ดีแล้ว มันต้องเปลี่ยนเราก็คงไปคัดค้านไม่ได้"

ล้มศาล ชาวบ้านเสียประโยชน์

ประธานศาลปกครองสูงสุด บอกว่า ถ้าไม่มี ศาลไม่มีองค์กรตรวจสอบวินิจฉัย สุดท้ายถ้าเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้น มันก็ต้องใช้กำลังของตัวเองเข้าไปจัดการ ซึ่งก็ลงเอยด้วยการใช้อาวุธ หรือพูดง่ายๆ คือ"ศาลเตี้ย" แต่ถ้ามีองค์กรตรวจสอบที่เที่ยงตรง ทุกฝ่ายยอมรับ เรื่องที่ตัดสินออกไปด้วยเหตุผลก็จะไม่มีอะไรโต้แย้งได้ สุดท้ายมันก็ไม่มีการใช้กำลังห้ำหั่นเข้าแก้ปัญหากัน นำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้

จริงไหมที่ผู้มีอำนาจที่ใช้อำนาจโดยไม่ถูกต้องจะได้ประโยชน์จากการไม่มี ศาล?"ก็...ไม่รู้ คิดเองนะจะมาบอกว่าผมพูดไม่ได้นะ ผมบอกแล้วว่าเราไม่ได้ไปจำกัดเขาไปมากกว่าที่กฎหมายกำหนด"

การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่รัฐบาลกำลังออกแบบสร้างสภาร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นมาล้มรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หัสวุฒิเห็นว่าประเทศไทยเขียนรัฐธรรมนูญบ่อยมาก ทั้งที่เป็นกฎหมายสูงสุดที่ควรแก้ยาก แต่กลับมีถึง 18 ฉบับแล้วและไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนที่เป็นอุดมคติจริงๆ จึงเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังร่างเป็นฉบับที่19 จะไม่ใช่ฉบับสุดท้ายแน่ พร้อมตั้งคำถามว่า คนที่กำลังเขียนรัฐธรรมนูญอยู่นี้มีความจริงใจอย่างที่พูดหรือไม่

"ความจริงเราควรเอานักกฎหมายรัฐธรรมนูญจริงๆมายกร่างตอนรัฐธรรมนูญ 2550 ก็แทบไม่มี ผมเปรียบอย่างหมอก็ยังแบ่งเป็นแผนกต่างๆ เช่น คนไข้จะผ่าตัดหัวใจแล้วจะให้เอาหมอโรคผิวหนังมารักษาไหม เช่นกันนักกฎหมายมันกว้างกว่าหมอเยอะ แบ่งเป็นสาขาต่างๆ เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครองกฎหมายเอกชน แต่เวลาคุณเขียนรัฐธรรมนูญคุณไม่มีนักกฎหมายรัฐธรรมนูญโดยตรง ฉะนั้นวัฏจักรตรงนี้จะย่ำหมุนอยู่อย่างนี้ไม่มีวันจบหรอก

"ดังนั้น สิ่งที่จะถามผมว่ารัฐธรรมนูญที่จะร่างใหม่จะดีไหม ผมบอกเลยว่าถ้ายังมีลักษณะเช่นนี้ มันก็จะหมุนเวียนอย่างนี้ พอนักการเมืองชุดใหม่มาก็บอกว่ารัฐธรรมนูญไม่ดีก็แก้กันอีก ผมถามหน่อย ประเทศไทยไม่มีทางได้รัฐธรรมนูญที่ดีเลยเหรอ ฉะนั้นมันถึงเวลาที่จะต้องมีรัฐธรรมนูญในอุดมการณ์ซะที มันก็ต้องเริ่มถามว่า คุณจริงใจในการร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ วันนี้คุณต้องรู้ก่อน เราจะแก้รัฐธรรมนูญเรื่องอะไร...ใครกล้าบอกว่าฉบับนี้จะเป็นฉบับสุดท้าย ผมบอกได้เลยว่าไม่มีทาง ตอนนี้ขี้เกียจจำแล้วว่าฉบับไหนใช้นานที่สุด"

การจัดทำรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ฝ่ายเพื่อไทยอ้างว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด เพราะมาจากเสียงของประชาชนประธาน ศาลปกครองสูงสุดท่านนี้ มองว่า นี่เป็นเหตุผลเพื่อสร้างความชอบธรรมให้คนเชื่อถือว่ามี ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งโดยผู้แทนทุกจังหวัด ถ้าไม่อ้างอย่างนี้ก็ไม่มีใครเอาด้วยอย่างไรก็ตาม ข้ออ้างนี้ไม่ได้เป็นหลักประกันว่ารัฐธรรมนูญที่ออกมาจะดี

ที่หลายฝ่ายกังวลว่าการเขียนรัฐธรรมนูญหนนี้จะปลุกชนวนความขัดแย้งในสังคมขึ้นประธานศาลปกครองสูงสุดเชื่อว่ามีโอกาสเป็นไปได้

"ผมไม่อยากเห็นคนไทยจะมาฆ่ากัน โดยที่ไม่เคยทะเลาะ ไม่เคยมีเรื่องโกรธเคืองไม่เคยพูดกันสักคำแล้วฆ่ากันเฉยเลย ผมไม่อยากเห็นนะ วิกฤตของคุณจะเป็นขนาดนั้นหรือเปล่า มันก็มีโอกาส แต่สภาพอย่างนี้มันจะไม่เกิดหรอกถ้าคนไทยมีการศึกษา ไม่ใช่การศึกษาที่แค่ให้คนเขียนได้กับการอ่านออกนะแต่ต้องให้คนคิดเป็น ใช้เหตุใช้ผลเป็น"

เหมือนจะไม่มีทางออก?

"มันไม่ใช่หาทางออกไม่ได้ มันอยู่ที่ว่าคุณจริงใจในการที่จะหาทางออกหรือเปล่ามากกว่ามั้ง ... จริงใจที่ผมหมายถึงคือ จริงใจต่อประเทศชาติ ซึ่งมันอาจเป็นนามธรรม

แต่เวลานี้ไม่มีใครฟังกัน มีแต่อารมณ์มากกว่าการใช้เหตุผล "ก็นั่นซิ คุณลองดูนะถ้าเผื่อคนไทยมีการศึกษาแล้วรู้จักคิดนะไอ้คนนี้จะพูดว่า อย่างนี้ถูกหมด ผิดหมด คุณจะพูดเป็นเทวดาอย่างไรเพื่อให้เขาฟังคุณมันไม่มีทางหรอก แต่ทำไมที่คุณพูด คนอื่นถึงเชื่อ...ฉะนั้นคุณจะต้องแก้ปัญหาให้ถูก เมื่อไรที่คุณแก้ปัญหาไม่ถูก มันก็ย่ำเท้าอยู่กับที่ หรือถอยหลังเข้าคลองอย่างที่คุณพูด มันก็จะเป็นอยู่อย่างนี้แหละ"

การต่อสู้ที่ผ่านมามีการโจมตีศาล "สองมาตรฐาน" หัสวุฒิ ย้อนถามทันทีแล้วเรื่องอะไรล่ะ อย่าพูดลอยๆ นะ ถ้าเป็นต่างประเทศพูดอย่างนี้คุณจะไม่มีทางจูงใจประชาชนได้ แต่คนไทยเรามักจะเชื่อเพราะเราถูกสอนว่าคนที่มีอำนาจ มีบารมี พูดอะไรเราต้องเชื่อหมดไม่เคยคิดว่าถูกหรือไม่ แต่ถ้าเราสอนให้คนคิดใช้เหตุผล ไม่ใช่ว่าอะไรๆ ก็ใช่หมด นายกรัฐมนตรีพูดก็เชื่อแล้วถูกไหม อันนี้มันก็ต้องย้อนกลับไปดูที่การศึกษา

"แน่นอนเรื่องการศึกษาเป็นปัญหาโครงสร้าง แต่คุณอยากแก้ปัญหานี้ไหมล่ะ ผมเคยพูดเล่นๆ น้ำท่วมนี่นักการเมืองชอบหรือไม่ชอบ คุณก็ตอบได้ เหมือนกับที่ว่าถ้าประชาชนฉลาดเนี่ย นักการเมืองชอบประชาชนที่ฉลาดเพื่อปกครองหรือชอบประชาชนที่ไม่ฉลาดแล้ว ปกครอง ผมว่าคุณตอบได้เอง ไม่จำเป็นที่ผมต้องตอบ เพราะฉะนั้นผมถึงบอกไงว่ามันต้องจริงใจต่อประเทศ"

หัสวุฒิ ทิ้งท้ายวันนี้ สื่อมีบทบาทมากเพราะสามารถที่จะสร้างสังคมในรูปแบบอย่างไรก็ได้การให้ความ รู้ผ่านสื่อมหาศาลแต่ศาลปกครองไม่มีสื่ออย่างนั้นเราไม่มีหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์

"ผมถึงพูดกับสื่อในวันที่เลี้ยงสังสรรค์สื่อว่าสื่อสำคัญมากสื่อต้องเก่ง ต้องฉลาด ต้องเอาให้อยู่ ไปถามเขากลับเลยว่า นี่คุณถามผมต้องไปถามคนพูด (ที่ให้ยุบศาล) ว่าทำไม วันรุ่งขึ้นไปถามเลยว่าที่ท่านพูดอย่างนี้ ไหนท่านลองยกตัวอย่างคดีให้ดูซิ หรือเรื่องไหนที่มันไม่มีการตรวจสอบ ไม่มียังไง ยกตัวอย่างหน่อยไหนที่ว่าศาลมีอำนาจเยอะ ท่านลองบอกซิมันเยอะยังไง แต่ผมเชื่อว่าเขาไม่กล้าคุยต่อหน้าผมเพราะผมไล่จน จะตอบได้หรือเปล่า"

ผมเคยพูดเล่นๆ น้ำท่วมนี่นักการเมืองชอบหรือไม่ชอบคุณก็ตอบได้ เหมือนกับที่ว่าถ้าประชาชนฉลาดเนี่ย นักการเมืองชอบประชาชนที่ฉลาดเพื่อปกครอง หรือชอบประชาชนที่ไม่ฉลาดแล้วปกครองผมว่าคุณตอบได้เอง ไม่จำเป็นที่ผมต้องตอบ เพราะฉะนั้นผมถึงบอกไงว่ามันต้องจริงใจต่อประเทศ

ถ้าปิดกั้น มันก็ลงใต้ดิน

สถานการณ์บ้านเมืองที่มีความเห็นแตกต่างกันสุดขั้วขณะนี้ สำหรับประธานศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าเป็นเรื่องปกติแม้กระทั่งฝ่ายเสียงข้าง มากและเสียงข้างน้อย ถามว่าใครถูกใครผิดก็ตอบยาก สิ่งสำคัญ คือ เราต้องทำให้คนที่มีความเห็นแตกต่างกันอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ต้องอดทนรับฟังเหตุผล เปิดโอกาสให้ฝ่ายข้างน้อยได้แสดงความคิดเห็นให้มีเวที เช่น ในทางการเมือง เมื่อเสียงข้างมากได้จัดตั้งรัฐบาล ก็ต้องให้เสียงข้างน้อยมีโอกาสในการตั้งกระทู้ถาม เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงจะพูดได้ว่าฝ่ายเสียงข้างน้อยมีส่วนร่วมในกระบวนการปกครอง แต่ถ้าเมื่อไรเรายอมรับเสียงข้างน้อยไม่ได้แล้วปิดโอกาสสังคมนั้นก็จะนำไป สู่ความรุนแรง

แต่เสียงข้างมากทำอะไรได้เสมอ... "คุณคิดว่าเป็นอย่างนั้นหรือ ผมไม่คิดว่าเป็นอย่างนั้นนะ ...ไอ้นี่ก็เป็นข้ออ้างไง การกระทำของฝ่ายบริหารต้องมีกฎหมายเป็นฐานอำนาจฉะนั้นผมไม่คิดว่าเมื่อเลือก คุณมาเป็นฝ่ายบริหารแล้ว คุณจะใช้งบประมาณอย่างไรก็ได้ตามใจคุณนะ มันต้องผูกพันตามหลักการกฎหมายงบประมาณ"

มีการอธิบายว่าเสียงข้างมากคือระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงเพราะคือเสียงสวรรค์ของประชาชน

"ถูกต้องแล้ว ในเรื่องการฟังเสียงข้างมาก หรือการนำพาองค์กรในประเทศต้องเป็นเช่นนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเสียงข้างมากจะถูกเสมอไป ก็บ้าแล้ว เพราะบางครั้งถูกหรือผิดตัดสินกันที่เสียงข้างมากไม่ได้หรอกและถ้า เมื่อไรก็ตามเฮ้ย ฝ่ายเสียงข้างมากต้องเป็นอย่างนี้อย่างเดียว ฝ่ายข้างน้อยไม่มีสิทธิที่จะพูดอะไร เมื่อปิดกั้นเขาก็ต้องหาหนทางที่จะต้องดำเนินกิจกรรมของเขา เช่นการลงใต้ดิน หรือต่อสู้ในรูปแบบอื่นแต่ถ้าเราเปิดให้เขาแสดงความเห็น ยังไงเสียงข้างน้อยมันก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเสียงข้างมากในขณะนั้นได้ ซึ่งสังคมที่มีความอดทนต่อกันเช่นนี้มันก็ก่อให้เกิดความสงบสุข

คิดอย่างไรกับคำว่า "เผด็จการนายทุนกับประชาธิปไตยเสียงข้างมาก" หัสวุฒิ หัวเราะในลำคอ "ก็ต้องเข้าใจให้ดีไงว่า จริงๆ ปัญหามันคืออะไร และอะไรคือประชาธิปไตยเสียงข้างมาก บางทีเราชอบอ้างว่าผมได้รับเลือกมาจากคนจำนวนมากนะ

"จริงๆ แล้วถ้าเราดูการปกครองในระบบรัฐสภาขณะนี้ ฝ่ายนิติบัญญัติก็คือฝ่ายบริหารของรัฐบาล แต่คุณจะเห็นว่าฝ่ายนิติบัญญัติที่ออกกฎหมายเพื่อให้อำนาจกับฝ่ายบริหารนั้น มันก็เยอะแล้วนะ แต่คุณไปดูในเรื่องของการออกพระราชกำหนดของฝ่ายบริหาร โอ้โห ...ผมว่าถ้าผมเป็นรัฐบาลผมเลือกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะมันเอื้อให้ผมทุกอย่างเลย ฝ่ายบริหารจะออกกฎหมาย พ.ร.ก.เมื่อไร

ยิ่งกว่าถูกตรวจสอบ

ข้อกล่าวหาหลักของพรรคเพื่อไทยที่ต้องการจำกัดอำนาจองค์กรตุลาการ คือ ไม่มีระบบตรวจสอบศาล ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ต่อคำถามนี้ "หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล"ประธาน ศาลปกครองสูงสุดอธิบายว่า หากจะพูดทั้งหมดต้องเริ่มจากการปกครองประเทศนี้ก่อนว่า ถ้าเป็นประชาธิปไตย มีหลักสำคัญอยู่ 2 เรื่อง1.ปกครองโดยเสียงข้างมากที่รับฟังเสียงข้างน้อย 2.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ในรัฐธรรมนูญการจะให้หลักการเหล่านี้ เป็นไปได้ ก็ต้องเอาหลักนิติรัฐ คือ การแบ่งแยกอำนาจมาใช้

หลักนิติรัฐมันก่อให้เกิดหลักในทางมหาชน 2 ประการ 1 กฎหมายที่ออกนั้นต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2 การกระทำของฝ่ายบริหาร ก็ต้องชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตรงนี้ต้องมีองค์กรอิสระอีกองค์กรคอยตรวจสอบตามหลักนิติรัฐ คือ องค์กรตุลาการ เพราะเมื่อไรก็ตามที่อำนาจรัฐซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดอยู่ในมือคนเดียวกัน โอกาสที่จะใช้อำนาจตามอำเภอใจย่อมเกิดขึ้นได้ ถ้าอย่างนั้นโอกาสที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนมันจะถูกละเมิดก็ง่าย"ใน ลักษณะเช่นนี้ การใช้อำนาจขององค์กรตุลาการจึงไม่ใช่การใช้อำนาจที่มันต้องไปถ่วงดุลหรือ ต้องไปคานแม้เราจะพูดถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจ ซึ่งหลักการนี้ก็ไม่ได้พูดว่าให้องค์กรที่เป็นอิสระต่อกัน ตรวจสอบกัน คานกัน"

หัสวุฒิ ยืนยันว่า ศาลไม่ได้มีอำนาจมากเกินไป หรือไม่มีระบบตรวจสอบอย่างที่เข้าใจ หรือที่บอกว่า ไม่ยึดโยงกับประชาชนโดยเฉพาะศาลปกครองมีระบบตรวจสอบไม่น้อยกว่าศาลอื่นเริ่ม ตั้งแต่การตรวจสอบภายใน เช่นคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ซึ่งคณะกรรมการนี้ประกอบด้วย ตุลาการผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ผู้แทนรัฐสภารวมแล้วถึง 3 คน ฉะนั้นพูดได้เลยว่า การกระทำใดๆ ของศาลปกครองอยู่ในสายตาของฝ่ายบริหาร และสายตาของรัฐสภา ซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจบริหารนิติบัญญัติทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบกันเองจากการตัดสินโดยองค์คณะ ไม่ได้หมายความว่าเจ้าของสำนวนจะให้คดีนี้เป็นอย่างไรก็ได้ ถ้าเสียงขององค์คณะไม่เห็นด้วย ยังถูกควบคุมโดยที่ประชุมใหญ่ของตุลาการในศาล เช่น ศาลปกครองสูงสุด องค์คณะมีความเห็นอย่างหนึ่งแต่เมื่อถึงการตรวจสอบของประธานอาจมองว่ายังไม่ ถูกต้อง ประธานก็เสนอเรื่องเข้าที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครองสูงสุด คือ ประชุมตุลาการทั้งหมดในศาลสูงเพื่อวินิจฉัยปัญหาต่างๆนอกจากนั้นในระบบการ พิจารณาจะมีตุลาการ ผู้แถลงคดี ที่ไม่ได้ขึ้นกับองค์คณะอีก มีหน้าที่แถลงความเห็นของคดีว่าเข้ากรอบกฎหมายใดบ้างเขาอาจจะเห็นตรงหรือไม่ ตรงกับตุลาการก็ได้เป็นการคานอำนาจกับเจ้าของสำนวนคดี

แม้กระทั่งการสรรหาตัวบุคคลที่เหมาะสมก่อนจะปฏิบัติหน้าที่ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ถ้าวุฒิสภาไม่เห็นชอบ คนนั้นก็ดำรงตำแหน่งไม่ได้ และเคยเกิดขึ้นแล้วในตุลาการศาลปกครองรุ่นแรกตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้จำนวน 23 คน เมื่อเสนอวุฒิสภาปรากฏว่าตกไป 6 คน และถ้าปฏิบัติหน้าที่ไม่ดีชาวบ้านสามารถเข้ายื่นรายชื่อ5 หมื่นชื่อบอกว่าตุลาการคนนี้ทุจริตให้ถอดถอนก็สามารถทำได้ เราถูกตรวจสอบทุกอย่าง นอกจากนี้ ก่อนเข้ารับตำแหน่งและออก ก็ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินไม่ต่างอะไรจากนักการเมือง

"ในการตัดสินคดี ถามว่าศาลสร้างกฎหมายขึ้นมาตัดสินคดีเองหรือก็เปล่า กฎหมายก็มาจากฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารเป็นคนออก ศาลไม่เคยสร้าง แต่ฝ่ายบริหารได้อำนาจจากกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติคุณใช้อำนาจนั้นถูกต้อง ไหม ศาลก็แค่ตรวจสอบว่าการใช้อำนาจของคุณเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าเป็นก็คือเป็น ไม่เป็นก็ไม่เป็น ศาลจะไปตัดสินนอกนั้นได้ไหม ก็ไม่ได้

"ฉะนั้น โดยสภาพ ศาลปกครองผูกมัดกับกฎหมาย ผูกมัดกับข้อเท็จจริงของคดี ถามว่าศาลมีอิสระตรงไหน ไม่มี ศาลจะตัดสินต่างจากที่กฎหมายกำหนดไว้ไหม ประการเดียวถ้าจะทำก็คือ ตุลาการภิวัตน์ ซึ่งผมบอกได้เลยตลอดเวลา 11 ปีของศาลปกครอง เราไม่เคยใช้อำนาจในลักษณะเช่นนั้น"

ประธานศาลปกครองสูงสุด บอกว่า เรายินดีถ้าจะตรวจสอบเราอีก แต่ฝ่ายการเมืองต้องพูดให้ชัดว่าศาลปกครองไม่มีระบบตรวจสอบยังไงขณะเดียวกัน จากสถิติของเรา แม้ส่วนราชการเป็นฝ่ายชนะคดีมากกว่าเอกชน แต่ผลสำรวจความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อศาลปรากฏว่าประชาชนให้ความเชื่อ ถือถึง91%

แล้วฝ่ายการเมืองต้องการลดอำนาจศาลเพื่ออะไร..."นี่ แหละที่คุณต้องกลับไปถามเขาถามเราเราตอบแทนไม่ได้ คุณกลับไปถามเขาเลยว่า นี่ไง ระบบตรวจสอบทุกอย่าง โอ้โหมีอย่างเต็มที่ เคร่งครัดด้วย แต่ทำไมท่านยังเห็นว่าไม่มี กลับไปถามเขาเลยว่าเจตนารมณ์จริงๆ เขาคืออะไร เขาคิดอะไรของเขา

"ฝ่ายการเมืองต้องการตรวจสอบคำพิพากษาด้วย หัสวุฒิ หัวเราะเล็กน้อย"เราเปิดเผยยิ่งกว่าเปิดเผยอีก ว่าแต่ท่านเคยอ่านคำพิพากษาหรือไม่ เวลาอ่านคำพิพากษาอย่าอ่านแค่ว่าแพ้หรือชนะ จะต้องอ่านเหตุผลว่าแพ้หรือชนะเพราะอะไร"

มีการพูดถึงเรื่อง"ตุลาการภิวัตน์"ต้องกลับบ้านได้แล้ว ประธานศาลปกครองสูงสุดชี้แจง "คำว่าตุลาการภิวัตน์ ผมพูดบ่อย แต่คำนี้เอาไปใช้ไม่ถูก ที่ว่าศาลต้องกลับบ้าน แน่นอนมันต้องกลับอยู่แล้ว เพียงแต่ปัญหาคำว่า ตุลาการภิวัตน์ ต้องเข้าใจให้ถูกต้องที่มันเป็นสากลนะคุณจะบอกว่า เฮ้ย...ศาลเพ่นพ่านมาทำนู้นทำนี้นั่นคือ ตุลาการภิวัตน์ อย่างนี้ไม่ใช่นะ ถ้าอย่างนั้นจะต่างอะไรกัน ตำรวจ ทหาร ก็ไปทำนั่นทำนี่ เช่น ในวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร มีทั้งทหารเยอะแยะ แต่เขาก็ไม่ได้ใช้อำนาจของความเป็นทหาร เช่นเดียวกัน ตุลาการไปที่ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ก็ไม่ได้ใช้อำนาจของการเป็นตุลาการไปทำงานเหล่านี้ ยังดีก็เป็นแค่อดีตตุลาการ แต่นั่นไม่ใช่ตุลาการภิวัตน์ในความหมายของสากล"

"ในความหมายของสากลที่พูดกัน ตุลาการภิวัตน์ที่แท้จริงคือใช้อำนาจตุลาการในการพิจารณาคดีเท่านั้น แต่คุณไม่สามารถใช้อำนาจตุลาการไปจับใครได้ หรือไปตั้งองค์กรอื่นจะเห็นว่ากรอบมันแคบมาก ผมถึงพูดไงว่า ศาลไม่มีอำนาจอะไร ใครที่บอกว่าศาลมีอำนาจล้นเหลือมีอำนาจเยอะกว่าฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติผมคิดว่าพูดยังไงก็พูดได้ แต่ต้องเอาข้อเท็จจริงมาพูดกันว่า มากกว่ายังไง"


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หัสวุฒิ ประธานศาลปกครอง แก้รธน. นองเลือด

view