สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เงินเฟ้อตัวทำลายสเน่ห์ลงทุนตลาดอินโดฯ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

นักลงทุนเริ่มเมินตลาดอินโดนีเซียเพราะกลัวว่าราคาน้ำมันพุ่งจะกระตุ้นเงินเฟ้อในดินแดนแห่งนี้และบั่นทอนผลกำไรจากการลงทุนที่ควรจะได้
ตลาดอินโดนีเซีย เคยมีแนวโน้มที่ดีในช่วงต้นปีนี้ โดยตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ถือเป็นตลาดที่พุ่งขึ้นมากที่สุดในบรรดาตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกในปี 2552-2554 และสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือสองแห่งได้ปรับอันดับความน่าเชื่อถือของอินโดนีเซีย กลับสู่สถานะน่าลงทุนอีกครั้งในช่วงที่ผ่านมา
แต่แนวโน้มของอินโดนีเซีย ก็ตกต่ำลงภายในเวลาอันรวดเร็ว

โดยเฉพาะในช่วงนี้ นักลงทุนกำลังหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นและพันธบัตรของอินโดนีเซีย แม้อินโดนีเซีย ยังคงมีปัจจัยบวกหลายประการ ซึ่งรวมถึงการที่เศรษฐกิจสามารถรักษาอัตราการเติบโตไว้ได้ดีกว่าประเทศอื่นๆในช่วงที่วิกฤติหนี้ยูโรโซนทวีความรุนแรง มีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก และการที่ชนชั้นกลางในอินโดนีเซียขยายตัวออกไป

แต่ความสับสนเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจในระยะนี้ ส่งผลให้เงินลงทุนจากต่างชาติไหลออกจากอินโดนีเซีย โดยนักลงทุนต่างชาติ พากันลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลอินโดนีเซีย เนื่องจากกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อในอินโดนีเซีย อาจได้รับแรงหนุนจากความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับขึ้นราคาเชื้อเพลิงในอินโดนีเซียในอัตรา 33 %

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์บางราย ยังตั้งข้อสงสัยต่อประโยชน์ที่ได้รับจากมาตรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของอินโดนีเซียนับตั้งแต่ปลายปี 2554
ธนาคารกลางอินโดนีเซีย มีมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุมกำหนดนโยบายอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุด โดยประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.75 % สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างพลิกความคาดหมายในเดือนก.พ. ท่ามกลางความวิตกที่ว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มพุ่งขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยเป็นผลจากแผนการปรับขึ้นราคาเชื้อเพลิงในประเทศ

การเปิดประมูลพันธบัตรอินโดนีเซียในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ดึงดูดนักลงทุนไม่มากนัก และส่งผลให้รัฐบาลระดมทุนได้เพียง 1 ใน 3 ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งแตกต่างจากผลการประมูลที่แข็งแกร่งในการเปิดประมูลสองครั้งก่อนหน้านี้

อัตราเงินเฟ้อในอินโดนีเซีย เคยพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 21 เดือนที่ 7 % ในเดือนม.ค. 2554 ซึ่งส่งผลให้กองทุนบางแห่งถอนการลงทุนออกไป และทำให้ธนาคารกลางอินโดนีเซีย ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25 % สู่ 6.75 % ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นเพียงครั้งเดียวในปี 2554

อัตราเงินเฟ้อร่วงลง นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และดิ่งลงแตะจุดต่ำสุดในรอบ 22 เดือนที่ 3.6 % ในเดือนก.พ.ปีนี้ ขณะที่ธนาคารกลางอินโดนีเซีย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.75 % ในช่วงปลายปี 2554 และลดลงอีก 0.25 % ในเดือนก.พ. เนื่องจากอัตราเงินเฟ้ออยู่ภายใต้การควบคุมในช่วงนั้น และมีความกังวลกันว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียอาจได้รับแรงกดดันจากปัญหาในยุโรป

อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันที่ระดับสูง ทำให้นักลงทุนกังวลกับภาวะเงินเฟ้ออีกครั้ง ขณะที่ประธานาธิบดีสุสิโล บัมบัง ยุดโดโยโนของอินโดนีเซีย กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายในการอุดหนุนราคาน้ำมันภายในประเทศและได้ยื่นญัตติเข้าสู่รัฐสภาสำหรับการปรับขึ้นราคาน้ำมัน

รัฐบาลอินโดนีเซีย ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อประจำปีนี้ ขึ้นสู่ 7 % จาก 5.3 % ด้วย

อัตราเงินเฟ้อ ที่ระดับสูงจะส่งผลลบต่อปริมาณการบริโภคภายในประเทศ และปัจจัยนี้ทำให้กองทุนบางแห่งมองว่า มูลค่าหุ้นอินโดนีเซียในขณะนี้อยู่ในระดับที่แพงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศตลาดเกิดใหม่

เศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโต 6.5 % ในปี 2554 ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 15 ปี แต่ถ้าหากอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 7 % ในปีนี้ อัตราเงินเฟ้อดังกล่าวก็อาจอยู่สูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยโพลล์ล่าสุด คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียอาจอยู่ที่ 6.1 % ในปีนี้

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของอินโดนีเซียในเดือนธ.ค. 2554 และมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ปรับขึ้นอันดับความน่าเชื่อถือของอินโดนีเซียในเดือนม.ค.ปีนี้ โดยปรับขึ้นสู่เกรดน่าลงทุนอีกครั้ง หลังจากอันดับความน่าเชื่อถือของอินโดนีเซียเคยอยู่ในสถานะขยะนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินเอเชียในปี 2540-2541เป็นต้นมา

ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย มีเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าเพียง 183 ล้านดอลลาร์ ในช่วงตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงวันที่ 2 มี.ค. หลังจากที่เคยมีเงินไหลเข้ามากถึง 2.65 พันล้านดอลลาร์ในปี 2554

ขณะที่ กองทุนหุ้นอินโดนีเซีย ไม่มีเงินไหลเข้าสุทธิในช่วง 2 สัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 24 ก.พ. ถึงแม้ตลาดเกิดใหม่มีเงินไหลเข้าอย่างแข็งแกร่งในช่วงเวลาเดียวกัน

ดัชนีตลาดหุ้นจาการ์ตา ปรับตัวขึ้นเพียง 3 % เท่านั้นจากช่วงต้นปีนี้ ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นเอเชียยกเว้นญี่ปุ่นพุ่งขึ้น 10.3 % ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามพุ่งขึ้นมาแล้ว 26 % จากช่วงต้นปี และถือเป็นตลาดที่ทะยานขึ้นมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หุ้นบริษัทอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ในอินโดนีเซีย ปรับตัวอ่อนแอกว่าหุ้นกลุ่มอื่นๆ โดยหุ้นยูนิลีเวอร์ อินโดนีเซียทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีนี้ ในขณะที่หุ้นแอสตรา อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นบริษัทประกอบรถยนต์ ดิ่งลง 6.6 %


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เงินเฟ้อ ตัวทำลาย สเน่ห์ลงทุน ตลาดอินโดฯ

view