สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จำนำข้าว 6.7ล.ตัน ปัญหาเพียบ พิลึก ไฟเขียว เจียเม้ง คู่ความคดีฉ้อโกงข้าว อคส. ได้โควต้าเกิน

จากสำนักข่าวอิสรา

http://www.isranews.org/Investigative/71-Investigative/5836--67-.html

 

ลุยตรวจจำนำข้าวเปลือก รบ.ยิ่งลักษณ์ พบหลักฐาน ก.พาณิชย์ ให้ “เจียเม้ง” คู่ความคดีฉ้อโกงข้าวมูลค่า 4.6พันล้าน ขยายปริมาณรับจำนำเพิ่มจาก 30 เท่า เป็น 50 เท่าจากกำลังการผลิต “ภูมิ สาระผล” นั่งหัวโต๊ะอนุมัติเอง อดีตนายก ส.โรงสี จี้รัฐคุ้มเข้ม - จับตาระบายข้าวแบบปิดลับ แบ่งเค้กก้อนโต ??

          ขณะที่งานว่าจ้างประชาสัมพันธ์โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 และจ้างประชาสัมพันธ์โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/55 ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กำลังถูกตั้งคำถามอย่างหนัก ถึงความโปร่งใส ภายหลังสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจพบว่า มีเอกชนที่เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท อย่างน้อย 2 แห่ง ได้รับว่าจ้างถึง 13 โครงการ รวมวงเงิน 65.7 ล้านบาท และในการว่าจ้างงานบางโครงการ ปรากฏว่ามีบริษัทเอกชนกลุ่มเดียวกันเข้าร่วมเสนอราคาพร้อมกัน (อ่าน รายละเอียด “ พบ บ.ตั้งใหม่โผล่คว้างบฯพีอาร์ “จำนำข้าวเปลือก-สินค้า” ก.พาณิชย์13 สัญญารวด 65.7 ล., และ “ ป้าย“ยิ่งลักษณ์”หรากลาง บ.พีอาร์รับจำนำข้าว-พบเครือข่ายใหม่คว้าสดๆอีก 10 ล้าน” และ “งบฯพีอาร์“จำนำข้าว”43 ล.ส่อพิรุธอื้อ?2 บ.เครือข่ายควงยื่นซอง-“หุ้นใหญ่”หนีอุตลุต”)

          ผลการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ที่ผ่านมา เป็นอย่างไรบ้าง ??

          สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบว่า ผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/55 ที่เริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2554 จนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 ปรากฏมีชาวนานำข้าวเข้ามาจำนำกับรัฐบาลทั้งหมด 6,770,306 ตัน แบ่งเป็น ภาคเหนือ 2,280,557 ตัน, ภาคกลาง 1,344,788 ตัน, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3,131,352 ตัน และภาคใต้ 13,609 ตัน

          ในจำนวนนี้ เป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ 3,065,473 ตัน ,ข้าวเปลือกเจ้า 2,905,302 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว 4 38,075 ตันโดยเบื้องต้น รัฐบาลใช้งบประมาณ ในการดำเนินงานโครงการฯ นี้ แยกเป็นงบค่าดำเนินการ และฝากเก็บข้าวในโกดังจำนวน 30,000-40,000 ล้านบาท และงบเงินทุนหมุนเวียนอีก 100,000 ล้านบาท รวมงบประมาณที่ใช้ทั้งสิ้น 130,000 -140,000 ล้านบาท

          สำหรับปัญหาที่ตรวจสอบพบในการดำเนินงานโครงการที่ผ่านมา มีดังนี้ 1. การออกใบรับรองให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการล่าช้า 2. ปัญหาการรับจำนำข้าวข้ามเขตเกินจำนวน 3. การค้างส่งมอบข้าวสารของโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำ 4. ปัญหาโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำเกินวงเงินค้ำประกัน 5. ปัญหาโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำเกิน 30 เท่าของกำลังการผลิต

          6. ปัญหาการค้างส่งมอบใบประทวนให้เกษตรกร 7. กรณีการสวมสิทธิเกษตรกร 8. ผลกระทบข้าวเปลือกจำนำเนื่องจากภัยพิบัติน้ำท่วม 9.ปัญหาเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยปฏิบัติงาน อคส. อ.ต.ก. ตัวแทนเกษตรกรและช้าราชการประจำจุดรับจำนำยังไม่ได้รับเงินค่าตอบแทน 10. ปัญหาการสั่งสีแปรสภาพข้าวเปลือกของ อคส. ,อ.ต.ก. และ11. ปัญหาเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยปฏิเสธการรับจำนำ

          ทั้งนี้ ปัญหาทั้งหมดได้ถูกนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม คณะอนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำข้าว ที่มีนายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เพื่อพิจารณาและหาแนวทางแก้ไขมาโดยตลอด (ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งประธาน เป็น นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (คำสั่งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ที่ 3/2555 ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2555) ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2555)

          อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำเกิน 30 เท่าของกำลังการผลิต ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก ว่า อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่??

          สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำข้าวครั้งที่ 13/2554 วันพุธที่ 21 ธันวาคม 2554 ที่มีนายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาปัญหาโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำเกิน 30 เท่าของกำลังการผลิต ซึ่งปัญหานี้ สืบเนื่องจากจังหวัดนครราชสีมา ได้มีหนังสือแจ้งว่า บริษัท เจียเม้ง จำกัด ซึ่งเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ขอให้พิจารณาผ่อนผันปริมาณการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ตามสัญญาที่กำหนดไว้ไม่เกิน 30 เท่าของกำลังการผลิต ให้สามารถรับจำนำได้เพิ่มขึ้นเป็น 62 เท่าของกำลังการผลิต หรือเท่ากับกำลังการเก็บของไซโลที่เก็บข้าวเปลือกของโรงสี

          เบื้องต้น ที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว เห็นชอบผ่อนผันให้โรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำเกิน 30 เท่า ของกำลังการผลิต โดยให้รับจำนำได้ไม่เกิน 50 เท่าของกำลังการผลิต โดยโรงสีจะต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่มตามปริมาณรับจำนำที่ผ่อนผันให้ เพิ่มขึ้น โดยคณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการรับจำนำระดับจังหวัด และ อคส./อ.ต.ก. จะต้องกำกับดูแลโรงสีที่เข้าร่วมโครงการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

          หลังการเพิ่มปริมาณรับจำนำข้าว ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2555 บริษัท เจียเม้ง จำกัด ได้ทำเรื่องขอผ่อนผันการส่งมอบข้าวสาร โดย อคส. ได้มีหนังสือแจ้งโรงสีขอให้เร่งรัดการส่งมอบข้าวสารเข้าโกดังกลาง ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2555 รวมทั้งแจ้งคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดขอให้กำกับดูแลและติดตามการส่งมอบข้าว เข้าโกดังกลางให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดด้วย

          นายนิพนธ์ วงศ์ตระหง่าน อดีตผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า และอดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวอิศรา ว่า การที่ บริษัทเจียเม้งขอเพิ่มปริมาณการรับจำนำข้าวเกิน 30 เท่า ของกำลังการผลิต น่าจะมาจากความต้องการที่จะรับปริมาณข้าวเข้ามาอยู่ในความดูแลจำนวนมาก เพราะเมื่อถึงเวลาที่รัฐบาลเปิดระบายข้าวในสต๊อก ซึ่งโดยปกติจะขายในราคาต่ำ บริษัทแห่งนี้ อาจจะเข้าไปรับซื้อข้าวส่วนนี้ กลับคืนมาในจำนวนมากๆ เช่นกัน แต่ถ้ามองในแง่ดีการที่บริษัทเจียเม้ง เพิ่มปริมาณรับจำนำข้าวมากขึ้น ก็จะช่วยทำให้เกษตรกร มีที่รับจำนำข้าวได้มากขึ้น โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ที่บริษัทเจียเม้งให้ความสนใจเป็นพิเศษ

          “การที่บริษัทเจียเม้ง มีข้าวอยู่ในสต๊อกจำนวนมาก ทำให้มีความได้เปรียบคู่แข่งคนอื่นที่จะเข้ามาเสนอราคาซื้อข้าวอย่างมาก ทั้งเรื่องการขนส่ง การรับทราบข้อมูลคุณภาพข้าว เพราะข้าวอยู่ในมือบริษัทอยู่แล้ว” นายนิพนธ์กล่าว

           นายนิพนธ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปดูแลเรื่องนี้ คือ 1. บริษัทเจียเม้ง จำกัด วงเงินค้ำประกันราคาข้าว เท่ากับกำลังการผลิตที่รับเพิ่มขึ้นหรือไม่ 2. ข้าวที่รับจำนำไว้ จะต้องถูกควบคุมดูแลอย่างดี ไม่ถูกลักลอบนำไปขายก่อน และนำข้าวเก่ามาสวมรอยแทน การส่งมอบข้าวจะต้องไปเป็นไปตามกำหนดเวลาที่วางไว้ เพราะในอดีตบริษัทแห่งนี้ เคยถูก อคส. แจ้งความข้อหาฉ้อโกง โครงการการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ในช่วงปี 2547-48 มาแล้ว แต่ที่สามารถกลับมาเข้ามาโครงการรับจำนำได้ เป็นเพราะนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ เปิดให้โรงสี และบริษัท ที่ถูกขึ้นบัญชีดำ มาเข้าร่วมโครงการได้

            นายนิพนธ์ ยังกล่าวด้วยว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้บริษัทเอกชนหลายราย ที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวกับรัฐบาล มั่นใจว่าจะสามารถประมูลข้าวจากโครงการรับจำนำกลับไปได้จำนวน เป็นเพราะกระบวนการระบายข้าวของรัฐบาลที่ใช้อยู่ในขณะนี้ คือ การดำเนินการแบบลับ ไม่เปิดเผยข้อมูล ทำให้บริษัทเอกชน ที่มีเส้นสายทางการเมือง มักจะได้เปรียบบริษัทเอกชนทั่วไป ซึ่งบริษัทเอกชน ที่จะทำแบบนี้ได้ จะต้องมีเส้นสายทางการเมืองสูงมากพอสมควร และรู้ล่วงหน้าว่า การระบายข้าวในสต๊อกที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร

          “ตัวอย่างการประมูลข้าวแบบลับๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว คือ ประกาศเปิดประมูลปรับปรุงคุณภาพข้าวสารส่งมอบองค์การสำรองอาหารแห่งประเทศ อินโดนีเซีย (บูล็อก) จำนวน 300,000 ตัน ที่บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ได้รับไป ซึ่งมีการกล่าวอ้างในภายหลังว่า ทางอินโดนีเซียเจาะจงมา ให้บริษัทสยามอินดิก้า ได้งานไป ซึ่งผมคิดว่าเหตุผลนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะสังคมก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า บริษัท สยามอินดิก้า น่าจะมีความสัมพันธ์กับ บริษัท เพรซิเดนท์อะกริเทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งมีนักการเมืองชื่อดังหนุนหลังอยู่ ซึ่งในช่วงที่รัฐบาลจะเปิดระบายข้าวในสต๊อกเร็วๆ นี้ และเชื่อมั่นว่า บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากแน่นอน ” อดีตผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า และอดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ระบุ

          ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท เจียเม้ง จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2536 ทุน 172,600,000 บาท ประกอบธุรกิจคัดคุณภาพข้าว,ขายส่งออก,ขายในประเทศ ,ผู้ผลิต ตั้งอยู่ที่ 119 หมู่ที่ 8 ตำบลหนองงูเหลือม อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา 30000 เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ปรากฏชื่อนาง ประพิศ มานะธัญญา เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท มีผู้ถือหุ้น 7 คน ประกอบด้วย นาย ถวัลย์ มานะธัญญา 40.3265% นาง ประพิศ มานะธัญญา 19.3212% บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด 19% นาย โอฬาร มานะธัญญา 10.7003% นางสาว ประไพวัลย์ มานะธัญญา 5.0961% นางสาวประไพพรรณ มานะธัญญา 5.0462% นายดำรงค์ บุญอุทิศ 0.5097%

          ในช่วงปี 2549 บริษัท เจียเม้ง จำกัด เคยถูกองค์การคลังสินค้า(อคส.) แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.อ.เมืองนครราสีมา ให้ดำเนินคดีร่วมกับ หจก.ราชสีมาบุญนภา , นายธีระ เอื้ออภิธร และ นายวรรลภ มานะธัญญา,คณะบุคคลราชสีมาแวเฮาส์, บริษัท ตงฮั่ว บัวใหญ่ 1994 จำกัด และบริษัท นครราชสีมาศิริโชคชัย จำกัด ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงหลังตรวจพบว่า ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและเก็บข้าว โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีฤดูกาลผลิต 2547/48 ที่ไม่ได้มาตรฐานตามที่กระทรวงพาณิชย์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐมากถึง 5,282 ล้านบาท รวมข้าวหอมมะลิน้ำหนักกว่า 300,000 ตัน โดยโกดังข้าวของบริษัท เจียเม้ง ถูกกล่าวหามากที่สุด มูลค่าเสียหายกว่า 4,649 ล้านบาท รองลงมาเป็นโกดังของ หจก.ราชสีมาบุญนภา มูลค่าเสียหาย 209 ล้านบาท ซึ่งบริษัทเจียเม้ง ได้เข้าสู้คดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย โดยผู้บริหารบริษัทฯ ยืนยันว่าไม่มีเจตนาฉ้อโกงตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา บริษัท เจียเม้ง ได้เข้าร่วมประมูลข้าวในสต๊อกรัฐบาล เพื่อส่งออกอยู่เป็นระยะๆ


ข่าวประกอบ :

พบ บ.ตั้งใหม่โผล่คว้างบฯพีอาร์“จำนำข้าวเปลือก-สินค้า”ก.พาณิชย์13 สัญญารวด 65.7 ล.

ป้าย“ยิ่งลักษณ์”หรากลาง บ.พีอาร์รับจำนำข้าว-พบเครือข่ายใหม่คว้าสดๆอีก 10 ล้าน

งบฯพีอาร์“จำนำข้าว”43 ล.ส่อพิรุธอื้อ?2 บ.เครือข่ายควงยื่นซอง-“หุ้นใหญ่”หนีอุตลุต

“เจียเม้ง”พร้อมโรงสี 7 แห่งโคราชรุดมอบตัว-สู้คดีฉ้อโกงจำนำข้าวหอมฯ 5,200 ล้าน

สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จำนำข้าว 6.7ล.ตัน ปัญหาเพียบ พิลึก ไฟเขียว เจียเม้ง คู่ความคดีฉ้อโกงข้าว อคส. โควต้าเกิน

view