สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โคนม อาชีพพระราชทาน

จาก โพสต์ทูเดย์

คนไทยยุคใหม่เติบโตมาพร้อมกับการดื่มนมวัวตั้งแต่เด็ก แต่รู้หรือไม่ว่านมวัวคือหนึ่งในวิวัฒนาการด้านอาหารของมนุษย์ที่มีมา ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ และนมวัวไม่ใช่อาหารประจำถิ่นของประเทศไทย

คุณลักษณะพิเศษของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งก็รวมไปถึงมนุษย์ มีกลไกสร้างการเจริญเติบโตในวัยทารกด้วยน้ำนมมารดา เพราะในน้ำนมประกอบไปด้วยคุณค่าทางสารอาหารที่เป็นประโยชน์และจำเป็นต่อร่าง กาย จุดเริ่มต้นของมนุษย์ในการบริโภคน้ำนมสัตว์ เกิดจากวิวัฒนาการและการเรียนรู้ที่จะเลี้ยงสัตว์ไว้บริโภคแทนการออกไปล่า หลังจากนั้นเพียงไม่นานมนุษย์ก็เรียนรู้ที่จะนำน้ำนมจากสัตว์ เช่น แพะ แกะ ม้า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากวัวมาบริโภค และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนย ชีส และโยเกิร์ต

 

ประเทศเดนมาร์กคือ หนึ่งในประเทศที่มีวิวัฒนาการด้านปศุสัตว์ยาวนานที่สุดในกลุ่มนอร์ดิก หรือกลุ่มประเทศยุโรปเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงโคนม เพราะประเทศเดนมาร์กมีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบทุ่งหญ้าอุดมสมบูรณ์ อันเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ อีกทั้งยังมีภูมิอากาศที่เหมาะสม ไม่ร้อนและหนาวเย็นจนเกินไปสำหรับสัตว์เลี้ยง ดังนั้นผู้คนส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพเกี่ยวกับปศุสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพเลี้ยงโคนม สอดคล้องกับการที่ประเทศนี้เป็นผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์จากนมวัวที่มี คุณภาพดีที่สุด และเป็นรายใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศยุโรปเหนือ นอกจากนี้ประเทศเดนมาร์กยังเป็นหนึ่งในต้นแบบกิจการสหกรณ์โคนม เพราะกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจฟาร์มโคนมมีการรวมกลุ่มและจัดตั้งเป็นกลุ่มสหกรณ์ ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพและมีอำนาจในการต่อรองซื้อขายน้ำนมดิบ ทำให้อาชีพเกษตรกรโคนมในประเทศเดนมาร์กเป็นหนึ่งในอาชีพที่ให้ผลกำไรตอบแทน สูง ดังนั้นที่นี่จึงเป็นหนึ่งในต้นแบบสำคัญของการทำธุรกิจฟาร์มโคนมในโลกที่ ประสบความสำเร็จ แต่ด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจในปัจจุบันของเดนมาร์กได้ปรับเปลี่ยนสู่การเป็น ประเทศอุตสาหกรรมมากขึ้น ผู้สืบทอดกิจการธุรกิจฟาร์มโคนมจึงมีจำนวนลดลง และนำเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่แรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งหน้าเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม จึงทำให้ประเทศนี้เป็นอีกหนึ่งในต้นแบบสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ กับธุรกิจฟาร์มโคนม

วิทยาการด้านปศุสัตว์ของเดนมาร์กคือ จุดเริ่มต้นของการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จประพาสประเทศเดนมาร์กในปี 2503 ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงให้ความสนพระทัยกิจการเลี้ยงโคนมของชาวเดนมาร์กเป็น อย่างสูง ด้วยทรงเล็งเห็นว่า “อาชีพการเลี้ยงโคนมจะช่วยให้ชาวไทยได้บริโภคอาหารที่มีคุณค่า ทั้งยังช่วยให้เกษตรกรไทยได้มีอาชีพที่มั่นคงและเป็นหลักแหล่ง ไม่ต้องบุกรุกทำไร่เลื่อนลอยอีกต่อไป” นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ว่าด้วยความร่วมมือด้านวิชาการการ เลี้ยงโคนมระหว่างประเทศไทยและประเทศเดนมาร์ก

 

จุดเริ่มต้นการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย เริ่มต้นโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยและผู้เชี่ยวชาญชาวเดนมาร์กขึ้นเฮลิคอปเตอร์ เพื่อบินสำรวจพื้นที่ ซึ่งพบว่า อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี มีความเหมาะสมในการเลี้ยงโคนมมากที่สุด เพราะมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี และมีการคมนาคมสะดวก อันเนื่องมาจากมีถนนมิตรภาพตัดผ่าน หลังจากนั้นในปี 2504 รัฐบาลเดนมาร์กส่งผู้เชี่ยวชาญด้านโคนมคือ นีล 2กุนนา ซันเดอกอร์ ในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยคือ ดร.ยอด วัฒนสินธุ์ โดยมีอาคารดำเนินการแรกสุดคือ อาคารฟาร์ม 1962 ซึ่งมีขนาด 20X120 เมตร มีโครงสร้างอาคารเป็นไม้เนื้อแข็งอย่างดี และโดดเด่นด้วยกระเบื้องมุงหลังคาสีแดงสด พร้อมกันนั้นยังได้มีการนำเข้าโคนมพันธุ์เรดเดน (Red Danish) จำนวน 40 ตัว เพื่อนำมาทำเป็นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์

ในวันที่ 16 ม.ค. 2505 นับได้ว่าเป็นวันที่มีความสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ของการเลี้ยงโคนมใน ประเทศไทย โดยในครานั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 9 แห่งประเทศเดนมาร์ก ได้พระราชทานเกียรติอันสูงสุดด้วยการเสด็จไปทรงเป็นประธานเปิดฟาร์มโคนมและ ศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนม “ไทยเดนมาร์ค” อย่างเป็นทางการ จนกระทั่งในปี 2514 รัฐบาลไทยได้โอนกิจการเพื่อมาจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้ชื่อ “องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย” หรือ อ.ส.ค. ซึ่งมีสัญลักษณ์ที่สำคัญคือ “วัวแดงสองแม่ลูก”

นพดล ตันวิเชียร รองผู้อำนวยการทำการแทนผู้อำนวยการ อ.ส.ค. ย้อนอดีตให้เราฟังว่า กิจการโคนมในประเทศไทยเมื่อแรกเริ่มไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย เพราะโคนมเป็นสัตว์เมืองหนาว จึงไม่มีใครเชื่อว่าจะเลี้ยงในประเทศไทยได้ อีกทั้งคนไทยในสมัยนั้นไม่นิยมดื่มนมวัว เพราะไม่ใช่อาหารประจำถิ่น จึงถูกคัดค้านจากหลายฝ่าย เพราะมองไม่เห็นถึงลู่ทางและความคุ้มค่า ดังนั้นบุคลากรทั้งจากประเทศเดนมาร์กและประเทศไทยจึงต้องทำงานหนักในการ บุกเบิกและวิจัยการเลี้ยงโคนม ซึ่งปรากฏว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะโคนมให้ผลผลิตน้ำนมในปริมาณที่สูงกว่าประเทศอินเดียและบังกลาเทศ ซึ่งเริ่มทดลองเลี้ยงโคนมพร้อมๆ กับประเทศไทย มากไปกว่านั้น นอกจาก อ.มวกเหล็ก แล้ว การเลี้ยงโคนมยังได้ขยายออกไปอีกหลายจังหวัด ซึ่งเป็นการส่งเสริมอาชีพใหม่และที่สำคัญเป็นอาชีพพระราชทาน นั่นก็คืออาชีพเกษตรกรเลี้ยงโคนม อาชีพซึ่งถือกำเนิดจากสายพระเนตรอันกว้างไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงเล็งเห็นว่าโคนมมีประโยชน์ทั้งทางด้านคุณค่าอาหาร และยังเป็นการส่งเสริมอาชีพที่มั่นคงให้กับคนไทย


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โคนม อาชีพพระราชทาน

view