สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ย้อนรอยกฎหมายนิรโทษกรรม21ฉบับเพื่อใคร?

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

Takizawa Nonamiเว็บไซด์กฤษฎีกาเผยแพร่บทความ กฎหมายนิรโทษกรรม พบตั้งแต่ 2475 ถึงปัจบัน ออกแล้ว 21 ฉบับ
เว็บไซด์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา http://www.krisdika.go.th เผยแพร่ บทความ เรื่อง กฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรม โดนายสุกิจ สัมฤทธิ์ผ่อง นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการพิเศษ (บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัว) โดยผู้เขียนได้สรุปสาระของกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมจำนวน 21  ฉบับ ตั้งแต่ปี 2475 ถึงปี 2535 ดังนี้

1.พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินพุทธศักราช 2475 นิรโทษกรรมให้แก่การกระทำทั้งหลายของบุคคลในคณะราษฎร์ในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน (มาตรา 3)

2.พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในการจัดการให้คณะรัฐมนตรีลาออกเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2476 นิรโทษกรรมให้แก่การกระทำทั้งหลายของคณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนในการจัดการให้คณะรัฐมนตรีลาออกเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ (มาตรา3)

3.พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจลพุทธศักราช 2488 นิรโทษกรรมให้แก่การกระทำความผิดฐานกบฏและจลาจลก่อนวันใช้พระราชกำหนดนี้ซึ่งต้องพิจารณาพิพากษาโดยศาลพิเศษ (มาตรา 3) (หรือเรียกว่าการนิรโทษกรรมแก่กบฏวรเดช)

4.พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่นพุทธศักราช 2489 นิรโทษกรรมให้แก่การกระทำอันเป็นการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่น หรือการดำเนินงานเพื่อการนั้น ทั้งนี้ ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งทำหน้าที่พิจารณาและออกหนังสือรับรองการเป็นผู้ได้รับนิรโทษกรรม (มาตรา 3 และมาตรา 7)

5.พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 นิรโทษกรรมให้แก่การกระทำของบุคคลใดๆ ก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ เนื่องในการทำรัฐประหารเพื่อเลิกใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ตลอดจนบรรดาประกาศและคำสั่งใดๆ ที่ได้ออกสืบเนื่องในการรัฐประหาร (มาตรา 3)

6.พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2475 กลับมาใช้ พ.ศ. 2495 นิรโทษกรรมให้แก่การกระทำของบุคคลใดๆ ก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ เนื่องในการกระทำ เพื่อเลิกใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 และนำเอารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 กลับมาใช้ ตลอดจนบรรดาประกาศและคำสั่งใดๆ ที่ได้ออกสืบเนื่องในการเปลี่ยนแปลงนี้ (มาตรา 3)

7.พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499 และพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2502 นิรโทษกรรมให้แก่การกระทำของบุคคลใดๆ ก่อนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2499 ในฐานความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญาฐานกบฏภายในราชอาณาจักร ฐานกบฏภายนอกราชอาณาจักร ฐานก่อการจลาจล หรือตามกฎหมายอื่นทำนองเดียวกัน ซึ่งต้องได้ตัวมาดำเนินคดีก่อนวันดังกล่าวด้วย ตลอดจนการกระทำใดๆ

อันเป็นการป้องกันระงับหรือปราบปรามการกบฏการก่อการจลาจล หรือการกระทำความผิดอื่นทำนองเดียวกัน หรือการพยายาม หรือการตระเตรียมกระทำการดังกล่าว ทั้งนี้ การกระทำใดจะถือว่าเป็นการกระทำความผิดทำนองเดียวกับกบฏให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นอกจากนั้น ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการทำหน้าที่ตรวจสอบผู้ซึ่งได้รับนิรโทษกรรม และกำหนดให้มีการร้องขอคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ยศ หรือบรรดาศักดิ์ ตลอดจนเบี้ยหวัด บำเหน็จหรือบำนาญด้วย (มาตรา 3 มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 9 และมาตรา 10)

8.พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 พ.ศ. 2500 นิรโทษกรรมให้แก่การกระทำของบุคคลใดๆ ก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ไม่ว่าในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำความผิดหรือผู้ถูกใช้ เนื่องในการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 และในกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกันไม่ว่ากระทำก่อนหรือหลังวันดังกล่าว ตลอดจนบรรดาประกาศและคำสั่งใดๆ ที่ได้ออกเกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว (มาตรา 3)

9.พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมพ.ศ. 2501 พ.ศ. 2502 นิรโทษกรรมให้แก่การกระทำของบุคคลใดๆ ก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้เนื่องในการปฏิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 และในกิจการที่เกี่ยวเนื่องกัน ตลอดจนการกระทำของหัวหน้าคณะปฏิวัติหรือผู้ได้รับมอบหมาย ไม่ว่าจะกระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำความผิดหรือผู้ถูกใช้ ไม่ว่ากระทำในวันที่นั้นหรือก่อนหรือหลังวันดังกล่าว ตลอดจนบรรดาประกาศและคำสั่งใดๆ ที่ได้ออกเกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว (มาตรา3)

10.พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำ การปฏิวัติเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 พ.ศ.2515 นิรโทษกรรมให้แก่การกระทำของบุคคลใดๆ ก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้เนื่องในการปฏิวัติเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 และในกิจการที่เกี่ยวเนื่องกัน ตลอดจนการกระทำของหัวหน้าคณะปฏิวัติหรือผู้ได้รับมอบหมาย ไม่ว่าจะกระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำความผิดหรือผู้ถูกใช้ ไม่ว่ากระทำในวันที่นั้นหรือก่อนหรือหลังวันดังกล่าว ตลอดจนบรรดาประกาศและคำสั่งใดๆ ที่ได้ออกเกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว (มาตรา3)

11.พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 พ.ศ. 2516 นิรโทษกรรมให้แก่การกระทำของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และได้กระทำในระหว่างวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2516 (มาตรา3)

12.พระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติ ที่ 36/2515 ลงวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2515 พ.ศ. 2517 ยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติ ที่ 36/2515 ลงวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2515 ที่เป็นการลงโทษนายอุทัย พิมพ์ใจชน นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ และนายบุญเกิด หิรัญคำ โดยไม่ชอบ และให้นิรโทษกรรม (ปล่อยตัว) บุคคลทั้งสาม (มาตรา3)

13.พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พ.ศ. 2519 นิรโทษกรรมให้แก่การกระทำของบุคคลใดๆ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว และการกระทำทั้งหลายของคณะหรือหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หรือผู้ได้รับมอบหมายหรือผู้ได้รับคำสั่งจากผู้ได้รับมอบหมาย รวมถึงการลงโทษและการบริหารราชการอย่างอื่น (มาตรา3)

14 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 พ.ศ.2520 นิรโทษกรรมให้แก่การกระทำอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ซึ่งได้กระทำระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 และการกระทำความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่อง

หรือเนื่องจากการกระทำอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรในระหว่างวันดังกล่าว โดยไม่รวมถึงความผิดต่อชีวิต และไม่กระทบกับการริบของกลางตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2520ฯ (มาตรา 3)

15.พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2520 นิรโทษกรรมให้แก่การกระทำของบุคคลใดๆ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 และการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว

และการกระทำทั้งหลายของคณะหรือหัวหน้าคณะปฏิวัติ หรือผู้ได้รับมอบหมายหรือผู้ได้รับคำสั่งจากผู้ได้รับมอบหมาย รวมถึงการลงโทษและการบริหารราชการอย่างอื่น (มาตรา3)

16.พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พ.ศ. 2521 นิรโทษกรรมให้แก่การกระทำของบุคคลใดๆ ที่เกิดขึ้นในหรือเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ซึ่งได้กระทำ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และให้ปล่อยตัวจำเลยในศาลทหารกรุงเทพในคดีหมายเลขดำที่ 253ก/2520 ตลอดจนจำเลยในศาลอาญา ในคดีหมายเลขดำที่ 4418/2520 (มาตรา 3 และมาตรา 4)

17.พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2524 พ.ศ. 2524 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2524 พ.ศ. 2524 นิรโทษกรรมให้แก่การกระทำของบุคคลใดๆ

ซึ่งได้กระทำเนื่องในการก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2524 ไม่ว่าจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ หรือผู้ถูกใช้ และผู้ใดจะอ้างพระราชกำหนดนี้เพื่อให้พ้นจากการถูกลงโทษทางวินัยอันเนื่องจากได้รับนิรโทษกรรมไม่ได้ (มาตรา 3 และมาตรา 4)

18.พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 8 และวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 พ.ศ. 2531 นิรโทษกรรมให้แก่การกระทำของบุคคลใดๆ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 8 และวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2528 ไม่ว่าจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ หรือผู้ถูกใช้ และผู้ใดจะอ้างพระราชบัญญัตินี้เพื่อให้พ้นจากการถูกลงโทษทางวินัยอันเนื่องจากได้รับนิรโทษกรรมไม่ได้ (มาตรา 3 และมาตรา 4)

19.พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำ การอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2532 นิรโทษกรรมให้แก่การกระทำของบุคคลใดๆ ซึ่งได้กระทำก่อนวันที่ 2 กรกฎาคม 2531 ในความผิดดังนี้ (1) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร

ตามประมวลกฎหมายอาญา (2) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และ (3) ความผิดฐานอื่นที่เป็นกรรมเดียวกับความผิดใน (1) หรือ (2) และผู้ใดจะอ้างพระราชบัญญัตินี้เพื่อให้พ้นจากการถูกลงโทษทางวินัยอันเนื่องจากได้รับนิรโทษกรรมไม่ได้ (มาตรา 3 และมาตรา 4)

20.พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พ.ศ. 2534 นิรโทษกรรมให้แก่การกระทำของบุคคลใดๆ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 และการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว

และการกระทำของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือหัวหน้าคณะฯ หรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือหัวหน้าคณะฯ หรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือหัวหน้าคณะฯ รวมถึงการลงโทษและการบริหารราชการอย่างอื่น (มาตรา 3)

21.พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พ.ศ. 2535 (ต่อมาสภาฯ ไม่อนุมัติพระราชกำหนดนี้) นิรโทษกรรมให้แก่การกระทำของบุคคลใดๆ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 และได้กระทำในระหว่างวันดังกล่าว ไม่ว่าในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ หรือผู้ถูกใช้


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ย้อนรอย กฎหมายนิรโทษกรรม21ฉบับ เพื่อใค

view