สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดเส้นทาง!ความพยายาม ปรองดอง ...เหตุใดลงท้าย ขัดแย้ง ?

เปิดเส้นทาง!ความพยายาม'ปรองดอง'...เหตุใดลงท้าย'ขัดแย้ง'?

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ลำดับความพยายามปรองดอง จาก'แก้ไข ไม่แก้แค้น' จนถึงกมธ.ปรองดอง เหตุใดที่นำมาสู้ความขัดแย้งในปัจจุบัน ?
 จากจุดเริ่มต้นจนกระทั่ง 5 ปีล่วงมาแล้ว สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองและความแตกแยก ที่เกิดขึ้นหลังจากการปฏิวัติปี 2549 จนนำมาสู่การแบ่งแยกประชาชนคนไทยเป็นสีต่างๆ อย่างทุกวันนี้ ก็ยังไม่คลี่คลายลง

แม้จะมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ได้รัฐบาลใหม่แล้วก็ตาม แต่บรรยากาศกลับดูเหมือนว่าปัญหาเดิมอาจปะทุขึ้นมาได้ทุกเมื่อเพราะคู่ขัดแย้งทางการเมือง รวมทั้งแกนนำมวลชนของแต่ละฝ่ายและฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังไม่หันหน้าเข้าหากัน

เมื่อ”รัฐบาลยิ่งลักษณ์”ได้เข้ามาบริหารประเทศ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเสียงดังฟังชัดว่า “ขอแก้ไข ไม่แก้แค้น”และได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554

ข้อแรกของนโยบายเร่งด่วน ก็คือ การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย โดยมี 3 เรื่องหลักที่ต้องทำ

1.การเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันของประชาชนในชาติ ให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2. เยียวยาและฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องแก่บุคคลทุกฝ่าย เช่น ประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐและผู้ประกอบการภาคเอกชน ซึ่งได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากความเห็นที่แตกต่างและความรุนแรงที่ก่อตัวขึ้น ตั้งแต่ช่วงปลายของการใช้รัฐธรรมนูญปี 2540
 
 3. สนับสนุนให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อแนวทางปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ดำเนินการอย่างอิสระและได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ในการตรวจสอบหาความจริงกรณีความรุนแรงทางการเมือง การละเมิดสิทธิมนุษยชน การสูญเสียชีวิต บาดเจ็บทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งความเสียหายทางทรัพย์สิน
 
 หลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายการปรองดอง ต่อมาในการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2554  ได้มีมติตั้ง”คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ”

และหลังจาก พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ขึ้นนั่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการชุดนี้  “บิ๊กบัง” ได้แถลงว่า กมธ.จะนำผลสรุปของ” คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ”( คอป.)ที่ตั้งขึ้น ตั้งแต่”รัฐบาลอภิสิทธิ์” ซึ่งมีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน มาเป็นพื้นฐานของกรอบแนวความคิดและจะใช้สถาบันที่เป็นกลางอย่างสถาบันพระปกเกล้า ทำการศึกษาและวิจัย ค้นหาวิธีทางในการปรองดอง

 ต่อมา 8 ธันวาคม 2554 คอป. ได้นำเสนอรายงานฉบับที่ 2 ต่อรัฐบาล โดยมีข้อเสนออันหนึ่งที่สำคัญ คือ การดำเนินคดีอาญาในความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548  และความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปตาม ม. 215 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ว่าล้วนเป็นลักษณะที่เกี่ยวเนื่องกับ”ความขัดแย้งทางการเมือง”และเนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดมีมูลเหตุเพื่อให้บรรลุเป้าทางการเมือง ดังนั้นหากผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว รัฐบาลสมควรจัดหาสถานที่ใน”การควบคุมที่เหมาะสม”ที่”มิใช่เรือนจำปกติ”เป็นสถานที่ควบคุมผู้ต้องหาและจำเลย

 ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวของ คอป. ที่มีที่มาจากการผลักดันของ“คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.)ที่มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯเป็นประธาน ได้รับการวิจารณ์อย่างมากจากฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ โดยออกมาท้วงติงว่า คอป. ต้องแยกให้ออกระหว่าง”คดีอาญา” กับ”คดีการเมือง” มิเช่นนั้นก็จะเป็นการเข้าทางรัฐบาล

 และจากข้อเสนอของ คอป.นี้เอง กรมราชทัณฑ์ ได้"รับลูก"ย้าย”นักโทษเสื้อแดง”จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ไปขังไว้ที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขนในเวลาต่อมา

 ส่วนเรื่อง “การเยียวยา “ ซึ่งรัฐบาลอ้างว่า จะเป็นวิธีการหนึ่งในการนำไปสู่ความปรองดองได้นั้น  คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 55 ได้เทงบจำนวน 2,000 ล้านบาท เยียวยาเหยื่อรุนแรงการเมือง จัดเต็มให้ผู้เสียชีวิตรายละ 7 ล้านบาทเศษ

 ทั้งนี้ในเบื้องต้นได้ประมาณการวงเงินงบประมาณไว้จำนวน 2,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการชดเชยเยียวยาจะครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่ม เจ้าหน้าที่รัฐ สื่อมวลชน และภาคเอกชน ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางการเมืองทุกเหตุการณ์ ตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อช่วงปลายปี 2548 จนถึงเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2553

 ส่วนงานวิจัยเกี่ยวกับการสร้างความปรองดองในชาติ ที่”คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ” มอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้าไปทำการวิจัยศึกษาโดยมีกรอบเวลาศึกษา 120 วัน นั้น

 หลังจากสถาบันพระปกเกล้า ได้ไปศึกษาแนวคิดและทฤษฎีต่างๆ ศึกษากรณีต่างประเทศ และประวัติศาสตร์ความขัดแย้งของไทย สัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง  ก็ได้สรุปรายงานวิจัยเกี่ยวกับแนวทางการปรองดองพร้อมกับข้อเสนอ ส่งมายังกรรมาธิการชุดปรองดอง

 จากนั้น”คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ” ได้นำข้อเสนอที่จะนำไปสู่ความปรองดองของสถาบันพระปกเกล้า ที่มีอยู่หลายทางเลือกเข้าสู่ที่ประชุม และต่อมากรรมาธิการได้มีการลงมติเลือกเอา 2 ทางเลือกสำคัญ

 คือ 1.ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีการกระทำความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และคดีอาญาที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง เช่น การทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชน ด้วยมติเสียงข้างมากจำนวน 23 เสียง

    2. เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย “คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)ทั้งหมด และไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและที่ตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง ด้วยมติเสียงข้างมากจำนวน 22 เสียง
 
นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักต่อสถาบันพระปกเกล้าผู้วิจัยเช่น การไปสอบถามความเห็นผู้มีส่วนได้เสียอย่าง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และนายจตุพร พรหมพันธุ์  และกรรมาธิการชุดปรองดองว่าใช้เสียงข้างมากลากไปเพื่อประโยชน์ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โดยเฉพาะข้อเสนอที่ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส. ทั้งหมด

และหากปล่อยไปอย่างนี้ เมื่อเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติ ข้อเสนอ 2 ทางเลือกข้างต้น ก็พร้อมที่จะแปลงร่าง เป็นร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง 6 มาตรา ที่ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ หมายมั่นปั้นมือที่จะเสนอเข้าสภาในเวลาที่เหมาะสม โดยการเข้าชื่อของ ส.ส. 20 คน ซึ่ง ร.ต.อ. เฉลิม คุยว่าขณะนี้ได้รายชื่อครบแล้ว

 อย่างไรก็ตามหลังจากสถาบันพระปกเกล้า ต้อง”เสียรังวัด “ ไปมากโขเกี่ยวกับเรื่องนี้ “วุฒิสาร ตันไชย” รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้วิจัย ก็รีบ”กู้หน้า” ด้วยการยื่นหนังสือจี้ให้กรรมาธิการชุดปรองดองทบทวนมติแต่หากไม่ยอมทบทวน ก็จะถอนผลวิจัยกลับ

 โดยให้เหตุผลว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่กรรมาธิการรีบรวดรัดใช้เสียงข้างมากลงมติ ทั้งที่ในรายงานการวิจัยที่เสนอต่อกรรมาธิการก็ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ควรรับฟังในวงกว้าง พูดคุยเสวนาทั่วประเทศเสียก่อน หรืออย่างเช่นการยกเลิกผลทางกฎหมายของ คตส. จะทำให้เกิดความปรองดองได้ยากและเกิดความไม่พอใจสูง แต่กรรมาธิการกลับเพิกเฉยกับข้อสังเกตเหล่านี้

 ทางด้านกรรมาธิการชุดปรองดองหลังจากถูกทางสถาบันพระปกเกล้ารุกหนัก ก็ยอมถอยโดยตัดตัวเลขมติเสียงข้างมากออกไป และเสนอแนวทางข้อเสนอการสร้างความปรองดองของสถาบันพระปกเกล้าทั้งหมดแทน ควบคู่ไปกับความเห็นของ กมธ.ซีกฝ่ายค้าน แต่จะไม่มีการทบทวนผลการวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าและรายงานของกรรมาธิการและโยนให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้พิจารณาชี้ขาดเรื่องนี้ว่าจะเอาอย่างไรต่อไปเช่นเดียวกับ นายกฯยิ่งลักษณ์  ที่มีท่าทีเช่นเดียวกัน

 และแน่นอนว่าเมื่อข้อเสนอแนวทางปรองดองของสถาบันพระปกเกล้าและรายงานของกรรมาธิการเข้าสู่สภาเมื่อใด เรื่องคงบานปลายมากกว่านี้ และล่อกันเล๊ะตุ้มเป๊ะ  แทนที่จะเกิด”ปรองดอง” กลับลงท้ายเป็น”ความขัดแย้ง” เสียมากกว่า

ที่สำคัญ ความพยายามปรองดอง ได้ขยายไปสู่การค้นหาความจริง ใครอยู่เบื้องหลังรัฐประหาร 9 ก.ย.2549

ความพยายามปรองดอง...จึงสุ่มเสี่ยงที่จะความขัดแย้งเพิ่มขึ้น !

  +++++++++++++++++++++++++++++

     ลำดับเหตุการณ์การปรองดอง

    - 23  ส.ค 2554  "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" แถลงนโยบายเร่งด่วน การสร้างความปรองดองของคนในชาติต่อรัฐสภา

   - 17  พ.ย. 2554   สภาผู้แทนราษฎร ลงมติตั้ง"คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ" ที่มี พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธาน

     - 8  ธ.ค. 2554  คอป. เสนอรายงานฉบับที่ 2 ต่อรัฐบาล ให้ดูแลที่คุมขังนักโทษคดีอาญาที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง

    - 10 ม.ค. 2555  คณะรัฐมนตรีมีมติเทงบประมาณจำนวน 2,000 ล้านบาท เยียวยาเหยื่อรุนแรงทางการเมือง ผู้เสียชีวิตได้รายละ 7 ล้านบาทเศษ

   -  6 มีนาคม 2555  สถาบันพระปกเกล้า สรุปรายงานวิจัยการสร้างความปรองดองเสนอต่อคณะกรรมาธิการชุดปรองดอง

   - 20 มีนาคม 2555  กรรมาธิการชุดปรองดอง ลงมติเสียงข้างมากเลือก 2 แนวทาง  1.ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมการกระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินและคดีอาญาที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง 2. เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส. ทั้งหมด และไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและที่ตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่
 
  - 23 มีนาคม 2555   สถาบันพระปกเกล้า ยื่นหนังสือให้กรรมาธิการชุดปรองดอง ทบทวนมติ


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปิดเส้นทาง ความพยายาม ปรองดอง เหตุใดลงท้าย ขัดแย้ง

view