สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บวร สวด บิ๊กบัง อัลไซเมอร์เงื่อนไขปฏิวัติ ยังด้านคิดพับ คตส.

บวร"สวด"บิ๊กบัง" อัลไซเมอร์เงื่อนไขปฏิวัติ ยังด้านคิดพับ คตส.

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ราษฎรอาสาฯ ร่อน จม.เปิดผนึกจวก คปค.ปฏิวัติสร้างความขัดแย้งบานปลาย ย้อนคำพูด“บิ๊กบัง” จี้รับผิดชอบ สับล้มเหลวทำตามเงื่อนไขปฏิวัติ ยังคิดกลบเกลื่อนความผิดพลาด จ้องยุบคตส.ล้างคดีช่วยเหลือคนทำผิด
       
       วันนี้ (26 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบวร ยะสินธร ผู้ประสานงานกลุ่มราษฎรอาสาปกป้อง 3 สถาบัน ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ และผู้มีหน้าที่ผดุงความยุติธรรมในบ้านเมือง โดยเนื้อความจดหมายฉบับนี้ระบุว่า ด้วยปรากฏว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้กระทำการดูหมิ่น ดูแคลนประชาชน ด้วยการยึดอำนาจและประกาศให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยอ้างสาเหตุแห่งการยึดอำนาจในเวลานั้นไว้อย่างหนึ่ง ครั้นได้อำนาจมาแล้วนอกจากจะมิได้กระทำการตามสัจวาจา ยังบังอาจกระทำการ เพื่อกลบเกลื่อนลบล้างผลที่ได้กระทำไปในครั้งนั้นอย่างน่าละอาย ดังความต่อไปนี้ 1.พล.อ.สนธิ ได้ให้เหตุผลของการยึดอำนาจไว้ว่า จะแก้ไขความเสื่อมศรัทธา ในการบริหารราชการแผ่นดิน ความไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินและการตรวจสอบอำนาจรัฐ ซึ่งได้ก่อให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยไม่อาจหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้
       
       นอกจากนี้ จดหมายฉบับนี้ ยังระบุต่อว่า ซึ่งคณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้มีประกาศคณะปฏิรูปฉบับที่ 30 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขึ้นมาทำหน้าที่ และคตส. ได้มีการตรวจสอบตามคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิรูปฯ จนได้ผู้กระทำผิด และได้นำผู้กระทำผิดบางส่วนส่งฟ้องจนศาลได้มีคำพิพากษา และบางส่วนอยู่ระหว่างดำเนินการ ปรากฏในเวลาต่อมาว่า เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2555 พล.อ.สนธิ ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา แนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอแนวทางเลือกในการสร้างความปรองดองต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยจะให้ผลการพิจารณาของ คตส. สิ้นผลลงและให้ดำเนินการใหม่ ไปจนถึงขั้นให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด อันทำให้เห็นได้ว่า พล.อ.สนธิ กำลังอ้างการสร้างความปรองดอง เพื่อช่วยเหลือผู้กระทำผิด โดยการลบล้างผลงานของ คตส. ซึ่งเป็นคณะกรรมการฯที่ตนเองเป็นผู้แต่งตั้ง โดยในครั้งแรกนั้น อ้างว่า “ไม่อาจหาตัวผู้กระทำผิด...” ครั้นเวลานี้ ได้ผู้กระทำผิดมาแล้ว ก็คิดวิธีการช่วยเหลือโดยอ้างการปรองดอง โดยลืมไปว่า การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 ก็ได้อ้างเหตุจำเป็นดังกล่าวในการยึดอำนาจไว้ด้วย
       
       2.พล.อ.สนธิ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ ยังได้แสดงสาเหตุอื่นอีกว่า มีปัญหาความขัดแย้งในมวลหมู่ประชาชนที่ถูกปลุกปั่นให้แบ่งแยกเป็นฝักเป็น ฝ่ายจนเสื่อมสลายความรู้รักสามัคคีของชนในชาติอันเป็นวิกฤติการณ์รุนแรงทาง สังคม แม้หลายภาคส่วนจะได้ใช้ความพยายามแก้ไขวิกฤติการณ์ดังกล่าวแล้วแต่ก็ไม่เป็น ผล กลับมีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นถึงขั้นใช้กำลังเข้าปะทะกัน ซึ่งอาจมีการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อได้ จึงจำเป็นต้องกำหนดกลไกการปกครองที่เหมาะสมแก่สถานการณ์ขึ้นมาใช้
       
       นายบวร กล่าวผ่านจดหมายต่อว่า แต่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อมาในภายหลังว่า คณะปฎิรูปฯมิได้มีการกำหนดกลไกการปกครองใดๆที่เป็นการปฏิรูปฯ และก่อให้เกิดแนวทางในการป้องกันความรุนแรง ซ้ำความขัดแย้งในมวลหมู่ประชาชนกลับเพิ่มมากขึ้น จนนำไปสู่ความรุนแรงมากยิ่งกว่าก่อนการยึดอำนาจเสียอีก จึงสามารถกล่าวได้ว่า คำพูดของพล.อ.สนธิ เป็นเพียงลมปากที่กระทำไปให้หลงเชื่อว่าเหตุการณ์ต่างๆในบ้านเมืองจะดีขึ้น เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 แทนฉบับที่ยกเลิกไป ดังนั้น พล.อ.สนธิ จึงมิอาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดจากความรุนแรงที่เกิด ขึ้นตามมาและมีความรุนแรงยิ่งกว่าเหตุการณ์ก่อนการเข้ายึดอำนาจ นอกจากนี้ พล.อ. สนธิ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยังได้เข้าชื่อยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อนำไปสู่การมี สสร.ขึ้นมาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ อันอาจเข้าข่ายความผิดในการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติมาแล้ว การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยไม่ได้ทำประชามติมารับรองหลักการก่อนจึง เป็นการละเมิดอำนาจของมหาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซี่งมีอำนาจแห่งศักดิ์สูงกว่ามติของรัฐสภา ผู้เป็นเพียงตัวแทนของเจ้าของอำนาจอธิปไตย
       
       3.นอกจากนี้ พล.อ.สนธิ ยังได้ย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องกำหนดกลไกทางปกครองที่คำนึงถึงหลักนิติธรรม ตามประเพณีการปกครองของประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่ก็ปรากฏว่า คณะปฏิรูปฯ ได้มีประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 13, 26 แต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง และยอมให้สามารถปฏิบัติหน้าที่โดยมิได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ต่อพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นประเพณีปฏิบัติ ทั้งยังกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ตาม พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 ทั้งที่มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่ของ พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ต่อเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 แล้ว ก็มิได้มีการสรรหา กกต. ชุดใหม่ และเมื่อมีการประกาศใช้ พรบ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 โดยยกเลิก พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 กกต.ชุดดังกล่าวซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตาม พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2541 ต้องหมดวาระลงทันที และต้องสรรหาใหม่ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ก็มิได้กระทำ ความสับสนวุ่นวายเหล่านี้ ล้วนเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามหลักนิติธรรมและตามประเพณีการปกครอง เป็นการลุแก่อำนาจจนบ้านเมืองเกิดความเสียหาย เพราะการเลือกตั้ง สส. และ สว. ทุกครั้งหลังวันที่ 7 ตุลาคม 2550 เมื่อมีการประกาศใช้ พรบ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 จึงเป็นโมฆะทั้งสิ้น ความเสียหายต่างๆเหล่านี้พล.อ. สนธิ ในฐานะหัวหน้าคณะปฎิรูปฯ จะต้องรับผิดชอบ
       
       4.และในประการที่พล.อ.สนธิ ได้เคยให้คำมั่นว่า จะปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติ พันธกรณีตามสนธิสัญญา หรือความตกลงระหว่างประเทศ และปรากฏเป็นการยืนยันในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) ที่ว่า “...ตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว...”ซึ่งในกฎบัตรสห ประชาชาติ พ.ศ. 2491 ข้อ 21 (1) ได้กำหนดหลักการสำคัญไว้ว่า การเข้ามีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ ผู้เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค และให้แต่ละประเทศกำหนดหลักการปกครองของตนเอง ซึ่งของไทยเป็นแบบราชอาณาจักร หลักการปกครองจึงต้องสอดคล้องในแบบราชอาณาจักร การที่คณะปฏิรูปฯใช้คำว่าปฏิรูปแต่ในการปฏิบัติมิได้มีสิ่งใดที่บ่งบอกว่า มีการทำการปฏิรูปประเทศ ให้เป็นแบบราชอาณาจักรและสอดคล้องกับกฎบัตรสหประชาชาติแต่อย่างใด การเลือกตั้งยังบังคับให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรค อำนาจการปกครองของพระมหากษัตริย์ก็ยังปะปนกับอำนาจการบริหารประเทศของรัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐสภาก็มีที่มาจากประชาชนฝ่ายเดียว ซึ่งถือเป็นตัวแทนสถาบันชาติเท่านั้น หาได้มีตัวแทนจากสถาบันพระมหากษัตริย์ และสถาบันศาสนา เพื่อให้ได้รัฐสภาจาก 3 สถาบันหลักของชาติ ที่เป็นรูปแบบของรัฐสภาในแบบราชอาณาจักรไม่
       
       ทั้งนี้ ช่วงท้ายของจดหมายระบุว่า ความผิดพลาดของคณะปฏิรูปฯภายใต้การนำของพล.อ. สนธิ ในเรื่องต่างๆดังกล่าวข้างต้น นับเป็นความผิดอย่างร้ายแรง เป็นการนำคำว่าปฏิรูปมาใช้บังหน้าเพื่อให้การยึดอำนาจการปกครองมีความชอบ ธรรมเท่านั้น ซึ่งที่สุดแล้วประเทศไม่ได้ประโยชน์แต่อย่างใด เป็นการให้ความหวังลมๆแล้งๆกับประชาชน
       
       คำประกาศต่อประชาชน ตลอดจนคำกล่าวอ้างใดๆล้วนถือเป็นคำมั่นสัญญากับประชาชน กลุ่มราษฎรอาสาปกป้อง 3 สถาบันและคณะ จึงขอเรียกร้องให้ พล.อ.สนธิ ได้แสดงความรับผิดชอบ และยุติความพยายามในการกลบเกลื่อนความผิดพลาดและบิดเบือนประเด็นไปในแนวทาง ที่เรียกว่า การสร้างความปรองดอง เพราะคำพูดหรือเหตุผลใดๆที่ พล.อ.สนธิ จะนำมาใช้อ้างย่อมไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือต่อสังคมอีกต่อไป


“บิ๊กจิ๋ว” โผล่!! หนุนนิรโทษฯ เสนอนโยบาย 66/23 เลิกแล้วต่อกัน สู่ปรองดอง

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
ลูกพรรค พท.อ้าง จม.เปิดผนึก “บิ๊กจิ๋ว” เสนอให้นำนโยบาย 66/23 มาใช้เพื่อเป็นทางออกสู่ความปรองดอง ระบุ ให้เลิกแล้วต่อกัน ไม่มีการคุมขัง และปล่อยตัวไปเป็นอิสระ หนุนออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ช่วยให้กระบวนการยุติธรรมดีขึ้น เห็นชอบยกเลิกคำสั่ง คตส.ชี้ที่มาไม่ถูกต้อง
       
       วันนี้ (26 มี.ค.) ที่รัฐสภา นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ได้นำจดหมายเปิดผนึกตอบ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ของ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เรื่องการสร้างความปรองดองแห่งชาติ อดีตนายกรัฐมนตรี มาให้เจ้าหน้าที่สภาฯ เพื่อนำมาเผยแพร่แก่สื่อมวลชน
       
       สาระสำคัญในจดหมายเปิดผนึก กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาวุ่นวายในบ้านเมือง ควรใช้มาตรการทางการเมืองตามนโยบาย 66/23 เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี ไม่มีการจับกุมคุมขังตามกฎหมายอาญา หรือกฎหมายคอมมิวนิสต์ ไม่มีการฆ่า การทรมาน “มอบอาวุธหรือปลดอาวุธ แล้วปล่อยตัวไปเป็นอิสระ”
       
       ในจดหมายเปิดผนึกฉบับดังกล่าว ยังระบุด้วยว่า นโยบาย 66/23 ดำเนินการตามกฎหมาย 2 ด้าน ด้านกฎหมายแห่งชาติ คือ กฎหมายสูงสุดว่าด้วย “ความมั่นคงแห่งชาติเป็นกฎหมายสูงสุด” ตามหลักนิติธรรม กฎหมายใดขัดย่อมเป็นโมฆะ รวมทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญด้วย การใช้นโยบายดังกล่าวจะไม่มีการจับกุมดำเนินคดีในศาล หรือการเข่นฆ่าทรมานใดๆ ทั้งสิ้น จึงมีผลสามารถยุติสงครามลงได้ และเริ่มต้นความสามัคคี
       
       ด้านกฎหมายระหว่างชาติ คือ สนธิสัญญากรุงเฮก และสนธิสัญญาเจนีวา ว่าด้วยการทำสงครามทุกชนิด รวมทั้งสงครามกลางเมือง เมื่อยอมยุติแล้วก็ให้ปลดอาวุธแล้วปล่อยตัวเป็นอิสระ ห้ามฆ่า ห้ามจับกุมคุมขังทรมานใดๆ ทั้งสิ้น นั่นคือ ไม่ใช่กฎหมายแห่งชาติ เช่น กฎหมายอาญา หรือ พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ หรือกฎหมายแพ่งมาดำเนินคดีใดๆ โดยเด็ดขาด คือ เลิกแล้วต่อกันอย่างปราศจากเงื่อนไขตลอดไป ซึ่งในส่วนนี้จดหมายเปิดผนึก ระบุว่า ไทยต้องผูกพันปฏิบัติตาม เพราะเป็นภาคีและให้สัตยาบันรับรองเรียบร้อยแล้ว ตามหลัก “กติกาสัญญาต้องยึดถือ” นอกจากนี้ ยังระบุว่า นโยบายดังกล่าวยังไม่ได้ยกเลิก ทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย ดังนั้น จึงดำเนินการตามนโยบายนี้ได้เลย เพียงแค่ยกนโยบายนี้ขึ้นมาดำเนินการก็เท่านั้น
       
       อย่างไรก็ตาม ส่วนในของจดหมายฉบับดังกล่าว อ้างว่า พลเอก ชวลิต ออกมาตอบโต้นายอภิสิทธิ์ ในกรณีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะล้มล้างอำนาจตุลาการ ทำลายระบบยุติธรรมว่า การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะช่วยให้ระบบยุติธรรมของไทยดีขึ้น เพราะจะไม่นำเอาปัญหาการเมืองที่เกิดจากระบอบการรัฐสภาและเผด็จการรัฐประหาร เข้ามาแก้ไขระบบยุติธรรมของศาล นอกจากจะแก้ไขปัญหาไม่ได้ กลับทำให้ปัญหาบานปลายมากขึ้น พร้อมยืนยันการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะทำให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ ทั้งนี้ เชื่อว่า การใช้นโยบาย 66/23 สร้างประชาธิปไตยในอดีตจะเป็นทางออกสูงสุดของชาติ โดยนิรโทษกรรมอย่างไม่มีเงื่อนไข ช่วยให้เกิดความปรองดองและความสามัคคีในชาติได้อย่างแท้จริง
       
       ส่วนการยกเลิกคดีที่ดำเนินโดย คตส.นั้น เห็นว่า ทุกอย่างจะต้องกลับไปสู่สภาพเดิม เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการเมือง เมื่อ คตส.มีที่มาไม่ถูกต้อง จึงถือว่าผิดตั้งแต่ต้น ดังนั้น เมื่อระบอบทำให้เกิดปัญหา จึงต้องยุติทุกอย่างที่ดำเนินการโดย คตส.


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : บวร บิ๊กบัง อัลไซเมอร์ เงื่อนไขปฏิวัติ พับ คตส.

view