สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สนธิ ยัน.. หากย้อนกลับก็รัฐประหารอีก

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

'สนธิ'อ้างไม่ได้รีบส่ง "รายงานปรองดอง" แต่ต้องทำเพราะทุกเรื่องเสร็จแล้ว รับหากย้อนกลับไปก็รัฐประหารเหมือนเดิมอีกเหตุวันนั้นปชช.เรียกร้อง
รายการ "คม ชัด ลึก" ทางสถานีโทรทัศน์เนชั่น ชาแนล ได้จัดรายการในตอน "ปรองดอง...ที่ไม่ปรองดอง?" โดย มีผู้ร่วมรายการประกอบด้วย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ  และ นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะหัวหน้าคณะผู้วิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ

พล.อ.สนธิ กล่าวถึงกรณีคำถามเรื่องการรัฐประหาร  คำถามแบบนี้ได้รับมาเยอะ แต่บรรยากาศการปรองดองวันนั้นไม่ควรมีคำถามนี้มาโดยเฉพาะจาก พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ที่มีประสบการณ์ด้านทหารมาเยอะ พล.ต.สนั่นเป็นทหารมาก่อนท่านจะเข้าใจว่าธรรมชาติคนเป็นทหารจะเป็นอย่างไร การจะพูดจะตอบอะไรก็ตรงไปตรงมา ท่านจะถามคงมีนัยยะอะไรที่เราอ่านไม่ออก ตนอยากจะถามท่านมากกว่าทำไมท่านถึงถามตนอย่างนั้น การเมืองก็มีเป้าหมายหลายอย่างที่ซ่อนอยู่เป็นเรื่องที่เราต้องวิเคราะห์กันต่อไป  ส่วนเรื่องเบื้องหลังท่านก็คงทราบอะไรดี โดยเฉพาะท่านก็อยู่ในพรรครัฐบาลอย่างพรรคชาติไทยพัฒนาด้วย

 พล.อ.สนธิกล่าวว่า เมื่อเริ่มทำงาน ก็ต้องตั้งประธาน ซึ่งตนเป็นพรรคที่ยังไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน ฝ่ายค้านหรือ รัฐบาล แต่ตนอยู่ฝั่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชน  ซึ่งเขาก็เลยมาขอให้ตนเป็นประธาน เพราะดูเป็นกลางที่สุดในห้อง

 เมื่อถามถึงเหตุผลในการรีบเสนอต่อสภา พล.อ.สนธิกล่าวว่า เรามีเหตุผล ตอนที่เราขออนุมัติสภา เราขอ 30 วัน แต่สถาบันพระปกเกล้าบอกไม่ทัน เราก็ต่อมาแล้ว 120 วัน เขาก็ทำส่งมาแล้ว ทุกอย่างเสร็จแล้ว หรือเรื่องผลการเชิญสถาบันต่างๆมาให้เหตุผลก็เรียบร้อย เรื่องของภาคใต้ก็เรียบร้อย ในห้องประชุมก็บอกว่าจบแล้ว  ภาระกิจก็ถือว่าต้องส่งเรื่องให้สภา ขณะที่สภาก็เหลือเวลาน้อย ไม่เช่นนั้นก็ต้องต่อถึงกลางเดือนสิงหาคม เมื่อส่งแล้วหากจะทำอย่างไรก็เป็นเรื่องขอสภา

 ส่วนกรณีที่ระบุว่ามีการลงมติ  พล.อ.สนธิกล่าวว่า มีกมธ.บางคนบอกว่าผลการวิจัยที่ได้มา กรรมาธิการไม่ใช่บุรุษไปรษณีย์ดังนั้นต้องมาวิเคราะห์ แต่หลายคนบอกว่าเป็นผลวิชาการเรามาเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะจะไม่เป็นกลาง เพราะฉะนั้น เอกสารที่ถึงรัฐบาลจะไม่แตะต้อง แต่เราก็จะมาศึกษา โดยเฉพาะข้อสองสามของแนวทางปรองดองระยะสั้น ซึ่งจริงๆไม่ใช่การลงมติ แต่เป็นแบบสอบถามว่าใครมีความต้องการออพชั่นไหน  ต่างคนต่างส่งความเห็นมา

" ส่วนกรณีเมื่อถามว่า ตนเองเป็นคนรัฐประหาร แต่สุดท้ายจะรับได้ว่าหากมีการนิรโทษกรรมคนที่ทุจริตวันนั้น  พล.อ.สนธิกล่าวว่า  จริงๆเป็นไปตามระบอบการทำงาน วันนั้นกับวันนี้มีเงื่อนไขที่เห็นอยู่   แต่ระบอบประชาธิปไตยมีหนทาง วันนั้นกับวันนี้เรารู้สึกไม่เหมือนกัน การจะบอกว่าเราไม่ถูกก็เป็นการที่เราไม่เปิดกว้าง "

 เมื่อถามว่าหากย้อนไปจะทำรัฐประหารหรือไม่ พล.อ.สนธิกล่าวว่า "มันหนีไม่พ้น แต่เหตุการณ์วันนั้นและวันนี้มันเปลี่ยนไป" เมื่อถามอีกว่าใครเป็นคนสั่ง "แล้วใครจะมาสั่งผมได้ เรื่องแบบนี้คิดหลายคนไม่ได้ ต้องคิดเองทำเอง"

 "ตั้งแต่ 19 ก.ย.2549 มาคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  2 ครั้ง แต่ตั้งแต่เป็น ส.ส. ไม่เคยคุย" พล.อ.สนธิกล่าว

 เมื่อถามว่ามองอย่างไรกับ รัฐประหาร พล.อ.สนธิกล่าวว่าต้องดูว่าเรารัฐประหารเพื่ออะไร  ตนอ่านเรื่องการปฏิวัติมาตั้งแต่เด็ก แล้วตนก็ไปเรียนการปฏิวัติที่ฟิลิปปินส์ เราต้องถามว่าปฏิวัติเพื่ออะไร แต่ถ้าเพื่อประชาชนเพื่อประเทศชาติก็เกิดได้   หากการปกครองทำให้ประชาชนไม่พอใจก็เกิดได้ วันนั้นประชาชนต่างหากอยากให้เราทำ

วุฒิสาร :รายงานการศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นปรองดอง

ด้านนายวุฒิสาร กล่าวว่าจากข้อสรุปของงานวิจัย เรายืนยันว่า รายงานการศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการปรองดอง ข้อเสนอที่เสนอต้องให้ไปหารายลฃะเอียดและหาการยอมรับให้มากขึ้น แล้วจึงกำหนดมาตการในรูปแบบต่างๆ  วันนี้บรรยากาศการปรองดองยังไม่เกิด  ส่วนที่ไม่ได้ออกมาตอบโต้นั้น เราได้จัดแถลงข่าวโดยสถาบันน จากนั้นก็คุยกันว่าเราจะอธิบายในกรณีที่สาระสำคัญคลชาดเคลื่อน แต่คงไม่ไปตอบโต้ข้อเสนอของทุกฝ่าย  การตัดสินใจเร็วอาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่  การทำให้ได้รับการยอมรับ การพูดคุยเป็นเรื่องสำคัญ

 "ที่ไม่ตอบเพราะผมไม่ใช่นักการเมือง ผมก็อธิบายสาระให้ฟังแล้ว แต่จะให้ไปตอบโต้ทุกวันผมไม่ถนัด"นายวุฒิสารกล่าว

 นายวุฒิสารกล่าวว่า แต่ละฝ่ายมีความรู้สึกจุดยืนที่ชัดเจน เรามองไม่ออกว่าจะออกมาแบบไหนตอนเริ่มทำ แต่เมื่อได้ไป สัมภาษณ์พูดคุย เราก็เห็นว่าบรรยากาศนี้ยังไม่เกิด และหากทำไม่โดยไม่ระวังอาจจะกลายเป็นตัวเร่งความขัดแย้ง เราจึงเคลื่อนไหวบางเรื่อง เช่นการยื่นหนังสือให้ กมธ. แสดงข้อห่วงใย เช่นหากมีการใช้เสียงข้างมากตัดสิน แต่หากเขาจะทำอย่างไรเราก็ไม่มีอำนาจที่จะไปตัดสินใจแทน

 นายวุฒิสารกล่าวว่า ก่อนที่ส่งจดหมาย  มีการกำหนดว่ามีใครเห็นด้วยจำนวนเท่าไหร่ เพราะเราไม่อยากให้ใช้เสียงข้างมาก เพราะจะทำให้การไม่ยอมรับกันและกัน หากทำจะมีความสุ่มเสี่ยงต่อความขัดแย้ง ซึ่ง พล.อ.สนธิก็รับปาก
 
 เมื่อถามถึงทางเลือกต่อคดี คตส. ข้อที่สาม ซึ่งกรรมาธิการโดยมากเลือก ที่เป็นเรื่องการยกเลิกคคดีโดย คตส. ทั้งหมด นายวุฒิสารกล่าวว่า ทางเลือกทั้งหมด หากคุยในบรรยากาศอาจจะไม่ออกทั้งสามทางเลยก็ได้ ข้อเสนอที่เป็นทางเลือก ที่สามเรารเขียนไว้ชัดเจนว่าโอกาสทำให้เกิดความปรองดองยาก แต่หากสังคมยอมกันหมดเลยก็เป็นไปได้ ทั้งหมดเป็นข้อเสนอก่อนที่จะไปคุยในรายละเอียด การเลือกข้อเสนอบางเรื่องโดยไม่มองภาพใหญ่ทั้งหมดก็จะสุ่มเสี่ยง

 นายวุฒิสารกล่าวว่า ข้อเสนอระยะสั้นมี 4 เรื่อง  ทางเลือกที่ได้ทั้งหมด อยู่บนโจทย์การแก้ปัญหาระยะสั้นให้สังคมกลับสู่สภาวะปกติ ประกอบด้วย 1. ค้นหาความจริง และควรเปิดเผยในเวลาที่เหมาะสม เพื่อไม่ทำให้ผิดซ้ำ  2.แก้ปัญหาเรื่องความขัดแย้งโดยการให้อภัย ซึ่งรูปธรรมคือนิรโทษกรรม และในรายละเอียดก็เสนอว่าจะรวมการชุมนุมที่มีแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่รวม    นี่คือรายละเอียดที่ต้องไปถกเถียง เพราะหากอะไรทำเร็วก็จะมีข้อโต้แย้งแยะ เช่นเรื่องเยียวยา ที่ทำเร็วแล้วมีปัญหา    3. ผลการทำงานของ คตส. เราไม่ได้บอกว่า คตส.ผิด แต่เป็นในระบบที่ไม่ปกติ เป็นข้อเสนอที่ต้องไปคุยกันต่อและอาจจะมีทางเลือกอื่นที่ได้รับการยอมรับมากกว่า  และ 4.เรื่องการแก้กติกาทางการเมืองที่มีปัญหา เช่นเรื่องการยุบพรรค ซึ่งเรามองว่าเป็นเหตุ

 นายวุฒิสารกล่าวว่า สำหรับในระยะยาว เราเสนอ 1.เรื่องการนำไปสู่อนาคตใหม่ การปฏิรูปการเมือง  2.การแก้โครงสร้างเศรษฐกิจ สังคมและ ทรัพยากรที่เป็นรากสำคัญของปัญหา  เพราะเรื่องแรกที่เป็นปัญหาคือ ความเห็นทางประชาธิปไตย ฝ่ายหนึ่งมองว่าเป็นแค่เสียงข้างมาก อีกฝ่ายมองเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม สองฝ่ายมองโจทย์ต่างกัน   วันนี้เราข้ามเรื่องตัวบุคคลไปได้มาก เราพูดเรื่องการจัดสรรการทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม

 นายวุฒิสารกล่าวต่อว่า 3.คือเรื่องการสร้างบรรยากาศ เราเสนอไว้ 7 ข้อ 3 เรื่องรัฐบาลต้องทำเลยคือ   1.แสดงเจตจำนงชัดเจนเรื่องการสร้างรูปธรรมในความปรองดอง เช่นส่งเสริม คอป. 2 สร้างความตระหนักให้สังคมทุกภาคส่วน   3 .เร่งรัดส่งเสริมกระบวนการค้นนหาความจริงและการเยียวยาทุกฝ่าย และไม่ใช่ด้วยตัวเงิน  ขณะที่ 4 ข้อที่เสนอหน่วยเกี่ยวข้องให้ปฏิบัติคือ  1.งดเว้นการกระทำที่ทำให้สังคมรู้สึกว่าไม่เคารพกฎหมายหรือไม่เป็นนิติรัฐ เช่นใช้คนมากดดัน  2.ต้องลดความหวาดระแวงของกลุ่มต่างๆที่ทำให้คนรู้สึกว่าจะต้องการเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์  3.สื่อมวลชนต้องสนับสนุนกระบวนการนนี้และไม่พยายามนำความขัดแย้ง  โดยเฉพาะสื่อที่มีเจตจำนงในการทำงานการเมือง และ 4 หยุดตั้ง หยุดถามเรื่องในอดีต  คำถามว่าปฏิวัติทำไม

 เมื่อถามว่ารู้หรือไม่จะถูกวิจารณ์เช่นนี้ นายวุฒิสารกล่าวว่า ตนทราบเช่นนั้นแต่เชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า ทุกคนบอกว่าอยากปรองดองดังนั้นทุกคนต้องรับผิดชอบ ทุกคนต้องออกมาบอก วันนี้เราต้องทำการเมืองเพื่อบ้านเมือง อย่าทำการเมืองเพื่อการเมือง อย่างเดียว  หากกรรมาธิการปิด ตนก็หวังว่าสภาจะไม่รวบรัด หากมีการเสนออะไรคงจะไม่ด่วนตัดสินใจอะไร  เพราะเป็นความรับผิดชอบของสภาผู้แทนราษฎร

 นายวุฒิสารกล่าวถึงการไปพูดคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรว่า  โดยหลักการวิจัยบอกไม่ได้ว่าใครพูดอะไร ตนบอกไม่ได้ส่วนใครจะวิพากษ์อย่างไรจะไม่ไปตอบโต้


'บิ๊กบัง'ผู้โดดเดี่ยวเดียวดาย ทั้งกลืนน้ำลายและกลืนเลือด!


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สนธิ หากย้อนกลับ รัฐประหารอีก

view