สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เที่ยว พิพิธภัณฑ์ผ้าสะสม ชมเสน่ห์ผ้าโบราณ งาม ขลัง อมตะ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

 โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
สำนักงานถูกประดับตกแต่งด้วยผ้าสะสมต่างๆ
       เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มถือเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ของชีวิตคนเรา โดยทุกวันนี้เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายมีวิวัฒนาการไปตามยุคตามสมัยอย่างไม่ หยุดหย่อน แต่ในความรู้สึกของฉัน เสื้อผ้าหรือผ้าโบราณเป็นสิ่งที่มีเสน่ห์โดยตัวของมันเอง วันนี้ฉันจึงอยากพาคอผ้ามาชมเสน่ห์ของผ้าโบราณกันที่ “ผ้าสะสม ติลลิกี แอนด์ กิบบินส์”
       
       คงเคยได้ยินกันมาว่าที่สำนักงานกฎหมายติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ มีพิพิธภัณฑ์ของปลอมให้เราได้เข้าไปยลพิสูจน์ของแท้ของเทียมกัน ซึ่งนอกจากพิพิธภัณฑ์ของปลอมแล้วที่แห่งนี้ยังมี “ผ้าสะสม” ให้เราได้ชมกันอีกด้วย ซึ่งที่ฉันไม่ได้เรียกเป็นพิพิธภัณฑ์ก็เนื่องจากว่า ผ้าสะสมของที่นี่ไม่ได้ถูกรวบรวมไว้ในห้องเท่านั้น แต่ยังเอาไว้ใช้ประดับตกแต่งอาคารสำนักงานอีกด้วย
ผ้าในสมัย ร.5 มีอายุเก่าแก่ที่สุด
       คุณวิภาวี ติยเวศย์ ภัณฑารักษ์ประจำผ้าสะสม ติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ เล่าให้ฉันฟังว่า คอลเล็กชั่นผ้านี้ เกิดขึ้นมาจากความคิดที่เราต้องการใช้งานศิลปะมาประดับออฟฟิศ เราเห็นว่าที่อื่นๆใช้พวกภาพเพ้นต์ติ้ง ภาพรูปปั้น มากมาย เราจึงเลือกใช้ผ้าโบราณมาประดับแทนจะได้ไม่เหมือนที่อื่น และนอกจากนี้ยังติดประดับแบบไม่ต้องใส่ตู้ใส่กรอบ ให้ทุกคนมีโอกาสได้เห็นจริงอย่างเต็มตา
       
       “การเอาผ้ามาประดับออฟฟิศ เริ่มมาประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว ในตอนแรกสุดจะไม่ได้ติดโชว์แบบตอนนี้ โดยเริ่มจากการนำผ้ามาใส่เฟรมเหมือนกรอบรูป พอติดไปแล้วผ้ามันก็ซีดลงเพราะมีไฟส่อง แล้วเราก็ต้องมีการจัดซื้อผ้าเพื่อมาเปลี่ยนหมุนเวียนจัดแสดง จึงเป็นการเริ่มต้นของการจัดซื้อผ้าของคุณเดวิด ไรแมน ผู้บริหาร และเห็นว่าน่าจะอนุรักษ์ผ้าโบราณไว้จึงเป็นที่มาของการซื้อผ้าแล้วก็เก็บไว้
สถานที่สำหรับเก็บผ้าต่างๆ
       และเมื่อซื้อผ้ามาประดับตกแต่งออฟฟิศและสะสมไว้ แทนที่จะมาประดับอย่างเดียว ก็เปิดให้ผู้ที่สนใจในเรื่องผ้าเข้ามาศึกษา เพราะผ้าพวกนี้เป็นผ้าที่มีคุณค่าเท่ากับผ้าในพิพิธภัณฑ์ ผ้าส่วนใหญ่เป็นผ้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือเราต้องการเน้นผ้าในภูมิภาคนี้เพราะว่าประเทศไทยตั้งอยู่ในนี้ ผ้าของภูมิภาคนี้จะคล้ายๆกัน ไม่อยากให้กระจายถูกไปจัดเก็บในประทศของภูมิภาคอื่น” ภัณฑารักษ์ กล่าว
       
       ส่วนการจัดแสดงนั้นจะมีการคัดเลือกนำไปจัดแสดง ไม่ได้นำออกไปโชว์ทุกชิ้น เพราะผ้าบางชิ้นใหญ่เกินไป ผ้าบางชิ้นมีค่ามากเกินไป และยังต้องศึกษาด้วยว่าลวดลายศิลปะโดยรวมสามารถที่จะนำมาจัดแสดงได้หรือไม่ วัสดุและคุณภาพเป็นอย่างไร
ผ้าทางตอนเหนือของลาวที่ติดกับเวียดนาม เป็นลายหายาก
       โดยในการจัดแสดงผ้า จะมีการหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนทุก 6 เดือน - 1 ปี วัสดุส่วนใหญ่จะเป็นพวกไหม ฝ้าย ส่วนผ้าที่ทำจากขนสัตว์ก็จะมีบ้าง เช่น พวกผ้าของชาวเขา มีตั้งแต่เครื่องแต่งกาย จนถึงผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ผ้าม่าน ผ้าห่ม ผ้าคลุมไหล่ ซึ่งในสมัยก่อน ผ้าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน และผ้ายังใช้บ่งบอกฐานะของผู้สวมใส่ไปในตัว การเก็บสะสมผ้าเหล่านี้ก็ถือเป็นการเก็บประวัติศาสตร์ไปด้วย โดยในปัจจุบันทางผ้าสะสม ติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ ได้สะสมผ้าไว้กว่า 2,000 ชิ้น
เสื้อฮีของชาวไทยดำสำหรับใส่ไปงานศพ
       ส่วนการจัดเก็บและรักษานั้น ภัณฑารักษ์เล่าว่า “เราใช้ระบบเหมือนของพิพิธภัณฑ์ คือ เวลาเราซื้อผ้ามา ส่วนใหญ่เราจะคัดเลือกผ้า ที่มีคุณภาพสมบูรณ์ ใช้วิธีการดูดฝุ่นแทนการซัก เพราะในบางทีผ้าอายุเก่ามากๆ พอสัมผัสน้ำก็จะยุ่ย กำจัดไข่แมลง โดยการเข้าตู้แช่แข็งในอุณหภูมิลบ 20 องศาเซลเซียส ใช้เวลา 1อาทิตย์ในการแช่ และตรวจเช็คสภาพ หากไม่แข็งแรงก็จะมีการนำมาเย็บซ่อมแซม และดามผ้าอีกผืนเข้าไป
ผ้าฝ้ายย้อมดำของชาวไทยดำใส่ได้สองด้าน
       จากนั้น เราจะทำเลขทะเบียน ถ่ายรูป จัดเก็บในแคทตาล็อก บันทึกข้อมูลลงฐานข้อมูลในคอมพิวเตอร์ และจัดเก็บโดยใช้กระดาษไร้กรดลองไว้ เพื่อไม่ให้ผ้าแต่ละผืนสัมผัสกันอาจเกิดความเสียหายได้ ซึ่งผ้าที่จัดเก็บจะอยู่ในห้องที่มีการควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ที่ 20-24 องศาเซลเซียส หากมีการเปลี่ยนอุณหภูมิมากๆ จากเย็นมาร้อน ผ้าบางชนิดอาจจะเกิดการกรอบได้”
ตู้เก็บผ้าสะสมต่างๆ
       ภัณฑารักษ์เล่าพลางพร้อมค่อยๆสวมถุงมือเพื่อไม่ให้สารจากนิ้วเราทำ ปฏิกิริยากับผ้าโบราณ และเดินไปเปิดลิ้นชัก ประคองหยิบผ้ามากางบนโต๊ะสะอาดสีขาวให้ฉันชม ซึ่งผ้าชิ้นแรกที่ถูกกางออกมานั้น เป็นผ้าที่อายุเก่าแก่ที่สุดประมาณ 250 ปี ในสมัยรัชกาลที่ 5 ราว พ.ศ.1800 เป็นผ้าฝ้ายเขียนลายยาว 3 เมตรกว่า ราชสำนักของไทยส่งลายไทยไปให้อินเดียเขียน
       
       ซึ่งในสมัยก่อนกษัตริย์ให้ผ้าแทนเงินแก่ขุนนาง ผ้าแบบนี้จะมีใช้ตั้งแต่อยุธยาตอนปลาย ใช้นุ่งผ้าแบบโจงกระเบน ถ้าเป็นผ้าของกษัตริย์จะเป็นลายพญาครุฑอยู่ตรงกลาง ถ้าเป็นผ้าขุนนางเป็นลายดอกไม้ และลายอย่างอื่น
ส่องดูลายด้ายทอง
       ผ้าที่ฉันได้ชมต่อไปก็คือ ผ้าทางตอนเหนือของลาวที่ติดกับเวียดนาม เป็นลวดลายที่หายาก ใช้เทคนิคมัดลายก่อนแล้วเอามาทอ จากนั้นยกมุก และยังใช้เทคนิคการขิด คือ การใช้เส้นพิเศษเพิ่มเข้ามา ถัดไปเป็นผ้าที่ใช้สำหรับพิธีงานศพของชาวลาว อายุราว 80-100 ปี ใช้สีธรรมชาติจากเปลือกไม้และรากไม้ เป็นลายที่บรรจุกระดูกของคนตาย
ลายด้ายทองสามารถเห็นได้ชัดเจนจากเลนส์ขยาย
       เสื้อฮีของชาวไทยดำ แถวสุพรรณบุรี เพชรบุรี แถบเขาย้อย พอถึงช่วงงานศพจะกลับด้านใส่ เพราะข้างในทำลวดลายอยู่บ้าง สามารถใส่ได้ทั้งสองด้าน ผ้าบางแบบเอาทองมารีดให้เป็นแผ่นๆ พันรอบแกนเส้นด้าย แล้วนำมาถักทอเกิดเป็นผ้าที่สวยงาม ซึ่งหากเราเอาเลนส์ขยายส่องก็จะเห็นด้ายทองอย่างชัดเจน
ผ้าแขวนผนัง ที่จัดแสดงตามที่ต่างๆภายในอาคาร
       นอกจากภายในห้องจัดเก็บผ้าแล้ว ภัณฑารักษ์พาฉันออกมาดูผ้าต่างๆที่ได้จัดแสดงไว้ตามที่ต่างภายในอาคารสำนัก งาน ส่วนเรื่องข้อมูลนั้นก็หมดห่วง เพราะจะมีป้ายบอกลายละเอียดของผ้าผืนนั้นๆไว้ว่าเป็นผ้าอะไร ใช้วัสดุอะไรในการทำ จากแห่งหนตำบลใด เก่าแก่แค่ไหน เราอ่านไปชมไปได้ไม่ต้องเดา เช่น “ผ้าแขวนผนัง” ของชาวไต เมืองหัวพัน ประเทศลาว อายุราว พ.ศ.2543-2548 ใช้วัสดุฝ้ายและไหม ใช้เทคนิคขิดสลับจก, “ผ้าตีนซิ่น” หรือ “ตีนแส่ว” ของชาวไตเมือง จังหวัดเหง่อัน ประเทศเวียดนาม อายุราว พ.ศ.2538-2543 ใช้วัสดุฝ้ายและไหม ใช้เทคนิคปักลาย, “เสื้อแจ็คเก็ต” ของ ชาวอาข่า หรืออีก้อ ทางตอนเหนือ ประเทศไทย มีอายุราว พ.ศ.2503-2523 ใช้วัสดุฝ้าย ตกแต่งด้วยเมล็ดลูกเดือย และโลหะผสมดีบุกทรงกลม ใช้เทคนิคเย็บประดับลวดลาย เป็นต้น
ผ้าตีนซิ่น ใช้วัสดุฝ้ายและไหม และเทคนิคปักลาย
       ทั้งนี้ปัจจุบันยังคงมีการทอผ้าใช้อยู่ แต่ลวดลายจะเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย บางทีผ้าที่ทอก็มาจากจิตวิญญาณ เพราะทอมาใช้เองหรือไม่ก็ให้ลูกหลานไว้เป็นมรดก นอกจากนี้ถ้าดูจากลวดลายก็จะรู้ว่า คนทออยู่ในอารมณ์ความรู้สึกอะไร เช่นผ้าผืนนี้เป็นนกคู่ หัวใจ ก็อยู่ในอารมณ์ของความรัก เป็นต้น
       
       ถ้าให้ฉันเล่าทั้งวันคงจะไม่หมด เพราะผ้าที่ทางติลลิกี แอนด์ กิบบินส์สะสมไว้มีจำนวนมากมายเหลือเกิน เอาเป็นว่าใครสนใจก็สามารถติดต่อขอเข้ามาชมกันได้ เขาไม่หวงห้าม แล้วจะรู้ถึงคุณค่าและเสน่ห์ของผ้าโบราณเหล่านี้เหมือนกับฉัน
เสื้อแจ็คเก็ทของชาวอาข่า ใช้เทคนิคเย็บประดับลวดลาย
       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
       
       “ผ้าสะสม ติลลิกี แอนด์ กิบบินส์” ตั้งอยู่ที่ บริษัท ติลลิกีแอนด์กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด อาคารศุภาลัย แกรนด์ ทาวเวอร์ ถ.พระราม 3 แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.30-16.30 น. กรุณานัดหมายล่วงหน้าเพื่อเตรียมวิทยากร โทร.0-2653-5555

สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พิพิธภัณฑ์ผ้าสะสม เสน่ห์ผ้าโบราณ งาม ขลัง อมตะ

view