สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พล.อ.สนธิ : ผมไม่ใช่ต้นเหตุความขัดแย้ง..ผมไม่ผิด

พล.อ.สนธิ':'ผมไม่ใช่ต้นเหตุความขัดแย้ง..ผมไม่ผิด

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เปิดใจ"พล.อ.สนธิ":"ผมไม่ใช่ต้นเหตุความขัดแย้ง..ผมไม่ผิด" ลั่นไม่เคยรับแนวทาง"ทักษิณ"
 "ผมไม่ต้องรับผิดชอบหากเกิดความขัดแย้งรอบใหม่ขึ้น เรามีหน้าที่แค่นำเสนอผลการวิจัย ส่วนคนที่จะต้องทำ คือ สภาฯ เราไปค้นหาวิถีทางที่ทำให้เกิดความปรองดองแล้วส่งให้สภาฯ ตามแนวทางของสถาบันหนึ่งเท่านั้น "

หลังจากที่ “พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” หัวหน้าพรรคและส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ (กมธ.ปรองดอง) สภาผู้แทนราษฎร เจอมรสุมทางอารมณ์ลูกใหญ่ จากสมาชิกรัฐสภาซีกฝ่ายค้าน และส.ว.สายพันธมิตรฯ ในช่วงดึกของการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา ระหว่างพิจารณาในญัตติขอเลื่อนวาระการประชุมในเรื่องขอให้รัฐสภามีมติให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณารายงานของ กมธ.ปรองดองในสมัยประชุมนิติบัญญัติ ตามมาตรา 136 (5)
 
มองประเด็นการประชุมร่วมรัฐสภาและมีเหตุวุ่นวายอย่างไร
 เราต้องยอมรับว่าในรัฐสภาไทยมีทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน จะเห็นว่าใครเป็นฝ่ายรัฐบาลเสนออะไรก็แล้วแต่ ฝ่ายค้านก็มีหน้าที่ค้าน หรือจับประเด็นที่เป็นข้อไม่ดี  
 
พูดง่ายๆ คือ การตรวจสอบมันละเอียดอ่อน เป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้าของประชาธิปไตยแบบไทยๆ คือว่าอันใดที่ดี ฝ่ายค้านก็ควรสนับสนุน ส่วนที่ไม่ดีก็ค้าน โดยที่ดูผลประโยชน์ของประชาชน แต่นักการเมืองบ้านเรา ต้องหันกลับไปมองผลประโยชน์ของประชาชนมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว อันนี้เป็นจุดสำคัญที่ทำให้การเมืองบ้านเราสับสน

ย้อนกลับมาว่า การที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติประชุมวันแรก ต้องยอมรับว่าผมไม่รู้จักนักการเมือง เมื่อมีคณะกรรมาธิการฯชุดนี้เข้ามาร่วมประชุม ก็มีการเลือกประธาน รองประธาน เลขา โฆษก ทุกคนก็มองว่าหากเอาฝ่ายค้านมาเป็นประธานก็ไม่ยุติธรรม ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่ยุติธรรม ก็เลยมามองที่ผม ว่าผมน่าจะมีความยุติธรรมและเป็นกลางที่สุด เขามาขอให้มาเป็นประธานกรรมาธิการฯ

 เมื่อเรามาเป็นประธาน เราก็วางแนวความคิดในการเดินหน้าของการทำงานของคณะกรรมาธิการ โดย 1.หากเราจะมาทำงานด้วยกัน ต้องมีแนวความคิด หลักคิดในการทำงาน ว่าจะลืมอดีต คิดปัจจุบัน สร้างอนาคต หากเผื่อเราไม่ลืมอดีต มันก็จะเดินไปไม่ได้ อันนี้ส่วนหนึ่ง ต้องยึดตรงนี้
 
 2.ในห้องประชุมแห่งนี้ เราต้องการเห็นความปรองดอง ไม่อยากเห็นความขัดแย้ง ขอได้หรือไม่ว่าในการประชุมกรรมาธิการฯ ไม่ต้องมีพรรคการเมือง อันนี้เราขอ ทุกคนก็โอเค ยอมรับในตรงนี้ เราต้องการนำเหตุและผล อีกทั้งในห้องประชุมเรา จะไม่มีการใช้มติ เพราะการลงมติคือการแข่งขัน คือการต่อสู้ เอาแพ้ เอาชนะ ดังนั้นเราต้องไม่มี ดังนั้นทุกกระบวนการเป็นหลักของการทำงานเพื่อไม่ให้มีความขัดแย้ง

 ทีนี้ก็มาถึงขั้นตอนนำไปสู่หาแนวทางปรองดอง ทุกคนก็ลงความเห็นพร้อมๆ กันว่าจะนำหลักคิด แนวทางของ คอป. ส่วนหนึ่ง ซึ่งคอป. ถือว่าเป็นหน่วยงานที่เป็นธรรม เพราะเป็นการจัดตั้งโดยรัฐบาลของท่านอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ) แล้วมาถึงตอนนี้รัฐบาลของท่านยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร นายกฯ) ยังใช้หน่วยงานนี้อยู่ ดังนั้นก็นำผลผลิตขององค์กรนี้มาเป็นฐานในการทำงาน คิดเพื่อที่จะทำให้การศึกษา วิจัยเดินต่อไป

 จากนั้นก็มองว่าใครจะมาเป็นผู้วิจัย ตอนแรกได้พูดถึงสถาบัน คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่สุดท้ายก็มาลงที่สถาบันพระปกเกล้า เพราะเป็นสถาบันที่ทำงานด้านการวิจัยมาโดยเฉพาะ มีการเป็นสถาบันการศึกษา และที่สำคัญมีองค์กรที่เกี่ยวกับสันติวิธีอยู่ตรงนั้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่อธิบายด้วยเหตุและผล ของทั้งคณะกรรมาธิการฯ ในที่สุดก็ยอมรับว่า จะให้สถาบันพระปกเกล้า เป็นองค์กรในการทำงาน ทุกคนลงมติ ก็ได้แจ้งให้สถาบันพระปกเกล้ามารับภารกิจ

 ตอนนั้นคิดอะไรอยู่ ถึงรับเป็นประธานกมธ.ปรองดอง ทั้งที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นจุดเริ่มความไม่ปรองดอง
 ผมว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะที่ผ่านมาทุกคนก็รู้ว่าที่ผ่านมาว่าเราไม่ใช่จุดเริ่ม แต่เป็นผู้แก้ปัญหา เป็นผู้สร้างการปรองดอง เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เราเข้าไปทำงาน เราไม่ใช่จุดที่สร้างความขัดแย้ง เพราะความขัดแย้งนั้นเกิดมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว แต่วันที่ 20 กันยายน 2549 ต่างหากที่จะมีความขัดแย้ง ถึงขั้นนำไปสู่ความรุนแรง ดังนั้นการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน นั้น ทำให้เหตุการณ์วันที่ 20 กันยายน ไม่เกิดความขัดแย้งรุนแรงต่อกัน ผมได้ทำให้เกิดการปรองดอง มีคนรักความสามัคคีกัน จะเห็นผลในวันต่อมา ประชาชนทั้งประเทศมีความสุข มีดอกไม้

 ดังนั้นผมต่างหากที่แก้ปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงของประเทศ แต่วิวัฒนาการทางการเมืองที่เคลื่อนมาเรื่อยๆ นำเอาเหตุการณ์วันที่ 19 กันยายนไปเป็นเครื่องมือในการที่จะนำไปสร้างกระแสที่ทำให้สังคมมองว่าการปฏิวัตินั้นผิด ไม่ใช่ความเป็นประชาธิปไตย อีกทั้งผู้ปกครองประเทศเขาไม่ได้ไปแก้ปัญหาความขัดแย้ง เขาไปแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง แต่ไม่ได้แก้ปัญหาทางสังคม ทำให้ความขัดแย้งขยายตัว ทวีขึ้นเรื่อยๆ

 ดังนั้นการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ปรากฎขณะนั้น เช่น สีเหลือง สีแดง รัฐบาลยังไม่ได้เข้าไปแก้อย่างจริงจัง มาถึงวันนี้ ความขัดแย้งยิ่งมีความรุนแรงมาก ผมเข้าไปในสภาฯ ก็เห็นเหตุการณ์อย่างเมื่อวาน (27 มี.ค.) ซึ่งข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่เกิดมันเกิดมาก่อน และเกิดเรื่อยมาแบบนี้ นี่คือภาพลักษณ์ที่นักการเมืองไทยที่ประชาชนเลือกเข้าไป มีส่วนในการบริหารประเทศเป็นอย่างนี้ มีความรู้สึกอย่างไร

 แต่คนก็มองในแง่ว่า ท่านเสียคน หลังรับหน้าที่ประธานกรรมาธิการปรองดอง
 แน่นอนเลยครับ อันนี้เป็นวาทกรรมที่มาใส่ร้ายทางการเมือง ผมถึงบอกว่าวันที่ 20 กันยายน ผมเป็นคนหนึ่งที่ประชาชนชื่นชมคนหนึ่ง แต่หลังจากวันนั้น ถึงวันนี้ มันก็เปลี่ยน และโดนตอนไปเรื่อยๆ นี่คือสังคมไทยที่พยายามทำให้เห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูก

 การรับงานตรงนี้ถือว่าเป็นการไถ่บาปของตนเองหรือไม่
 No ! No ผมพูดแล้วไงว่าวันนั้นผมทำคุณให้กับประเทศ เพราะผมรักประเทศชาติ รักประเทศไทย มาวันนี้ผมจะทำอีกครั้ง เพราะผมรักประเทศ เพราะเป็นอย่างนี้ ทำไมไม่หยิบสิ่งที่ดีๆ มาพูดว่า วันนั้นสร้างคุณ และวันนี้ก็คือสร้างคุณ ไม่ใช่มองว่าทำเพราะไถ่บาปวันนั้น แต่วาทกรรมทางการเมืองวันนั้น ทำให้เราถูกมองว่าเราทำผิด ผมถามหน่อยว่าตรงนั้นมันผิดหรือ...ผิดตรงไหน ผมถามจริงๆ ไม่มีที่ไหนในโลกนี้ ถ้าเมื่อมันผิดแล้วคนทั้งประเทศลงโพลล์ออกมา 90 เปอร์เซ็นต์มีดอกไม้ มีมาแสดงความยินดี หากใครได้เข้าไปในกองบัญชาการกองทัพบกวันนั้นรู้สึกว่ามีแต่กลิ่นดอกกุหลาบ

 สิ่งที่ขัดแย้งกันปัจจุบันเพราะคนเขาไม่เชื่อมั่นว่าท่านจะสร้างความปรองดองได้จริง เพราะสิ่งที่เคยทำงานก็ทำไม่สำเร็จ
 เราต้องเข้าใจนิดนึงนะครับ ว่าผมมีหน้าที่ 14 วัน นับจากวันที่ 19 กันยายน พอสิ้นเดือนกันยายน ก็หมดภารกิจ และไม่ขอเป็นอะไรเลย เป็นประธาน คมช. ก็จริงแต่ไม่ได้มีอำนาจใดๆ

 แต่หลังจากนั้นก็ได้รับตำแหน่งรองนายกฯ ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
 อันนั้นเป็นคนละเรื่องกัน เป็นเรื่องทีหลัง เพราะจะไปเป็นรองนายกฯ ก็ต้องลาออกจากประธานคมช. รองนายกฯ ก็คือรองนายกฯ ประธานคมช. ไม่มีอำนาจ เราอย่ามามองตรงนั้นเลย เรามองว่าใครเป็นรัฐบาลมีหน้าที่ต้องทำอะไร คือสร้างความรัก ความปรองดองให้กับคนในชาติ ไม่ใช่ พล.อ.สนธิ เป็นประธานคมช. แค่ 15 วันจะทำให้เกิดความปรองดองมาถึงวันนี้ มันคนละเรื่องกัน ทำไมนายกฯสมัคร , สมชาย , อภิสิทธิ์ , พล.อ.สุรยุทธ์ มาถึงวันนี้ 5 คนแล้ว ทำไม ถ้าเผื่อตั้งใจจะทำปรองดองทำไมตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้จะทำไม่ได้หรือ

 ประเด็นผู้นำทั้ง 5 ไม่สามารถสร้างปรองดองได้ มองว่าเป็นเพราะอะไร
 มันคงต้องเป็นเรื่องยาว หากมาถามอย่างนี้ คงยาวมาก พูดกันอีกวันคงไม่จบ

 เหตุที่ 5 รัฐบาลทำเรื่องปรองดองให้เกิดไม่ได้ มองหรือไม่ว่า เกิดจากตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
 ผมตอบไม่ได้ ผมไม่รู้ แต่ตนที่เป็นผู้นำประเทศ มีหน้าที่จะต้องให้สังคมเกิดความรักและสามัคคีกัน ในทางวิชาการผมมองว่า ผู้นำการเมืองไทย เข้ามาทำงาน 2 เรื่อง เพื่อการเมืองการปกครอง และแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะว่าการเป็นรัฐบาลที่ดูดี คือครั้งหน้าต้องเลือกตั้งได้ และตัวเลขเศรษฐกิจดี แต่ยังมีเรื่องที่สำคัญอีกอย่าง คือ การแก้ปัญหาสังคม ทำให้สังคมรัก สามัคคีกัน ที่ไม่ได้ทำ

 แบบนี้ท่านไม่ได้คิดว่าเป็นต้นเหตุการไม่ปรองดอง
 ผมเล่าถึงสาเหตุให้ฟัง ว่าทุกคนเอาว่าเราคือต้นเหตุ เพราะมันพูดง่าย การบอกว่การปฏิวัติเป็นต้นเหตุขัดแย้ง มันง่าย และสามารถเป็นแรงจูงใจในการสร้างกระแสของการขัดแย้งมากขึ้นได้ด้วย

 ผมขอย้อนไปยังที่มาที่ไปของประธานกรรมาธิการฯ เพราะหาคนเป็นกลางไม่ได้ เขามองว่าในห้องประชุมนี้ คนที่ทำให้เกิดความเป็นกลางได้มากที่สุดคือ พลเอกสนธิ เขาก็ขอให้เราเป็นประธาน ทั้งที่ผมไม่ได้สนใจกับการเป็นประธาน แต่สนใจอย่างเดียวว่าจะทำอย่างไร สังคมไทยจะปรองดอง ประเทศชาติมีความสุข ไปที่ไหน มีแต่คนถามว่าเมื่อไรจะรัก สามัคคีกันเท่านั้น แต่นักการเมืองไม่ได้ทำอะไรเลย ตรงนี้จึงเป็นสิ่งเริ่มต้น ส่วนวิธีการจะเป็นอย่างไรก็ไปว่ากัน

 เมื่อพระปกเกล้าเขารับอาสาที่จะทำ ก็เชิญมา และอธิบายว่าเราอยากให้พระปกเกล้า ทำการศึกษาและวิจัยเรื่องของการค้นหาวิธีปรองดอง โดยเราลองดูตัวอย่างจากประเทศในโลกนี้ที่มีปัญหาความขัดแย้ง แล้วมาวันนี้ได้ข้อยุติ ทำอย่างไร จากนั้นก็ไปศึกษาเอา โดยให้เวลาไปศึกษา 120 วัน

 ผมอยากเรียนว่า เรายังได้ตกลงกันในห้องประชุมว่า ผลการศึกษาวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า ถือเป็นผลการศึกษาวิจัยที่มีความเป็นธรรม เป็นกลาง เราทุกคนในห้องนี้ไม่ได้เป็นกลาง เราจะไปแตะต้องผลการวิจัยตรงนั้นไม่ได้ เราพูดกันแบบนี้ตั้งแต่วันแรกเลย ดังนั้นเมื่อผลการวิจัยออกมาอย่างไร ต้องไปอย่างนั้น แต่ความคิดเห็นต่างหากที่เห็นว่าเป็นอย่างไร ก็ให้มาเพิ่มเติม สิ่งนี้เราพูดกันชัดเจน

 สรุปได้ว่าผลการวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า ก็ออกมา 6 ข้อและมีเพิ่มเติมอีก 6-7 ข้อ โดยใน 6 ข้อแรกนั้นได้เสนอแนวทางสร้างปรองดอง ระยะสั้นและระยะยาว ส่วนของระยะสั้นนั้นมีส่วนเป็นตัวเลือก คือ วิธีที่ 1 คือการนิรโทษกรรม การให้อภัย 2. การสร้างความเป็นธรรม ในเรื่องของ คตส. มี 3 ข้อ เราตกลงกันว่าจะไม่เข้าไปแตะต้องความคิดพวกนี้ เพราะถือเป็นวิชาการ แต่กรรมาธิการฯ มีความเห็นอย่างไร ต่อวิธีการเหล่านี้ ให้ทุกคนเสนอ

 โดยวิธีการเสนอนั้น คนที่เป็นกรรมาธิการฯ ไม่อยากมีใครเสนอหรอก เราก็ให้ทางเจ้าหน้าที่ทำแบบสอบถาม ถามว่าท่านจะเอาวิธีใด ทุกคนก็ไปกามา แล้วใครมีความเห็นเพิ่มเติมให้แทรกมา จบ จบแล้วที่คุยกติกากันมาตั้งแต่ต้น แล้วนำทั้งหมดนั้นส่งสภาฯ ตามขั้นตอน ซึ่งเราทำทุกอย่างตามขั้นตอนที่ได้ตั้งกติกากันไว้ตั้งแต่ต้น ส่วนพระปกเกล้าไปคิดอย่างไร กับทางเลือกที่ 1 หรือ 2 เป็นเรื่องของพระปกเกล้า หลายคนก็เริ่มออกมาว่า พระปกเกล้าทำผลการวิจัยออกมาแบบนี้ได้อย่างไร ทุกคนไม่เห็นด้วยกับการให้อภัย เรื่องยุบคตส.ทุกคนไม่เห็นด้วย

 คือการทำวิจัย คงทราบว่าก่อนทำอะไรต้องมีหัวข้อเรื่อง จากนั้นจะมีขอบเขตการวิจัย จากนั้นก็ไปทำตามหลักวิชาการ เมื่อได้ผลแล้วก็ได้ประมวล ก็ออกมา 6 ข้อ แต่มีเพิ่มเติมคือ กรณีที่จะทำให้เกิดความปรองดองได้ รัฐบาลจะต้องเป็นคนเริ่มต้นในการสร้างบรรยากาศปรองดอง หากรัฐบาลไม่คิดทำ ความปรองดองเกิดไม่ได้ หน่วยงานรัฐ ต้องมีนโยบายอันเดียวกัน คือ ตั้งใจสร้างบรรยากาศปรองดอง เป็นต้น

 จากที่มีการแถลงที่โรงแรมมิราเคิล สถาบันพระปกเกล้าพูดชัดเจน ถึงวิธีการและข้อสรุป โดยในข้อสรุปแนวทางปรองดอง ข้อที่ 2 (นิรโทษกรรม) และ 3 (ลบล้างผลทางกฎหมายของ คตส.) เป็นผลที่ได้มาจากการวิจัย ไม่ใช่วิธีที่จะแก้ไขปัญหาความไม่ปรองดอง เขาบอกว่าสิ่งเหล่านี้บางข้อเอาไปใช้แล้วจะเกิดความขัดแย้งมากขึ้น ดังนั้นเมื่อเรารับไปแล้ว เราก็ส่งให้สภาฯไปแล้ว ส่วนสภาฯ จะหยิบข้อใดมาเป็นเรื่องของสภาฯ แต่ในรายงานเขาบอกว่าบางประเด็นหากหยิบออกมาจะสร้างความขัดแย้งมากขึ้น เขาบอกชัดเจน ในทุกข้อก็บอก และยังบอกด้วยว่า แนวทางที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งลดลง ทางที่ดีคือ จัดเวทีเสวนาประชาชน กระจายไปทั่วประเทศ แล้วจะทำให้เห็นว่าประชาชนมีแนวความคิดและต้องการอย่างไร

 ดังนั้นการที่กรรมาธิการฯ ของเราที่คุยกันครั้งสุดท้ายว่าทุกอย่างจบแล้ว ทุกคนต้องการความเห็นอะไรให้เสนอมา เพราะการเสนอไม่ใช่ เราจะเอาตรงนี้เป็นมรรคเป็นผล แต่ส่งให้สภาฯไปศึกษา ส่วนรายงานของสถาบันพระปกเกล้า ไม่มีการแก้ไข เรายืนตามนั้น ส่วนจะผิดจะถูกนั่นคือ ทางวิชาการ

 แต่ก็มีธงของกรรมาธิการปรองดองออกมา
 ไม่จริง ไม่จริงครับ ไม่มีมติ ที่ผมพูดเมื่อกี้ไง นี่ไง เรากำลังจะบอกว่า พยายามดึงเกมทางการเมืองว่านี่คือมติ ขอให้เข้าใจให้ดีนะครับที่ผมจะพูด ฟังแล้วทำความเข้าใจนิดนึง เพราะมันทะเลาะกันในรัฐสภาเมื่อคืนนี้ (27 มี.ค.) เพราะมติตัวนี้แหละ เราบอกว่าคณะกรรมาธิการฯ ที่นั่งทั้งหมด คุณชอบข้อ 1 หรือข้อ 2 แน่นอนว่ามันอาจจะมีคนชอบข้อ 1 จำนวน 2 คน ชอบข้อ 2 จำนวน 4 คน หากถามว่านี่เป็นมติหรือไม่ ไม่ใช่นะ เป็นความเห็น เป็นความชอบของบุคคล

 การเมืองมันมาตีความว่า 2 คนและ 4 คน คือการลงมติ ทั้งที่จริง มันไม่ใช่ แต่บังเอิญตอนที่เจ้าหน้าที่รายงาน ลงว่ามีใครบ้างที่ลงความชอบข้อไหน จำนวนเท่าใด มันเหมือนกับการลงมติ

 จะอธิบายตัวเลขที่ออกมาระหว่าง 22 และ 23 เกี่ยวกับการยกเลิก คตส.และนิรโทษกรรม ว่าอย่างไร
 คือ คนที่เขาเสนอในข้อนี้ มี 23 คน เท่านั้นเอง ไม่ใช่มติ ผมถึงพูดให้ฟังไงว่า ห้องประชุมห้องนี้ ต้องไม่ใช้มติในที่ประชุม ชัดเจนนะในสิ่งที่ผมพูด เราไปโยงให้เป็นการเมืองว่านี่คือมติ ทั้งที่ผมได้ตั้งกติกาแล้วว่าห้องนี้ไม่มีการใช้มติ แต่เป็นความเห็น

 แต่ประเด็นนี้ถูกจับไปมองว่าคือการลงมติแล้ว
 นี่ไงหละ นี่ไงหละ ถึงบอกว่าทั้งสื่อและนักการเมือง มันเอาไปใช้ เพราะไม่เข้าใจ แล้วนำไปใช้เป็นวาทกรรมทางการเมือง เพื่อสร้างเงื่อนไขทางการเมือง นี่คือปัญหาของการเมืองไทย

 ท่านกำลังบอกว่า ฝ่ายค้าน จับผิดเรื่องนี้
 ไม่ครับ ผมบอกว่า หากเรามีเจตนาที่จะมองว่าอันนี้เป็นเหตุ เป็นผล ไม่ใช่วาทกรรมทางการเมืองนะ ทุกอย่างมันจบ

 กำลังมองกรรมาธิการซีกที่เห็นด้วยกับรัฐบาล อย่างเข้าใจกันมากไปว่าไม่มีเจตนาใดแอบแฝง
 เป็นไปตามกระบวนการ และความเป็นหลักการ ผมเดินมาในฐานะเป็นประธานกรรมาธิการฯ และไม่มีพวกเลยในห้องประชุม ผมจะยืนอะไร เพื่อให้สามารถเดินไปได้ ด้วยความเป็นธรรมและยุติธรรม คือหลักการ หลักการทั้งหมด ดังนั้นผมจึงให้แนวความคิดกับนโยบายว่า ในห้องประชุมนี้ต้องเดินในกรอบอย่างไร มันถึงเดินมาได้

 เชื่อหรือไม่ การประชุมกรรมาธิการฯ 20 กว่าครั้ง มีแค่ครั้งแรกที่ยังจัดระเบียบและแนวทางไม่ชัดเจน แต่หลังจากนั้น ก็เรียบร้อยหมด แต่ความคิดเท่านั้นที่ถกแถลงกันอยู่และต่างกัน และต่างกันไปต่างกันมา ต่างคนต่างพูด ในที่สุดข้อสรุปจึงออกมา ด้วยเหตุกับผลที่ทับกันไปเอง

 การอภิปรายเมื่อวันที่ 27 มี.ค. ท่านบอกว่าในการประชุมแม้วางกรอบดี แต่พัฒนาการในห้องก็นำไปสู่ความขัดแย้ง
 ความแตกต่างทางความคิดเป็นปกติ แต่หากนำไปพูดเพื่อให้เกิดความขัดแย้ง มันเกิดได้ ดังนั้นเราต้องเคารพในความต่างทางความคิด เช่น คน 2 คนคิดแบบนั้น คน 4 คนคิดแบบนี้ จะไปบอกว่า ของเรา 4 คนเสียงข้างมาก มันถูก ไม่ใช่ นี่คือความคิด แต่เราต้องเคารพความคิดของ 2 คนนั้นที่เขาเลือกข้อ 1 แต่เรา 4 คนเลือกข้อ 2 ทางโน้นก็ต้องเคารพว่าเรามีความคิดในข้อ 2 เป็นอย่างนี้ นี่คือประชาธิปไตยนะ

 มองว่าพัฒนาจากความปรองดองไปสู่ความขัดแย้ง เป็นเพราะคนไม่เคารพความเห็นของกันและกัน
 ถูกต้องเลย ถูกต้องเลย ถูกต้องเลย อันนี้คือจุดสำคัญของประเทศไทย วันนั้นผมพูดที่โรงแรมมิราเคิล 4 ข้อ คือ ขี้เกียจ ขี้โกง ขี้อิจฉา ขี้โอ้ขี้อวด โดย 2 ข้อหลังนี่น่ากลัว ขี้อิจฉา กับขี้โอ้ขี้อวด อวดคุย อวดเก่ง ใครเก่งกว่าฉันไม่ได้ บ้านเรามีวีรบุรุษหรือไม่? คำตอบคือ ไม่มีเลย เพราะพอใครขึ้นมาก็ขุดเอาของไม่ดีเขาขึ้นมา

 ผมกำลังทำดุษฎีนิพนธ์เรื่องลีดเดอร์ชิฟของไทยแลนด์ ว่ามันควรจะเป็นอย่างไร ไปอ่านหนังสือจากต่างประเทศ ผู้นำต่างประเทศทั้งหมดในโลกนี้ ที่ทุกคนรู้และมีประวัติมา ประเทศของเขาชื่นชม แต่ประเทศเรา ท่านปรีดี (พนมยงค์ อดีตนายกฯ) เป็นคนที่ดีและเก่ง บางคนชื่นชม แต่บางคนก็ทำร้ายท่าน นี่คือประเทศไทย ถามว่าทำไมทั้งที่ท่านเคยเป็นบุคคลสำคัญของประเทศทำไมไม่ช่วยอุ้มชูให้เขาเดินไปข้างหน้า ไปหยิบประวัติที่ไม่ดี ไปเอาความคิดของตนเองไปเขียนในสิ่งไม่ดี แล้วไปทำร้ายท่าน มันถูกหรือไม่ นี่คือประเทศไทย

 ผมถึงถามว่าประเทศไทยมีวีรบุรุษหรือไม่ คำตอบคือไม่มี อันนี้คือปัญหาของประเทศเรา ดังนั้นเราก็ไปอิจฉากัน ไปอวด ข้าเก่งกว่า คนนั้นไม่เก่ง รัฐบาลทุกรัฐบาลที่ขึ้นมาบริหารประเทศ เคยหรือไม่ที่นำแนวความคิดของรัฐบาลที่ผ่านมา มาคิดต่อยอด ... เปลี่ยนทันที 30 บาทรักษาทุกโรค มาตอนนี้ ฉันไม่ต้องเสียสักบาท รักษาได้ทุกโรค พอกลับมาอีกรัฐบาลก็นำ 30 บาทรักษาทุกโรคกลับมาอีก ทำไมหละ ทำไมถึงไม่หยิบสิ่งที่ดีอยู่แล้วมาต่อยอด แล้วรักษากันต่อไป

 ฐานะที่เป็นประธานกมธ.ปรองดอง ไม่สามารถยับยั้งพัฒนาการของความขัดแย้งในกมธ.ปรองดองได้เลยหรือ
 หึๆ (หัวเราะ) เดี๋ยว อันนั้นเป็นกลุ่มคณะเล็กๆ ซึ่งเราหาวิถีทางปรองดอง ใช่ไหมครับ ใน 38 คนไม่ใช่ปัญหาของความไม่ปรองดอง ผมถึงบอกว่าในห้องมีการประชุมเรียบร้อยหมดทุกครั้ง แต่พอมันออกจากห้องนั้นมา เข้าสู่พรรคการเมืองของตัวเอง เป็นเรื่องการเมืองระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน มันเกิดประเด็นวาทกรรม ประเด็นทางการเมืองออกมา ทุกอย่างมันมาเป็นขั้นตอนตามหลักการทั้งสิ้น ที่เราเอาเข้าสภาฯ ไม่ว่าจะเร็วหรือช้า มันก็ต้องเอาเข้าสภาฯ เพราะยิ่งเก็บเอาไว้เท่าไร ความขัดแย้งจะเพิ่มมากขึ้นๆๆ

 แต่ประเด็นนี้คณะผู้วิจัยพระปกเกล้า และฝ่ายค้านเขาติดใจทำไมไม่รับฟังความเห็นประชาชนก่อนนำเข้าสภาฯ
 ตรงนี้ผมจะอธิบายให้ฟังครับ ผมเป็นประธานอนุกรรมาธิการของกรรมาธิการทหาร ผมบอกว่าประเทศมีความขัดแย้ง ต้องสร้างความรักความผูกพัน ให้กับสังคมไทย เราต้องการที่จะหาเครื่องมือ ไปหาความปรองดองขึ้นมา สมมติว่ามีสถาบันการศึกษา 2 สถาบัน ทะเลาะกัน เราอยากเข้าไปทำให้รักกัน นักการเมืองบางท่านบอกว่า ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ ฟังให้ดีนะ..ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ เป็นผู้หาวิถีทางในทางปฏิบัติ ส่วนผู้ปฏิบัติคือผู้อื่น ดังนั้นเมื่อคณะกรรมาธิการฯ ของเราไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ จะให้เราไปจัดเสวนาประชาชนรับฟังความคิดเห็น ไม่ใช่นะ ไม่ใช่หน้าที่เรา แต่เป็นหน้าที่ของผู้ที่ต่อยอดจากเรา สภาฯ ก็ต้องเอาไปจะให้ใครไปทำ ทำที่ไหนอย่างไร เป็นเรื่องของสภาฯ ที่จะส่งออกไปได้ แต่เราไม่มีสิทธิ์ไปทำเอง

 แต่ปัญหาคือ สภาฯ จะไม่ทำ
 เป็นเรื่องของสภาฯ ไม่เกี่ยวกับเราแล้วครับ เพราะเราเป็นเครื่องมือของสภาฯ จะมาเป็นเรื่องของคณะกรรมาธิการฯไม่ได้แล้ว มันจบแล้ว

 ความขัดแย้งในรัฐสภา เขามองว่าเป็นเรื่องที่กรรมาธิการฯ รีบเสนอรายงานเข้าสู่ที่ประชุม
 ผมถึงบอกไงว่า เป็นเรื่องวาทกรรมทางการเมือง เป็นเรื่องการเมือง ไม่ใช่ความขัดแย้งของกรรมาธิการฯ แต่เมื่อนำเรื่องเข้าสู่สภาฯ จึงกลายเป็นเรื่องขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ไม่เกี่ยวกับคณะกรรมาธิการเลย ในห้องประชุมครั้งสุดท้าย ยังเรียบร้อยไม่มีปัญหา ทุกคนยอมรับในเงื่อนไขที่มันจบแล้ว

 ความขัดแย้งจนต้องพักการประชุมถึง 2 ครั้ง และลงเอยด้วยการที่ฝ่ายค้านวอล์คเอ้าท์ มองจุดที่แตกหักตรงไหน
 เป็นเรื่องของการเมือง ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน เป็นธรรมดาของวิถีทางทางการเมืองในสภา ผมไม่อยากให้มองว่า การวอล์คเอ้าท์ไม่ได้เกิดขึ้นในรัฐบาลนี้เท่านั้น เพราะมันเกิดขึ้นทุกรัฐบาล ทุกสภาฯ แต่ว่านักการเมืองของบ้างเรามองว่า หากรัฐบาลจะทำ ฉันเป็นฝ่ายค้าน ฉันไม่เอาด้วย นี่คือปัญหาไม่คิดหรอกว่ายังไงเสียงของเราก็สู้ข้างมากไม่ได้ ทำอย่างไรถึงให้แนวความคิดของเราให้รัฐบาลสนับสนุนด้วยและเดินไปด้วยกัน ทำไมถึงไม่แชร์ตรงนี้ว่าผลประโยชน์ของบ้านเมืองไม่ได้อยู่ที่จะต้องเอาชนะ คะคานกันอยู่ 2 ฝ่าย ผมถึงบอกว่าผมไม่ได้อยู่ข้างรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ผมอยู่ฝ่ายประชาชน อันไหนที่เป็นผลประโยชน์ประชาชน ผมจะกดตรงนั้น

 นักการเมืองหากไม่เอาชนะกันอย่างนี้แล้วตรงไหนที่เป็นประโยชน์ประชาชนสนับสนุน เคยได้ยินหรือไม่ว่าฝ่ายค้านสนับสนุนรัฐบาลในประเทศไทย ในต่างประเทศเราเห็นว่าเขาเอารัฐมนตรีมาจากพรรคการเมืองอื่น แต่บ้านเราแบบนี้ไม่มีเลย ทั้งที่สามารถ join เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ก็ต้องไป แต่นี่มันไม่ใช่

 มองเหตุการณ์ขัดแย้งในสภาฯ เมื่อวานว่าเป็นเรื่องปกติ หรือแสดงความไม่ปรองดอง
 มันเกิดมาทุกรัฐบาล แต่ที่สำคัญผมไม่ได้ติดใจ( mind) กับสิ่งนี้ แต่ mind ว่าประชาชนที่มองอยู่ จะเห็นสภาพในสภาและคิดอย่างไร เราในฐานะเป็นนักการเมืองต้องเป็นแบบอย่าง ให้ประชาชนที่อยู่ข้างนอกฟังและเห็น และนำไปใช้ ผมคิดตรงนี้ต่างหาก โอเค หากมันขัดแย้งในสภาฯ เป็นเรื่องปกติ เราไม่ได้ว่าอะไร แต่ผมไม่อยากเห็นสภาพนี้ออกไปข้างนอก

 ในแง่สาระของผลการวิจัย มั่นใจหรือไม่ว่าจะทำให้เกิดความปรองดองได้จริง
 แนวความคิดของผมนั้นไม่เหมือนใคร นั่นคือความเห็นส่วนตัว คือผมอาจจะชอบข้อ 1 ส่วนใหญ่อาจชอบข้อ 2 ซึ่งเป็นเรื่องของผม ผมไม่ได้เห็นด้วยกับความคิดเห็นส่วนใหญ่ ดังนั้นผมเห็นด้วยกับการทำการวิจัยหรือไม่ ผมขอตอบว่าผมเห็นด้วย เพราะเป็นหลักวิชาการของการศึกษาและวิจัยเรื่องการปรองดอง แต่ปัญหาอยู่ว่า จะสร้างความปรองดองได้จริงนั้น ทางสภาฯ ต้องหยิบวิธีการที่จะทำให้เกิดการปรองดอง โดยอิงแนวทางอันนี้ ไปใช้กับแนวทางที่ต้องผสมผสานกันให้ไปสู่ความสำเร็จ เพราะแนวทางนี้ศึกษามาจาก 10 ประเทศ ศึกษาจากคน 47 คนซึ่งมีความคิดที่แตกต่างกัน โดยสภาฯ ไม่จำเป็นต้องเอาในนี้ อาจนำทฤษฎีหนึ่ง หรือวิธีการหนึ่งก็ได้ เป็นธรรมดา

 ผมเป็นทหาร เวลาจะทำงานอะไรก็ตาม ฝ่ายเสนาธิการทหารจะเสนอมา 1 2 3 หากเผื่อเป็นปกติก็จะเอาหนทางที่ดีที่สุด แต่บางครั้งผมเอาหนทางที่ไม่ได้ถูกเสนอเลยมาเป็นทางปฏฺบัติ เพราะเรามองว่าอันนี้คือความสำเร็จ อันนี้ไม่มีเงื่อนไข

 ผลการศึกษาประเด็นยกเลิกผลทางกฎหมายของ คตส. ซึ่งเป็นองค์กรที่ท่านในฐานะประธานคมช. ตั้งขึ้น มองเฉพาะประเด็นนี้อย่างไร
 จริงๆ แล้ว ผมถึงบอกว่าผลผลิตของ คตส. ในห้วงที่ผ่านมา ทำไมคนส่วนหนึ่งมองว่าผลการดำเนินการของคตส. ทำให้เกิดความเป็นธรรม ทำไมคนถึงคิด ไม่ใช่ตัวเรา เพราะคน 47 คนเป็นผู้ให้ความเห็นกับสถาบันพระปกเกล้า เขาบอกว่าขณะนี้มีผลผลิตว่า คตส. สอบสวน สืบสวน ให้ข้อมูลอย่างไม่เป็นธรรม แล้วผมถามว่าอะไรคือเครื่องพิสูจน์เหล่านั้น ผมก็พิสูจน์ไม่ได้เลย เพราะผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครเป็นใครใน คตส. ต้องเข้าใจมันเป็นองค์กรอิสระ แต่องค์กรนี้ได้ทำงานอย่างไร แล้วทำให้เกิดเงื่อนไขที่คนเขาสงสัย เราตอบไม่ได้ เป็นเรื่องผลผลิตของ คตส. และส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของคนที่ได้รับผลผลิตตรงนั้น ดังนั้นสังคมต้องตอบ คตส. ต้องตอบว่าทำไมถึงถูกมองเช่นนั้น ไม่ใช่เรา

 ผลผลิตตรงนี้ เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่า จากการทำแบบสอบถาม การสัมภาษณ์ มันออกมาเป็นความเห็น ผมไม่ได้บอกว่าผมไม่ชอบ ถึงยุบ คตส.ที่ผมตั้งมาเอง ไม่ใช่ แต่เป็นข้อคิดเห็นของพระปกเกล้าที่มอง คตส. อย่างนั้น

 จากที่ได้ข้อสรุปที่ให้ยกเลิกผลทางกฎหมายของ คตส. เราได้เชิญผู้วิจัยมาสอบถามถึงที่มาที่ไปหรือไม่
 เราไม่อย่างนี้แน่นอน เพราะก้าวก่ายแนวคิด ตามวิถีทางของการทำวิจัย หากทำก็เท่ากับว่าเราไปชี้นำ ควบคุม มันไม่ได้ ผมจะไม่แตะต้องวีธีการของผู้ทำวิจัย อีกทั้งมีความเซ้นซิทีฟมากในการที่จะไปก้าวก่าย ไม่เลย ผมปล่อยให้ทำอย่างเสรี

 กรณีที่ตั้งกติกาในการทำงาน เช่นต้องลืมอดีต เป็นสิ่งที่ทำให้ท่านเห็นด้วยกับการลบล้างผลทางกฎหมายของ คตส.ทั้งหมดหรือไม่
 ไม่ใช่เลย อันนี้เป็นหลักการ คน 2 คนมันทะเลาะกัน จะทำให้เลิกทะเลาะกันได้อย่างไร ก็ต้องลืมสิ่งที่ได้ทะเลาะกันมา แล้วมานั่งคุยกัน หากไม่ลืมก็คุยกันไม่ได้ นี่คือหลักคิดที่ว่าลืมอดีต ทำปัจจุบัน

 เหตุการณ์ในรัฐสภาเมื่อวันที่ 27 มี.ค. มองว่าตนเองตกเป็นจำเลยหรือไม่ เพราะปชป.เองก็บอกว่าผิดหวัง
 ผมถึงพูดว่าคนเรา หากเอาวาทกรรมมาพูดแล้วทำให้คนเสียหาย เกิดได้ แต่ถามว่าทุกคนมีวิจารณญาณในตนเอง ในการที่จะมองสิ่งเหล่านี้หรือไม่ และมีความรู้ในเรื่องที่จะพูดกันอยู่หรือไม่ นักการเมืองในสภาฯ ทุกคนไม่ได้รู้ในเรื่องของการปรองดองหรอก แต่ฟังแล้วเชื่อ ความจริงต้องฟังแล้วคิด กาลามสูตร 10 ที่พระพุทธเจ้าท่านสอน มันควรนำมาพิจารณา มาอยู่ในใจของนักการเมืองให้มาก ฟังอย่าไปเชื่อ ฟังแล้วคิด
 
 มองหรือไม่ว่าแนวทางปรองดองที่ได้ข้อสรุป สอดคล้องกับแนวทางของบางพรรคการเมือง ที่พยายามผลักดันออกกฎหมายนิรโทษกรรมหรือปรองดองสำเร็จได้
 จะทำอะไรก็แล้วแต่ คนที่รับรู้คือประชาชน หลายคนพูดเสมอว่า ท่านสนธิ ไปทำปฏิวัติมันผิด ถึงแม้ประชาธิปไตยจะมีการคอรัปชั่น มีอะไรต่อมิอะไร ก็ต้องให้ประชาชนเป็นผู้เลือก ผู้ดู ให้การเดินประชาธิปไตยเดินไป อย่าหยุดยั้ง ทำไมถึงต้องปฏิวัติไม่ปล่อยให้เดินไปหละ แม้ว่ารัฐบาลนี้จะคอรัปชั่น มีปัญหา ประชาชนเป็นผู้รู้ คราหน้าเขาก็ไม่เลือก เช่นกันในวันนี้สภาฯ หรือพรรครัฐบาลจะทำอะไร ถ้าเกิดว่าประชาชนรู้ว่าไม่ถูก คราวหน้าเขาก็ไม่เลือก มันก็ต้องเดินไปตามนี้

 หากกรณีนี้นำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ ท่านจะรับผิดชอบอย่างไร
 ไม่ ไม่ครับ ต้องยอมรับว่า เรามีหน้าที่แค่นำเสนอผลการวิจัย ส่วนคนที่จะต้องทำ คือ สภาฯ เราไปค้นหาวิถีทางที่ทำให้เกิดความปรองดองแล้วส่งให้สภาฯ ตามแนวทางของสถาบันหนึ่งเท่านั้น

 แสดงว่าเราไม่สนใจว่า ผลทำงานจะเข้าทางใครหรือไม่
 เราจะไปมองตรงนั้นไม่ได้ จะออกมาในรูปอื่นที่ฝ่ายหนึ่ง เราก็ต้องเสนออย่างนั้น เพราะเรามีหน้าที่ศึกษาวิจัย และส่งข้อมูลนั้นไป ส่วนผู้ปฏิบัติ ต่อไปที่จะนำไปสู่ความปรองดองคือสภาฯ ส่วนสภาฯจะเอาไปทำอะไรเป็นเรื่องของสภาฯ

 มีคนตั้งคำถามว่าใช้ความระวังเพียงพอเพื่อไม่ตกเป็นเครื่องมือใครหรือไม่
 ผมพูดไปแล้วว่า ผมเป็นตัวของตัวเอง การจะทำอะไรที่จะก้าวไปสู่ข้างหน้า ก็ต้องระวัง เพราะระวังมาตั้งแต่เด็ก ที่เดินมาได้ถึงวันนี้ เพราะความซื่อสัตย์ตั้งใจ บนแนวทางและหลักการของความเป็นจริงทั้งสิ้น ไม่เช่นนั้นมาไม่ได้ ผมขึ้นมายืนตรงนี้ บนความระมัดระวังต่อความถูกต้อง ตามกระบวนการของมัน วันนี้ในเรื่องการทำงานในสภาฯ ฐานะประธาน กมธ.ปรองดองก็ต้องระวัง มีหลักการอะไรก็เดินไปตามหลักการ หากเดินไปตามหลักการแล้ว มันก็ไม่ผิด

 หากทำตามข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า มองหรือไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขนำไปสู่การปฏิวัติ
 เรื่องนี้ผมพูดมาเป็น 10 ครั้งแล้วว่า การปฏิวัติ เงื่อนไขอยู่ที่ประชาชน หากประชาชนไม่เห็นด้วยก็อย่าไปทำ วันที่ผมปฏิวัติมีเงื่อนไขคือประชาชนสนับสนุน หากประชาชนไม่เอา ทหารเขาไม่ทำหรอก

 ประเมินหรือไม่ว่าประชาชนที่เคยเห็นด้วยกับการที่ท่านทำรัฐประหาร แล้ววันนี้ประชาชนเหล่านั้น จะเห็นด้วยกับแนวทางปรองดองที่ท่านเสนอเข้าสภาในครั้งนี้ด้วยหรือไม่
 ตอบไม่ได้ ผมตอบได้อย่างไร นี่เราคิดทางวิชาการ ส่วนประชาชนที่เห็นด้วยวันนั้น จะเห็นด้วยหรือไม่ ความคิดของคนวันนั้น กับความคิดของคนวันนี้ ไม่เหมือนกันแล้ว

 ได้คุยหรือรับแนวทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ มาบ้างหรือไม่
 ไม่ครับ ไม่มี ไม่มีเลย

 เมื่อเจอเกมกดดันในสภาฯ แบบนี้ อนาคตยังอยากเล่นการเมืองอยู่ไหม
 ท้าทาย


'วุฒิสาร'อ้างหมดหน้าที่แล้วอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด


2บุรุษผู้มีความทรงจำแค่ 5 ปี กับหายนะปรองดองแบบรวบรัด!


'เสธหนั่น'หวัง'สนธิ'ถอนรายงานปรองดอง


ถามพล.อ.สนธิ ปรองดองเพื่ออะไร


ญาติสลายการชุมนุม คนเสื้อแดง ยื่นหนังสือผ่านประธานสภา ขอถามพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน จะปรองดองไปเพื่ออะไรเมื่อยังหาคนยิงประชาชนเสียชีวิตไม่ได้

ปรองดองมุมมืด"ให้ตำแหน่ง"แลก"ปิดปาก"ญาติเหยื่อ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว

ในขณะที่ประชุมรัฐสภากำลังฝุ่นตลบอยู่กับการแสดงความเห็นสนับสนุนและคัด ค้านแนวทางปรองดองตามข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าซึ่งไม่รู้จะออกมารูปการณ์ ใด  แต่เสียงสะท้อนถึงกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่ง ชาติ ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยะรัตกลิน  เป็นประธาน ดังมากขึ้นทุกขณะกับคำถามนิรโทษกรรมเพื่อใครกันแน่

ณัทพัช อัคฮาด หรือ “กันต์” น้องชาย น.ส.กมนเกด  อัคฮาด หรือ “น้องเกด” พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียขีวิตภายในวัดปทุมวนาราม เป็นอีกรายไม่ต่างกับ นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยาพล.อ.ร่มเกล้า ที่ถูกระเบิดเสียชิวีตบริเวณถนนดินสอ คงเดินหน้าค้นหาความจริง ทวงความยุติธรรมให้พี่สาวของเขา 

เพียงแต่กรณีของณัทพัช  อาจทำให้เห็นวิธีการสร้างความปรองดองของรัฐบาลในมุมมืด  เพราะนับตั้งการเสียชีวิตของพี่สาว ไม่มีความคืบหน้าทางคดีซ้ำร้ายแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่ง ชาติ(นปช.) ที่เคยขันอาสาจะเอาคนผิดมาลงโทษ  แต่วันนี้เรียงหน้าออกมาบอกทุกคนให้ลืมเบื้องหลังปฏิวัติไปซะเพราะในเมื่อจะ สร้างความปรองดองไม่ควรฟื้นฝอยหาตะเข็บ  ทำให้เขาและญาติเหยื่อต้องลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว

ณัทพัช

การเคลื่อนไหวญาติเหยื่อโดยมีครอบครัวน้องเกดเป็นแกนหลักดูไม่เป็นที่ เข้าตารัฐบาลชุดปัจจุบันที่กำลังสร้างบรรยากาศความปรองดอง  กระทั่งมีการต่อสายจากรัฐบาลเสนอตำแหน่งทางการเมืองแลกกับการหยุดเคลื่อน ไหว 

“ผมไม่ได้รู้จักใครเลย แต่มีคนสนิทของคุณยงยุทธ วิชัยดิษฐ์  รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย โทรมาตาม  โดยผ่านโทรศัพท์มือถือของแม่ (นางพะเยาว์ อัคฮาด ) ให้ไปช่วยงานได้ไหม  พอผมโทรกลับไปและบอกว่าถ้าจะเอาผมมาไว้ตรงนี้ และให้ผมยุติเคลื่อนไหวผมไม่เอา  แต่เมื่อไม่มีปัญหาก็ทำ” 

“กันต์” เล่าว่า ปัจจุบันทำงานในตำแหน่งเลขานุการส่วนตัวนายยงยุทธ ได้รับค่าตอบแทนจากกระทรวงมหาดไทย ส่วนใหญ่จะได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจงานทางสังคมกรณีนายยงยุทธ ติดภารกิจ หรือบางครั้งก็ติดตามการลงพื้นที่ อย่างการเดินทางไปประชุมครม.สัญจรอุดรก็เดินทางไปด้วย

ก่อนหน้านี้เขามีอาชีพเล่นดนตรีตามผับ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์วัดปทุมฯเป็นเหตุให้พี่สาวเสียชีวิต จากครอบครัว 5 คน เขาจึงต้องมาเป็นตัวหลักของครอบครัวในการติดตามค้นหาความจริง และเขาก็เป็นแกนนำอิสระในการชุมนุมทวงถามความเป็นธรรมซึ่งอาจเป็นเพราะเหตุ นี้ถูกดึงเข้าวังวนการเมือง  

ช่วงแรกเปิดลงทะเบียนแจ้งสิทธิรับเงินเยียวยา 7.75 ล้านบาท ครอบครัวน้องเกดปฏิเสธเพราะเข้าใจว่ามีผลให้ยุติคดีแพ่งที่ฟ้องร้องเอา จากกระทรวงการคลัง  กระทั่งวันที่ 15 มี.ค. แม่น้องเกดตัดสินกลับมาแจ้งสิทธิรับเงินเยียวยาอีกครั้งโดยให้เหตุผลว่าเท่า ที่พิจารณาแล้วจะไม่กระทบกับคดีแพ่งที่ฟ้องไปแล้ว  

“เงื่อนไขมันไม่ชัดเจน ที่ได้ยินมาเห็นออกข่าวโครมคราม ยุติคดีแพง อยากถามว่าแล้วอำนาจของฝ่ายบริหารสามารถแทรกแซงอำนาจตุลาการได้อย่างนั้น หรือ แสดงว่าคนที่มาเป็นรัฐบาลสามารถสั่งศาลได้อย่างนั้นหรือ” ณัทพัช กล่าวถึงเจตนาไม่แจ้งสิทธิรับเงินเยียวยาในช่วงวันแรกๆ

เป้าหมายจริงๆที่ครอบครัวอัคฮาดต้องการจากคดีแพ่งหากชนะคดีจะได้นำไปฟ้องคดีอาญาต่อไป “ผมต้องการเรื่องคดีความ ด้วยการเอาคนผิดมาลงโทษ สนใจเรื่องคดีความ ใครมาถามผมจ่ายเงิน ผมไม่รู้เรื่องจ่ายเมื่อไหร่ ส่วนคดีตอบได้หมด กรณีเกด ถ้าพวกผมไม่ตาม พวกคุณก็ไม่ดึงขึ้นมา พวกคุณดึงมา 13 ศพ แสดงว่าคุณไม่จริงใจในการดำเนินคดี ผมตามเรื่องนี้มากกว่า” 

ณัทพัชกับมารดา

กันต์ ตั้งข้อสังเกต  การเยียวยาเป็นการซอฟท์จิตใจให้ญาติเบาบางลง เพื่ออะไรหรือเปล่า พอจ่ายปุ๊บ วันต่อมามีข่าวว่า สถาบันหนึ่งเสนอแนะให้นิรโทษกรรม ผมบอกเลยชาติหน้า ถ้าผมยังอยู่ ผมไม่เอา เอาคืนไปก็ได้ เยียวยามาเท่าไหร่ ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 4 แสนเอาคืนไป ของกระทรวงยุติธรรม อีก 1.5 แสนบาท เอาคืนไปก็ได้”

ล่าสุดข้อสรุปของสถาบันพระปกเกล้า กมธฯเห็นควรให้มีการนิรโทษกรรม  กันต์จึงตั้งคำถามว่า นิรโทษให้ใคร "พวกผมไม่ได้ทำผิด ผมถามว่าให้ใคร คุณเอ่ยซิ พวกผมไม่ผิด คนตายไม่ผิด แล้วเพื่อใคร ดังนั้น ต้องถามตัวเองก่อนว่าให้ใคร ผมเป็นคนตรงนะไม่ไว้หน้าใคร ผมไม่ใช่นักการเมือง พี่สาวผมไม่ใช่นักการเมือง" 

แม้รัฐบาลให้ตำแหน่งปิดปากเคลื่อนไหวแต่ “กันต์” ยืนยันเดินหน้าติดตามความคืบหน้าคดีให้ผู้สูญเสียต่อไป “การให้ตำแหน่งไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับผม และการที่ทำแบบนี้ เพราะผมเป็นครอบครัวเดียวที่ออกมาต่อสู้ เขาถึงได้ทำแบบนี้ ถ้าพูดกันตรงๆ ผมบอกว่าจะเอาผมออกเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งเคยทำมาแล้วครั้งหนึ่งด้วยการประกาศลาออกกลางโต๊ะอาหาร เพราะถ้าอะไรที่เห็นว่ามันไม่ถูกต้อง ผมก็ไม่ไว้หน้าใคร”

วันนี้กันต์ยังไม่ลาออกแต่สถานการณ์ข้างหน้าก็ไม่แน่ "หลัง สงกรานต์ผมคาดว่าจะออกจากตำแหน่งมหาดไทย เพื่อมาบู๊ให้เต็มที่ เพราะถ้าคดีไม่คืบหน้าระหว่าง 2 ปีนี้ ผมบู๊แหลก เพราะพวกคุณ(รัฐบาล)เข้ามา 7 เดือนแล้ว  คดีไม่ไปถึงไหน รัฐทำงานเพื่อเกรงใจฝ่ายค้าน เฮกันไปมา และไม่เห็นค่า"

นี่จึงเป็นอีกกรณีตัวอย่างผ่านท่าทีญาติเหยื่อกับความพยายามรัฐบาลใช้ทุกวิถีทางสร้างความปรองดอง แม้แต่วิธีมุมมืดก็ตาม  


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พล.อ.สนธิ ผมไม่ใช่ต้นเหตุความขัดแย้ง ผมไม่ผิด

view