สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไขปม!แบงก์กรุงไทยปล่อยกู้ สยามอินดิก้า ล้างหนี้แทน บ.เพรซิเดนท์ฯ1,000 ล.

จากสำนักข่าวอิสรา

ไข คำตอบ!ปมแบงก์กรุงไทย ใจดีปล่อยกู้ “สยามอินดิก้า”ล้างหนี้แทน บ.เพรซิเดนท์ 1,000 ล้าน หลัง   “อภิชาติ จันทร์สกุลพร”หายตัวไร้รอย พร้อมสินค้าโกดัง เผยยอดหนี้ล่าสุดลดวูบเหลือหลักพันล้านอู้ฟู้ จ่ายเงินล่วงหน้า 2-3 งวด หลังฟันกำไรส่งข้าวออกอินโดฯ 3 แสนตัน ปลายปี 54 !

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ ในบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด หลายครั้งหลังเข้าทำสัญญารับซื้อหนี้ของบริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จากธนาคารกรุงไทย ในช่วงปี 2551
     
ทำให้ผู้บริหาร ธนาคารกรุงไทยถูกตั้งข้อสงสัยว่าเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มบริษัท เพรซิเดนท์ หรือไม่? เนื่องมีข้อมูลปรากฏชัดเจนว่า บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด กับ บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง แท้จริงแล้วเป็นบริษัทกลุ่มเดียวกัน โดยเฉพาะการปรากฏชื่อ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่
    
ใครจะปรากฏชื่อเป็น “ลูกหนี้” ก็คงไม่มีอะไรแตกต่างกันมากนัก?
    
มิ หนำซ้ำกระบวนการรับซื้อหนี้ดังกล่าว ธนาคารกรุงไทยยังยอมปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมให้กับบริษัทสยามอินดิก้าต่อไป เป็นจำนวนหนึ่งพันกว่าล้านบาท  หลังจากที่หลายสถาบันการเงินไม่กล้าที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มบริษัทนี้ อีก ส่งผลให้บริษัทในเครือข่ายของนายอภิชาติยังดำเนินธุรกิจค้าข้าวได้ต่อไป
  
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ในวงการการเงิน ว่า การอนุมัติให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เข้ามารับซื้อหนี้บริษัทเพรซิเดนท์ฯ จากธนาคารกรุงไทย ไม่ได้เป็นความพยายามของผู้บริหารกรุงไทย  ที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือบริษัทกลุ่มนี้ให้อยู่รอดต่อไป
   
ตรง กันข้าม กับเป็นความพยายามของผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ในการหาทางแก้ไขปัญหาหนี้เสียที่เกิดขึ้นจากการปล่อยกู้เงินให้กับบริษัทเพ รซิเดนท์ฯ มากกว่า 
    
“ ในการแก้ไขปัญหาหนี้เสียที่เกิดจากการกู้เงินไปทำธุรกิจส่งออกข้าว ของบริษัท เพรซิเดนท์ หลังจากมีการตรวจพบข้อมูลว่า บริษัทฯ ได้ไปติดต่อขอกู้เงินจากสถาบันการเงินหลายแห่งเป็นจำนวนเงินหลายพันล้านบาท  โดยใช้หลักฐานกู้เงินฉบับเดียวกัน ก่อนที่บริษัทฯแห่งนี้ จะถูกฟ้องล้มละลายในเวลาต่อมา”
     
แหล่งข่าวกล่าวว่า วิธีการที่ธนาคารกรุงไทย นำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาหนี้เสียครั้งนี้ คือ การให้บริษัทสยามอินดิก้า ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัท เพรซิเดนท์ เข้ามาทำสัญญารับซื้อหนี้ ของบริษัทเพรสซิเดนท์ ก่อนจะยอมปล่อยเงินกู้ให้ก้อนหนึ่ง เพื่อไปหมุนเวียนในการทำธุรกิจต่อ
    
“เมื่อ บริษัทสยามอินดิก้า มีกำไรในการส่งออกข้าว ก็จะถูกหักนำมาชำระหนี้ที่ค้างไว้อีกต่อหนึ่ง และเท่าที่ทราบวิธีการแก้ไขปัญหาหนี้ รูปแบบนี้ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ยอดหนี้ที่มีอยู่เดิมประมาณ 2,000 ล้าน ปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 1 พันกว่าล้านบาทเท่านั้น  และล่าสุดภายหลังจากที่ บริษัทสยามอินดิก้า ชนะการประมูลปรับปรุงข้าวเก่าในสต็อกรัฐบาล จำนวน 3 แสนตัน เพื่อส่งออกไปให้อินโดนิเซีย ในช่วงปลายปี 2554 ที่ผ่านมา บริษัทฯมีกำไรมากพอที่จะนำมาชำระหนี้ล่วงหน้า กับธนาคารกรุงไทย ถึง 2-3 งวดด้วย” แหล่งข่าวระบุ
      
แหล่งข่าวรายนี้ ยังระบุด้วยว่า การปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัท เพรซิเดนท์ฯ เพื่อไปทำธุรกิจส่งออกข้าว โดยใช้หลักฐานใบสั่งซื้อข้าว เป็นกระบวนการปล่อยกู้เงินปกติ ที่สถาบันการเงิน ดำเนินการกับบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจค้าขายสินค้าเกษตร ส่วนจะได้วงเงินมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับคำสั่งซื้อสินค้าที่บริษัทได้รับ
     
“บริษัท ที่ทำธุรกิจพืชผลทางการเกษตรรายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ก็ได้รับการปล่อยกู้เงินรูปแบบนี้ เมื่อนำแอล/ซี หรือใบสัญญาสั่งซื้อมาแสดงให้แบงก์ดู ก็เบิกเงินออกไปทำแล้วก็ส่งออก พอส่งออกแล้วมีเงินก็เอามาชำระคืน บริษัทข้าวใหญ่ ก็ทำแบบนี้เหมือนกันหมด ซึ่งทุกๆ ธนาคารให้วงเงินกับบริษัทเพรซิเดนท์ฯ เพราะในขณะนั้น เป็นเจ้าใหญ่ในการส่งออกข้าว และทำแบบนี้กันมานานมาก ประมาณ 4-5 ปี”
     
แหล่ง ข่าวกล่าวต่อไปว่า  “เท่าที่ทราบ สำหรับวงเงินที่ทางธนาคารกรุงไทย ปล่อยกู้ให้กับบริษัทเพรซิเดนท์  ในช่วงนั้น มีจำนวนสูงถึง 4,000 ล้านบาท เพราะบริษัทฯ มียอดปริมาณการส่งออกข้าวจำนวนมาก ก่อนจะค่อยๆ ลดลงตามลำดับ จนกระทั่งวงเงินเหลืออยู่ประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท ก่อนที่บริษัทฯ จะถูกตรวจพบว่า หลักฐานที่นำมายื่นเรื่องขอกู้เงิน ถูกนำไปเวียนขอกู้กับสถาบันการเงินอื่นด้วย ซึ่งจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่ปรากฏข้อมูลว่า หลักฐานที่นำไปยื่นสถาบันการเงินอื่น อันไหนเป็นของจริงหรือของปลอมบาง แต่ในส่วนของธนาคารกรุงไทย เท่าที่รู้กันในวงในของบรรดาเจ้าหนี้ ทั้งหลาย เป็นหลักฐานจริง ” “ ในการทำธุรกิจถ้าทำโดยปกติสุจริต พอมีคำสั่งซื้อข้าวเข้ามา คุณก็มาออกเงินจากแบงก์ไปทำ ทำเสร็จส่งออก เมื่อมีกำไร ก็จ่ายเงินคืนได้ แต่การดำเนินของบริษัทเพรซิเดนท์ มันกลายเป็นโอเวอร์เน็ท  เพราะวงเงินหนี้เกินจากสิ่งของที่มีอยู่หลังจากไปเรื่องกู้เงินไว้หลายที่ ทำให้หนี้ที่เกิดขึ้น แทนที่จะเป็นร้อย กลายเป็น สองร้อย สามร้อย สี่ร้อย แต่ของที่จะส่งออกมีร้อยเดียว มันก็เลยมีปัญหา”   แหล่งข่าวระบุ   
      
แหล่ง ข่าวกล่าวต่อไปว่า ในช่วงที่มีปัญหาเกิดขึ้น เท่าที่ทราบเจ้าหนี้ทุกคน ได้รีบเดินทางไปดูโกดังสินค้า ของบริษัทเพรซิเดนท์ฯ ทันที แต่ปรากฏว่า สินค้าหายไปหมด จากที่ก่อนหน้าประมาณหนึ่งเดือน ได้เข้าไปตรวจสอบ และพบว่ายังมีสินค้าอยู่เป็นจำนวนมาก
      
“เจ้าหนี้ทุกคนได้พยายามติดต่อ หาตัว ผู้บริหารบริษัท เพรสซิเดนท์ รวมถึงตัวนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร แต่ไม่มีใครหาเจอ”    
     
แหล่ง ข่าวกล่าวว่า ในขั้นตอนการแก้ไขปัญหาหนี้บริษัท เพรซิเดนท์ ทราบ ในส่วนธนาคารกรุงไทย หลังทราบเรื่องนี้ ผู้บริหารธนาคาร ได้ออกคำสั่งระงับการทำธุรกรรมทางเงินบริษัทในเครือ เพรสซิเดนท์ฯ คือ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด และ บริษัทสยามธัญรักษ์ จำกัด ที่ทำสัญญากู้เงินไว้กับกรุงไทย แห่งละ 1,000 ล้านบาททันที แม้ว่าการทำสัญญากู้เงินดังกล่าว จะเป็นสัญญาคนละส่วนกัน และใช้สินทรัพย์เกินวงเงินหนี้ 1 เท่า มาค้ำประกันไว้  ก็ตาม
       
“เข้า ใจว่า ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ในขณะนั้น คงจะกลัวว่า วงเงินกู้ของบริษัทในเครือ เพรซิเดนท์ จะมีปัญหาเกิดขึ้นแบบเดียวกัน เลยสั่งฟรีช (แช่แข็ง) การปล่อยงวดเงินกู้ของบริษัท ในเครือทั้งสองแห่งทันที โดยใช้ข้อมูลการปรากฏชื่อ อภิชาติ จันทร์สกุลพร ที่เข้าไปเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัท เหล่านี้ เป็นหลักฐานในการดำเนินงาน เนื่องจากในช่วงนั้น ไม่สามารถตามตัวนายอภิชาติได้ ”   
       
แหล่งข่าวกล่าวต่อไป ว่า  อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ธนาคารกรุงไทย ได้สั่งระงับการทำธุรกรรมทางการเงินบริษัทในเครือเพรซิเดนท์ แล้ว ทางบริษัทฯ ได้ส่งตัวแทนเข้ามาเจรจา เพื่อขอแก้ไขปัญหาหนี้สินรวมกัน โดยยืนยันว่า ต้องการที่จะทำธุรกิจนี้ต่อไป เพราะมีตลาดอยู่ในมือ พร้อมขอเงินกู้อีกก้อนหนึ่ง เบื้องต้นทางธนาคารกรุงไทย ได้ปฏิเสธไป ก่อนที่จะมีคิดหาแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินได้ ในเวลาต่อมา พร้อมกับเชิญตัวแทนบริษัทเข้ามาเจรจาอีกครั้ง  โดยยื่นเงื่อนไข ให้ทางบริษัท สยามอินดิก้าฯ เข้ามารับซื้อหนี้ของบริษัทเพรซิเดนท์ก่อน และการดำเนินธุรกิจของบริษัทสยามอินดิก้า จะต้องถูกควบคุมทางการเงินจากธนาคารกรุงไทยเอง 
         
“หลัง บรรลุข้อตกลงเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้ร่วมกัน ทางกรุงไทย จึงได้ทำการปรับโครงสร้างหนี้บริษัทกลุ่มนี้ใหม่ โดยในส่วนของสินทรัพย์ที่บริษัทสยามธัญรักษ์ ที่นำมาวงเงินค้ำประกันไว้ ถูกนำมาตีเป็นมูลค่าหนี้ และยึดมาอยู่ในความครอบของกรุงไทยในเวลาต่อมา  ส่วนบริษัทสยามอินด้า ในการทำธุรกิจช่วง  1-2 ปี ที่ผ่านมา ถูกคุมเข้มเรื่องการเงินอย่างเข้มงวด ทุกครั้งที่บริษัทฯ มีกำไร จากการส่งออกข้าว เงินจะถูกตัดเข้ามาชำระหนี้เก่าที่ค้างไว้ทันที ขณะที่การเบิกจ่ายเงินให้กับโรงสีต่างๆ ธนาคารจะจ่ายตรงไปที่โรงสีทันที โดยไม่ผ่านมือบริษัทด้วย และปัจจุบันธนาคารก็ยังจัดให้บริษัทสยามอินดิก้า อยู่ในบัญชีลูกค้าเอ็นพีแอล(ไม่ก่อให้เกิดรายได้) ด้วย”
     
แหล่ง ข่าว กล่าวว่า หลังได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้แล้ว บริษัทสยามอินดิก้า ได้รับการประมูลข้าวจากสต๊อกรัฐบาลจำนวนมาก แต่ไม่มีใครรับทราบว่า บริษัท สยามอินดิก้า ใช้กลยุทธ์อย่างไร ในขั้นตอนการดำเนินงาน แต่ก็ถือว่าบริษัทฯ ประสบความสำเร็จอย่างมาก มีกำไรเพียงพอที่จะชำระหนี้ที่ค้างอยู่กับธนาคารกรุงไทยได้ และก็มีข่าวว่า ขณะนี้ สถาบันการเงินบางแห่ง เตรียมที่จะปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัทสยามอินดิก้า ด้วย หลังจากที่มีแนวโน้มเป็นได้สูงว่า การระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล จำนวน 6.7 ล้านตัน จากการโครงการรับจำนำ ข้าวเปลือกนาปี 2554/2555 บริษัทฯ แห่งนี้ จะได้รับข้าวเข้ามาอีกเป็นจำนวนมาก
      
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้พยายามติดต่อผู้บริหารบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่ไม่สามารถติดต่อได้  
        
ก่อน หน้านี้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการ ผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย เคยให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ฉบับที่ 4200   เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2553 ว่า ธนาคารได้อนุมัติวงเงินหมุนเวียนให้แก่บริษัทสยาม อินดิก้าเพื่อใช้ในการปรับปรุงโรงปรับคุณภาพข้าวและท่าเรือ หลังจากก่อนหน้านี้ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อให้แก่บริษัทสยาม อินดิก้าอยู่แล้วประมาณ 1,000 ล้านบาท ในการลงทุนสร้างโรงปรับปรุงคุณภาพข้าว แต่เมื่อบริษัทแม่คือ บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ เกิดปัญหา “ธนาคารจึงไม่ให้วงเงินเพิ่ม”
       
อย่าง ไรก็ตามในเวลาต่อมา บริษัทสยามอินดิก้าได้แจ้งกลับมายังธนาคารว่า บริษัทได้ปรับโครงสร้างภายในจนถือว่าบริษัทไม่ได้เป็นนิติบุคคลเดียวกันกับ บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริฯ (ซึ่งกำลังตกเป็นจำเลยในคดีแพ่งและคดีฟ้องล้มละลายจากการผิดนัดชำระหนี้และ ฉ้อโกงหลายคดี) ธนาคารกรุงไทยได้พิจารณาแล้ว หากบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ หนี้ที่ให้ไปก่อนหน้าก็ต้องเป็นหนี้เสียเช่นกัน ธนาคารจึงหาวิธีควบคุมความเสี่ยง หากต้องให้วงเงินเพิ่มซึ่งก็เลือกใช้วิธีการบริหารเงินสด (cash management) เข้ามาช่วย โดยจะมีการใช้วงเงินก็ต่อเมื่อมีการซื้อข้าวเกิดขึ้นจริง และธนาคารเป็นคนสั่งจ่าย และเมื่อได้เงินชำระค่าข้าวแล้วก็ต้องนำเงินเข้าบัญชีทันที โดยไม่ให้ลูกค้าจับเงินสดหรือนำเงินออกไปใช้อย่างอื่น ทั้งนี้การปรับโครงสร้างหนี้กับกลุ่มเพรซิเดนท์ อะกริฯ ด้‰วยวิธีการซื้อหนี้ธนาคารกรุงไทยได้ปรึกษากับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้วว่า “สามารถกระทำได้”
       
รายงานข่าวระบุอีกว่า โดยขั้นตอนการปรับโครงสร้างดังกล่าว เกิดขึ้นจากที่บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ มีหนี้อยู่กับธนาคารกรุงไทย 2 ก้อนใหญ่ โดยก้อนหนึ่งเหลือมูลค่าการชำระอยู่ 1,000 กว่าล้านบาท ซึ่งธนาคารเชื่อว่าน่าจะหาทางแก้ไขได้ แต่เนื่องจากบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน นอกจาก “ตั๋วจำนำข้าว” ดังนั้นจึงต้องหาวิธีที่จะหาหลักทรัพย์ค้ำประกันมาไว้กับธนาคาร ซึ่งมีเพียงบริษัทสยามอินดิก้าที่มีหลักทรัพย์เป็นโรงปรับปรุงคุณภาพข้าว ท่าเรือ ที่ดิน
       
ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของการทำสัญญาซื้อหนี้ ของบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ ส่งผลให้บริษัทสยามอินดิก้า กลายเป็นเจ้าหนี้บริษัทแทนธนาคารกรุงไทย นอกจากนี้บริษัทสยามอินดิก้ายังได้กลายมาเป็นลูกค้าเงินกู้กับธนาคาร โดยวางหลักทรัพย์ที่จับต้องได้ไว้กับธนาคาร แทนที่จะเป็นตั๋วจำนำข้าวของบริษัท เพรซิเดนท์ อะกริฯ
       
เรื่อง นี้ก็เหมือนการรีไฟแนนซ์หนี้ กล่าวคือธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อไปให้บริษัทสยามอินดิก้า แล้วบริษัทสยาม อินดิก้าก็เอามาคืนธนาคารในฐานะที่เป็น ลูกหนี้ จากการซื้อหนี้ของบริษัทแม่คือ เพรซิเดนท์ อะกริฯ ออกไปจากธนาคารจำนวน 1,000 กว่าล้านบาท ซึ่งจะทำให้หนี้ของบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ ที่กำลังจะเป็นหนี้เสีย กลายเป็นหนี้ดี ส่วนวงเงินส่วนเกินจากการซื้อหนี้บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ ก็จะเป็นวงเงินหมุนเวียนของบริษัทสยาม อินดิก้าต่อไป

http://www.prachachat.net/view_news.php?newsid=02p0107120453§ionid=0201&day=2010-04-12


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ไขปม แบงก์กรุงไทย ปล่อยกู้ สยามอินดิก้า ล้างหนี้แทน บ.เพรซิเดนท์ฯ

view