สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สั่งเงินบาทอ่อนระวังเศรษฐกิจยิ่งช้ำ!

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ศรัณย์ กิจวศิน



สัปดาห์ที่ผ่านมา หันไปทางไหนก็มีแต่คนพูดถึง “วาทกรรมอันดุเดือด” ของท่านรองนายกรัฐมนตรี
 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ที่ยกตำแหน่งตัวเองขึ้นมา “เบ่ง” ใส่ “แบงก์ชาติ” แกมบังคับให้เข้าดูแลค่าเงินบาท เพื่อให้อ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับ 32-34 บาทต่อดอลลาร์ เพราะมองว่าค่าเงินบาทระดับนี้เป็นระดับที่สนับสนุนการส่งออกให้เติบโตได้ ในขณะที่ค่าเงินบาทสัปดาห์ดังกล่าว แกว่งตัวอยู่ในระดับ 30.60-30.80 บาทต่อดอลลาร์

 ภายหลังวาทกรรมทำนอง “ข่มขู่” ของท่านรองนายกฯ ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ข่าวสารในหลายๆ สำนัก ก็มีความเห็นจากบรรดา “นักเศรษฐศาสตร์” มากมายออกมาคอมเมนท์ในเรื่องนี้ ซึ่งเกือบทั้งหมด “ไม่เห็นด้วย” กับท่านรองนายกฯ เพราะเกรงว่า “ผลเสีย” จะมากกว่า “ผลดี”

 ประเด็นที่ นักเศรษฐศาสตร์ เกือบทั้งหมดไม่เห็นด้วย ไม่ใช่เป็นเรื่อง “เงินบาทอ่อน” แต่เป็นเรื่องความพยายามในการบังคับให้แบงก์ชาติเข้าแทรกแซงค่าเงิน จนกลายเป็นการ “บิดเบือนกลไกตลาด”

 ความจริงแล้ว รองนายกฯ ทราบดีว่า “กลไกตลาดที่ถูกบิดเบือน” ผลที่ตามมา คือ “การเก็งกำไร” เพราะสมัยที่ท่านนั่งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ ท่านพูดคำนี้ให้นักข่าวสายหุ้นฟังเป็นประจำ!

 กรณีค่าเงินบาทก็เช่นกัน ท่านผู้ว่าการแบงก์ชาติ “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” เคยอธิบายเรื่องนี้ไว้หลายครั้งว่า แบงก์ชาติ ไม่ได้ใช้ “อัตราแลกเปลี่ยน” มาเป็นตัว “กำหนดนโยบายการเงิน” จึงต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพราะถ้าไปฝืนจะมีแรงเก็งกำไรเข้ามาทันที ร้ายแรงสุดอาจซ้ำรอย “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ปี 2540 ได้

 ท่านผู้ว่าฯ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ ว่า ถ้าดุลยภาพของเงินบาทอยู่ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์ แต่เราไปทำให้เป็น 33 บาทต่อดอลลาร์ ก็จะมีแรงเก็งกำไรเข้ามา เพราะรู้ว่าเป็นดุลยภาพเทียม เนื่องจากมีแบงก์ชาติดูแลอยู่ ถ้าวันหนึ่งที่แบงก์ชาติดูแลต่อไปไม่ไหว ค่าเงินจะวิ่งกลับไปหาดุลยภาพแท้จริงของมัน คือ ที่ 30 บาท ถึงตอนนั้นนักลงทุนเหล่านี้เทขายออกมาก็จะได้กำไรทันที 3 บาท ถ้าเป็นแบบนี้เงินจะยิ่งไหลเข้ามา กลายเป็นว่าค่าเงินยิ่งแข็งขึ้น ภาระก็ยิ่งตกอยู่กับแบงก์ชาติ

 เรื่องนี้แม้แต่ เลขาธิการสภาพัฒน์ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ยังออกมาให้ความเห็นทำนองว่า ควรต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพราะมีผลกระทบกับเอกชนเป็นสำคัญ และหากค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง ก็ควรเป็นการอ่อนค่าที่เกิดจากการเร่งนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักร หรือการเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน มากกว่าที่จะเป็นการเข้าไปแทรกแซง

 นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ หลายคนยังมองว่า ถึงแม้จะกดให้เงินบาทอ่อนค่า แต่คงไม่ช่วยทำให้การส่งออกดีขึ้นมากนัก เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ “ราคา” สินค้าอย่างเดียว แต่อยู่ที่ “อำนาจซื้อ” ของผู้บริโภคด้วย ช่วงเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาแบบนี้คงหนีไม่พ้นที่อำนาจซื้อของคนจะลดลง ขณะเดียวกัน เงินบาทที่อ่อนค่า จะยิ่งทำให้ราคาพลังงานต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาแพงขึ้น จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงด้วย

 ความจริงแล้ว ถ้าดูทิศทางเงินบาทในช่วงจากนี้ไป “นักค้าเงิน” หลายคนมองตรงกันว่า เงินบาทมีแนวโน้มที่จะกลับมาอ่อนค่าจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนำเข้าที่เร่งตัวขึ้นจากการสั่งซื้อสินค้าทุนเพื่อมาชดเชยของเดิมที่เสียหายจากน้ำท่วม รวมไปถึงการส่งออกที่ชะลอลงจากปัญหาเศรษฐกิจโลก และการผลิตในประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ตลอดจนค่าเงินดอลลาร์อาจกลับมาแข็งขึ้น ทั้งหมดนี้ ล้วนแต่ทำให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงได้

 ดังนั้น ถ้าท่านรองนายกฯ ปรึกษาทีมเศรษฐกิจของตัวเองสักนิด ก็คงไม่ต้องใช้ตำแหน่งตัวเองมาอวดอ้างบังคับให้แบงก์ชาติทำในเรื่องที่ไม่คิดจะทำ!


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สั่งเงินบาทอ่อน ระวังเศรษฐกิจยิ่งช้ำ

view