สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ราชรถแห่งแผ่นดิน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

รายละเอียดงานตกแต่ง "พระมหาพิชัยราชรถ" ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
เช้าวันจันทร์ที่ 9 เมษายน 2555 เวลา 07.30 น. ขอเชิญพสกนิกรชาวไทย ร่วมถวายการไว้อาลัยใน พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง

เป็นอีกวาระหนึ่งที่ พระมหาพิชัยราชรถ ทำหน้าที่อัญเชิญพระศพตามโบราณราชประเพณี ในพระราชพิธีต่างๆ ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์นั้น ได้มีการอัญเชิญหรือเลือกใช้ ราชรถ และ ราชยาน ในหลายโอกาส

 ราชรถในสมัยโบราณ หมายถึง พาหนะแห่งองค์พระราชา น่าจะพัฒนามาจากเกวียนขนาดเล็กที่นั่งได้เพียงคนเดียวและเทียมด้วยม้าหรือสัตว์อื่นเช่น วัว ลา ล่อ หรือแม้แต่คน ตัวรถทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายสวยงาม ให้สง่างามสมกับที่จะใช้เป็นราชพาหนะแห่งองค์พระราชา ส่วนคำว่า "ราชยาน" หมายถึงเครื่องนำไป หรือพาหนะต่างๆ เช่น รถ เกวียน เรือ

เมื่อนำมาสมาสกับคำว่า "ราช" หมายถึงพระเจ้าแผ่นดิน จะหมายถึงพาหนะสำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์ ได้แก่ ราชรถ (รถพระที่นั่ง) ราชยาน พระคชาธาร (ช้างพระที่นั่ง) ม้าต้น และเรือพระที่นั่ง เป็นต้น แต่ถ้าพิจารณาจากคำเรียกขานโดยทั่วไปนับแต่สมัยโบราณเป็นต้นมา จะเห็นว่าความหมายของ "ราชยาน" ได้จำกัดวงแคบลงเฉพาะในกลุ่มของแคร่ วอ เสลี่ยง และคานหามหลวงคือของพระเจ้าแผ่นดินเป็นส่วนใหญ่ (ข้อมูล : กรมศิลปากร)

เนื่องในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ในวันที่ 9 เมษายน 2555 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญ พระมหาพิชัยราชรถ เพื่ออัญเชิญพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

โดยทั่วไป บุคคลธรรมดาเมื่อเข้าชม "ราชรถ" ในโรงราชรถ ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ก็อาจมองไม่ออกว่า พระมหาพิชัยราชรถ (ราชรถที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2338 และใช้เพื่อการพระบรมศพสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ในงานถวายพระเพลิง ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง ในปี พ.ศ. 2339) มีความแตกต่างจาก พระเวชยันตราชรถ (เป็นราชรถอีกองค์หนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่ออัญเชิญพระศพ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ในงานพระเมรุคู่กับสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี ซึ่งทรงใช้พระมหาพิชัยราชรถ พ.ศ. 2342) อย่างไร คุณ เด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าฝ่ายวิชาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พานำชมพร้อมบอกรายละเอียดของงานตกแต่งพระมหาพิชัยราชรถ ไว้ว่า

"ถ้าดูเผินๆ พระมหาพิชัยฯ กับ พระเวชยันตราชรถ ทั้งสององค์นี้มีรูปทรงเหมือนกัน ขนาดความกว้าง สูง ใกล้เคียงกันมาก ต้องดูในรายละเอียดก็จะพบความแตกต่างกันบ้างจุดค่ะ ที่เห็นทางกายภาพชัดเจนคือตัว กนกเศียรนาค พระมหาพิชัยฯ มีกนก 3 ตัว ถ้าเป็นเวชยันตราชรถ ทำเป็นรูปกนกหางไหล การประดับกนกมีลักษณะไหลลื่นไปเหมือนกับหางปลาไหล และ กระจังที่ประดับราชรถ ถ้าเป็นกระจังที่พระมหาพิชัยฯ  กระจังด้านหน้าเบี่ยงไปด้านหน้า ถ้ากระจังด้านหลังเบี่ยงไปทางด้านหลัง แต่ถ้าเป็นเวชยันตราชรถ กระจังจะเอนหลังหรือลู่หลังไปทั้งหมด

 อีกอย่างที่เห็นชัดคือ องศาหน้ารถ ต้องไปยืนตรงด้านหน้าเลยจะเห็นคือ พระมหาพิชัยฯ ไปยืนดูตรงๆ จะเห็นนาคเฉียงออกๆ ๆ ลดหลั่นลงไปทุกองค์ แต่ของเวชยันตราชรถ องศาจะบีบเข้า องค์ใหญ่ (พระมหาพิชัยราชรถ)องศาหันเหมือนเฉียงออกประมาณ 45 องศา อีกองค์ (เวชยันตราชรถ) ดูเหมือนหน้าตรง มองเห็นครุฑหน้าตรงจนเหมือนเป็นจะบีบเข้า ทำไมองศาไม่เท่ากัน

อาจเป็นความตั้งใจของช่าง หรืออาจเกิดจากการซ่อมในภายหลังก็เป็นได้ ไม่มีใครเกิดทันค่ะ ถึงขนาดว่ามีอยู่ยุคหนึ่ง ฝ่ายเผยแพร่บอกว่าจะเอารูปราชรถลงหน้าปกทำหนังสือ ดิฉันบอกว่าให้ระวังหน่อยนะจะลงราชรถองค์ไหน ฝ่ายเผยแพร่บอกว่าเหมือนกัน แต่เดี๋ยวนี้เราบอกว่าไม่เหมือนกัน สมัยก่อนเรายังไม่มีองค์ความรู้มาก อาจเป็นเพราะว่าไม่ได้สังเกต แต่พอสังเกตก็จะเห็นความแตกต่าง แม้ว่าราชรถทั้งสององค์จะมีขนาดเท่าๆ กัน แต่ความที่เราอยู่เราเห็นทุกวันก็พอจะสังเกตได้"

คุณเด่นดาว บอกอีกว่า ขนาดของราชรถทั้งสององค์ดูเท่ากัน น้ำหนักใกล้เคียงกัน จำนวนแถวของนาคก็เท่ากัน แต่ถ้าไม่ได้คลุกคลีอยู่ใกล้ชิดก็คงมองไม่ออกว่ายังมีรายละเอียดเล็กน้อยที่แตกต่าง

"เช่น ลายสลักของพระมหาพิชัยฯ ดูจะแน่นกว่า ใหญ่กว่า ครุฑดูสง่ากว่าสังเกตว่าเกล็ดแน่น ส่วนอีกองค์ตัวลายดูต่างกว่า พอสังเกตลงไปอีกตรงที่ เกรินราชรถด้านหน้า ก็มีรายละเอียดต่างกันเล็กน้อย เฉพาะส่วนล่างนะคะ ส่วนบนจะเหมือนกัน อีกอย่างคือ พื้นที่หน้ารถ ของพระมหาพิชัยฯ ดูมากกว่าและความเชิดสูงของเกรินราชรถก็สูงกว่านิดหน่อย ลองวัดดูได้จากส่วนสูงของตัวเองได้โดยลองไปยืนเทียบ มีอีกอย่างคือลายที่หน้ากระดานต่างกัน พระมหาพิชัยเป็นลายสี่เหลี่ยม เรียกว่า 'ประจำยาม' รูปกระจังคล้ายก้ามปู เรียกว่าลูกฟัก (ลายที่มีลักษณะเหมือนสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน) รวมเรียกว่าลาย ประจำยามก้ามปูลูกฟัก แต่เป็นลูกฟักสั้น ไส้ลูกฟักประกอบด้วยลายดอกไม้ 8 กลีบ อยู่เต็มลูกฟัก สองข้างประดับลายสามเหลี่ยมที่เป็นใบไม้

ส่วนเวชยันตราชรถเป็น ลายลูกฟักยาม ซึ่งก็นับว่าเป็นลายที่แปลกกว่าราชรถองค์อื่น ๆ ลายของราชรถน้อยที่เป็นทรงบุษบกก็จะเหมือนกับพระมหาพิชัยฯ เพียงแต่ขนาดและสัดส่วนเล็กกว่า ส่วนน้ำหนักตัวรถก็ใกล้เคียงกัน การตกแต่งประดับกระจกสีใช้สีขาวกับเขียว เป็นสีพื้นเหมือนกัน

การซ่อมแซมบูรณะเพื่อใช้งาน เนื่องจากพระมหาพิชัยฯ ได้ใช้ในงานพระราชพิธีมาตั้งแต่งานสมเด็จพระพี่นางฯ และสมเด็จย่า ดังนั้นก็ได้ซ่อมบูรณะต่อเนื่องกันมาหลายปี แต่องค์นี้ (เวชยันตราชรถ) ได้ใช้ในงานพระราชพิธีของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี แต่ก็แอบซ่อมไปเรื่อยๆ ด้วยก็จะสมบูรณ์กว่า แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระยศของสมเด็จเจ้าฟ้าภคินีฯ และทรงสถาปนาพระยศให้เป็นฉัตร 7 ชั้น และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระมหาพิชัยราชรถในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ"  

 แล้วเมื่อทรงโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว หน้าที่ซ่อมแซมปรับปรุงสภาพจึงเป็นของ "ช่างสิบหมู่" กรมศิลปากร

 "ตอนนี้พระมหาพิชัยฯ ซ่อมและตกแต่งอย่างเสร็จสมบูรณ์ ทำม่าน เครื่องระย้า หรือที่ห้อยจากม่านเรียกว่า เฟื่องระย้า เป็นตะกั่วชุบเงิน ม่านฉัตรเป็นผ้าทองแผ่ลวด ใช้กระดาษปิดทองตัดเป็นลวดลายแล้วเย็บติดกับผ้าด้วยไหมทอง เรียกว่าลายทองแผ่ลวด ที่เห็นอยู่บนฉัตรและม่าน ส่วนงานตกแต่งรอบราชรถประดับกระจกสีและปิดทอง ก็เสร็จสมบูรณ์แล้ว ส่วนสัตว์หิมพานต์ที่ใช้วางบริเวณรอบพระเมรุใช้ช่างฝีมือเมืองเพชร ปีนี้มีสัตว์หิมพานต์ตั้งชื่อขึ้นมาใหม่ ๆ ทางช่างเมืองเพชรปั้น ส่วนช่างของเราเขียนสี น่าจะมีราว 160 ตัว

 การซ่อมบำรุงเป็นหน้าที่ของกรมศิลปากร เนื่องจากทุกครั้งที่มีการนำออกใช้ก็มีความเสื่อมชำรุดของทอง กระจกสีอยู่บ้าง ก็ต้องดูแลอยู่เสมอ งานดูแลราชรถแบ่งเป็นสองส่วน เรื่องโครงสร้างเป็นของทหาร ส่วนงานประณีตศิลป์เป็นงานของช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เป็นงานละเอียดอ่อนได้แก่ งานแกะสลัก ซ่อม ปิดทอง ประดับกระจกลายดอกพุดสี่กลีบ เรายังมีอีกส่วนที่ต้องดูแลควบคู่กันไปด้วยคือ งานของส่วนวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ การทำความสะอาด และอนุรักษ์วัตถุโบราณด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างความสดใสแวววาว เพราะงานศิลปะโบราณวัตถุแต่ละชิ้น มีอายุยืนยาวกว่าสองร้อยปี"

นอกจากพระมหาพิชัยราชรถแล้ว ราชรถและราชยานสำหรับพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ยังประกอบด้วย พระยานมาศ 3 ลำคาน 2 องค์ ราชรถน้อย 2 องค์ (สำหรับพระสงฆ์นำกระบวนสวดพระอภิธรรม) เกรินบันไดนาค (ใช้อัญเชิญพระโกศพระบรมศพขึ้นหรือลง) พระวอสีวิกากาญจน์ (อัญเชิญพระราชสรีรางคาร) พระราเชนทรายาน (อัญเชิญพระอัฐิ) พระเสลี่ยงแว่นฟ้า, เสลี่ยงกลีบบัว  

 ซึ่งล้วนเป็นงานประณีตวิจิตรศิลป์ ประดิษฐ์และตกแต่งตามแบบราชประเพณีโบราณ
หมายเหตุ : ชมภาพมากกว่านี้ได้ที่ fan page เซ็คชั่น 'กรุงเทพวันอาทิตย์ กรุงเทพธุรกิจ' คลิก http://www.facebook.com/sundaybkk

สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ราชรถแห่งแผ่นดิน

view