สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การควบคุมเงินเฟ้อในประเทศไทย (2)

การควบคุมเงินเฟ้อในประเทศไทย (2)



ผมเชื่อว่านักเศรษฐศาสตร์เกือบทุกคนจะมองว่าเงินเฟ้อทุกแห่งหน คือ ปรากฏการณ์ทางการเงิน (Inflation is everywhere a monetary phenomenon)
ดังนั้น การควบคุมเงินเฟ้อย่อมจะต้องมาจบที่การควบคุมปริมาณของเงินในระบบ ซึ่งในขณะนี้ เงินเฟ้อจึงน่าจะเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะธนาคารกลางหลักของโลก คือ ธนาคารกลางสหรัฐ อีซีบี อังกฤษ และญี่ปุ่นได้พิมพ์เงินออกมาเป็นจำนวนมาก เพื่อกดดอกเบี้ยทั้งระยะสั้นและระยะยาวให้ต่ำผิดปกติ เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของตนฟื้นตัวจากปัญหาที่สืบเนื่องมาจากการล่มสลายของธนาคารเลแมน บราเธอร์ส เมื่อปี 2008  แม้ว่าธนาคารกลางและรัฐบาลของประเทศหลักของโลกจะทุ่มเทแรงกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 ปี แต่เศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรปก็ยังฟื้นตัวอย่างเปราะบางดังที่เห็นกันอยู่ในขณะนี้ คือ เศรษฐกิจสหรัฐยังขยายตัวได้เพียง 2% ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ปกติอย่างมาก ในขณะที่หลายประเทศในยุโรปก็ยังอยู่ในสภาวะถดถอยมาหลายปีแล้วและอาการก็ยังไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด
 

การพิมพ์เงินเป็นจำนวนมากดังกล่าวย่อมจะเป็นต้นเหตุสำคัญในการทำให้ราคาสินค้าบางประเภทที่มีปริมาณจำกัด เช่น ทองคำและน้ำมันปรับตัวขึ้นอย่างมาก นอกจากนั้น บางประเทศที่มิได้มีปัญหาเรื้อรังเช่นที่เกิดขึ้นในยุโรปและอเมริกาต้องมาเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย ซึ่งเศรษฐกิจขยายตัวได้ดีและมีการใช้ทรัพยากรใกล้ถึงขีดสูงสุดแล้ว แม้ว่าในระยะหลังนี้ความเป็นห่วงดังกล่าวจะผ่อนคลายลงบ้าง เพราะหลังจากจีนได้มีมาตรการควบคุมทางการเงินอย่างเข้มข้น ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัวลงจนบางคนเริ่มกลัวว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงอย่างรุนแรง (hard landing)
 

แต่โดยสรุปแล้วความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อน่าจะยังมีอยู่มาก และสำหรับประเทศไทยนั้นหากพิจารณาจากข้อมูลในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ก็จะมีข้อสรุปได้ว่า ปัญหาเงินเฟ้อของไทยนั้นจะเป็นเงินเฟ้อที่ “นำเข้า” มาจากต่างประเทศ กล่าวคือ หากเศรษฐกิจโลกมีปัญหาเงินเฟ้อเมื่อใด เศรษฐกิจไทยก็จะมีปัญหาเงินเฟ้อเมื่อนั้น เช่น ช่วงที่ไทยมีเงินเฟ้อสูงในช่วงทศวรรษ 70 (ซึ่งเงินเฟ้อของไทยสูงเป็นระดับตัวเลข 2 หลัก) ก็เป็นผลพวงมาจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกและการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากของธนาคารกลางสหรัฐในทศวรรษดังกล่าว
 

มาจนกระทั่งวันนี้ผมเชื่อว่าเงินเฟ้อของไทยยิ่งจะต้องถูกกำหนดโดยปัจจัยภายนอกมากกว่าปัจจัยภายใน เพราะ เมื่อ 40 ปีที่แล้วการส่งออกและนำเข้าของไทยมีสัดส่วนรวมกันประมาณ 40% ของจีดีพี แต่มาวันนี้สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 125% ของจีดีพีและแนวโน้มที่การส่งออกและนำเข้าจะขยายตัวสูงกว่าจีดีพีก็ยังมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ทำให้เชื่อได้ว่าในอนาคตปัจจัยภายนอกก็จะยังเป็นตัวกำหนดทิศทางเงินเฟ้อของประเทศไทย เพราะเศรษฐกิจไทยจะเปิดมากยิ่งขึ้น ประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในเชิงนโยบายเพราะหากเป็นเช่นนั้นจริงการควบคุมเงินเฟ้อของไทยย่อมจะขึ้นอยู่กับการควบคุมปริมาณเงินในประเทศน้อยกว่าการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะต้องถูกนำมาพูดคุยและปรึกษาหารือกันในเชิงวิชาการอย่างครบถ้วนซึ่งจะต้องใช้เวลาอย่างมาก จึงไม่ใช่ประเด็นที่ผมจะนำไปขยายความในขณะนี้
 

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ยังมีพื้นฐานทางเกษตรกรรมที่สำคัญ ทำให้เป็นประเทศที่ส่งออกสุทธิอาหารหลายประเภทและการส่งออกสินค้าเกษตรก็มีสัดส่วนสูงถึง 20% ของการส่งออกทั้งหมด นอกจากนั้น อาหารก็ยังมีสัดส่วนสำคัญในการคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภค (ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดเงินเฟ้อตัวหนึ่ง) โดยมีสัดส่วนสูงถึง 33% ของการคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภค ในขณะที่เชื้อเพลิงนั้นคิดเป็นสัดส่วนเพียง 5.3% แต่จะเห็นได้ว่าราคาอาหารกลับมีความสัมพันธ์ทางสถิติเพียง 35% กับดัชนีผู้บริโภคโดยรวม ในขณะเดียวกัน เชื้อเพลิงนั้นมีความสัมพันธ์ทางสถิติสูงถึง 78-79% (เหตุที่ผมคำนวณความสัมพันธ์ทั้งช่วง 10 ปี และ 5 ปีที่ผ่านมาก็เพื่อยืนยันว่ามีความสัมพันธ์เช่นนั้นจริง ไม่ว่าจะเลือกใช้ข้อมูล 5 ปีหรือ 10 ปีย้อนหลัง)
 

ผลดังกล่าวสามารถตีความได้ว่า ปัจจัยจากต่างประเทศเป็นตัวแปรในการชี้นำเงินเฟ้อมากกว่าปัจจัยในประเทศ กล่าวคือ ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบคิดเป็นสัดส่วนถึง 12% ของจีดีพี แม้ว่าจะส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันคิดเป็นสัดส่วน 2% ของจีดีพี (ทำให้นำเข้าสุทธิเท่ากับ 10% ของจีดีพี) แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนการนำเข้าที่สูงมาก ตัวอย่างเช่น ยุโรปและอเมริกานำเข้าน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2% ของจีดีพี จะเห็นได้ว่าหากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น เพราะนโยบายการเงินของประเทศพัฒนาแล้วทำให้ราคาน้ำมันและวัตถุดิบอื่นๆ ปรับสูงขึ้นก็จะส่งผลต่อเงินเฟ้อในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 

อันที่จริงแล้ววิธีประเมินผลกระทบจากปัจจัยภายนอกต่อเงินเฟ้อนั้น สามารถพิจารณาได้จากสัดส่วนของการนำเข้าและการส่งออกต่อจีดีพี เช่น หากขณะนี้ การนำเข้าเท่ากับ 62% ของจีดีพี หรือ 205,000 ล้านดอลลาร์ และราคาสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น 5% (เพราะเงินเฟ้อของโลกเพิ่มขึ้น) ก็หมายความว่า คนไทยจะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นอีก 10,250 ล้านดอลลาร์ เพื่อซื้อสินค้าเท่าเดิมหรือคิดเป็นเงินไทยเท่ากับ 317,750 ล้านบาท กล่าวคือ คนไทยจะต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นอีกคนละ ประมาณ 500 บาททันที แต่หากเศรษฐกิจโลกมีปัญหาเงินเฟ้อราคาสินค้าส่งออกของไทยก็จะต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วยและสินค้าส่งออกหลายรายการก็เป็นสินค้าที่บริโภคในประเทศ ดังนั้น เงินเฟ้อของโลกก็ย่อมจะทำให้ราคาสินค้าในประเทศไทยแพงขึ้นผ่านการส่งออกอีกด้วยมิใช่ด้านการนำเข้าด้านเดียว ข้อสรุปคือประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าและส่งออกคิดเป็นสัดส่วนสูงกว่า 100% ของจีดีพีเช่นไทยนั้นคงต้องยอมรับว่าเงินเฟ้อจะถูกกำหนดโดยปัจจัยภายนอกและอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าปัจจัยภายใน
 

อีกด้านหนึ่งที่อาจช่วยอธิบายได้ว่า ทำไมประเทศไทยจะสร้างเงินเฟ้อในประเทศไม่ได้อย่างต่อเนื่อง คือ การที่ไทยเป็นเศรษฐกิจเปิดทำให้เงินเฟ้อจะส่งผลอย่างรวดเร็ว คือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง และแม้ว่าการอ่อนค่าของเงินบาทจะช่วยลดการขาดดุลลงได้บ้าง แต่เมื่อไปผนวกกับเงินเฟ้อทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งจะแปลว่าการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะเพิ่มขึ้นไม่ได้ลดลงโดยเฉพาะในช่วงแรก ในอดีตประเทศไทยจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดนานมากไม่ได้ เพราะไม่มีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่มากนัก ทำให้ต้องดำเนินนโยบายทางการเงินและการคลังเพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจลงโดยเร็ว มิฉะนั้น ก็จะเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุนแรงตามมาเช่นในปี 1984 และ 1997 เป็นต้น
 

แต่ต้องยอมรับว่าในภาวะปัจจุบันที่ประเทศไทยมีทุนสำรองสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์นั้นประเทศไทยจะสามารถอยู่กับเงินเฟ้อที่ระดับสูงได้ยาวนานกว่าในอดีต  เช่น สมมติว่าประเทศไทยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในมากเกินไป ทำให้เงินเฟ้อสูง 5-6% และเริ่มขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นคิดเป็น 4-5% ของจีดีพีหรือเท่ากับประมาณ 14,000-17,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี หากทุนสำรองมีเพียง 70,000-80,000 ล้านดอลลาร์ (และไทยไม่มีปัญหาเงินทุนไหลเข้า-ออกเพราะหนี้ต่างประเทศต่ำ ซึ่งพอใกล้เคียงความจริงและ/หรืออาจตั้งเงื่อนไขเพื่อสกัดการเก็งกำไรเพิ่มเติมได้) ก็จะเห็นว่าไทยจะมีเงินเฟ้อสูงและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้ไม่นานกว่า 1-2 ปี แต่หากมีทุนสำรอง 200,000 ล้านดอลลาร์ ก็อาจเป็นไปได้ว่าเงินเฟ้อที่สร้างจากภายในประเทศจะสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้โดยการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องยินยอมที่จะขายทุนสำรองออกมาทดแทนส่วนที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งอาจทำเพราะอ้างได้ว่าเป็นการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ และลดการพึ่งพาการส่งออกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
 

ที่ผมกล่าวมานี้มิใช่เพราะผมเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว แต่เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าทิศทางเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อของไทยอาจเป็นดังนี้ก็ได้ครับ


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การควบคุมเงินเฟ้อในประเทศไทย (2)

view