สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กกต.ทำอย่างนี้เรียก สองมาตรฐาน ได้ไหม? (ตอนที่ 1)

กกต.ทำอย่างนี้เรียก "สองมาตรฐาน" ได้ไหม? (ตอนที่ 1)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เมื่อนักกฎหมายจากค่าย มสธ.ตั้งคำถามถึงมาตรฐานการทำงานของ กกต.กรณีเพิกถอนการสรรหา ส.ว. "สัก กอแสงเรือง" เทียบกรณี "จตุพร พรหมพันธุ์"
ก่อนวันสงกรานต์หนึ่งวัน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณาวินิจฉัยจากกรณีที่ กกต.ได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และ นายรังสรรค์ พลนิกรกิจ ร้องคัดค้านการสรรหามีมติเอกฉันท์ให้เพิกถอนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 32 ราย

โดยในข้อกล่าวหาที่ 3 ได้ร้องคัดค้านประเด็น นายสัก กอแสงเรือง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ได้รับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ตามมาตรา  115(9) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของ นายสัก กอแสงเรือง กกต.ได้มีมติให้เสนอศาลฎีกาเพื่อให้ศาลฎีกาวินิจฉัยและมีคำสั่ง ดังนี้

1.มีมติเอกฉันท์ให้เพิกถอนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา นายสัก กอแสงเรือง และให้ดำเนินการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาใหม่แทนตำแหน่งที่ว่าง ตามมาตรา 240 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 134 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550

2.มีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายสัก กอแสงเรือง

3.มีมติด้วยเสียงข้างมากให้ดำเนินคดีอาญาแก่ นายสัก กอแสงเรือง ตามมาตรา 161 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 และสภาทนายความตามมาตรา 137 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

แต่การร้องต่อศาลฎีกาในกรณีของ นายสัก กอแสงเรือง นี้ ผมมีความเห็นว่า กกต.ได้กระทำการ “สองมาตรฐาน” ในเรื่องลักษณะเดียวกันนี้ โดยพิจารณาเปรียบเทียบกับเรื่อง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ซึ่งมีปัญหาเกี่ยวการมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ต่างกันตรงที่กรณีของ นายสัก กอแสงเรือง เป็นสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหา แต่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ

หากผมจำไม่ผิดเรื่องของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นั้น ขณะนี้เรื่องได้อยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญและจะมีการอ่านคำพิพากษาในวันที่ 18 พ.ค.นี้ ซึ่งหากศาลตัดสินประการใดก็จะส่งผลให้มีการตั้งคำถามว่าทำไมมาตรฐานการส่งเรื่องไปศาลในประเด็นเรื่องการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามของสมาชิกรัฐสภาจึงมีความแตกต่างกัน ซึ่งการกระทำของ กกต.ในกรณีของ นายสัก กอแสงเรือง ทำให้ผมสงสัยและตั้งคำถามว่า ทำไม? เพราะเหตุใด? กกต.จึงเสนอเรื่องของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ซึ่งมีปัญหาเรื่องของการมีลักษณะต้องห้ามไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เสนอเรื่องไปศาลฎีกาเช่นเดียวกับกรณีของ นายสัก กอแสงเรือง ซึ่งมีปัญหาเรื่องการมีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกัน

ทั้งที่บทบัญญัติเรื่องการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามเป็นบทเดียวกัน คือ มาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และทำไม? เพราะเหตุใด? กกต.จึงไม่ดำเนินคดีกับ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้รับรองการมีคุณสมบัติและการไม่มีลักษณะต้องห้ามของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และพรรคเพื่อไทย ตามมาตรา 139 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ประกอบกับมาตรา 137 ประกอบกับมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เหมือนกับที่ให้ดำเนินคดีอาญาแก่ นายสัก กอแสงเรือง ตามมาตรา 161 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 และสภาทนายความตามมาตรา 137 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

และทำไม?เพราะเหตุใด? คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงไม่มีมติให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ผู้มีปัญหาการมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับที่มีมติให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นายสัก กอแสงเรือง ผู้มีปัญหาการมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญตามที่ กกต.เข้าใจและดำเนินการเช่นนั้น

แต่ปัญหาใหญ่ของเรื่องนี้ก็คือ นายสัก กอแสงเรือง เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 115(9) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจริงหรือไม่ ซึ่งผมมีความเห็นว่า กกต.ตีความข้อกฎหมายผิด เพราะผมเห็นว่ามาตรา 115(9) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และบทเฉพาะกาลเรื่องอายุของวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ไม่สามารถนำมาใช้บังคับกับวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาครั้งที่สองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้

ข้อสงสัยในประเด็นแรกที่ผมไม่เข้าใจว่า กกต.ใช้ข้อกฎหมายแตกต่างกันในเรื่องเดียวกันเหมือนกับไม่มีมาตรฐานการพิจารณาวินิจฉัย และอย่าอ้างว่ากรณี นายจตุพร พรหมพันธุ์ เป็นการวินิจฉัยเรื่องของการมีลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรณีของ นายสัก กอแสงเรือง เป็นการวินิจฉัยการมีลักษณะต้องห้ามของสมาชิกวุฒิสภา คงไม่สามารถอ้างได้อย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เพราะบทบัญญัติมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติไว้ว่า

“มาตรา 91 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลงตามมาตรา 106 (3)(4)(5)(6)(7)(8)และ(10)หรือ มาตรา 119 (3)(4)(5)(7)และ(8)แล้วแต่กรณี และให้ประธานแห่งสภาที่รับคำร้องส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพแห่งสมาชิกสภานั้นสิ้นสุดลงหรือไม่
 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งคำวินิจฉัยนั้นไปยังประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องตามวรรคหนึ่ง

ในกรณีที่ กกต.เห็นว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาคนใดคนหนึ่งมีเหตุสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งเรื่องไปยังประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก และให้ประธานแห่งสภานั้นส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง”

เมื่อ กกต.มีความเห็นว่า นายจตุพร พรหมพันธุ์ ซึ่งมีปัญหาเรื่องการมีลักษณะต้องห้ามการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเห็นว่า นายสัก กอแสงเรือง เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามการเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อ โดยเห็นว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 115(9) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550  ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 115(9) ดังกล่าว เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลงตามมาตรา 119(4) ก็ควรจะส่งศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเช่นเดียวกันและเหมือนกันตามบทบัญญัติลายลักษณ์อักษร  

แต่เพราะเหตุใด? จึงเลือกที่จะส่งศาลฎีกาเพื่อพิจารณาวินิจฉัยในกรณีของการคัดค้านการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา 240 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือที่แท้จริงหวังผลโดยมีความประสงค์จะดำเนินคดีอาญาแก่ นายสัก กอแสงเรือง ใช่หรือไม่ ทั้งที่กรณีนี้ไม่สามารถดำเนินคดีอาญาได้

กกต.จะอ้างว่าเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันกับเรื่องของ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาที่ 2112/2552 ซึ่งได้เคยมีคำวินิจฉัยไปแล้วโดยอาศัยมาตรา 240 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ว่าเป็นเรื่องลักษณะเดียวกับที่ กกต.ได้เคยเสนอไปศาลฎีกาและศาลได้ยกคำร้องของ กกต.แล้ว ก็ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ถึงแม้ศาลจะพิจารณาวินิจฉัยก็ไม่ได้ปรากฏคำวินิจฉัยเกี่ยวกับเขตอำนาจของศาลฎีกากับศาลรัฐธรรมนูญว่าศาลใดเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาในเรื่อง “การขาดสมาชิกภาพจากการขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม” อันเป็นเจตนารมณ์ของมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และศาลใดเป็นผู้พิจารณา “ความสุจริตและเที่ยงธรรมในการสรรหา” อันเป็นเจตนารมณ์ของมาตรา 240 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

จึงเห็นได้ว่า ตามมาตรา 240 มีเจตนารมณ์ที่จะให้ศาลฎีกาพิจารณา “ความไม่สุจริตและเที่ยงธรรมในการสรรหา” ใน 2 ประเด็น คือ การไม่ชอบด้วยกฎหมายของการสรรหา (หมายถึงการกระทำของคณะกรรมการสรรหาในการสรรหา ตามคำพิพากษาศาลฏีกา(แผนกคดีเลือกตั้ง)ที่ 2112/2552) และการกระทำของผู้รับการสรรหาที่ทำให้การสรรหาไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามมาตรา 238 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกรณีของการดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ของ นายสัก กอแสงเรือง เป็นข้อมูลที่ปรากฏชัดในสาธารณะ ทั้งในฐานข้อมูลของวุฒิสภา หน้าหนังสือพิมพ์ และที่สำคัญอย่างยิ่งคือในฐานข้อมูลการรับรองบุคคลที่ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาเมื่อปี พ.ศ.2543 ของ กกต.เองด้วย  

หากข้อเท็จจริงดังกล่าวปรากฏตามฐานข้อมูลดังกล่าว และในใบเสนอชื่อของสภาทนายความและในแบบให้ความยินยอมเสนอชื่อของ นายสัก กอแสงเรือง ที่เสนอต่อคณะกรรมการสรรหาที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการและ กกต.และย่อมต้องเป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องเสนอต่อคณะกรรมการสรรหา และหากมีข้อมูลดังกล่าวในการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหาแล้วหรือ กกต.ไม่เสนอข้อมูลทั้งที่ฐานข้อมูลอยู่กับ กกต.ไม่ว่าด้วยเหตุใด คงไม่เข้าลักษณะที่จะทำให้กระบวนการสรรหานั้น เป็นกระบวนการสรรหาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะอำนาจในการตีความคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามเป็นอำนาจของคณะกรรมการสรรหา และศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่อำนาจของ กกต.ที่จะตีความอีก และไม่เข้าลักษณะที่จะทำให้การสรรหากระทบต่อ “ความสุจริตและเที่ยงธรรมในการสรรหา”  

แต่ผมว่าในกรณีนี้น่าจะถือว่า กกต.และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นความรับผิดทางอาญาเสียมากกว่า เพราะหลังจากคณะกรรมการสรรหาดำเนินการเสร็จสิ้น กกต.เป็นผู้รับรองและประกาศผลการสรรหา จะเป็นการผิดซ้ำผิดซ้อนหรือไม่ หรือเรื่องลืมเสนอต่อศาลยุติธรรมให้พิจารณาความผิดของ กกต.และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปพร้อมกัน

ในข้อกฎหมายตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวการพิจารณาเรื่องคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมมีความเห็นมาตลอดว่าเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ศาลฎีกา

อย่างไรก็ตาม หากดำเนินเรื่องต่อไปและหาก กกต.และศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า การสรรหาที่เกี่ยวกับการสิ้นสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาเป็นเรื่องของการไม่ชอบด้วยกฎหมายของการสรรหาแล้ว ก็จะมีคำถามมากมายว่ากรณีใดที่เหลือให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 91 บ้าง และหาก กกต.และศาลฎีกาเห็นว่าการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาทุกกรณีเป็นเรื่องของการไม่ชอบด้วยกฎหมายของการสรรหาตามมาตรา 240 ทุกกรณีแล้ว ผมมีความเห็นว่ากรณีดังกล่าวเท่ากับ กกต.เป็นผู้เสนอให้ศาลฎีกาทำการยกเลิกบทบัญญัติมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ ในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาโดยศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยไม่ต้องเสนอให้รัฐสภาทำการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

กรณีนี้จะเรียกว่าหักดิบรัฐธรรมนูญและกฎหมายได้หรือไม่

กกต.ควรต้องเข้าใจในข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับขอบเขตของอำนาจหน้าที่ของตนให้ชัดเจนและกระทำการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของตนอย่างถูกต้องตามหลักการของกฎหมาย หรือเป็นไปตาม “นิติวิธี” ของการใช้และการตีความกฎหมายลายลักษณ์อักษร โดยไม่เกิดข้อกังขาว่ากำลังกระทำการใดที่เป็นการเลือกปฏิบัติ จนถึงขนาดที่เรียกได้ว่า “สองมาตรฐาน” หรือ “ไร้มาตรฐาน” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีของ นายสัก กอแสงเรือง หรือ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ที่มีการพิจารณาวินิจฉัยเสนอต่อศาลแตกต่างกัน ทั้งที่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเดียวกัน

ผมยังมีข้อสงสัยในตรรกวิธีคิดของ กกต.ในการพิจารณามาตรา 91 และมาตรา 240 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ว่าแยกปัญหาการมีลักษณะต้องห้ามของการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการมีลักษณะต้องห้ามของสมาชิกวุฒิสภาส่งไปยังศาลต่างกันได้อย่างไร ทั้งที่บทบัญญัติในมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติอยู่ในมาตราเดียวกัน  

นอกจากนี้ผมยังมีประเด็นที่ต้องนำเสนอต่อสาธารณชนให้ฉุกคิดเกี่ยวกับการกระทำของ กกต.ที่ผมกำลังตั้งคำถามว่ากระทำการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในกรณีของ นายสัก กอแสงเรือง และ นายจตุพร พรหมพันธุ์ เช่น การตีความคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น” ตามมาตรา 115(9) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ให้เกิดผลประหลาดในการตีความ โดยมีการตีความคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น” มีความหมายรวมถึง “สมาชิกวุฒิสภา” ในบท “คุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้าม” ของ “สมาชิกวุฒิสภา” ในมาตรา 115(9) แล้วมาตราอื่นในบทที่เกี่ยวกับ “วุฒิสภา” ในมาตรา 116 และมาตรา 117 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะตีความอย่างไร หรือการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น” จะนับอย่างไร

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กกต. ทำอย่างนี้ สองมาตรฐาน ได้ไหม

view