สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ขอย้ำให้หาข้อยุติด้วย ประชามติเสียงข้างมากพิเศษ

ขอย้ำให้หาข้อยุติด้วย “ประชามติเสียงข้างมากพิเศษ”

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สาเหตุที่การเมืองบ้านเรามันวกวนเวียนว่ายตายเกิดในวังวนเดิมๆ ไม่โผล่พ้นน้ำเสียที ก็เพราะคนจำนวนไม่น้อยในบ้านเรายังไม่เข้าใจว่าการเมือคืออะไร
ปัจจัยที่ทำให้คนไม่เข้าใจการเมืองไม่ใช่เรื่องวุฒิการศึกษา หรือสาขาการศึกษา เพราะในบรรดาคนที่ไม่เข้าใจการเมืองนี้ มีทั้งที่การศึกษาสูงและผู้ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา และในบรรดาคนที่ไม่เข้าใจการเมืองนี้ มีทั้งที่อยู่ในฝั่งต่อต้านและฝั่งสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นฝั่งพันธมิตร หรือฝั่งสนับสนุนอำนาจเก่า
 

การเมืองที่ว่านี้ ไม่ได้มีนิยามสลับซับซ้อนอะไรในทางทฤษฎีที่ต้องอาศัยภูมิปัญญาสูงส่งอะไรในการทำความเข้าใจ  เพราะ การเมือง ที่ว่านี้หมายถึง วิถีทางหรือหนทางที่คนเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและเป็นธรรม เท่านั้นเอง !  เป็นเรื่องที่ไม่เกินสามัญสำนึก
 

นั่นแหละ วิถีแบบไหนเล่าที่เราจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและเป็นธรรม  นี่คือ ปัญหาหรือคำถามหลักของการเมืองเลยทีเดียว
 

ถ้าเราจะเชื่อว่า การเมือง คือ เรื่องของอำนาจและอิทธิพล หรือการแย่งชิงผลประโยชน์ อย่างที่มักจะพบได้ตามข้อเขียนในสื่อมวลชนทั่วไป วังวนทางการเมืองก็จะกลายเป็นเรื่อง “ทีใครทีมัน”  ยามใคร พวกใครมีอำนาจ ก็สามารถครอบครองทรัพยากรและสามารถแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตัวได้เต็มที่ตราบที่ตนและพวกยังอยู่ในอำนาจ พอคนอื่นเขาขึ้นมามีอำนาจ เขาก็จะทำในสิ่งเดียวกันกับที่คนอื่นได้ทำไว้มาก่อน
 

ถ้าการเมืองเป็นเรื่องอย่างที่ว่า นั่นคือ “ทีใครทีมัน” เวลาใครขึ้นมามีอำนาจ แล้วใช้อำนาจและอิทธิพลที่มีอยู่กระทำการต่างๆ เพื่อประโยชน์ของตน คนอื่นๆ ก็คงไม่สามารถจะบ่นหรือเรียกร้องหา “ความเป็นธรรม” อะไรได้ เพราะ “กติกา” ของ “การเมือง” มันเป็นเช่นนั้น และทุกฝ่ายก็ยอมรับให้มันเป็นเช่นนั้น เมื่อคนอื่นมีอำนาจ คนที่ไม่มีอำนาจก็ต้องจำทนจำยอม จะทำได้ก็เพียงรอเวลาว่า เมื่อไรจะถึงทีข้า เท่านั้น เพราะ “ทีเอ็งข้าไม่ว่า ถึงทีข้าแล้ว เอ็งก็ไม่มีสิทธิโวยเหมือนกัน”
 

ถ้าการเมืองเป็นเรื่องอย่างที่ว่า ความยุติธรรมก็หาใช่อะไรอื่นนอกจาก “ผลประโยชน์หรืออะไรก็ตามที่คนที่มีอำนาจต้องการ” อะไรก็ตามที่ผู้มีอำนาจบอกว่า “ถูก” มันก็ต้อง “ถูก” อะไรที่ผู้มีอำนาจไม่ชอบ มันก็ “ไม่ถูก”  
 

ผู้มีอำนาจอยากจะออกกฎหมายอะไรออกมา กฎหมายนั่นก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องยุติธรรมในสายตาของผู้มีอำนาจ คนอื่นที่อยู่ในฝ่ายผู้มีอำนาจก็อาจจะชอบใจ คนที่ไม่เห็นด้วย ก็ต้องจำทนเอา เพื่อรอเวลาที่ตนจะมีอำนาจบ้าง
 

มันก็เป็นวังวนกันอยู่เช่นนี้ ในที่สุดก็จะถึงเวลาที่ออกมาห้ำหั่นกัน เพื่อพิสูจน์ว่า ใครคือผู้มีอำนาจ หรือใครกันแน่ที่ใหญ่ที่สุด ! ถ้านี่คือ การเมือง ถามว่า มันคือ วิถีหรือหนทางที่คนเราอยู่ร่วมกันอย่างสันติและเป็นธรรมหรือ และถามจริงๆ ที่ว่า ความยุติธรรม คือ สิ่งที่แล้วแต่ผู้มีอำนาจจะกำหนด !  มันใช่ความยุติธรรมแน่หรือ  ถ้าใช่ แล้วความอยุติธรรม และความไม่เป็นธรรม มันคืออะไร
 

ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการร่าง พ.ร.บ. ปรองดอง ซึ่งเป็นเรื่องที่เปราะบางอ่อนไหวและอาจนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างประชาชนในสังคมไทย จึงควรใช้กลไกนอกเหนือไป จากกลไกรัฐสภาในการหาข้อยุติที่ชอบธรรมมากกว่าการใช้เสียงข้างมากธรรมดาของสมาชิกผู้ทรงเกียรติในรัฐสภา นั่นคือ การทำประชามติ ที่เน้นเสียงข้างมากแบบพิเศษ การทำประชาธิปไตยถือเป็นประชาธิปไตยทางตรง ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถตัดสินใจโดยตรง ผ่านการลงคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิลงคะแนนทุกคน เพื่อที่จะรับหรือไม่รับข้อเสนอใดข้อเสนอหนึ่งที่มีการเสนอขึ้นมา เช่น ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือร่างกฎหมาย รวมทั้งการถอดถอนนักการเมืองหรือนโยบายรัฐบาล
 

การทำประชามติสามารถริเริ่มได้โดยภาคการเมืองและภาคประชาชน ภาคการเมือง ได้แก่ ในกรณีของประธานาธิบดีในประเทศฝรั่งเศส โรมาเนีย หรือในกรณีที่ริเริ่มโดยรัฐบาลหรือรัฐสภา ในประเทศกรีซ สเปน ในกรณีที่ริเริ่มโดยภาคประชาชน ทำได้โดยการเข้าชื่อกันเป็นจำนวนแล้วแต่ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศนั้นๆ การทำประชามตินั้นมีสองแบบ นั่นคือ แบบที่ต้องบังคับใช้ตามผลประชามติ กับแบบที่ไม่มีผลบังคับ ซึ่งประชามติอย่างหลังนี้ เกิดขึ้นเพียงเพื่อหยั่งเสียงเพื่อรัฐบาลหรือรัฐสภาจักได้นำไปประกอบการพิจารณาตีความในการตัดสินใจในเรื่องนั้นๆ เท่านั้น แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ก็มักจะถือตามผลประชามติที่ปรากฏออกมา
 

ผลประชามติที่จะถือได้ว่ามีความชอบธรรมที่จะนำไปบังคับใช้ หรือนำไปเป็นผลประกอบในการพิจารณาออกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือนโยบายที่สำคัญยิ่ง จะต้องเป็นผลที่เกิดจากการลงคะแนนเสียงที่มีจำนวนมากเพียงพอที่จะกล่าวว่าเป็นเสียงข้างมากของประชาชนจริงๆ นั่นคือ จะต้องเป็นเสียงข้างมากพิเศษ
 

ดังนั้น ในหลายประเทศ มักมีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของจำนวนผู้มาลงประชามติ อย่างประเทศอิตาลี กำหนดไว้ว่า การทำประชามติที่ชอบธรรมจะต้องมีจำนวนคนมาลงประชามติไม่ต่ำกว่าขั้นต่ำที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ ก็จักต้องกำหนดเกณฑ์ที่ชอบธรรมเพียงพอที่จะถือว่า คะแนนเสียงข้างมากเท่าไรถึงจะถือว่าผ่านหรือไม่ผ่าน รับหรือไม่รับ เช่น บางประเทศกำหนดไว้ว่า จะผ่านได้จะต้องมีคะแนนที่เห็นชอบเกินกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนคะแนนทั้งหมด หรือบางแห่งกำหนดไว้ถึง 3 ใน 4 เลยทีเดียว และหากการทำประชามติยังจะอยู่ในข่ายการตัดสินชัยชนะโดยเกณฑ์ผู้มีอำนาจมากกว่า (ในที่นี้ คือ มีจำนวนปริมาณมากกว่า) แต่ก็ชอบธรรมกว่าเพียงการอิงกับเสียงข้างมากในรัฐสภาเท่านั้น เพราะอย่างน้อย ผู้มีอำนาจหรือจำนวนที่มากกว่านี้ คือ ตัวประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริง ไม่ใช่ตัวแทน และแม้ว่าวิธีนี้ยังจะออกในแนว “ทีใคร ทีมัน” อยู่ แต่ก็เป็น “ทีของประชาชนส่วนใหญ่จริงๆ” และเราก็ไม่ได้ทำประชามติแบบนี้กันบ่อยๆ นัก


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ขอย้ำ หาข้อยุติด้วย ประชามติเสียงข้างมากพิเศษ

view