สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แปรสภาพตลาดหลักทรัพย์ ถึงไม่เดินหน้าแต่มีคำถามให้ช่วยกันคิด (1)

จากประชาชาติธุรกิจ

โดย นางทิพยสุดา ถาวรามร ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงาน ก.ล.ต.

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าคุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศนโยบายว่าจะไม่แปรสภาพตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  เพราะไม่เห็นความจำเป็น เป็นอันว่าเรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกแล้วอย่างน้อยก็ภายใต้รัฐบาลชุดนี้

เนื่องจากเรื่องนี้มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจำนวนมาก และสมาชิกของทั้ง 2 ฝ่ายก็ล้วนแต่คนในวงการที่มีเจตนาดีต่อตลาดหลักทรัพย์กันทั้งนั้น   ถ้าใครกำลังเลือกอยู่ว่าจะเห็นด้วยกับฝ่ายไหนดี  น่าจะมาทำความเข้าใจเบื้องหลังที่เป็นประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ดูหน่อยก่อน เมื่อเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้ว จะเลือกข้างไหนก็ไม่เป็นไร

ในครั้งที่ ก.ล.ต. เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อกระทรวงการคลังตั้งแต่ปี 2551  แนวคิดหลักคือการตั้งคำถามเชิงนโยบาย 3 เรื่อง  คือ (1) ยังจำเป็นต้องรักษาสถานะการผูกขาดของตลาดหลักทรัพย์ไว้ต่อไปหรือไม่ หรือควรเปิดให้มีคู่แข่งได้   (2) การส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ควรจะให้ผูกขาดอยู่ในวงของบริษัทหลักทรัพย์ในไทยเท่านั้นหรือไม่  และ (3) โครงสร้างอำนาจการตัดสินใจเพื่อบริหารกิจการของตลาดหลักทรัพย์ที่เหมาะสม ควรเป็นอย่างไร

คำถามแรก ยังจำเป็นต้องรักษาสถานะการผูกขาดของตลาดหลักทรัพย์ไว้ต่อไปหรือไม่

กฎหมายปัจจุบันไม่เปิดโอกาสให้ใครมาแข่งกับตลาดหลักทรัพย์ ได้  และก็มีผู้สนับสนุนว่าไม่เห็นจำเป็นต้องให้มีตลาดหลักทรัพย์อีกแห่งในประเทศ ไทยในเมื่อทุกวันนี้ก็ต้องแข่งกับตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศอยู่แล้ว ในประเด็นนี้ ก.ล.ต.มองว่า แนวโน้มการแข่งขันระหว่างตลาดหลักทรัพย์ต่างๆในโลกรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และในเมื่อประเทศไทยยังต้องพึ่งพาเงินลงทุนจากต่างประเทศอยู่มาก  ตลาดหลักทรัพย์ไทย จึงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องแข่งขันกับตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศในการดึง ดูดเงินทุนจากนักลงทุนทั่วโลก และจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศก็เห็นได้ชัดว่าการแข่งขันใน รูปแบบต่างๆจะนำมาซึ่งประสิทธิภาพ ดังนั้น ในร่างกฎหมายจึงเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันทั้งจากตลาดหลักทรัพย์อื่นหรือระบบ ซื้อขายหลักทรัพย์อื่นเกิดขึ้นได้เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุนและผู้ ระดมทุน และการเปิดให้มีการแข่งขันนี้ จะกระตุ้นให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องพัฒนาประสิทธิภาพและการให้บริการอย่างต่อ เนื่องซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ใช้บริการ ทั้งผู้ลงทุนและผู้ระดมทุน และช่วยให้แข่งขันกับต่างประเทศได้ด้วย

คำถามที่สอง  การส่งคำสั่งซื้อขายควรจะให้ผูกขาดอยู่ในวงของบริษัทหลักทรัพย์ในไทยเท่านั้นหรือไม่

แต่ก่อนนี้ ตลาดหลักทรัพย์ทุกแห่งก็มีการออกข้อบังคับจำกัดให้ต้องส่งคำสั่งซื้อขายผ่านสมาชิกของตนเท่านั้น และมีการจำกัดจำนวนสมาชิก ทำให้ค่าความเป็นสมาชิก (หรือที่เรียกกันว่า seat) นั้นมีค่ามาก แต่ต่อมาเมื่อตลาดทั้งหลายมีคู่แข่งมากๆ ก็จำเป็นต้องเปิดทางให้ผู้อื่นเข้าถึงระบบซื้อขายได้กว้างขวางขึ้น จึงเป็นที่มาของการแปรสภาพตลาดหลักทรัพย์จากคลับของโบรกเกอร์มาเป็นบริษัท แยกสิทธิความเป็นเจ้าของ (ที่ต้องการให้มีผู้เข้ามาใช้บริการมาก) ออกจากสิทธิในการเป็นผู้ใช้ระบบ (ที่ย่อมต้องการรักษาสิทธิพิเศษนี้ไว้)

สำหรับประเทศไทย ข้อจำกัดนี้ไม่ได้อยู่แค่ระดับข้อบังคับตลาด แต่ผูกไว้อย่างแน่นหนาในกฎหมายว่าการส่งคำสั่งซื้อขายจะต้องทำผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกเท่านั้น หมายความว่า ผู้ลงทุนที่ไม่ใช่บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์ที่ทำธุรกิจในประเทศอื่น (ซึ่งไม่ถือเป็นบริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายไทย) ไม่สามารถส่งคำสั่งโดยตรงได้ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ  ยกตัวอย่างเช่น หากผู้ลงทุนต่างชาติต้องการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นไทยผ่าน ASEAN Linkage ซึ่งเป็นโครงการเชื่อมโยงระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ต่างๆในอาเซียน จะต้องส่งผ่านโบรกเกอร์ในไทยอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งแม้ดูเหมือนจะเป็นประโยชน์กับโบรกเกอร์ไทยแต่ก็ทำให้ผู้ลงทุนมีต้นทุนเพิ่มโดยไม่จำเป็น และทำให้การซื้อขายหุ้นในตลาดไทยน่าสนใจน้อยลงเมื่อเทียบกับตลาดที่ไม่มีข้อจำกัดนี้  ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงยกเลิกข้อจำกัดนี้ออกไป เพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์สามารถเปิดช่องทางเข้าถึงระบบซื้อขายโดยตรงให้กว้างขวาง
ขึ้นได้หากเห็นว่าควรดำเนินกลยุทธ์เช่นนั้น

สำหรับคำถามที่ 3 จะเล่าสู่กันฟังในคราวต่อไป


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แปรสภาพตลาดหลักทรัพย์ ไม่เดินหน้า แต่มีคำถาม ให้ช่วยกันคิด (1)

view