สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดร.โกร่งมา...ถึงคราธนาคารกลางเปลี่ยน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ในที่สุดที่ประชุมคณะกรรมการสรรหา เพื่อคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการธนาคารแห่ง ประเทศไทย (กกธ.) ที่จะมาทำหน้าที่แทน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คน คือ คณิศ แสงสุพรรณ และ นนทพล นิ่มสมบุญ ที่หมดวาระลง ก็ลงมติกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยการประชุมบอร์ดสรรหาที่หารือกันในช่วงเช้าถึงเที่ยงวันที่ 14 พ.ค.ได้ข้อสรุปว่า จะเสนอชื่อ ดร.โกร่งวีรพงษ์ รามางกูร ขึ้นเป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ทิ้งคู่แข่งคือ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล และ เทียนฉาย กีระนันท์ ไปแบบไม่เห็นฝุ่น

“วันนี้ที่ประชุมก็ได้ข้อสรุปร่วมกันเรียบร้อย ก็เป็นไปตามโพลที่มีสื่อคาดการณ์กันคือ เสนอ อ.วีรพงษ์ เป็นประธานคนเดียว และอีก 2 คน ที่ควรนั่งเป็นบอร์ดผู้ทรงคุณวุฒิ จากการตรวจสอบคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติ ธปท.ของทั้ง 3 คน ก็ไม่มีใครมีคุณสมบัติขัดกฎหมาย ซึ่งประธานบอร์ดสรรหาคงจะได้นำรายชื่อประธาน ธปท.คนใหม่เสนอต่อ รมว.คลัง ต่อไป เพื่อที่ รมว.คลัง จะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ต้องทำภายใน 45 วัน” แหล่งข่าวจากบอร์ดสรรหาเปิดเผยผล

อย่างไรก็ตาม วีรพงษ์จะสามารถดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ธปท.ได้เพียงแค่ 1 ปีเศษเท่านั้น เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ธปท. ปี 2551 มาตรา 20 ข้อ (3) กำหนดไว้ว่า กรรมการจะพ้นตำแหน่งต่อเมื่อมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์

สำหรับวีรพงษ์นั้น เกิดเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2486 ปัจจุบันมีอายุ 68 ปี 8 เดือน ดังนั้นจะมีอายุในวาระเหลือแค่ 1 ปี 4 เดือน

การตัดสินใจเลือก ดร.โกร่ง ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารชาติรอบนี้ ไม่ได้ผิดไปจากการคาดการณ์ของสื่อมวลชนและนักการเงินแม้แต่น้อย

ไม่ใช่เพียงแค่คุณสมบัติครบถ้วนเท่านั้น...

หากแต่วิธีการ แนวคิด กระบวนการทำงานของธนาคารกลางที่ ดร.โกร่ง พยายามเสนอนั้น โดนใจฝ่ายการเมืองผู้กำหนดนโยบายชนิดที่แทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน

แม้ว่าจะมีความพยายามโยงว่า ดร.วีรพงษ์ ที่เป็นประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) นั้นมีคุณสมบัติขัดกับข้อกฎหมายของ ธปท.ที่ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นกรรมการ แต่ในที่สุดผลการตีความทางกฎหมายก็ระบุว่าการเป็นกรรมการ กยอ.นั้นไม่ขัด

 

ประธานกรรมการ ธปท.ก็สามารถทำงานควบคู่ไปกับบทบาทหน้าที่ของประธาน กยอ. ที่กำลังดำเนินงานอยู่ได้ ไม่จำเป็นต้องลาออก

ประเด็นที่ควรพิจารณาคือ การเข้ามาของ ดร.โกร่ง ในฐานะประธานกรรมการธนาคารกลางนั้นจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายของ ธนาคารชาติมากน้อยแค่ไหน

เป็นที่รับรู้กันในวงกว้างว่า “ดร.โกร่ง” และ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจและ รมว.คลัง ของรัฐบาลนี้ วิจารณ์แนวบริหารมาตรการการเงิน ธปท.ที่ผ่านมาอย่างรุนแรง และแสดงความต้องการชัดเจนที่จะตัดส่วนทุนสำรองออกมาตั้งกองทุนความมั่งคั่ง เรียกร้องให้ ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบายลงและชื่นชอบนโยบาย “บาทอ่อน”

ดังนั้น ถ้า “ดร.โกร่ง” เป็นประธานบอร์ด ธปท.คนใหม่ ก็คงเห็นนโยบายเศรษฐกิจมหภาคไทยเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ

แม้ในทางกฎหมายตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท.ไม่ได้มีอำนาจสิทธิขาดชี้ทิศนโยบายเศรษฐกิจไปเสียทีเดียวแบบซ้ายหัน ขวาหัน เพราะตามกฎหมายใหม่แบงก์ชาตินั้น บอร์ด ธปท.ทำหน้าที่เป็นบอร์ดผู้รู้ที่ให้คำปรึกษาแนะนำเท่านั้น

ขณะที่การตัดสินใจบริหารจัดการจริงนั้นเป็นของคณะกรรมการอีก 3 ชุด คือ คณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน ซึ่งมีผู้ว่าการ ธปท.เป็นประธานในแต่ละคณะ

แต่ถ้าประธานบอร์ดกับผู้ว่าการ ธปท.มีความเห็นที่แตกต่างกันชนิดสุดขั้วคงไม่ต้องทายกันว่า จากนี้ไปนโยบายเศรษฐกิจและการบริหารจัดการนโยบายการเงินจะร้อนระอุเพียงใด

คอลัมน์ คนเดินตรอก ในประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 9-11 เม.ย. 2555 ที่เขียนโดย วีรพงษ์ รามางกูร ในเรื่อง การบริหารจัดการมหเศรษฐกิจหรือเศรษฐกิจส่วนรวมน่าจะสะท้อนภาพที่น่าจะเป็น จุดเปลี่ยนทางนโยบายการเงินของประเทศได้

ดร.โกร่ง ระบุว่า ทุกวันนี้และในทุกประเทศที่พูดว่าเศรษฐกิจของตนเป็นระบบเศรษฐกิจเสรี มีกลไกการตลาดเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าทิศทางเศรษฐกิจของตนจะไปในทิศทางใด ระดับราคาสินค้าและบริการอัตราดอกเบี้ย ระดับการจ้างงาน อัตราค่าจ้างแรงงาน ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด แต่ไม่มีประเทศใดปล่อยทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาดอย่างเสรีจริง

แม้แต่สหรัฐอเมริกาที่ประชาชนมีค่านิยมไปในทางเสรีนิยมอย่างสุดโต่ง ก็ยังต้องมีการจัดการเศรษฐกิจมหภาค คอยคัดหางเสือให้เรือแล่นไปในทิศทางที่ต้องการ การบริหารจัดการให้ระบบเศรษฐกิจเดินไปในทิศทางที่วางแผนไว้ในอนาคตสัก 510 ปีข้างหน้า

การที่ระบบเศรษฐกิจจะเจริญเติบโต ขยายตัวมั่งคั่งขึ้นก็จะต้องมีการลงทุน ผู้ที่จะลงทุนก็มีเอกชนกับรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ

ทีนี้ลองมาดูเศรษฐกิจประเทศไทยของเรา เราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาโดยตลอด นับดูแล้วตั้งแต่ปี 2541 มาจนถึงปี 2554 คือ 14 ปีมานี้ รวมยอดการเกินดุลการออมหรือการออมสุทธิ ซึ่งเท่ากับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดรวมได้กว่า 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ รวมเอาไปใช้หนี้ไอเอ็มเอฟก็แค่ 1.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

ดังนั้น ในทุนสำรองระหว่างประเทศทั้งหมด 1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เป็นเงินที่เราทำมาหาได้เองเสียประมาณ 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ที่เหลืออีก 67 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ที่เกินมาก็เป็นเพราะใน 14 ปีที่ผ่านมาเงินไหลเข้าประเทศในรูปของเงินทุนสูงกว่าเงินไหลออก 67 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ อีกทั้งเงิน 67 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ที่ไหลเข้ามากกว่าไหลออกเป็นการลงทุนโดยตรง

ส่วนที่เหลือซึ่งส่วนมากไม่ได้มาในรูปเงินตรา แต่มาในรูปเครื่องจักรเครื่องยนต์กลไก โรงงาน โรงเรือน ฯลฯ ซึ่งไหลออกไปไม่ได้ง่ายๆ นอกจากขายให้คนไทยแล้วเอาเงินออกไป

อีกส่วนคือ เงินกู้ยืม เช่น รัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ กู้ยืมเงินตราต่างประเทศมาใช้จ่ายเพื่อการลงทุน สร้างถนนหนทาง ท่าเรือ สนามบิน ทางรถไฟ หรือเอกชนออกหุ้นกู้มาขยายงาน เงินกู้เหล่านี้มีทั้งระยะสั้นไม่เกินปี และระยะยาว 5 ปี 10 ปี ที่เหลือก็เป็นเงินไหลเข้ามาซื้อตราสารหนี้ ซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ พันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้

เมื่อเป็นอย่างนี้เราควรจะเปลี่ยนทัศนคติได้แล้วว่า ประเทศของเราไม่ได้เป็นประเทศที่ลงทุนเกินตัวหรือเกินไป แต่เป็นประเทศที่ลงทุนน้อยเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับการทำมาหาได้

ถ้าเราจะเร่งรัดการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ จนทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล ถ้าจะขาดดุลสักปีละ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดต่อกันสัก 10 ปี ทุนสำรองที่มาจากลำแข้งตนเองก็จะหมดไปเพียง 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น แต่ประเทศจะได้มีรถไฟความเร็วสูงใช้ทั้งประเทศ

ได้ท่าเรือน้ำลึกใหม่ ได้สนามบินที่ใหญ่และทันสมัยกว่าเดิม ได้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยมากขึ้น

ประเทศก็จะเปลี่ยนโฉมก้าวขึ้นสู่ระดับการพัฒนาอีกระดับหนึ่ง เพราะความสามารถในการแข่งขันจะสูงขึ้น โดยไม่เป็นอันตรายต่อเสถียรภาพทางการเงินเลย ทุนสำรองระหว่างประเทศก็จะยังมีเหลืออยู่อีกกว่า 1.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

ปฏิบัติการทางนโยบายหลังจากนี้ไปจะเป็นแบบนี้แน่นอน


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ดร.โกร่ง ถึงครา ธนาคารกลางเปลี่ยน

view