สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จับตามะกัน ล้อมคอก การเงิน ศึกวัดใจรัฐท้าชนเอกชน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

เล่นเอานักลงทุนทั่วโลก รวมถึงประชาชนชาวสหรัฐเสียวสันหลังวาบไปตามๆ กัน ทันทีที่ เจมี ดิมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของธนาคารเจพีมอร์แกน เชส สถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐ ลุกขึ้นมาประกาศยอมรับความผิดพลาดในการบริหารจัดการ จนทำให้บริษัทขาดทุนอย่างหนักถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 6.2 หมื่นล้านบาท) เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

เนื่องจากการขาดทุนในครั้งนี้ อดทำให้หวาดผวาไม่ได้ว่า ผี “เลห์แมน บราเธอร์ส” จะตามมาหลอกหลอนกันอีกครั้ง แม้ว่าซีอีโออย่างดิมอน ผู้ได้รับการเชื่อถือมากที่สุดหลังจากที่นำพาเจพีมอร์แกน เชส ฝ่าวิกฤตเมื่อปี 2551 มาได้อย่างสง่างาม จะยืนกรานเสียงแข็งว่าการขาดทุนในครั้งนี้ ไม่กระทบรุนแรงจนถึงขั้นล้มละลายก็ตาม

เห็นได้จากราคาหุ้นในตลาดของเจพีมอร์แกน เชส ที่ดิ่งลงเมื่อวันที่ 11 พ.ค. กว่า 9.3% แถมยังลากหุ้นหลักๆ ของภาคการเงินในตลาดสหรัฐให้ร่วงตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นมอร์แกน สแตนเลย์ ซิตี้กรุ๊ป หรือโกลด์แมน แซคส์ ขณะที่ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก ถึงขั้นประกาศปรับลดอันดับเครดิตลงหนึ่งขั้นจาก AA- เหลือ AAA+ ส่วนสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ (เอสแอนด์พี) ปรับมุมมองเดรดิตเป็นลบ

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางข่าวร้ายน่าหวั่นใจ เหล่านักวิเคราะห์และนักวิชาส่วนหนึ่งกลับเห็นว่า การขาดทุนยับของเจพีมอร์แกน เชส ที่เกิดขึ้นครั้งนี้นับเป็นเรื่องดี

เนื่องจาก “ความดัง” และ “ความแรง” ที่เกิดขึ้น ทำให้กระแสการปฏิรูปกฎหมายเพื่อควบคุมระบบการเงินของประเทศโหมกระพือขึ้นมาอีกครั้ง

ถึงขั้นที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐ ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านทางสถานีโทรทัศน์เอบีซี ว่าความผิดพลาดของธนาคารที่ได้ชื่อว่าเก่งที่สุดและแม่นที่สุด ทำให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีการกำกับดูแลภาคธนาคารให้เข้มงวด และเพราะธนาคารเหล่านี้ต่างก็มีเงินภาษีของประชาชนคอยค้ำอยู่ ดังนั้นจึงไม่สมควรที่ธนาคารเหล่านี้จะเข้าไปเสี่ยง

 

“เพราะท้ายที่สุด อาจต้องจบลงด้วยการนำเงินภาษีของประชาชนเข้าไปอุ้มอีกครั้ง” ประธานาธิบดีโอบามา กล่าว

ทั้งนี้ ภายหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อ 4 ที่แล้ว รัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโอบามา ได้เดินหน้าผลักดันกฎระเบียบต่างๆ ออกมา โดยกฎที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดก็คือ ดอดด์ แฟรงก์ ซึ่งสภาอนุมัติเมื่อปี 2553 เพื่อควบคุมไม่ให้ธนาคารและสถาบันการเงินทั้งหลาย นำเงินไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ด้วยการเก็งกำไรอย่างสนุกมือจนเกินไปในตลาด อนุพันธ์ ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ หรือตลาดซื้อขายล่วงหน้าอื่นๆ

แต่เอาเข้าจริง แม้สภาจะผ่านความเห็นชอบให้มีการปฏิรูปกฎระเบียบของภาคการเงินให้เข้มงวดกวด ขัน แต่รายละเอียดปลีกย่อยของการบังคับใช้และบทลงโทษก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ชัดเจน

พูดให้เข้าใจง่ายก็คือว่า กฎต่างๆ โดนสกัดโดนล็อบบี้กันอย่างสุดฤทธิ์สุดเดช ด้วยฝีมือของภาคเอกชนที่ไม่ต้องการให้หนทางทำเงินเข้ากระเป๋าถูกจำกัด

ประเด็นที่เข้าตาเป็นที่จับตามองและได้รับการพูดถึงมากที่สุดสำหรับการ เดินหน้าล้อมคอกการเงินในครั้งนี้ ก็คือกฎ “วอล์กเกอร์” ที่ใช้ชื่อตาม พอล วอล์กเกอร์ นักเศรษฐศาสตร์ อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สมัยประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ และโรนัลด์ เรแกน

สาระสำคัญของกฎวอล์กเกอร์ คือการจำกัดการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท (Proprietary Trading) หรือการห้ามไม่ให้ธนาคารนำทรัพย์สินของบริษัทไปซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนมีความเสี่ยงสูงเพื่อแสวงหากำไรโดยตรง เพื่อป้องกันไม่ให้ธนาคารเผชิญหน้ากับการขาดทุนเหมือนเช่นที่ เจพีมอร์แกน เชส ประสบอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารเห็นว่าการบังคับใช้กฎดังกล่าว จะทำลายสองหน้าที่หลักของธนาคารทันที กล่าวคือ การสร้างตลาดให้ลูกค้าที่ต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน กับการบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อป้องกันการขาดทุน

ยิ่งไปกว่านั้น บรรดาธนาคารและสถาบันการเงินเอกชนทั้งหลายยังให้เหตุผลว่า การซื้อ-ขายหลักทรัพย์ของบริษัทไม่ได้เป็นต้นตอของการเกิดวิกฤตการเงินในปี 2551 แถมกฎที่ว่าเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองท่ามกลางกระแสสังคมที่กำลังชิง ชังสถาบันการเงิน

ขณะที่อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ทำให้กฎวอล์กเกอร์นำมาบังคับใช้ได้ยากก็คือ การควานหาวิธีที่จะแยกแยะให้ได้ว่า การซื้อขายของธนาคารเอกชนที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง เป็นไปเพื่อตนเองหรือเพื่อลูกค้าธนาคาร

สำหรับประเด็นรองลงมาก็คือ การเดินหน้าเลิกระบบอุ้ม ซึ่งต้องย้อนไปถึงวลีเด็ดจากปากอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ได้ประกาศลั่นไว้เมื่อครั้งที่รัฐบาลต้องเข้าไปอุ้มเอไอจี บริษัทประกันรายใหญ่ที่ประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก เมื่อหลังปี 2008 ว่า “Too Big Too Fail” ที่ในครั้งนี้ สหรัฐเห็นว่าขนาดของเอไอจีนั้นใหญ่เกินไปกว่าที่จะปล่อยให้ล้มไปเหมือนกับเล ห์แมน บราเธอร์ส และได้ตัดสินใจใช้เงินภาษีประชาชนไปอุ้มเอกชนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของ สหรัฐทีเดียว

แต่เดิมนั้น หากธนาคารใหญ่ๆ ประสบปัญหา รัฐบาลมักจะเดินหน้าให้เงินช่วยเหลือ เนื่องจากเกรงว่า การล้มของยักษ์ใหญ่จะสะเทือนภาคการเงินทั้งหมด และลามไปสู่ภาคธุรกิจจริงที่ต้องพึ่งพาในฐานะแหล่งเงินทุน

ตามกฎระเบียบใหม่นี้ รัฐบาลสหรัฐจะไม่มีสิทธิให้เงินช่วยเหลือใดๆ อีกต่อไปเหมือนที่เป็นมา แต่จะมีอำนาจเต็มที่ที่จะสั่งปิดกิจการทันทีที่เห็นว่าการล้มของบริษัทดัง กล่าว เป็นภัยคุกคามลุกลามต่อระบบการเงินโดยรวม และเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจประเทศ

ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวได้รับการยอมรับจากฝ่ายรัฐและฝ่ายเอกชน แต่ปัญหาก็คือรายละเอียดปลีกย่อย โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องที่ใครจะเป็นคนจัดการทรัพย์สินที่เหลืออยู่ของ บริษัท ระหว่างรัฐบาลหรือเป็นบริษัทนั้นๆ เอง

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่หน่วยงานภายใต้รัฐบาลอย่างคณะกรรมการซื้อขายอนุพันธ์ ฟิวเจอร์สสินค้าโภคภัณฑ์ของสหรัฐ (ซีเอฟทีซี) จะเข้าคุมการลงทุนที่ซับซ้อนอย่างในตลาดตราสารอนุพันธ์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ธนาคารเอกชนทั้งหลายมองว่า จะทำให้ธนาคารมีต้นทุนต้องแบกรับ และทำให้ไม่สามารถใช้ตราสารอนุพันธ์เป็นสินทรัพย์เพื่อป้องกันความเสี่ยงได้

ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยความที่ธนาคารหลายแห่งของสหรัฐมีขนาดใหญ่ทำให้มีหน่วยงานสาขาอยู่ใน ประเทศต่างๆ ทั่วโลก การบังคับใช้กฎของสหรัฐจึงจำต้องได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลประเทศนั้นๆ ด้วย ซึ่งเท่าที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐยอมรับว่าการประสานงานยังไม่ดีเท่าที่ควร

หลักฐานยืนยันก็คือ กรณีการขาดทุนของเจพีมอร์แกน เชส ในครั้งนี้ โดยสำนักข่าวต่างประเทศต่างรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากวงในระบุว่า เกิดการระแคะระคายตั้งแต่เดือน เม.ย.แล้วว่า การลงทุนในตลาดอนุพันธ์ของเจพีมอร์แกน เชส มีการขาดทุน แต่รัฐบาลสหรัฐไม่สามารถตามตรวจสอบได้ เนื่องจากขาดการประสานงานขอข้อมูลจากอังกฤษ ซึ่งเป็นสาขาที่เจพีมอร์แกน เชส ขาดทุนมหาศาล

ยังไม่นับรวมถึงข้อเท็จจริงที่รับรู้กันเป็นอย่างดีว่า ความอืดอาดล่าช้าของการยกเครื่องล้อมคอกภาคการเงินของประเทศ มาจากสถานะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและเอกชนนั้นเอง ที่ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายรับ และอีกฝ่ายเป็นฝ่ายให้ หรืออาจจะลึกซึ้งถึงขั้นที่ฝ่ายการเมืองเป็นลูกค้าคนสำคัญของธนาคาร

อย่างเช่น ล่าสุดที่มีการเปิดเผยออกมาแล้วว่า แม้กระทั่งประธานาธิบดีโอบามา ก็ยังถือหุ้นในบริษัท เจพีมอร์แกน เชส มูลค่าราว 1 ล้านเหรียญสหรัฐ

แน่นอนว่า การเอาจริงเอาจังเดินหน้าปฏิรูปกฎหมายของรัฐบาลสหรัฐเพื่อป้องกันไม่ให้ สถาบันการเงินเห็นแก่ความมั่งคั่งของตนเองย่อมเป็นเรื่องที่สมควรสนับสนุน และลงมือทำอย่างเต็มที่

เพียงแต่เมื่อพิจารณาจากอุปสรรคที่ประดังเข้ามา ก็เป็นเรื่องที่ต้องวัดใจรัฐบาลสหรัฐกันต่อไปว่า จะเอาแน่ได้มากแค่ไหนกับทางเลือกระหว่างผลประโยชน์ตัวกับผลประโยชน์ชาติ...!


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จับตามะกัน ล้อมคอก การเงิน ศึกวัดใจ รัฐท้าชนเอกชน

view