สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กรีซอยู่หรือไปในยูโรโซน เดิมพันอนาคตสกุลเงินแห่งยุโรป

จากประชาชาติธุรกิจ


การออกจากยูโรโซนของกรีซไม่ใช่เรื่องเกินจริงอีกต่อไป เมื่อ 70% ของชาวกรีกที่มีสิทธิ์เลือกตั้งเทคะแนนให้กับให้พรรคที่ปฏิเสธแผนรัดเข็มขัด ซึ่งรัฐบาลชุดก่อนตกลงไว้กับสหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศเพื่อแลกกับเงินกู้ช่วยเหลือ 1.74 แสนล้านยูโร

และแม้จะมีการเลือกตั้งรอบใหม่ในวันที่ 17 มิถุนายน หลังพรรคการเมืองที่รับเสียงโหวต 3 อันดับแรกจัดตั้งรัฐบาลผสมไม่สำเร็จ แต่ผลโพลที่อออกมาก็ระบุว่า พรรคที่คัดค้านการตัดลดรายจ่ายยังคงมีคะแนนนำ ความเป็นไปได้ที่กรีซจะต้องหันกลับไปใช้สกุลเงินดราชมาจึงยิ่งสูงขึ้น

กรีซอยากออกจากยูโรโซนหรือไม่

ไฟแนนเชียล ไทมส์ ระบุว่า แม้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งส่วนใหญ่จะต่อต้านมาตรการรัดเข็ดขัด แต่ผลสำรวจความคิดเห็นกลับชี้ว่ามากกว่า 75% ต้องการร่วมใช้เงินสกุลยูโรต่อไป และสำหรับคนกรีกวัยกลางคนส่วนใหญ่ไม่อยากออกจากยูโรโซน เพราะกลัวว่าราคาอสังหาริมทรัพย์จะจมดิ่งไปกว่านี้ ระบบการธนาคารจะล่มสลายและอัตราว่างงานพุ่งสูง

ชาติสมาชิกยูโรโซนเตือนว่า กรีซไม่อาจได้ทั้ง 2 อย่างพร้อมกัน ถ้าไม่เอาแผนหั่นรายจ่ายก็ต้องหวนกลับไปหาสกุลเงินดราชมา ถ้าอยากอยู่ในกลุ่มผู้ใช้เงินยูโรก็ต้องยอมรัดเข็มขัด

อเล็กซิส ทิปรัซ หัวหน้าพรรคไซริซา ซึ่งได้รับคะแนนเสียงมาเป็นอันดับสองในการเลือกตั้งเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาจากนโยบายคัดค้านแผนลดรายจ่ายเสนอทางเลือกว่า กรีซจะปลอดภัยอยู่ในยูโรโซน ถ้าบรรดาเจ้าหนี้ยอมผ่อนคลายแผนรัดเข็มขัดให้ชาวกรีกได้หายใจหายคอบ้าง

ความไม่พอใจในหมู่ประชาชนพุ่งกระฉูดกับความเป็นจริงที่ว่า มาตรการรัดเข็มขัดจะมีผลบังคับใช้ต่อไปอีกอย่างน้อย 3 ปี ส่งผลให้ผลโพลออกมาว่าพรรคไซริซาจะเข้าวินเป็นอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งรอบหน้าด้วยคะแนนเสียง 20-25%

มีกม.รองรับการแยกตัวหรือไม่

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอียูพยายามสยบข่าวลือด้วยการระบุว่า ภายใต้ข้อตกลงของสหภาพยุโรปเป็นไปไม่ได้ที่จะเลิกใช้สกุลเงินร่วม เพราะตามตามสนธิสัญญาจัดตั้งสหภาพยุโรป (EU Treaty) นั้นไม่อนุญาตให้ออกจากกลุ่มผู้ใช้เงินยูโรโดยไม่ต้องสละสมาชิกภาพในอียู

วอลล์สตรีต เจอร์นัล รายงานว่า มาเรีย เฟคเทอร์ รัฐมนตรีคลังออสเตรียกล่าวว่า "เป็นไปไม่ได้ที่จะก้าวออกจากยูโรโซน ถ้าจะทำคือต้องออกจากสหภาพยุโรป หลังจากนั้นกรีซต้องสมัครเป็นสมาชิกใหม่ ต้องผ่านขั้นตอนการเจรจาและตรวจสอบว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อกำหนดหรือไม่"

ความคิดเห็นของเฟคเทอร์สะท้อนความไม่พอใจที่ชาติสมาชิกอียูมีต่อกรีซ แต่การสร้างความชัดเจนให้กับกระบวนการออกจากยูโรโซน อาจกระตุ้นให้ประเทศอื่น ๆ ที่มีปัญหาเดินรอยตาม

ในทางตรงข้าม หากทุกอย่างเป็นไปอย่างยุ่งยากซับซ้อนจะยิ่งเพิ่มความตึงเครียดให้กับเศรษฐกิจของกรีซ และส่งแรงสะเทือนต่อสมาชิกอียูชาติอื่น ๆ

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายในยุโรปเสนอทางออกให้กับปัญหาไร้บทบัญญัติที่ระบุเรื่องการออกจากยูโรโซนว่า อาจนำกฎที่มีอยู่แล้วมาประยุกต์ใช้ได้ อาทิ ชาติที่ละเมิดมาตรฐานพื้นฐานในการเข้าร่วมใช้เงินยูโร เช่น ระดับหนี้สาธารณะ การขาดดุลงบประมาณ อย่างที่กรีซเป็นในขณะนี้จะอยู่ในสถานะ "สมาชิกที่ขาดคุณสมบัติ"

อเล็กซานเดอร์ เติร์ก ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากคิงส์ คอลเลจ ลอนดอนชี้ว่า วิธีการดังกล่าวจะทำให้กรีซถูกจัดให้อยู่กลุ่มเดียวกับสวีเดน ซึ่งตามกฎหมายต้องร่วมใช้เงินยูโร แต่เลื่อนกระบวนการใช้ออกไปโดยตั้งใจไม่ทำตามข้อกำหนดหลักบางประการ วิธีนี้จะช่วยให้กรีซเลิกใช้เงินยูโรได้โดยที่ไม่ต้องออกจากอียู

ยูโรโซนพร้อมสมาชิกหรือเปล่า

ยุโรปเตรียมการรับมือการแยกวงของกรีซมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เมื่อจอร์จ

ปาปันเดรอู หัวหน้ารัฐบาลเอเธนส์ในขณะนั้นเสนอให้จัดการลงประชามติว่า ประชาชนต้องการให้รัฐขอรับเงินช่วยเหลือก้อนที่สองหรือไม่

ในตอนนั้นเจ้าหน้าที่ของยูโรโซนไม่แน่ใจว่าสมาชิกที่เหลือของกลุ่มจะสามารถเอาตัวรอดจากผลกระทบจากการกลับมาของสกุลเงินดราชมาได้ โดยเฉพาะประเทศที่รับความช่วยเหลืออย่างโปรตุเกสและไอร์แลนด์

แต่ขณะนี้กองทุนช่วยเหลือถาวรหรือกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (ESM) ถูกจัดตั้งขึ้นแล้วพร้อมเงินหนุนหลัง 5 แสนล้านยูโร ยังมีเครื่องมืออีกหลายรายการเพื่อเข้าซื้อพันธบัตรของชาติที่มีปัญหาในตลาดเปิด และมาตรการอัดฉีดเงินให้กับธนาคารพาณิชย์ที่ขาดสภาพคล่อง หลายฝ่ายจึงเริ่มมั่นใจว่าโรคระบาดจากกรีซอยู่ในภาวะควบคุมได้

เจ้าหน้าที่อียูที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เปิดเผยว่า "2 ปีก่อนการเลิกใช้เงินยูโรของกรีซคงเป็นหายนะในระดับเดียวกับการ

ล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส แม้แต่ในปีที่แล้วความเป็นไปได้จะเกิดเหตุการณ์นี้ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ แต่ตอนนี้เราเตรียมพร้อมมากขึ้นแล้ว"

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเตรียมพร้อมเพียงใด คาดว่ากระทบยังคงกระจายเป็นวงกว้าง เมื่อเห็นเงินในบัญชีธนาคารของชาวกรีกเปลี่ยนจากยูโรเป็นดราชมา

ผู้ฝากเงินในชาติกลุ่มเสี่ยงอาจแห่กันไปถอนเงินสดไปพักไว้ยังที่ปลอดภัยกว่าอย่างในเยอรมนี สถานการณ์ดังกล่าวอาจทำลายภาคการธนาคารที่อ่อนแออยู่แล้วของบางประเทศอย่างสเปนได้

การหันหลังให้ยูโรโซนกระทบอะไร

การออกจากยูโรโซนอาจเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลเอเธนส์ไม่มีเงินจ่ายค่าสวัสดิการและค่าแรงของพนักงานภาครัฐ เพราะนานาชาติไม่ยอมอนุมัติเงินช่วยเหลืออีกต่อไป เนื่องจากกรีซไม่ยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ในการขอรับความช่วยเหลือ

เมื่อไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของยูโรโซนอีกแล้ว ก็หมายถึงการสิ้นสุดเงินช่วยเหลือและเงินอุดหนุนหลายพันล้านดอลลาร์จากอียู ไม่เพียงเท่านั้น ธนาคารกลางยุโรปจะเรียกคืนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่อัดฉีดให้กับสถาบันการเงินของกรีซด้วย

รัฐบาลเอเธนส์จำเป็นต้องสร้างระบบการเงินของประเทศขึ้นมาอีกครั้ง

พร้อมกับผ่านกฎหมายสกุลเงินใหม่

เพื่อเปลี่ยนสกุลเงินที่ระบุอยู่ในนิติกรรมสัญญาภายในประเทศให้เป็นดราชมา เข้าควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน จำกัดการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกนอกประเทศ และนำธนบัตรของสกุลเงินใหม่เข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

หลังแยกวง กรีซต้องเปิดการเจรจากับอียูเพื่อรักษาสมาชิกภาพต่อไป การเจรจาอาจยากเข็ญมากขึ้นถ้ากรีซผิดนัดชำระหนี้กับกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF) อีซีบี หรือไอเอ็มเอฟ

ผลกระทบเศรษฐกิจที่กรีซต้องเจอ

ไม่ว่ากรีซจะออกจากยูโรโซนด้วยสถานการณ์เช่นไร ค่าเงินดราชมาจะอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ไอเอ็มเอฟประเมินว่าทางการเอเธนส์ต้องปล่อยให้ค่าเงินร่วงลงราว 15-20% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในกลุ่มผู้ใช้เงินยูโร และมากกว่านั้น

เมื่อเทียบกับเยอรมนี เพื่อช่วยให้ดุลบัญชีเดินสะพัดสมดุล

มีแนวโน้มว่ารัฐบาลกรีซจะยกเลิกกฎหมายที่กำหนดให้การจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เป็นรายจ่ายลำดับแรก ๆ ในงบประมาณ ซึ่งจะนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้รอบใหม่กับภาคเอกชนที่ถือพันธบัตรอียูและไอเอ็มเอฟ

แม้จะหยุดจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้แล้ว แต่มาตรการรัดเข็มขัดยังไม่อาจยกเลิกได้เพราะรายจ่ายที่ไม่เกี่ยวกับภาระหนี้ (primary deficit) ยังสูงกว่ารายได้ภาษี ไอเอ็มเอฟประเมินว่าแม้จะยังอยู่ในยูโรโซนระดับ primary deficit จะอยู่ที่ 1% ของจีดีพี

ปี 2555 ค่อนข้างแน่นอนว่าถ้ากรีซหันหลังให้เงินยูโร ตัวเลขดังกล่าวจะสูงขึ้นอีกจากความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

จะยับยั้งการลุกลามได้หรือไม่

ถ้าผู้นำในกลุ่มยูโรโซนโน้มน้าวให้นักลงทุนและสาธารณชนเชื่อว่ากรีซเป็นเพียงกรณีเฉพาะ แรงกระเพื่อมจากการลดสมาชิกในยูโรโซนจะสามารถควบคุมได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าไม่ การเดินออกไปของกรีซจะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการล่มสลายของเงินยูโร

คำถามที่หลักเลี่ยงไม่ได้คือ ใครจะเป็นรายต่อไป สายตาเกือบทุกคู่อาจจับจ้องไปยังโปรตุเกสซึ่งอยู่ในพวกขอรับเงินช่วยเหลือเช่นเดียวกับกรีซ นักลงทุนจะขายพันธบัตรของแดนฝอยทอง และเฮโลถอนเงินฝากหรือเงินลงทุนจากประเทศนี้เพราะกลัวจะเกิดการหลุดจากยูโรโซนและการลดค่าเงิน

อาวุธสำคัญในการต่อสู้กับการลุกลามของโรคร้ายอยู่ที่อีซีบี ทั้งมาตรการแทรกแซงตลาดพันธบัตรเพื่อควบคุมต้นทุนการกู้ยืมของประเทศสมาชิกยูโรโซน การอัดฉีดสภาพคล่องให้กับธนาคารพาณิชย์ในประเทศกลุ่มเสี่ยงที่ขาดแคลนเงินฝาก

แม้มาตรการดังกล่าวจะสร้างความกังวลให้เยอรมนีที่มองว่า มาตรการดังกล่าว เป็นการทำเกินหน้าที่ธนาคารกลาง แต่ทางเลือกอื่น ๆ อาจเลวร้ายยิ่งกว่า เพราะอียูไม่มีอำนาจเพียงพอที่จะเข้าไปกำกับดูแลภาคการธนาคารของชาติสมาชิก

นักวิเคราะห์มองว่า วิกฤตครั้งนี้ร้ายแรงกว่าการล้มครืนของเลห์แมน

บราเธอร์ส ตรงที่ความตกต่ำของเศรษฐกิจไม่ได้มีต้นตอจากการขาดแคลนสินเชื่อธนาคาร แต่มาจากความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายถดถอย เนื่องจากภาคธุรกิจตลอดจนครัวเรือนพร้อมใจกันตัดลดรายจ่ายเพราะไม่มั่นใจว่ามีอะไรรออยู่ในอนาคต


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กรีซอยู่หรือไป ยูโรโซน เดิมพันอนาคต สกุลเงินแห่งยุโรป

view