สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ล้างบาปเพื่อปรองดอง บทเรียนจาก 3 ประเทศ

ล้างบาปเพื่อปรองดอง บทเรียนจาก 3 ประเทศ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีปัญหาเรื่องการปรองดอง และหากเทียบกับหลายๆ ประเทศ ทางออกเพื่อสร้างความปรองดองของเรา ดูจะง่ายกว่าของประเทศอื่น
เพราะยังไม่ถึงขั้นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันเหมือนประเทศยูกันดา โปแลนด์ และอเมริกา
 

 ในปี 1987 ทางตอนเหนือของประเทศยูกันดา ภายใต้การนำของนายโจเซฟ โคนี ชนเผ่าอาโชลิส่วนหนึ่ง ได้รวมตัวกันเพื่อต่อต้านรัฐบาลโดยใช้ชื่อกลุ่มว่า The Lord's Resistance Army หรือ LRA มีการประมาณการไว้ว่า กลุ่ม LRA มีกำลังประมาณ 2 ล้านคน  กระจายกันอยู่ทั่วภาคกลางของประเทศยูกันดา โดยมีทหารที่เป็นเด็กร่วมอยู่ด้วยราว 1 แสนคน
 

LRA ถูกกล่าวหาว่าได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ด้วยการสังหาร ลักพาตัว ทรมาน ข่มขืนใจ และบังคับให้เด็กใช้ความรุนแรง จนศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC (International Criminal Court) ได้ออกหมายจับนายโจเซฟและพวกในปี  2007   
 

อย่างไรก็ตาม ผู้นำท้องถิ่นของเผ่าอาโชลิที่ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของ LRA และไม่เห็นด้วยกับการกระทำของ ICC เพราะเชื่อว่าออกหมายจับ โดยที่ยังรู้ว่าจะจับตัวผู้นำของกลุ่ม LRA มาลงโทษได้หรือไม่  อาจเป็นการยั่วยุให้ LRA ใช้ความรุนแรงมากขึ้น ทำให้พวกตนได้รับความเดือดร้อนมากขึ้นกว่าเดิมจากการตอบโต้ที่รุนแรงกว่าเดิม
 

พวกเขายังบอกอีกว่า วิธีการของ ICC ไม่มีทางจะชดเชยกับความสูญเสียที่เกิดจากการกระทำในอดีตได้ หากต้องการจะให้มีการปรองดองกันจริง ก็ต้องนำเอาธรรมเนียมปฏิบัติของชนเผ่าอาโชลิมาใช้ในการลงโทษ ซึ่งก็คือ การตอบโต้ด้วยความรุนแรง จนถึงทุกวันนี้ ความขัดแย้งดังกล่าวก็ยังคงดำรงอยู่ แม้ว่ารัฐบาลกลางจะพยายามหาหนทางแห่งการปรองดอง แต่ก็ยังไม่สามารถหาวิธีการที่ดีในการลบล้างความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในอดีตได้  เพราะตราบใดที่บาปยังไม่ได้รับการชำระ การก้าวไปข้างหน้าก็จะยังไม่เกิด
 

การปรองดองในโปแลนด์ ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจ ในเดือนเมษายน 2006 รัฐบาลโปแลนด์ประกาศว่า จะฟ้องนายพล จารูเซลสกี อดีตผู้นำของประเทศในยุคที่ยังเป็นคอมมิวนิสต์ ผู้ที่ดำเนินการฟ้อง คือ Institute of National Remembrance (INR) ซึ่งถูกตั้งขึ้นในปี 1998 เพื่อสืบหาความผิดในอดีตของพรรคนาซี และพรรคคอมมิวนิสต์
 

ผลการสอบสวนที่เปิดเผยในปี 2002 สร้างความตกตะลึงให้กับชาวโปแลนด์และชาวโลก คือ กรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นในเมืองเยดวับเน (Jedwabne) ในปี 1939 เพราะแต่เดิมเคยเชื่อกันว่าโศกนาฏกรรมครั้งนี้เป็นฝีมือของทหารเยอรมัน แต่ปรากฏว่า ความสูญเสียครั้งนั้นเกิดขึ้นจากชาวโปแลนด์คลั่งชาติที่มีความเกลียดชังชาวยิว
 

หมู่บ้านแห่งนี้มีประชากรประมาณ 3,000 คน โศกนาฏกรรมครั้งนี้ทำให้มีชาวบ้านผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 1,600 คน โดยผู้ที่ลงมือก็คือ คนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งของเมืองเยดวับเนเอง
 

INR เสนอว่า ก่อนจะเข้าสู่การเยียวยาเพื่อสร้างความปรองดอง สังคมโปแลนด์จะต้องได้รับทราบความจริงทั้งหมดก่อน และยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดพลาด ข้อเสนอนี้ทำให้ประธานาธิบดีของโปแลนด์ได้ออกมาขอโทษต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งเสนอให้บันทึกเหตุการณ์ไว้เป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์โปแลนด์เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้เพื่อเป็นบทเรียนต่อไป และสนับสนุนให้มีการสืบสวนเพื่อขุดคุ้ยอดีตที่มืดมิดในเรื่องอื่นๆ ของประเทศ พร้อมทั้งนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ จนนำไปสู่การขึ้นศาลของนายพล จารูเซลสกี ในที่สุด
 

ในอเมริกา กลุ่มแอฟริกัน-อเมริกัน บางกลุ่มได้เคยมีการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลชดใช้ค่าเสียหายจากการที่บรรพบุรุษของพวกเขาเคยถูกใช้เป็นทาส โดนทรมาน โดนทำร้าย และโดนกีดกันทำให้ไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้เท่าที่ควร โดยค่าเสียหายที่เรียกร้องให้จ่ายนั้น เคยสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเอาภาษีของประชาชนมาใช้กับเรื่องแบบนี้
 

นอกจากนี้แล้ว สำหรับลูกหลานของผู้เสียหายบางคน สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่สามารถจะ “เยียวยา” ได้ด้วยเงิน และมีคนอีกจำนวนไม่น้อยคิดว่า เรื่องเกิดมานานมากแล้ว จึงไม่ควรตกเป็นภาระของชาวอเมริกันในยุคปัจจุบันที่ต้องมารับผิดชอบจ่ายค่าชดเชยอีก คนกลุ่มนี้ยังมีความเห็นอีกว่า นโยบายที่ลดการแบ่งแยกสีผิวที่รัฐบาลได้สร้างขึ้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้พวกเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ แทนที่จะหวนกลับไปหาอดีต ทุกคนควรทุ่มเทความสนใจไปยังการสร้างอนาคตที่เปิดกว้างและเท่าเทียมกันของคนทุกกลุ่มในประเทศจะดีกว่า การจมอยู่กับอดีตมีแต่จะสร้างความเจ็บปวด สร้างความแตกแยกร้าวฉานให้มากขึ้น ไม่ใช่หนทางแห่งความปรองดองที่แท้จริง
 

ตัวอย่างข้างต้นนำไปสู่ข้อสรุป 4 ข้อด้วยกัน คือ
 

1. ต้องมีการทำความจริงให้ปรากฏในทุกด้าน เป็นก้าวแรกของการปรองดอง ทั้งในด้านสว่างและด้านมืด ทั้งในกลุ่มที่กระทำและกลุ่มที่ถูกกระทำ สังคมจะต้องได้รับรู้ถึงความจริงทั้งสองด้านนี้ ความผิดพลาดใดที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่  ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นต้องยืดอกแสดงความรับผิดชอบ เพราะความจริงคือเครื่องมือล้างบาปทางสังคมที่ทรงพลังที่สุด
 

2. ความรุนแรงไม่ใช่หนทางที่จะนำไปสู่ความปรองดองอย่างแท้จริง ผู้ใช้ความรุนแรงโดยขาดเหตุผลอันสมควร ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน ก็ควรจะได้รับการลงโทษ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ และแนวทางในการลงโทษจะต้องเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ไม่ใช่สิ่งที่จะนึกคิดขึ้นมาเองหรือเลือกหยิบเอาแนวทางที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์เป็นที่ตั้ง
 

3. เราไม่สามารถใช้เงินมาสร้างเส้นทางแห่งความปรองดองได้ เพราะความสูญเสียบางอย่างไม่สามารถเรียกคืนมาได้ด้วยเงิน การนำเอาเงินเข้ามาอยู่ในกระบวนการสร้างความปรองดอง โดยเฉพาะในระยะเริ่มต้น รังแต่จะทำให้เกิดความแตกแยกบาดหมางมากขึ้น
 

4. กฎหมายไม่ใช่แก้วสารพัดนึกที่จะเสกให้เกิดความปรองดอง การปรองดองเป็นการเยียวยาสังคม จึงต้องใช้พลังทางสังคมมาเป็นฐานในการคิด กระบวนการปรองดองที่ดี ต้องเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องปรับทัศนคติที่ตรงกันว่า เป็นการทำเพื่อปัจจุบันและอนาคตที่ดีกว่าของส่วนรวม ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะ
 

ถ้าเอาหลัก 4 ข้อนี้มาประเมินความพยายามของรัฐบาลในช่วงสองสามวันนี้ ก็อดหวั่นใจไม่ได้ว่า สุดท้ายเรื่องจะจบอย่างไร


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ล้างบาปเพื่อปรองดอง บทเรียนจาก 3 ประเทศ

view