สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผลกระทบจากวิกฤติของกรีซต่อเศรษฐกิจเอเชีย

ผลกระทบจากวิกฤติของกรีซต่อเศรษฐกิจเอเชีย



แบงก์ออฟอเมริกาเมอร์ริล ลินช์ (BOAML) ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจของบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร ได้ตีพิมพ์บทวิเคราะห์ 2 ฉบับ
ที่ผมเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ในการให้ทัศนะเกี่ยวกับวิกฤติของกรีซและผลกระทบต่อเศรษฐกิจเอเชีย ผมจึงขอนำมาสรุปให้อ่านกันในวันนี้ครับ
 

บทวิเคราะห์ฉบับแรกประเมินว่าผลการเลือกตั้งของกรีซที่จะมีขึ้นในวันที่ 17 มิ.ย.นั้น น่าจะนำไปสู่ ทางออกได้ 3 ทาง คือ
 

1. กรีซยังสามารถอยู่ในระบบเงินยูโรได้ต่อไป ซึ่งเป็นทางออกที่ BOAML มองว่ามีโอกาสเกิดขึ้นมากที่สุด ทั้งนี้ จะต้องมีการผ่อนปรนเงื่อนไขในการรัดเข็มขัดทางการคลังให้กับกรีซบ้างในระดับหนึ่งและจะต้องกระทำอย่างรวดเร็ว เพื่อนำความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมาโดยเร็ว การคาดการณ์ดังกล่าวต้องยอมรับว่าเป็นการคาดการณ์ที่มองโลกในแง่ดีอย่างยิ่ง เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การดำเนินนโยบายของผู้นำยุโรปนั้นขาดความชัดเจนและเด็ดขาดในการจัดการปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ (แต่จะดำเนินมาตรการเฉพาะหน้าเพื่อซื้อเวลา) ซึ่งถ้าสถานการณ์พัฒนาไปอย่างราบรื่นดังกล่าวข้างต้น เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปก็จะหดตัวเพียง 0.5% ในปีนี้ และจะฟื้นตัวได้ในปีหน้าและปีต่อๆ ไป
 

2. กรีซออกจากระบบเงินยูโรแต่ยังสามารถรักษาเสถียรภาพเอาไว้ได้ ในกรณีนี้จะต้องมีการออกมาตรการเพื่อปกป้องมิให้เกิดผลกระทบลุกลามไปสู่ประเทศอื่นๆ อย่างเต็มที่และทันท่วงที หมายความว่า จะต้องมีออกมาตรการที่เหนือความคาดหมายและสร้างความมั่นใจอย่างสูงเช่น
 

ก. ทั้ง 16 ประเทศที่เหลือในระบบเงินยูโรประกาศสนับสนุนให้ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซื้อพันธบัตรรัฐบาลทุกประเทศที่อาจมีปัญหาอย่างไม่มีข้อจำกัด
 

ข. ประกาศค้ำประกันเงินฝากทั้งระบบโดยไม่จำกัดจำนวน
 

ค. เพิ่มทุนธนาคารพาณิชย์ของยุโรปอย่างครบถ้วนทั้งระบบตามความจำเป็น
 

ง. อีซีบีปล่อยกู้ระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องของระบบธนาคาร (LTRO) ในจำนวนที่ไม่จำกัดเป็นรอบที่ 3
 

จ. การดำเนินการอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลกลุ่มยูโรที่จะออกพันธบัตรยูโรร่วมกัน (Eurobond) กล่าวคือ ทุกรัฐบาลร่วมกันค้ำประกันพันธมิตรยูโร แปลว่าในทางปฏิบัติรัฐบาลเยอรมนีจะช่วยร่วมค้ำประกันหนี้ให้กับรัฐบาลสเปน เป็นต้น
 

ฉ. อีซีบีจะต้องลดดอกเบี้ยลงและสัญญาว่าจะกดดอกเบี้ยลงอีกนาน
 

ในกรณีดังกล่าว BOAML มองว่าเศรษฐกิจยุโรปจะหดตัวประมาณ 1.5% แต่ทั้งนี้ จะต้องดำเนินมาตรการข้างต้นโดยทันที
 

3. กรีซออกจากกลุ่มเงินยูโรและผลกระทบลุกลามออกไป จะเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งเกิดจากการดำเนินมาตรการไม่ครบถ้วนดังที่กล่าวข้างต้น (กรณี 2) หรือดำเนินการล่าช้าไป 2-3 เดือน ทั้งนี้ BOAML มองว่าผลกระทบในกรณีเลวร้ายนี้จะไม่รุนแรงเช่นที่เกิดขึ้นหลังการล่มสลายของเลแมน บราเธอร์ส แต่ความตกต่ำอาจยืดเยื้อยาวนานกว่า เพราะในครั้งนั้น ธนาคารกลางและรัฐบาลทั่วโลกสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและปรับสภาพคล่องได้อย่างรวดเร็วและพร้อมเพรียงกัน ในกรณีเลวร้ายนี้ BOAML มองว่าอีซีบีจะสามารถซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างไม่มีข้อจำกัด (ข้อ ก.ในกรณี 2) และปล่อยกู้ระยะสั้น (LTRO III) ได้อย่างฉับพลัน แต่รัฐบาลกลุ่มยูโรไม่สามารถตกลงกันเพื่อออกมาตรการอื่นๆ ได้อย่างทันท่วงที เช่น การค้ำประกันเงินฝากทั้งระบบและการเพิ่มทุนธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบทำให้ระบบการธนาคารเผชิญกับความชะงักงัน ซึ่ง BOAML มองว่าจะฉุดให้เศรษฐกิจยุโรปติดลบมากถึง 4%
 

ทีมเศรษฐกิจของ BOAML ได้ปรับการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ลงโดยสะท้อนความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในยุโรป ประกอบกับความเป็นห่วงที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความเสี่ยงที่สหรัฐอาจไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีที่จะหมดอายุลงในปีนี้ (เรื่องนี้ผมเคยเขียนถึงแล้วเมื่อวันที่ 14 พ.ค.) หรือที่เรียกกันว่า Fiscal Cliff นอกจากนั้น ก็ยังมีความกังวลเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้ BOAML ปรับลดการขยายตัวของเอเชียลงจาก 7.1% ในปีนี้เป็น 6.6% และปี 2013 ปรับลงจาก 7.4% เป็น 7% (ตาราง 1)
 

การปรับเปลี่ยนการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจในรายละเอียดของแต่ละประเทศนั้นมี ข้อน่าสังเกต 3 ประการ คือ
 

1. ประเทศเล็กที่มีเศรษฐกิจเปิด เช่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ สิงคโปร์และไต้หวันจะได้รับผลกระทบมากที่สุด
 

2. ประเทศที่มิได้ปรับการคาดการณ์หรือปรับการคาดการณ์เล็กน้อย คือ ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซียและอินโดนีเซีย
 

3. ประเทศเสาหลักในเอเชีย คือ จีน อินเดียและอินโดนีเซียดูเสมือนว่าจะยังขยายตัวได้ดีมาก แต่ผมเองเป็นห่วงเป็นการส่วนตัวว่าทั้ง 3 ประเทศดังกล่าวอาจได้รับผลกระทบในทางลบ มากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ก็ได้
 

ส่วนปัญหาเงินเฟ้อนั้น มีความกังวลลดลง คือ เงินเฟ้อในเอเชียจะอยู่ที่ระดับ 3.9% ในปี 2012 และ 3.7% ในปี 2013 (สำหรับไทยคาดว่าจะอยู่ที่ 3.4% ในปี 2012 และ 3.0% ในปี 2013) ประเทศที่ยังน่าจะมีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ คือ อินเดียที่เงินเฟ้อจะยังสูงถึง 7.6% ในปี 2012 และ 6.5% ในปี 2013 และอินโดนีเซียที่คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 4.7% ในปี 2012 และ 5.5% ในปี 2013 โดยรวมนั้น BOAML จึงมองว่าดอกเบี้ยจึงจะไม่ต้องปรับขึ้นหรือลง สำหรับประเทศส่วนใหญ่ แต่อาจมีการปรับดอกเบี้ยลงในเกาหลีและอินเดียในปี 2012
 

ในกรณีที่เลวร้าย คือ กรีซออกจากเงินสกุลยูโรและเกิดผลกระทบลามออกไป รวมทั้งสหรัฐเกิด Fiscal Clift BOAML มองว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชียจะปรับลดลงอย่างมาก (ตาราง 2)



สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผลกระทบ วิกฤติของกรีซ เศรษฐกิจเอเชีย

view