สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ค่าบาทอ่อนไม่ช่วยเศรษฐกิจ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...พรสวรรค์ นันทะ/ชลลดา อิงศรีสว่าง

ความต้องการของ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง รวมทั้ง วีรพงษ์ รามางกูร ว่าที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องการเห็นค่าเงินบาทอ่อนค่าลง เพื่อหวังว่าค่าเงินบาทอ่อนจะช่วยกระตุ้นการส่งออก

ถึงขั้นที่ กิตติรัตน์ ลั่นวาจาว่า

“ผมเป็น รมว.คลัง และในฐานะดังกล่าว ผมต้องการส่งสัญญาณอยากเห็นค่าเงินบาทอ่อนค่ามากกว่านี้ ผมมีหน้าที่บริหารเศรษฐกิจของประเทศ ทุกฝ่ายต้องฟังผม ธปท.เองก็ต้องฟังผม เถียงให้น้อยๆ ลงหน่อย แล้วทุกอย่างก็จะดีเอง ผมยืนยันต้องการเห็นเงินบาทอ่อนค่าลงอีก ใครจะมาฟาดปากผมก็ไม่แคร์ เพราะมันเป็นความต้องการของผม”

แต่ขณะนี้ ธปท.ยังไม่ได้ทำอะไรเลย ตั้งแต่ต้นปี จนล่วงเข้าจะครึ่งปีแรก ค่าเงินบาทได้อ่อนค่าลงไปประมาณ 5-6% แล้ว ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทั้งฝั่งสหรัฐ และสหภาพยุโรป (อียู) ที่ยังขยายตัวลุกลามไม่หยุด

การที่ตลาดเงินปั่นป่วนเป็นผลมาจากนักลงทุนกังวลใจ กรณีปัญหาดังกล่าว แห่ถอนการลงทุนออกจากยูโร โยกไปถือลงทุนในรูปเงินเหรียญสหรัฐแทน เพื่อลดความเสี่ยง ทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้น ขณะที่สกุลเงินอื่น รวมทั้งเงินบาท อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง

แต่สำหรับเศรษฐกิจไทยเรา นอกจากจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยในต่างประเทศแล้ว เรายังมีปัญหาภายในจากสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจจะเกิดความรุนแรงซ้ำรอย เหมือนในอดีตด้วย ภาวะเหล่านี้กลายเป็นความเสี่ยงของนักลงทุนไทย และกลายเป็นปัจจัยกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเพิ่มเติม

ปกติที่ไม่มีสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองต่อต้านการผ่าน พ.ร.บ.ปรองดองของรัฐบาล ค่าเงินบาทก็ปรับอ่อนค่าลงอยู่แล้วประมาณ 5% และหากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปไม่หยุด แก้ปัญหาไม่ได้ มีโอกาสที่ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าไปถึง 10% โดยขณะนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าใกล้แตะระดับ 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐแล้ว

ผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า ในช่วงนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 31.80 บาทต่อเหรียญสหรัฐแล้ว เพราะมีปัจจัยจากภาวะการแข็งค่าขึ้นของเหรียญสหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนในตลาดการเงินกลัวความเสี่ยงและกังวลกับสถานการณ์ปัญหา เศรษฐกิจในกลุ่มยูโร จึงหันไปถือลงทุนในเงินเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น

กดดันให้เงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้สกุลเงินอื่นๆ รวมทั้งเงินบาท ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ส่วนเงินบาทจะอ่อนค่าลงไปถึง 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐหรือไม่ เพราะช่วงนี้มีสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองด้วยนั้น เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม

“ถ้าค่าเงินบาทเราจะอ่อนลงไปแตะระดับ 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐจริงๆ ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ เพราะตลาดมีปัจจัยผลกระทบจากยูโร ทำให้คนต้องการถือเงินเหรียญสหรัฐสูงขึ้น เงินเหรียญสหรัฐก็แข็งค่าขึ้นเป็นลำดับตามความต้องการในตลาด ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเป็นเรื่องธรรมดา คงไม่ต้องดำเนินการอะไรเป็นพิเศษ ยังต้องติดตามดูแลตลาดอย่างใกล้ชิด” ผ่องเพ็ญ กล่าว

ด้านนักค้าเงินธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งกล่าวว่า หากเงินบาทเคลื่อนไหวผ่านระดับทดสอบที่ 31.90-31.95 บาทต่อเหรียญสหรัฐได้ อัตราค่าเงินบาทที่ระดับ 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐไม่น่าจะไกลแล้วในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ก็ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่หนุนให้เงินบาทอ่อน ค่าลงได้เช่นกัน แต่ยังไม่ชัดเจนว่าภาวะเช่นนี้จะทำให้เงินทุนต่างชาติไหลออกหรือไม่

“ปกติเงินบาทมีปัจจัยกดดันให้อ่อนค่าลงจากปัญหาในยุโรป ที่ทำให้มีแรงซื้อเงินเหรียญสหรัฐสูงขึ้นอยู่แล้ว และยังมีแรงซื้อเงินเหรียญสหรัฐจากผู้นำเข้าอีก ตอนนี้มีปัจจัยที่น่ากังวลทางการเมืองด้วย อาจจะหนุนให้เงินบาทอ่อนลงได้อีก แต่ก็ไม่ชัดเจนนักว่าอ่อนค่าลงเพราะการเมืองด้วยหรือไม่ หรือทำให้เงินทุนต่างชาติไหลออกหรือไม่ ต้องติดตามดู” นักค้าเงิน ระบุ

ทั้งนี้ การซื้อขายเงินบาทในตลาดเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ปิดที่ระดับ 31.89-31.91 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากเปิดตลาดในช่วงเช้าที่ 31.87-31.89 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยการเคลื่อนไหวของเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ตามทิศทางค่าเงินยูโร หลังจากนักลงทุนกังวลกับปัญหาในสเปน เนื่องจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีอัตราดอกเบี้ยสูง และภาคสถาบันการเงินยังมีปัญหา

ปัญหาอยู่ที่ว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทในขณะนี้ไม่แน่ว่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยจริงหรือ ไม่ เงินบาทอ่อนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นดีขึ้น ช่วยให้ภาคส่งออกที่กำลังชะลอกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นได้

สถานการณ์การส่งออกในปีนี้พบว่าชะลอลงต่อเนื่อง ในเดือน ม.ค. มีมูลค่า 1.55 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัวติดลบ 6.1% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า เดือน ก.พ. มีมูลค่า 1.86 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัว 1.2% เดือน มี.ค. มีมูลค่า 1.97 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัวติดลบ 6.8% และล่าสุดเดือน เม.ย. มีมูลค่า 1.66 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัวติดลบ 3.5%

ปัญหาการส่งออกไม่ขยายตัว เป็นผลมาจากค่าเงินหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ ประเด็นที่ทำให้การส่งออกชะลอตัวลงน่าจะมาจากการที่ประเทศคู่ค้าของไทยมี ปัญหาด้านเศรษฐกิจเกือบทั้งหมด ทำให้การส่งออกไปไม่ไหว


อย่างที่ก่อนหน้านี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เคยส่งสัญญาณทางวาจากดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ทำให้ค่าเงินบาทอ่อน ค่าลง เพราะต้องการช่วยผู้ประกอบการส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี

เนื่องจากรมว. คลัง มองว่า ในช่วงนั้นเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาในประเทศไทยมาก ซึ่งจะทำให้นักลงทุนต่างชาติมองว่าค่าเงินบาทอาจจะปรับแข็งค่าขึ้น และอาจจะทำให้ต่างชาติขนเงินเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทเพิ่มขึ้น ซึ่งคลังไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น จึงอยากเห็นธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงให้มากกว่าในอัตราปัจจุบันที่ 3% เงินทุนต่างชาติจะได้ไม่ไหลเข้ามาจนทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น และต้องการให้ค่าเงินบาทที่ในช่วงนั้นอยู่ที่ระดับ 3031 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ อ่อนค่าไปอยู่ที่ระดับ 3234 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วมให้กลับมาฟื้นตัวได้

อย่างไรก็ตาม ในตอนนั้น นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ได้ยืนยันวาค่าเงินบาทเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯในขณะนั้นถือว่าเหมาะสมกับ ภาวะเศรษฐกิจไทยแล้ง และไม่ได้เป็นอุปสรรคในการค้าขายของไทยด้วย ดังนั้น ธปท.จึงไม่มีนโยบายจะเข้าไปแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนที่มากเกินไป ดูแลเท่าที่จำเป็น เพราะหากเข้าไปดูแลควบคุมมากเกินไป จะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนบิดเบือนไปจากที่ควรจะเป็น และอาจทำให้เกิดความเสียหายขึ้นเหมือนวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 ได้

สำหรับสถานการณ์การส่งออกในปีนี้ พบว่าชะลอลงต่อเนื่อง ในเดือน ม.ค. มีมูลค่า 1.55 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัวติดลบ 6.1% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า เดือน ก.พ. มีมูลค่า 1.86 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัว 1.2% เดือน มี.ค. มีมูลค่า 1.97 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัวติดลบ 6.8% และล่าสุดเดือน เม.ย. มีมูลค่า 1.66 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัวติดลบ 3.5%

ตราบใดที่ปัญหายุโรปยังไม่ได้รับการแก้ไข แม้ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าไปเท่าไร ก็ยังไม่แน่ใจว่าไทยจะได้ประโยชน์จากกลุ่มสหภาพยุโรป หรืออียู ซึ่งมีสัดส่วน 11% ของการส่งออก

ที่กล่าวเช่นนี้เพราะปัญหาของกรีซและยุโรปไม่ได้กระทบเฉพาะในยุโรปเท่า นั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงประเทศคู่ค้าต่างๆ ของไทยด้วย ไม่ว่าสหรัฐ จีน รวมถึงกลุ่มประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ก็ได้รับผลกระทบจากการที่ยุโรปมีปัญหา ทำให้การค้าการส่งออกของไทยที่คาดว่าจะดีขึ้นได้ เพราะจะอาศัยค่าเงินบาทอ่อนมาช่วยหนุนให้โตนั้น อาจจะไม่เป็นอย่างที่หวังไว้ เพราะเมื่อประเทศคู่ค้าอื่นๆ ก็ชะลอ ทำให้การสั่งซื้อสินค้าจากไทยพลอยชะลอไปด้วยโดยปริยาย

ที่สำคัญ นอกจากจะไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังอาจจะเป็นไปในทางตรงกันข้ามหรือเป็นโทษเสียด้วย

เพราะการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าก็ทำให้ราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซ รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคบางชนิดที่จำเป็น ต้องนำเข้ามา มีราคาแพงขึ้น

ขณะนี้ราคาน้ำมันเริ่มอ่อนตัวลงเรื่อยๆ แต่ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศกลับไม่ลดราคาลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากค่าเงินบาทอ่อนค่า

หากราคาน้ำมันถูกลงในช่วงค่าเงินบาทแข็งค่า ราคาน้ำมันก็จะลดลงเร็วขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อลดลง ช่วยให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาข้าวของแพงได้ง่ายขึ้น

ฉะนั้น การที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าในรอบนี้ เศรษฐกิจไทยแทบจะไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย และไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าความต้องการเห็นเงินบาทอ่อนค่าของฝ่ายการเมือง จะทำให้เศรษฐกิจดีจริง หากปัจจัยภายนอกประเทศ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าไทย สลบไสลแบบกู่ไม่กลับ


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ค่าบาทอ่อนไม่ช่วยเศรษฐกิจ

view