สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปราการทางการเงินโลกไม่แกร่ง เงินไม่พอกู้วิกฤตยุโรป

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

สหภาพยุโรป (อียู) อาจพยายามเดินหน้าไปสู่การรวมกลุ่มสหภาพการคลัง หรือ Fiscal Union เพื่อวางรากฐานสมดุลเรื่องการใช้จ่าย ซึ่งถือเป็นต้นตอของปัญหาทั้งมวลในยุโรปวันนี้ และยังมีแผนที่จะตั้งสหภาพธนาคาร เพื่อแก้ปัญหาระบบธนาคารในยุโรปให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทว่าทั้งหมดนี้ก็ยังเป็น “แผนระยะยาว” ที่ต้องใช้เวลาอีกหลายปี ซึ่งปัจจุบันก็ยังอยู่ระหว่างนับหนึ่งหรืออาจเพิ่งตั้งไข่เท่านั้น

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของวิกฤตการณ์หนี้ยุโรปในวันนี้จึงขึ้นอยู่ กับ “เงิน” ในบรรดากองทุนให้กู้ยืมหรือกลไกความช่วยเหลือ (Firewall) ทั้งหลายเป็นหลัก ทั้งกองทุนเพื่อแก้หนี้ยุโรปและกองทุนของแต่ละภูมิภาค เพื่อเป็นเกราะป้องกันผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก หากมีหลากหลายกองทุนในปริมาณเงินที่มากพอ ก็น่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั่วโลกได้

ทว่าเมื่อลองพิเคราะห์ดูแต่ละกองทุนทั่วโลกในวันนี้ก็พอจะเข้าใจได้ว่า เหตุใดนักลงทุนและผู้นำทั่วโลกจึงไม่สามารถวางใจวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจใน วันนี้ได้

กองทุนรักษาเสถียรภาพทางการเงินยุโรป (อีเอฟเอสเอฟ) คือกองทุนสำคัญหมายเลข 1 ที่ใช้ในการต่อสู้กับวิกฤตการณ์หนี้ยุโรป ซึ่งมีเงินอยู่ 4.4 แสนล้านยูโร (ราว 17.5 ล้านล้านบาท) แต่ในความเป็นจริงกองทุนซึ่งตั้งขึ้นมาชั่วคราวนี้จะปล่อยเงินกู้ได้จริง เพียง 2.5 แสนล้านยูโร (ราว 10 ล้านล้านบาท) เนื่องจากต้องมีเงินคงเหลือเพื่อคงสถานะความน่าเชื่อถือของกองทุนให้อยู่ใน ระดับสูง เพื่อให้ต้นทุนการกู้ยืมต่ำในการระดมทุนผ่านการออกพันธบัตร

ทว่าจำนวนเงินกู้ที่กรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส ร้องขอไปนั้น มีจำนวนมากถึง 4.03 แสนล้านยูโร (ราว 16.1 ล้านล้านบาท) ซึ่งยังไม่รวมกับการช่วยเหลือสเปน ที่คาดว่าจะขอเงินช่วยไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านยูโร (ราว 4 ล้านล้านบาท) และยังไม่รวมแนวโน้มที่ยุโรปอาจต้องการเงินเพิ่มเพื่อนำไปกระตุ้นเศรษฐกิจ บางส่วนตามข้อเรียกร้องของหลายประเทศในขณะนี้

ปราการป้องกันทางการเงินแห่งที่ 2 ที่ต้องเข้ามาร่วมด้วยช่วยยุโรป จึงหนีไม่พ้นกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งไอเอ็มเอฟนั้นถือเป็นกองทุนเงินกู้อันดับ 1 ของโลก ทั้งในแง่ของปริมาณเงินกู้และจำนวนผู้ที่บริจาคเงินมากที่สุด และยังมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการรับมือวิกฤตการณ์หนี้ยุโรปในครั้งนี้ โดยมีเงินทุนในปัจจุบันราว 3.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 12 ล้านล้านบาท)

ล่าสุด ไอเอ็มเอฟได้รับการบริจาคเพิ่มมาถึง 9.55 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3 ล้านล้านบาท) จากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่นำโดย 4 ประเทศกลุ่มบริกส์ (บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน) ส่งผลให้ไอเอ็มเอฟมีเงินกู้ในมือเพิ่มขึ้นเป็น 4.56 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 14.3 ล้านล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นจากที่ตั้งเป้าไว้เดิมที่ 4.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

หากรวมเงินของ 2 ปราการนี้เข้าไป ปัญหายุโรปก็น่าจะแก้ได้ไม่ยาก ทว่าในความเป็นจริงนั้นล้วนเต็มไปด้วยข้อจำกัดหลายประการ

ประการแรกก็คือ สเปนไม่ต้องการขอเงินกู้จากไอเอ็มเอฟ เพราะไม่ต้องการอยู่ภายใต้ข้อจำกัดทางการคลังที่เข้มงวด โดยเฉพาะการตัดลดรายจ่ายและการปรับโครงสร้างหนี้ ที่ทำให้กรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส ต่างเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยและยังมองไม่เห็นหนทางของการสร้างรายได้ให้ มากพอที่จะใช้หนี้ได้ สเปนจึงไม่ต้องการตกอยู่ในสภาพเดียวกันกับ 3 ประเทศข้างต้น

ขณะเดียวกัน เหล่าผู้บริจาคเงินกู้ให้ไอเอ็มเอฟก็ไม่ต้องการให้กองทุนแห่งนี้ถลุงเงินของ ทั้งโลกไปกับการพยุงยุโรปเพียงอย่างเดียวเช่นกัน เพราะไอเอ็มเอฟมีหน้าที่ต้องปล่อยเงินกู้หลากประเภทให้กับทั่วโลก โดยเฉพาะอนาคตหลังจากนี้ที่อาจมีหลายประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้ยุโรป จนต้องเร่งหาเงินกู้เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางรากฐาน อย่างล่าสุดจอร์แดนและอาร์เมเนียก็เป็นหนึ่งในหลายๆ ประเทศ ที่กำลังเจรจาเงินกู้กับไอเอ็มเอฟ

ทาง 4 ผู้บริจาคกลุ่มบริกส์ จึงได้ตั้งเงื่อนไขสำคัญของเงินบริจาคล่าสุดเกือบ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ว่า จะให้ก็ต่อเมื่อไอเอ็มเอฟใช้เงินที่มีอยู่ในปัจจุบันไปก่อน และไอเอ็มเอฟต้องไม่นำเงินไปช่วยยุโรปเพียงฝ่ายเดียว นอกจากนี้ยังต้องปฏิรูปโครงสร้างในเรื่องสิทธิการออกเสียงที่ต้องให้สิทธิ และเสียงแก่ชาติกำลังพัฒนามากขึ้นตามเงินที่บริจาคไปด้วย

ดูตามเงื่อนไขเหล่านี้แล้ว จึงดูเหมือนกับว่ายุโรปไม่สามารถดึงเงินกู้ไอเอ็มเอฟมาใช้ได้มากเท่าที่เงินมีอยู่

ปราการทางการเงินแห่งที่ 3 ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาหนี้ยุโรปนั้น จึงเป็นกองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (อีเอสเอ็ม) ซึ่งคาดว่าจะนำมาใช้ได้ในเดือน ก.ค.ที่จะถึงนี้ โดยเป็นกองทุนถาวรในการแก้ปัญหายุโรปในวงเงิน 5 แสนล้านยูโร (ราว 20 ล้านล้านบาท) มาใช้ควบคู่กันจนกว่ากองทุนเดิม อีเอฟเอสเอฟ จะค่อยๆ ปิดตัวลงอย่างถาวร โดยเป็นที่คาดการณ์ว่าอีเอสเอ็มจะมีเงินกู้ทั้งสิ้นรวม 7 แสนล้านยูโร (ราว 28 ล้านล้านบาท) หากรวมเงินที่เหลือจากอีเอฟเอสเอฟ 2 แสนล้านยูโร (ราว 8 ล้านล้านบาท)

ทว่าข้อจำกัดสำคัญที่เริ่มเห็นเค้าลางแล้วจากการเตือนของสถาบันการเงิน ระหว่างประเทศ (ไอไอเอฟ) ก็คือ หากเข้าช่วยสเปน ยุโรปจะไม่เหลือเงินไปช่วยประเทศขนาดใหญ่อื่นๆ เช่น อิตาลี ในกรณีที่ขอกู้เงินต่อเป็นรายที่ 5

นอกจากนี้ ด้วยข้อจำกัดทางเทคนิคบางประการ จะทำให้อีเอสเอ็มสามารถปล่อยเงินกู้ได้เพียง 1.6 หมื่นล้านยูโร (ราว 6.4 แสนล้านบาท) ในช่วง 3 เดือนแรก หลังการก่อตั้งในเดือน ก.ค.ที่จะถึงนี้

หลังจาก 3 เดือนผ่านพ้นไปแล้ว เมื่อรวมเข้ากับเงินของกองทุนอีเอฟเอสเอฟและเงินจากกองทุนอื่นๆ ของยุโรป จะทำให้ยุโรปมีศักยภาพในการปล่อยกู้ได้ราว 3.51 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 14 ล้านล้านบาท) ซึ่งที่สุดแล้วอาจไม่เพียงพอต่อการให้เงินกู้ต่อเนื่องกับ 3 ประเทศ คือ กรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส รวมไปถึงประเทศลูกหนี้หน้าใหม่อย่างสเปนและอาจรวมถึงอิตาลี

ประเด็นเรื่องเงินไม่พอจึงนับเป็นปัญหาใหญ่ของวิกฤตการณ์หนี้ ยุโรปในขณะนี้ ที่ไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนได้ แม้ว่าการเลือกตั้งของกรีซจะผ่านพ้นไปด้วยดีแล้วก็ตาม

เมื่อไม่สามารถคาดหวังการแก้ปัญหาของยุโรปและอาจไม่สามารถคาดหวังเงินกู้ จากไอเอ็มเอฟได้ สิ่งที่ทั่วโลกต้องทำก็คือ สร้างปราการทางการเงินในภูมิภาคขึ้นมาเพื่อปกป้องตัวเองดังที่เห็นได้จากใน ทวีปเอเชีย ซึ่งมีกองทุนความริเริ่มเชียงใหม่ หรือกองทุนอาเซียน+3 ซึ่งเป็นกองทุนสวอปไลน์ทำหน้าที่เสริมสภาพคล่องให้ประเทศสมาชิกอาเซียน+3 สามารถเข้าถึงเงินสกุลต่างๆ ได้ทันท่วงทีในกรณีที่จำเป็น และลดการพึ่งพาไอเอ็มเอฟลง

เนื่องจากภูมิภาคเอเชียต่างเผชิญบทเรียนที่น่าเจ็บปวดมาแล้วจาก วิกฤตการณ์ทางการเงินระหว่างปี 2540–2541 จึงกลายเป็นแรงผลักดันชั้นดีให้เกิดการรวมกลุ่มความช่วยเหลือได้ง่ายขึ้น โดยที่ประชุมผู้นำอาเซียน+3 ได้มีมติเพิ่มเงินกองทุนอีกเท่าตัวเป็น 2.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 7.5 ล้านล้านบาท) เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากที่สถานการณ์ยุโรปทวีความรุนแรงขึ้น และยังตกลงที่จะเพิ่มการเฝ้าระวังความเสี่ยงทางเศรษฐกิจให้มากขึ้นด้วย

เพราะหากปราการสู้วิกฤตหนี้ในยุโรปไม่แข็งแกร่งเพียงพอ โลกก็คงไม่อาจหวังอะไรได้ นอกจากตั้งปราการเองเพื่อให้รองรับแรงกระแทกได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปราการทางการเงินโลก ไม่แกร่ง เงินไม่พอ กู้วิกฤตยุโรป

view