สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หมดหวัง กดดอกเบี้ย-ล้วงเงินคลัง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย... ชลลดา อิงศรีสว่าง

นับจากนี้ไปแผนการพยุงเศรษฐกิจด้วยการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศจะถูก ขุดมาใช้อย่างเข้มข้น เพราะนี่จะเป็นทางเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่อไปได้ เนื่องจากจะหวังพึ่งการส่งออกและการท่องเที่ยวมาปั่นให้เศรษฐกิจขยายตัวคง เป็นไปได้ยาก

วิกฤตเศรษฐกิจของยุโรปที่กำลังออกอาการฝีแตกและยังบ่งหนองไม่หมด เหมือนเชื้อจะลุกลามขยายแผลให้ใหญ่ยิ่งขึ้น เริ่มจากหนี้เสียของกรีซ ลามไปสเปน อิตาลี และยังไม่รู้ว่าจะลามไปประเทศอื่นในยูโรโซนอีกหรือไม่

นอกจากนี้ หนี้เสียซับไพรม์ที่พ่นพิษให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวไป 2 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน สถาบันการเงินในสหรัฐยังคงถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือทางเครดิตลงอีก 15 แห่ง

นอกจากนั้น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ลงอยู่ที่ 1.9-2.4% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 2.4-2.9% เมื่อเดือน เม.ย. รวมทั้งปรับลดตัวเลขคาดการณ์สำหรับปีหน้าและปี 2557 ด้วย ทำให้เห็นได้ว่าสหรัฐเองก็ยังมีปัญหาอยู่

แค่เจอพิษเศรษฐกิจของสองประเทศนี้ ไทยที่พึ่งรายได้จากการส่งออก 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ก็แทบสลบเหมือด เพราะเศรษฐกิจจะซบเซาตามไปด้วย ซึ่งกระทรวงการคลังและสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจทั้งหลายมองว่า กรณีเลวร้ายที่สุดเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพียง 2%

การขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับนี้ ว่าไปแล้วก็แทบจะไม่มีการขยายตัวเลย เพราะปีที่แล้วเจอมหกรรมน้ำท่วมในประเทศ ทำให้จีดีพีไตรมาสสุดท้ายของไทยขยายตัวติดลบ ดึงให้การขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งปีที่โตมาทั้ง 3 ไตรมาสหายวับไปเหลือโตแค่ 0.1%

แผนของรัฐบาลที่จะหาเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการจะขอเจียดเงินทุนสำรองทางการมาลงทุนในเมกะโปรเจกต์เล็กน้อย และขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้นโยบายดอกเบี้ยในระดับต่ำเพื่อช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ ก็กลายเป็นหมันไปในทันใด เพราะการลดดอกเบี้ยในภาวะที่ตลาดเงินต่างประเทศมีปัญหาหนี้เสียและเศรษฐกิจ ตกต่ำ ก็เสี่ยงต่อการที่เงินจะไหลออก

นอกจากนั้น การจะควักเงินทุนสำรองทางการมาใช้ก็เสี่ยงอีกเช่นกัน หากเกิดเงินไหลออกต่างชาติจะนำเอาเงินบาทมาแลกเงินตราต่างประเทศออกไป ธปท.จะต้องมีเงินเตรียมไว้ให้เพียงพอกับการไหลออกของเงิน

ฉะนั้น การตั้งเป้าจะใช้สองนโยบายนี้กระตุ้นเศรษฐกิจ ในนาทีนี้เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง และแถมจะใช้ไม่ได้ไปอีกเป็นปี เพราะ สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐที่ขยายตัวได้ลดลง เป็นเรื่องที่คลังประมาณการไว้แล้ว ยังไม่กระทบกับเศรษฐกิจระยะสั้น แต่จะส่งผลกระทบในปีหน้า

เมื่อจะไปกระทบต่อเศรษฐกิจในปีหน้า ยิ่งทำให้เอกชนต้องระวังความเสี่ยงอย่างมาก การขยายงานคงจะไม่มีมากนัก ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวจึงยากกว่าเมื่อ 2 ปีที่แล้ว และยากกว่าในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 มากนัก

ความยากของการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจก็คือ ขณะนี้ฐานะการคลังไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะรับภาระได้ เพราะไทยขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องมา 2 ปีแล้ว แม้มีแผนจะทำงบประมาณแผ่นดินสมดุลใน 5 ปี แต่ดูจากสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจแล้วคงจะยาก

การใช้นโยบายภาษีมากระตุ้นเศรษฐกิจทำได้จำกัด ส่วนจะไปใช้นโยบายการเงินก็เสี่ยงต่อเงินไหลออกอีก ก็จะมีปัญหาหากเกิดเงินไหลออกจริง

ทางออกของรัฐบาลที่สวยที่สุดก็คือ การเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ที่จะทำ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเรื่องน้ำ การสร้างเครือข่ายระบบโลจิสติกส์ รถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งจะออกมาในรูปนี้เพราะรัฐบาลไม่มีเงินเพียงพอ จะไปกู้เงินมาทำโครงการเหล่านี้เอง จะยิ่งทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะสูงขึ้นจนเข้าเขตอันตราย ซ้ำเติมให้ฐานะการเงินของประเทศแย่ลงไปอีก

ฉะนั้น ในปลายปีนี้ต่อเนื่องจนถึงปีหน้า หากไม่มีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ก็เตรียมรับมือการว่างงานที่จะเริ่มมากขึ้นจากแรงงานเก่าที่โดนเลิกจ้าง เพราะเอสเอ็มอี หรือพวกที่ทำมาค้าขายต้องเลิกกิจการเพราะทนพิษเศรษฐกิจไม่ไหว และผสมกับแรงงานใหม่ที่เรียนจบและออกสู่ตลาดแรงงาน หากผสมกันสองส่วนนี้ ไม่มีงานรองรับให้จะเกิดเศรษฐกิจชะลอตัวมากขึ้นอีก

ทางด้านเอกชนเองก็มองออกว่ารัฐบาลกำลังหมดกระสุนที่จะสู้กับภาวะเศรษฐกิจ ต่างประเทศ จึงพากันยกข้อเรียกร้องเก่าที่เคยเสนอเมื่อครั้งที่รัฐบาลประกาศขึ้นค่าจ้าง ขั้นต่ำใน 7 จังหวัด เป็นวันละ 300 บาท เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และเอกชนร้องว่าต้นทุนสูงขึ้นมากจนอยู่ไหว ขอให้รัฐบาลช่วยด้วยการชะลอการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ใน 70 จังหวัดที่เหลือออกไปก่อน

ขอให้ออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ยังไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมและไม่ได้รับประโยชน์จากการลดภาษีเงินได้ นิติบุคคลที่ลดลงจาก 30% เหลือ 23% รัฐบาลจะต้องมีมาตรการส่งเสริมการบริโภคในประเทศให้มากขึ้น และต้องทำการเมืองให้มีเสถียรภาพ

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำเอาตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นมาประกอบการร้องขอ โดยดัชนีความเชื่อมั่นในเดือน พ.ค. ลดลงมาอยู่ที่ 111.1 จากเดือน เม.ย. ที่อยู่ระดับ 112.6 เนื่องจากยอดขายทั้งในและต่างประเทศลดลง และหากตัวเลขยังลดลงเรื่อยๆ เชื่อว่าคำขอของ ส.อ.ท.จะได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาลบ้าง จากเดิมที่ถูกปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย

ความยากในการบริหารเศรษฐกิจไม่ได้อยู่แค่นี้ เรื่องเสถียรภาพทางการเมืองนั้นก็ไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะทำให้การเมืองนิ่งได้ เพราะเมื่อเปิดประชุมสภาสมัยหน้า วันที่ 1 ส.ค. วาระแรกที่จะเข้าสู่การพิจารณาคือ พ.ร.บ.ปรองดอง ที่ได้มีการเลื่อนขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระแรกเมื่อเปิดประชุมสภา ฉะนั้นการที่คิดว่าการเมืองจะนิ่งและมีเสถียรภาพนั้น อาจจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ประกาศดับเครื่องชนและจะต่อสู้ทุกรูปแบบเพื่อคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว

เรียกได้ว่าเศรษฐกิจไทยหลังไตรมาส 2 ไปแล้ว เริ่มจะเข้าสู่จุดที่น่าเป็นห่วงขึ้นทุกที ทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในประเทศรุมเร้า

ลำพังการส่งออกและท่องเที่ยวที่หดหายไปก็แย่อยู่แล้ว หากการเมืองไม่นิ่ง การใส่เงินเข้าไปกระตุกเศรษฐกิจยังไงก็ฟื้นยาก

ทางเอกชนก็เตรียมตัวเตรียมใจรับมือความผันผวนของเศรษฐกิจกันแล้ว ทางภาครัฐเองเตรียมแผนรับมือที่เป็นรูปธรรมไว้หรือยัง


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หมดหวัง กดดอกเบี้ย ล้วงเงินคลัง

view