สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อียูซัมมิตไม่ใช่คำตอบ ทางออกอยู่ที่ เงิน (น่ะมีไหม)

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

แม้จะมีการประชุมสุดยอดเกิดขึ้นถี่ยิบชนิดแทบจะรายวันในช่วงนี้ ตั้งแต่การประชุมผู้นำ 4 บิ๊กยุโรป คือ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน ที่กรุงโรม เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ก่อนจะเปลี่ยนบรรยากาศบินไปถกกันต่อที่กรุงปารีส ในวันที่ 26 มิ.ย. เพื่อปูทางไปสู่ของจริงคือการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป (อียูซัมมิต) ในวันที่ 28–29 มิ.ย.นี้ ทว่าสัญญาณตอบรับจากตลาดทุนทั่วโลกกลับไม่ได้บ่งชี้เลยว่าที่ประชุมอียูซัม มิตงวดนี้จะเป็นทางออกหรือเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้กับโลกได้

จากการเปิดเผยวาระการประชุมและข้อเสนอต่างๆ ที่จะมีการถกกันในที่ประชุมอียูซัมมิต ต่างชี้ให้เห็นว่า ที่ประชุมจะยังคงมุ่งไปในทิศทางเดิมๆ คือ การประกาศแนวทางจัดตั้งสหภาพธนาคาร ให้มีคณะกรรมการกลางเข้าไปควบคุมดูแลธนาคารในยุโรป และการหารือความคืบหน้าของการจัดตั้งสหภาพการคลัง ขณะที่นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เกิล ของเยอรมนี ก็ย้ำท่าทีเดิมๆ อีกครั้งว่า อย่าคาดหวังว่าจะได้เห็นกระสุนเงินนัดเดียวจอดจากที่ประชุมนี้

หากผลการประชุมออกมาในทำนองนี้ ก็เชื่อได้เลยว่า นอกจากจะไม่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดทุนโลกแล้ว ยังจะบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนลงอีก และทำให้วิกฤตการณ์หนี้ยุโรปกลายเป็นปัญหาซึมลึกลากยาวต่อเนื่องไปอีกนาน

เพราะสิ่งที่ตลาดทุนโลกต้องการเห็นนั้น ไม่ใช่การรวมกลุ่มแก้ปัญหาพื้นฐานที่ใช้เวลายาวนาน แต่เป็นการประกาศ “อัดฉีดเงิน” และ “กระตุ้นเศรษฐกิจ” เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าครั้งใหญ่ คล้ายกับที่สหรัฐและทั่วโลกเคยงัดมาใช้ระหว่างวิกฤตการณ์ภาคการเงินเมื่อปี 2551

หลังเกิดวิกฤตการณ์ภาคการเงินในสหรัฐเมื่อ 4 ปีก่อน รัฐบาลสหรัฐซึ่งมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสูงทางด้านการคลัง นำโดยกระทรวงการคลัง และทางด้านการเงินนำโดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ประกาศมาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหลายด้านแทบจะพร้อมกัน

โดยเฉพาะการทุ่มเงินก้อนใหญ่เพื่อสร้างความมั่นใจในตลาดทุน อาทิ การผ่านงบประมาณอุ้มภาคการเงิน 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (กว่า 21 ล้านล้านบาท) การประกาศมาตรการผ่อนปรนทางการเงินเพื่อช่วยซื้อสินทรัพย์ในประเทศ (คิวอี) ครั้งที่ 1 วงเงิน 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (กว่า 18 ล้านล้านบาท) และการขยายเพดานการรับประกันเงินฝากเป็น 2.5 แสนเหรียญสหรัฐ (ราว 7.5 ล้านบาท) เพื่อป้องกันประชาชนแห่ถอนเงินจนกระทบต่อแวดวงธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ

แม้จะรู้ดีว่าต้องถูกโจมตีเพราะนำเงินภาษีประชาชนไปช่วยอุ้มภาคธนาคาร ทว่ารัฐบาลสหรัฐก็ไม่ได้ตั้งกฎกติกาหรือเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการช่วย เหลือภาคการเงินในขณะนั้น เพราะต้องเร่งสร้างความมั่นใจต่อตลาดทุนและเศรษฐกิจโลกก่อนเป็นอันดับแรก

ทว่าแนวความคิดในการแก้ปัญหาดังกล่าวของสหรัฐกลับสวนทางอย่างสิ้นเชิงกับ ความพยายามของยุโรป อันนำโดยเยอรมนีในขณะนี้ ที่เน้นไปยัง “การแก้ปัญหาพื้นฐาน” มากกว่าจะมุ่งดับไฟที่โหมกระพืออยู่ตรงหน้าก่อน ซึ่งไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดทุนโลกได้ สะท้อนให้เห็นชัดเจนจากตลาดพันธบัตรของประเทศเสี่ยงในยุโรป ที่ต้องพบกับดอกเบี้ยแพงทุบสถิติใหม่แทบจะรายวัน

เพราะตลอด 4 ปีมานี้ ทั่วทั้งโลกโดยเฉพาะตลาดทุนที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการระดมทุนของทั้งภาค รัฐและภาคเอกชน ได้เสพติดพฤติกรรม “การอัดฉีดเงิน” และ “การกระตุ้นเศรษฐกิจ” จนเข้าเส้นไปแล้ว และไม่สามารถอดทนรอคอยการแก้ปัญหาที่ฐานรากได้อีกต่อไป แม้ว่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้องหรือยั่งยืนกว่าก็ตาม

สิ่งที่ตลาดทุนโลกคาดหวังจากที่ประชุมอียูซัมมิต จึงไม่ใช่แผนการรวมกลุ่มการคลังหรือการรวมกลุ่มสหภาพธนาคารที่ต้องใช้เวลา อย่างน้อยเป็นปีจึงจะเห็นผล หรือการประกาศมาตรการช่วยเหลือแบบยิบย่อย หากแต่เป็นการประกาศควักเงินก้อนใหญ่มาโชว์ให้เห็นว่ายุโรปมีความพร้อม สามารถปล่อยกู้ได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็น สเปน ไซปรัส หรืออิตาลี และไม่ว่าจะเป็นหนี้ของภาครัฐ หรือหนี้ของภาคธนาคารก็ตาม

นอกจากนี้ ความคาดหวังสำคัญยังรวมถึงการปรับเปลี่ยนบทบาทของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งเป็นผู้ถือกระเป๋าเงินรายใหญ่ที่สุดในยุโรป ให้มีความเป็น “ป๋า” มากขึ้น

ปัจจุบันทั่วโลกยังคงสับสนไม่น้อยกับเงินช่วยเหลือของยุโรป ซึ่งหลายกองไม่มีความเป็นเอกภาพ และยังเต็มไปด้วยเงื่อนไขข้อจำกัดจนลูกหนี้หายใจกันแทบไม่ออก อาทิ กองทุนรักษาเสถียรภาพทางการเงินยุโรป (อีเอฟเอสเอฟ) ซึ่งเป็นกองทุนชั่วคราวที่ได้ปล่อยเงินกู้ให้กับกรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส ไปแล้วก่อนหน้านี้ และกองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (อีเอสเอ็ม) ซึ่งเป็นกองทุนถาวร วงเงิน 5 แสนล้านยูโร (ราว 20 ล้านล้านบาท) ที่คาดว่าจะเริ่มมีผลใช้ได้ในเดือน ก.ค.นี้

ทว่าธนาคารกลางยุโรป หรืออีซีบี ซึ่งมีเงินไม่จำกัด กลับไม่มีหรือไม่สามารถดำเนินการใดๆ เพื่อช่วยแก้วิกฤตหนี้ในยุโรปได้ สังเกตจากในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มาตรการช่วยซื้อพันธบัตรรัฐบาลในยุโรปโดยอีซีบี ซึ่งมีพันธบัตรรัฐบาลยุโรปในมือขณะนี้กว่า 2 แสนล้านยูโร (กว่า 8 ล้านล้านบาท) ได้ชะงักงันลงไป ซึ่งอาจเป็นเพราะเสี่ยงต่อการเข้าข่ายอุ้มประเทศต่างๆ โดยตรง ซึ่งผิดหลักการของยุโรป นอกจากนี้อีซีบียังคงสงวนท่าทีที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทั้งที่วิกฤตการณ์ทวีความเลวร้ายลงทุกวัน

มาตรการแก้ปัญหาของยุโรปจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามหลักการที่ควรจะเป็น แต่ไม่ถูกจังหวะและไม่ถูกใจนักลงทุนทั่วโลก ที่ไม่ได้ยึดถือหลักการเป็นเรื่องสำคัญ


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อียูซัมมิต ไม่ใช่คำตอบ ทางออกอยู่ที่  เงิน

view