สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธีระชัย จี้รัฐหั่นรายจ่าย ฝ่าวิกฤตหนี้ยุโรป

ธีระชัย'จี้รัฐหั่นรายจ่าย ฝ่าวิกฤตหนี้ยุโรป

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




"ธีระชัย"เตือนภัยหนี้สาธารณะ จี้รัฐบาลงัดแผน"ลดรายจ่าย"รับมือวิกฤติยุโรป เหตุแนวโน้มปัญหารุนแรง แถมสถาบันการเงินยุโรปยังหมกเม็ดขาดทุนบาน
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์พิเศษ"กรุงเทพธุรกิจ" โดยออกมาเตือนรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้หาทางตัดโครงการที่ไม่จำเป็นออกไปเพื่อที่จะมีงบประมาณ หรือมี "กระสุน" เหลือมากพอที่จะสู้หรือรับมือวิกฤตการณ์ยูโร เนื่องจากเขาเห็นว่าขณะนี้รัฐบาลไทย กำลังใช้จ่ายเกินตัว และหากไม่ระมัดระวัง หนี้สาธารณะ ที่ปัจจุบันประมาณ 40% ต่อจีดีพี ก็อาจจะกระโดดเพิ่มขึ้นได้ เพราะเมื่อจีดีพีประเทศลดลง ย่อมทำให้สัด

ส่วนหนี้เพิ่มขึ้นทันที ที่สำคัญควรหันมาคิดถึงมาตรการ "หดแผนรายจ่าย" และสถาบันการเงินไทยเอง ต้องกันสำรองในธุรกรรมที่เกี่ยวโยงกับสถาบันการเงินยุโรป

เขามองว่าปัญหาในยูโรโซนปัจจุบันนั้น เกิดจากรัฐบาลประชานิยม จ่ายเงินเกินตัว และทำให้เกิดปัญหาฟองสบู่ เกิดการเก็งกำไรตลาดอสังหาริมทรัพย์ จึงทำให้ก่อหนี้สาธารณะในอัตราที่สูง อีกทั้งตลาดยังประเมินว่าตัวเลขหนี้ในระบบแบงก์ที่โชว์อยู่ในวันนี้ อาจจะยังไม่เปิดเผยออกมาทั้งหมด อาจจะมีการ "ซ่อนขาดทุน" ไว้อีกจำนวนหนึ่ง ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจชะลอลง ปัญหาต่างๆ จึงโผล่ออกมาให้เห็น

"ปัญหาในยุโรปเริ่มต้นจาก ภาครัฐที่มีการใช้จ่ายเกินตัว ก่อหนี้สาธารณะในอัตราสูง ก่อนที่จะขยายเข้ามาในระบบแบงก์ พัวพันกันหมด และปัจจุบันรัฐบาลหลายประเทศก็ถือครองพันธบัตรแบงก์ในยุโรป ดังนั้นเหตุการณ์ข้างหน้าจะรุนแรงอีกมาก การเตรียมความพร้อมของภาคธุรกิจเป็นเรื่องที่ดี การทำแผนในช่วง 6-12 เดือน จำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมเรื่องกระสุน และสภาพคล่อง เพื่อรับมือกับความผันผวน"

นายธีระชัย กล่าวว่า แม้การส่งออกของไทยไปยุโรปโดยตรง จะน้อยแต่ผลกระทบทางอ้อมน่าจะมีมาก เนื่องจากคู่ค้าหลักของไทยในอาเซียนและเอเชียหลายราย ล้วนมีตลาดหลักในยุโรป ดังนั้นผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยคงเลี่ยงได้ยาก ส่วนตลาดเงินตลาดทุน จะผันผวนตามกระแสข่าวที่ออกมารายวัน เพราะแนวทางแก้ปัญหาของยุโรปวันนี้มีสองมุมมอง ด้านหนึ่งต้องการให้มีการรัดเข็มขัด ส่วนอีกด้านต้องการให้เกิดความผ่อนคลาย ดังนั้นแต่ละวันจะมีข่าวออกมาสองมุมมองเสมอ ทำให้ตลาดหุ้น ตลาดเงิน ผันผวนตามกระแสข่าวดังกล่าว ดังนั้นนักลงทุนควรระมัดระวัง เพราะตลาดของไทยจะโดนหางเลขไปด้วย

อดีต รมว.คลัง ได้เสนอทางแก้ปัญหาวิกฤติหนี้ในยุโรปว่า ในระยะสั้น แก้ปัญหาหนี้โดยการแฮร์คัต และยืดชำระหนี้ออกไป เนื่องจากที่ผ่านมา มีการชำระหนี้น้อยมาก หรือบางกรณีควรยกหนี้  โดยให้ยูโรบอนด์ ที่มีเครดิตดีกว่าเข้ามาช่วยเหลือประเทศที่เผชิญปัญหา โดยประเทศเยอรมนี ซึ่งมีเครดิตแกร่งกว่า เข้ามาสนับสนุนอีกแรง  ขณะที่ภาคสถาบันการเงิน ควรดำเนินการเพิ่มทุนและลดทุนแบงก์ ให้มีความแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิมในระยะยาว ยุโรปต้องหันมาเน้นปรับปรุงประสิทธิภาพสินค้าและเพิ่มนวัตกรรม

"ปัญหาของยุโรป ต่างจากของไทยเมื่อปี 2540 เพราะตอนนั้นของเราเผชิญฟองสบู่เหมือนกัน แต่ไม่มีปัญหาในภาคหนี้รัฐ ดังนั้นปัญหาของเขา หนักกว่าของไทยเมื่อ 15 ปีที่แล้วมากเพราะครั้งนี้มีทั้งปัญหาแบงก์และหนี้ภาครัฐ"

นายธีระชัย ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ที่มีแนวคิดตั้งกองทุนพยุงหุ้น และการออกมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย เพราะเป็นการเอาเงินภาษีของประชาชนไปเสี่ยง ส่วนการไหลเข้า-ออกของเงิน ประเทศไทยควรบริหารจัดการเรื่องของความเชื่อมั่น ความมีเสถียรภาพการเมืองมากกว่า

ทั้งนี้ จากการหารือร่วมของหน่วยงานเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้เตรียม 10 มาตรการเพื่อรองรับวิกฤติยุโรป ประกอบด้วย 1.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจับตาปัญหาประเทศกรีซอย่างใกล้ชิดและไม่ประมาท โดยที่ประชุมวิเคราะห์ว่าปัญหากรีซไม่สามารถแก้ไขได้เร็ว และคาดว่าแม้กรีซจะได้รับเงินกู้เพิ่มเติมก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และอาจลุกลามไปถึงประเทศโปรตุเกส สเปน และอิตาลี ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก
 

2.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดอัตราดอกเบี้ยในประเทศระดับที่เหมาะสม เพราะมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจยุโรปอาจส่งผลทำให้มีเงินไหลออกจากประเทศในเอเชียรวมถึงไทย

3.เร่งวางแผนเตรียมรองรับผลกระทบต่อภาคการเงิน โดยต้องมีข้อมูลสถาบันการเงินในประเทศว่ามีเงินจากยุโรปที่มีความเสี่ยงไหลออกจำนวนเท่าไหร่ เตรียมบริหารสภาพคล่องให้เพียงพอกรณีมีเงินไหลออก ป้องกันผลกระทบค่าเงินและเศรษฐกิจไทย และกรณีเศรษฐกิจยุโรปกระทบสภาพคล่องลูกหนี้ ธนาคารควรเตรียมมาตรการผ่อนปรน เพื่อไม่ให้เกิดลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)

4.กระทรวงการคลังเตรียมวิธีที่เหมาะสมล่วงหน้ากรณีตลาดหลักทรัพย์ได้รับผลกระทบ เช่น ตั้งกองทุนพยุงหุ้น

5.กระทรวงพาณิชย์วิเคราะห์ข้อมูลการส่งออกไปยุโรปและเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตในประเทศ รวมถึงกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อเตรียมช่วยเหลือ

6.กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งผู้แทนพิเศษในยุโรป ติดตามข้อมูลเชิงลึก และประสานรัฐบาลประเทศในยุโรปให้เห็นถึงความสำคัญของไทย เพื่อไม่ให้ประเทศเหล่านั้นใช้มาตรการกีดกันการค้าช่วงที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ

7.กระทรวงแรงงานเตรียมมาตรการช่วยเหลือแรงงาน กรณีประสบปัญหาเลิกจ้างจากวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป
 8.ประชุมร่วมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ 9 กระทรวง ทุกสัปดาห์เพื่อติดตามสถานการณ์และเตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลงได้ทันที โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังเป็นประธาน

9.กระทรวงการคลัง ธปท. และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ตั้งทีมเกาะติดสถานการณ์และรายงานข้อมูลนายกฯ

10.ทุกหน่วยงานควรหาโอกาสจากวิกฤติครั้งนี้ เช่น เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ ช่วงนักลงทุนทั่วโลกต้องการพื้นที่ลงทุนนอกยุโรป


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ธีระชัย จี้รัฐหั่นรายจ่าย ฝ่าวิกฤตหนี้ยุโรป

view