สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชำแหละหนี้ต่างประเทศ ฤาจะซ้ำรอยวิกฤติปี40

ชำแหละหนี้ต่างประเทศ ฤาจะซ้ำรอยวิกฤติปี40

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




วิกฤติเศรษฐกิจไทยเมื่อ 15 ปีที่แล้ว "หนี้ต่างประเทศ" ถือเป็น "ปัจจัยสำคัญ"ตัวหนึ่งที่ฉุดให้สถานการณ์ในขณะนั้นเลวร้ายลงมากขึ้น
เพราะเวลานั้นประเทศไทยมีหนี้ต่างประเทศสูงถึง 1.12 แสนล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้เป็นหนี้ระยะสั้น 41% เมื่อสถานการณ์เลวร้ายลง โดยเฉพาะหลังประกาศ "ลอยตัวค่าเงินบาท" ในวันที่ 2 ก.ค. 2540 ส่งผลให้เจ้าหนี้ต่างประเทศเริ่มไม่มั่นใจสถานะลูกหนี้ชาวไทย จึงใช้วิธีเรียกคืนหนี้ก่อนกำหนดหรือไม่ต่ออายุหนี้ที่ครบกำหนดออกไป ทำให้ภาคเอกชนเวลานั้นขาดสภาพคล่องอย่างหนัก นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจขั้นรุนแรง

มาวันนี้ตัวเลขหนี้ต่างประเทศของไทยเริ่มสูงขึ้นอีกครั้ง กระทั่งล่าสุดยอดหนี้ดังกล่าวเพิ่มขึ้นจน "ทุบสถิติใหม่" โดยมีมูลหนี้รวมกันสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนจากตัวเลขในเดือนเม.ย. 2555 ซึ่งระดับหนี้เพิ่มมาอยู่ที่ 1.21 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้น 14.15% ในจำนวนหนี้ก้อนนี้ยังเป็นหนี้ระยะสั้นในสัดส่วน 50.4% ของยอดหนี้ต่างประเทศทั้งหมด

ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แม้ตัวเลขหนี้ต่างประเทศของไทยจะเพิ่มสูงกว่าเมื่อครั้งวิกฤติปี 2540 แต่ระดับหนี้ในปัจจุบันไม่ถือว่าน่ากลัว และไม่มีสัญญาณใดบ่งบอกว่าจะเกิดกรณีเดียวกับวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อ 15 ปีที่แล้ว

"ลักษณะหนี้ต่างประเทศของเราตอนนี้มันต่างกับเมื่อปี 40 ภาพมันเป็นคนละภาพเลย ตอนนี้หนี้ส่วนใหญ่เป็นเทรดเครดิต (สินเชื่อภาคค้า) และเป็นหนี้ของภาคเอกชน ไม่ใช่หนี้ภาครัฐ ซึ่งเขามีวิธีบริหารความเสี่ยง อีกทั้งประเทศไทยยังถูกจัดอันดับจากเวิลด์แบงก์ว่าเป็นกลุ่มที่มีระดับหนี้ต่างประเทศค่อนข้างต่ำด้วย"

เขากล่าวว่า ถ้าดูตัวเลขหนี้ต่างประเทศของไทยเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะเห็นว่าสัดส่วนหนี้ต่างประเทศของไทยในปัจจุบันอยู่ระดับต่ำเพียง 37.4% ของจีดีพีเท่านั้น เทียบกับช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ซึ่งมีสัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อจีดีพีที่สูงถึง 64.8%

นอกจากนี้ถ้าเทียบตัวเลขหนี้ต่างประเทศ โดยเฉพาะหนี้ระยะสั้นกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ จะเห็นว่าปัจจุบันประเทศไทยมีเงินสำรองฯ ค่อนข้างสูง โดยสูงกว่าหนี้ระยะสั้นถึง 3 เท่า เทียบกับวิกฤติปี 2540 ที่มีระดับเงินสำรองฯ ต่อหนี้ระยะสั้นแค่ 0.7 เท่า ดังนั้นสถานะหนี้ต่างประเทศของไทยเวลานี้ แม้จะเพิ่มขึ้นมากแต่อยู่ในระดับที่ปลอดภัย
 

ด้าน บันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย สายนโยบายความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีระดับเงินสำรองระหว่างประเทศสูงกว่าหนี้ต่างประเทศ เพราะเท่าที่เคยมีการสำรวจกัน พบว่าประเทศทั้งหมดในโลกนี้ มีหนี้ต่างประเทศรวมกันประมาณ 80 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่เงินสำรองระหว่างประเทศรวมกันอยู่ที่ 8 ล้านล้านดอลลาร์ เท่ากับว่าประเทศทั้งหมดทั่วโลกมีหนี้ต่างประเทศมากกว่าระดับเงินสำรองฯ ถึง 10 เท่า

"ของเราระดับหนี้ต่างประเทศแม้จะเพิ่มขึ้นมาก แต่ไม่ได้น่ากลัวอะไร ส่วนใหญ่เป็นหนี้ภาคการค้า และในบรรดาประเทศต่างๆ ทั่วโลก 90% มีหนี้ต่างประเทศที่มากกว่าระดับเงินสำรอง แต่ของไทยเรามีเงินสำรองมากกว่าหนี้ต่างประเทศ ดังนั้นจึงไม่ได้น่ากลัว ตอนนี้ระดับหนี้ต่างประเทศของไทยเป็นคนละเรื่องกับเมื่อวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เลย"


ขณะที่ กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ มองว่า นอกจากเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยในปัจจุบันจะสูงกว่าระดับหนี้ต่างประเทศค่อนข้างมากแล้ว ธุรกรรมการกู้ยืมเงินต่างประเทศของไทยในปัจจุบัน ก็ไม่ได้เป็นลักษณะเดียวกับเมื่อปี 2540 ด้วย ซึ่งตอนนั้นเป็นการกู้ยืมผ่านกิจการ “วิเทศธนกิจ” หรือ BIBF (Bangkok International Banking Facillities) ค่อนข้างมาก

"หนี้ต่างประเทศในตอนนี้แม้จะเพิ่มขึ้นจนแซงหน้ายอดหนี้เมื่อปี 2540 ไปแล้ว แต่ระดับเงินสำรองฯ เราก็เพิ่มขึ้นกว่าเดิมค่อนข้างมาก เดิมเรามีหนี้ 1 แสนล้านดอลลาร์ มีเงินสำรองแค่ 4 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ปัจจุบันเงินสำรองฯ เรามีเกือบ 2 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่หนี้มีประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์ มันกลับข้างกัน นอกจากนี้ตัวแบงก์พาณิชย์เองก็ไม่ได้กู้มาปล่อยเหมือนตอนปี 40 ที่หนี้เกิดจาก BIBF ดังนั้นแล้วระดับหนี้ในปัจจุบันจึงไม่ได้น่ากลัว"

ด้าน ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ ธปท.ได้วิเคราะห์ตัวเลขหนี้ต่างประเทศในบทความเรื่อง "หนี้ต่างประเทศระยะสั้นของไทย น่ากังวลจริงหรือ?" งานวิจัยชิ้นนี้สรุปออกมาว่า หนี้ต่างประเทศระยะสั้นของไทยเร่งตัวขึ้นตั้งแต่ปี 2553 จากสินเชื่อการค้าที่คู่ค้าในต่างประเทศให้กับผู้นำเข้าซึ่งเพิ่มขึ้นตามการนำเข้าที่ขยายตัว และหนี้เงินกู้ระหว่างสถาบันการเงินที่อยู่ในเครือเดียวกันในต่างประเทศ เพื่อนำเงินดอลลาร์สหรัฐมาปล่อยในตลาดกู้ยืมเงินดอลลาร์สหรัฐในไทย (FX Swap)

กรณีดังกล่าวทำให้สถาบันการเงินต้องปรับฐานะสภาพคล่องตามเกณฑ์ของแบงก์ชาติ ด้วยการซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐโดยมีสัญญาว่าจะนำไปขายคืนในเวลาที่กำหนด หรือ สัญญา Swap ซึ่งโดยส่วนใหญ่สถาบันการเงินจะทำสัญญา Swap เท่ากับอายุของสัญญา Forward จึงไม่สร้างความเสี่ยงจากปัญหาอายุหนี้ที่แตกต่างกัน (Maturity Mismatch) มากนัก ขณะเดียวกันธุรกรรมที่ทำส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ จึงไม่น่าจะสร้างความเสี่ยงจากปัญหาสกุลเงินที่ต่างกัน (Currency Mismatch) มากนักด้วย ดังนั้นโดยภาพรวมจึงไม่น่ากังวล

อย่างไรก็ตาม แม้หนี้ต่างประเทศระยะสั้นในปัจจุบันจะไม่มีสัญญาณว่าจะเกิดปัญหาเรื่องเงินทุนไหลออกอย่างฉับพลัน แต่ควรติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด ทั้งในเรื่องวัตถุประสงค์การกู้ ลักษณะธุรกรรม และติดตามธุรกรรมที่ Currency Mismatch และ Maturity Mismatch มากจนอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวดี มักมีเงินทุนไหลเข้าในลักษณะที่เอื้อต่อการก่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้น จึงควรจำกัดปริมาณการก่อหนี้ชนิดนี้ให้เหมาะสมและเป็นไปตามหลักเกณฑ์สากลที่กำหนดไว้ รวมทั้งควรนำเงินกู้เหล่านี้ไปใช้ในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

โดยสรุปแล้ว แม้หนี้ต่างประเทศของไทยจะเพิ่มขึ้นจนทำ "นิวไฮ" ครั้งใหม่ แต่ด้วยโครงสร้างและขนาดของหนี้ยังไม่น่ากลัวนัก อีกทั้งหนี้ส่วนใหญ่มีธุรกรรมรองรับ เพียงแต่จากประสบการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นในอดีต สอนให้เราตั้งมั่นอยู่บนความไม่ประมาท ดังนั้นแม้หนี้เหล่านี้จะยังอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพราะอาจมีบางมุมที่คาดไม่ถึงว่าจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพโดยรวมของเศรษฐกิจไทยก็เป็นได้!!


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ชำแหละหนี้ต่างประเทศ ซ้ำรอยวิกฤติปี40

view