สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ยุทธศาสตร์เชิงรุก บทบาทใหม่ของอีซีบี

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

เป็นไปตามที่คาดหมาย เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินแห่งธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) มีมติลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% จนส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันของอีซีบีลดต่ำเป็นประวัติการณ์เหลือ เพียงแค่ 0.75% เท่านั้น

อีซีบียังได้ประกาศตัดลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจาก 0.25% ลงมาเหลือที่ 0% เป็นครั้งแรกอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้จะถือเป็นย่างก้าวเพื่อรับมือกับวิกฤตหนี้ ยุโรปครั้งใหญ่ของอีซีบีที่ได้รับการผลักดันออกมาอีกหนหนึ่ง แต่ทว่าก็เป็นไปตามที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์กันไว้ล่วงหน้าแล้วว่า ธนาคารกลางยุโรปจะต้อง “ขยับตัว” บ้าง เนื่องจากเงื่อนไขและสภาวการณ์ในปัจจุบันนี้เอื้อต่อการดำเนินนโยบายดัง กล่าวมากที่สุด

ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อที่ส่อแววว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้ในปัจจุบันจะยังอยู่สูงกว่าเป้าที่อีซีบีวางไว้ที่ 2% แต่ในปีหน้าอีซีบีคาดว่าเงินเฟ้อจะลดลงมาอยู่ที่ 1.6%

นอกจากนั้น ผลการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อปลายเดือน มิ.ย. ที่ได้ข้อสรุปออกมาดีเกินความคาดหมาย เช่น การที่ผู้นำอียูสามารถบรรลุข้อตกลงในการนำกองทุนรักษาเสถียรภาพถาวรยุโรป (อีเอสเอ็ม) เข้าให้ความช่วยเหลือภาคธนาคารได้โดยตรง การตกลงที่จะมอบหมายอีซีบีให้เข้ามาเป็นผู้ควบคุมดูแลภาคธนาคารมากขึ้น และการอนุมัติแผนกองทุนกระตุ้นการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ 1.2 แสนล้านยูโร ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้อีซีบียอมเปลี่ยนท่าที และจูงใจให้หันมาส่งสัญญาณตอบสนองต่อผลความคืบหน้าที่เกิดขึ้น

สุดท้ายคือ อีซีบีต้องการประคับประคองสถานการณ์เศรษฐกิจในยุโรปที่กำลังถลำลึกสู่ภาวะ ย่ำแย่อยู่ในขณะนี้ โดยเห็นได้จากก่อนหน้าที่อีซีบีจะประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินเพียง ไม่กี่วัน ได้มีการเปิดเผยว่าตัวเลขการว่างงานในกลุ่มยูโรโซนเดือน พ.ค.ปีนี้ ทำสถิติพุ่งขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งกลุ่มยูโรโซนขึ้นในปี 2542 ที่ 11.1%

ขณะที่ดัชนีการขยายตัวภาคการผลิต (พีเอ็มไอ) ของยูโรโซนเดือน มิ.ย. ก็ยังคงอยู่ในภาวะถดถอยต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกันที่ 45.1 นอกจากนี้ดัชนีภาคบริการของยูโรโซนเดือน มิ.ย. ที่แม้จะดีขึ้นมาเล็กน้อยที่ 46.4 จากเดือน พ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 46 แต่ทว่าก็ยังคงอยู่ในสภาวะถดถอยอยู่เช่นเดิม โดยถือเป็นระยะเวลา 6 เดือนติดต่อกันแล้ว

ทั้งนี้ แม้ว่าจุดมุ่งหมายการออกมาตรการดังกล่าวของอีซีบีจะเป็นไปเพื่อกระตุ้นให้ ภาคครัวเรือนและภาคธนาคารในยุโรปหันมาใช้จ่ายและลงทุนระหว่างกันมากขึ้น ผ่านทางการลดต้นทุนการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่ถูกลง แต่กระนั้นนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายก็มองว่า การตัดลดอัตราดอกเบี้ยของอีซีบีครั้งนี้จะไม่ได้ช่วยนำไปสู่การแก้ปัญหา วิกฤตหนี้ยุโรปที่กำลังย่ำแย่อย่างหนักในขณะนี้ลงได้มากนัก

นั่นเป็นเพราะว่าผลพวงที่เกิดจากนโยบายการเงินมีอิทธิพลต่อการกระตุ้นการ เติบโตทางเศรษฐกิจในวงจำกัด และไม่สามารถแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ยุโรปกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ได้

นอกจากนี้ แม้การลดดอกเบี้ยจะทำให้ธนาคารเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ถูกลง แต่ทว่าปัญหาการเข้าถึงและระดมเงินทุนจากตลาดที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาที่เกิด ขึ้นทั้งหมดในยุโรป เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับเฉพาะบางประเทศเท่านั้น โดยเฉพาะอิตาลีกับสเปน ที่ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งสูงขึ้นจนใกล้แตะระดับที่ 7%

จูเลียน คาลโลว์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคยุโรปของธนาคารบาร์เคลย์ในอังกฤษ ให้ความเห็นว่า ผลจากความเคลื่อนไหวของอีซีบีในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์ ครั้งนี้ จะไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหามากนัก เนื่องจากสัญญาณเศรษฐกิจที่อ่อนแอ อาทิ การว่างงานที่สูงขึ้นต่อเนื่อง และการฟื้นตัวที่ยังดูปวกเปียกอยู่มากในปัจจุบัน ทำให้การใช้นโยบายการเงินเพื่อแก้ไขจำเป็นต้องใช้ยาแรงกว่านี้

“พูดตามตรง ลำพังเพียงการตัดลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเดียวไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาภาวะการถดถอย ทางเศรษฐกิจได้ ฉะนั้นเราจำเป็นต้องทำมากกว่านี้” คาลโลว์ กล่าว

นอกเหนือจากนี้ การตัดลดอัตราดอกเบี้ยก็ยังจะไมเป็นการเสริมสร้างการบริโภคให้มากขึ้นตามที่ อีซีบีมุ่งหวัง แต่จะส่งผลดีต่อภาคธนาคารที่ประสบปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างยาก ลำบากให้เข้าถึงแหล่งเงินได้ถูกลง

แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ไม่ว่าผลการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะส่งผลในเชิงบวกต่อสถานการณ์ในปัจจุบันมาก น้อยเพียงไร สิ่งที่ทุกฝ่ายต่างมีความเห็นพ้องตรงกัน คือ บทบาทของอีซีบีที่จะมีมากขึ้นต่อจากนี้ไปในอนาคต

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ผู้นำอียูตกลงกันในที่ประชุมสุดยอดเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาว่าจะให้อี ซีบีเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบและดูแลภาคธนาคารยุโรป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขการที่ผู้นำอียูยอมให้นำกองทุนอีเอสเอ็มสามารถ อัดฉีดเข้าสู่ภาคธนาคารได้โดยตรง ทั้งนี้จุดมุ่งหมายแผนดังกล่าวมีขึ้นเพื่อแยกความเชื่อมโยงปัญหาหนี้ระหว่าง ภาครัฐกับภาคธนาคารออกจากกัน

นอกจากนี้ ถึงแม้ในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอียูจะยังไม่มีความเห็นที่สอดคล้องกันเกี่ยว กับรายละเอียดของการจัดตั้งสหภาพธนาคารที่ลงตัวออกมา ไม่ว่าจะเป็นแผนคุ้มครองเงินฝาก หรือแผนการให้องค์กรส่วนกลางสามารถเข้าช่วยเหลือและสั่งระงับการดำเนินงาน ของธนาคารได้โดยตรง

แต่ที่แน่นอนแล้วก็คือ ทุกฝ่ายต้องการที่จะเห็นการผลักดันไปสู่การจัดตั้งสหภาพธนาคารยุโรปให้เกิด ขึ้นจริงภายในปีนี้ ซึ่งคาดว่าอีซีบีก็จะได้รับการมอบหมายให้เข้าไปเป็นกลไกกลางของสหภาพธนาคาร ดังกล่าวด้วย

ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าจากบทบาทเดิมที่อีซีบีเคยมีอยู่เพียงแค่เป็นองค์กรซึ่งทำ หน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินยูโรและกำหนดเพดานเงินเฟ้อ ในวันนี้อีซีบีจะแปรผันกลายเป็นองค์กรที่มีอำนาจและบทบาทมากในการแก้ไขวิกฤต ที่เป็นอยู่มากขึ้น

ถึงกระนั้น การจะไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือและการเห็นพ้องต้องกัน ในทางการเมืองจากผู้นำยุโรป ที่ยังคงแตกแยกกันอยู่ให้เกิดความลงตัวเสียก่อน


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ยุทธศาสตร์เชิงรุก บทบาทใหม่ของอีซีบี

view