สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ข้างหลังพระ (สมเด็จฯ)

ข้างหลังพระ (สมเด็จฯ)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




พระสมเด็จวัดระฆังที่เลื่องชื่อ มีชื่อเสียงขจรไกลไปทั่วโลก ถึงขั้นที่มหาเศรษฐีจากหลายประเทศบินมาเช่าพระอย่างเงียบๆ แต่เป็นที่รู้กันในวงการ
คนวงในและนอกวงการพระรับทราบกันดีว่า พระสมเด็จวัดระฆังอันเลื่องชื่อได้รับการพุทธาภิเษกเสกโดย สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ผู้เชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนาธุระและคันถธุระ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ใครคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังพุทธศิลป์ที่เป็นอมตะนิรันดร์กาล และใครเป็นผู้แกะแม่พิมพ์พระเครื่องถวายให้สมเด็จโตเพื่อใช้ในการสร้างจักรพรรดิแห่งพระเครื่องของไทย

ความเลื่อมใสที่มีต่อสมเด็จพระพุฒาจารย์โตในสมัยนั้น ลูกศิษย์ลูกหามากมายต่างปวารณาตัวขอเป็นผู้แกะพิมพ์พระ ถวายแด่องค์สมเด็จพระพุฒาจารย์โต มีตั้งแต่ชาวบ้านในละแวกวัดจนถึงหัวหน้าช่างสิบหมู่ในรั้ววัง ต่างก็พยายามแสดงความสามารถให้ประจักษ์อย่างสุดฝีมือ

สุดท้าย หลวงวิจารณ์เจียรนัย หัวหน้าช่างทองหลวง เป็นผู้ได้รับคำชื่นชมมากที่สุด ดังเห็นได้จากความตอนหนึ่งในหนังสือของ "ตรียัมปวาย" หรือ พ.อ.ประจญ กิติประวัติ ที่บันทึกไว้ดังนี้

"พระสมเด็จ ที่ได้สร้างจากแม่พิมพ์เดิมๆ นั้น ก็คงแตกหักชำรุดเสียหายเป็นส่วนมาก ทั้งนี้เพราะส่วนผสมของเนื้อยังไม่ได้ใช้น้ำมันตังอิว และการใช้น้ำมันชนิดผสมในเนื้อเพื่อแก้ไขการแตกร้าวนั้น ได้เริ่มกระทำเมื่อหลวงวิจารณ์เจียรนัยถวายคำแนะนำ ซึ่งเป็นในระยะเดียวกับที่ได้สร้างพระด้วยแม่พิมพ์ใหม่ของท่านผู้นี้ และพระสมเด็จฯ ที่ได้สร้างด้วยแม่พิมพ์ของหลวงวิจารณ์เจียรนัยนี้ เป็นที่ยอมรับกันในวงการพระเครื่องฯ ทุกวันนี้ และเรียกว่า “พิมพ์ทรงนิยม” ได้แก่ พิมพ์ทรงพระประธาน พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์ทรงฐานแซม พิมพ์ทรงเกศบัวตูม พิมพ์ทรงปรกโพธิ์ พิมพ์ทรงสังฆาฏิ พิมพ์ทรงเส้นด้าย พิมพ์ทรงฐานคู่ และรวมทั้งพิมพ์เดิมของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ด้วยอีกพิมพ์หนึ่ง คือ พิมพ์ทรงเศรียรบาตรอกครุฑ รวมเป็น ๙ พิมพ์ทรงด้วยกัน ซึ่งในตอนต่อๆ ไปจะขอเรียกพิมพ์ทรงเหล่านี้ว่า “พิมพ์ทรงวิจารณ์เจียรนัย” เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ออกแบบ"  จากหนังสือปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง เล่มที่1 น.171 โดย ตรียัมปวาย พ.ศ. 2511

ตามประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้มีเพียงชื่อ และเหตุที่มาที่ไปอันนำไปสู่ฐานะช่างเอกในการแกะพิมพ์พระเครื่อง แต่หากจะสืบค้นลงไปถึงประวัติศาสตร์ เมื่อราวร้อยกว่าปีก่อนว่าท่านร่ำเรียนศึกษาจากสำนักใด และเหตุใดจึงเข้ามารับราชการเป็นช่างทองหลวงในรัชกาลที่ 4 ได้ ก็สุดจะคาดเดา

แม้ไม่ปรากฏชัดในด้านประวัติศาสตร์ แต่สิ่งที่ท่านได้กระทำลงไปนั้นเป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายสำหรับผู้คนในปัจจุบัน นั่นคือการนำ "สัดส่วนทองคำ" อันเป็นศาสตร์และศิลป์ของตะวันตก นำมารวมตัวกับศิลปะตะวันออกได้อย่างหมดจดและงดงาม

 

    ความงามจากสัดส่วนทอง

 

สัดส่วนทอง เป็นสัดส่วนตัวเลขคงที่ค่าหนึ่งปรากฏขึ้นในช่วงอารยธรรมกรีกโบราณ โดยที่ไม่มีใครรู้ที่ไปและที่มา จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตามแต่อัตราส่วนประมาณ 1 : 1.618 หรือที่เรียกว่าสัดส่วนทองคำไปปรากฏตัวอยู่ในผลงานสถาปัตยกรรม ประติมากรรมและศิลปกรรม ในอารยธรรมตะวันตก เช่น วิหารพาร์เธนอน และ ทัชมาฮาล

หากกล่าวว่าตัวเลขค่านี้ไม่มีต้นสายปลายเหตุของที่มาก็ไม่เชิงนัก เพราะค่าสัดส่วนทองยังพบอยู่ในอนุกรมทางคณิตศาสตร์ที่เรียกว่าอนุกรม "ฟีโบนักชี" ซึ่งเป็นลำดับตัวเลขทางคณิตศาสตร์ง่ายๆ โดยมีลำดับตัวเลขแรกและลำดับตัวที่สองคือ 1 และ 1 แต่ลำดับถัดจากนั้นคือการใช้ผลบวกของ 2 จำนวนแรกมารวมกันเท่านั้น โดยเขียนในรูปอนุกรมลำดับได้เป็นดังนี้ 1,1,2,3,5,8,13,21 ….

แม้ว่าจะเป็นรูปแบบอนุกรมที่เรียบง่าย แต่เมื่อนำคู่ลำดับอนุกรมที่เรียงติดกันมาหารกัน โดยให้ตัวเลขที่มากกว่าเป็นตัวตั้ง ส่วนที่มีค่าน้อยกว่าเป็นตัวหาร ค่าที่ได้จะมีแนวโน้มเข้าใกล้กับค่าสัดส่วนทอง เมื่อใช้ลำดับตัวเลขที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ  คือ 1. 61803399... และเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า การออกแบบพระพิมพ์สมเด็จวัดระฆังปรากฏร่องรอยของสัดส่วนทองคำจริง ได้มีการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์มาทดสอบด้วย

สิ่งที่ค้นพบคือ เส้นและทรงทางเรขาคณิตที่เกิดจากอัตราส่วนทองคำที่ปรากฏบนพิมพ์พระนั้นสัมพันธ์กับเส้นวงเรียวแขนทั้งสองข้าง หากพิจารณาดีๆ มักจะมีจุดเด่นที่ศูนย์กลางบริเวณพระนาภี จะเห็นเป็นวงกลมที่ค่อนข้างสมบูรณ์วงหนึ่งเป็นจุดสังเกตที่สำคัญในพิมพ์พระสมเด็จ ฝีมือของหลวงวิจารณ์เจียรนัย

 

    ตักศิลาในราชสำนัก

 

ในยุคล่าอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก ประเทศต่างๆ ในดินแดนแถบเอเชีย ต่างต้องตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติหรือต้องสูญเสียทรัพยากรต่างๆ เพื่อแลกกับการไม่ต้องถูกครอบครองโดยชาติที่ถือว่าตนเจริญกว่า แต่ด้วยพระปรีชาสามารถของบรรพกษัตริย์ไทยที่ทรงเล็งเห็นถึงอนาคตของสยามประเทศว่าต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอดภายใต้ปากกระบอกปืนใหญ่และกองเรือรบอันทันสมัย จึงได้ศึกษาสรรพวิทยาการของตะวันตกเพื่อนำมาปรับใช้กับสยามประเทศ

ในช่วงรัชสมัยของพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ถือเป็นยุคที่ไทยเริ่มรับเอาวิทยาการของตะวันตกเข้ามา ดังเห็นได้จากการรับเอาคณะมิชชันนารีเข้ามาเพื่อเผยแพร่คริสต์ศาสนาในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่เห็นได้ชัดเจนคือ บาทหลวงปาลเลอกัวร์ ผู้เคยเป็นกัลยาณมิตร แลกเปลี่ยนความรู้ของศาสตร์แห่งตะวันตก เช่น ภาษา วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ฯลฯ กับ วชิรญาณภิกขุ ซึ่งท่านได้สอนภาษาบาลีสันสกฤตและภาษาไทยเป็นการแลกเปลี่ยน ภายหลังจึงได้สละเพศบรรพชิตและครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในกาลต่อมา

ด้วยพระปรีชาและการค้นคว้าด้วยพระองค์เอง ท่านได้นำไปต่อยอดความรู้ทางด้านดาราศาสตร์จนสามารถคาดคำนวณสุริยุปราคาเป็นครั้งแรกของสยาม ซึ่งคติความเชื่อทางพุทธศาสนาในขณะนั้น เชื่อว่าโลกคือแผ่นทวีปที่ราบเรียบนั้นประกอบด้วยชั้นต่างๆ ของมหาสมุทรและหุบเขาน้อยใหญ่กางกั้นไว้ดังในไตรภูมิกถาที่สืบต่อกันมา ดังนั้นหากไม่รู้ความจริงเกี่ยวกับระบบสุริยะว่าโลกนั้นมีลักษณะกลมหมุนวนรอบตนเองโดยมีดวงจันทร์เป็นบริวารและโคจรรอบดวงอาทิตย์ ย่อมไม่สามารถทำนายการเกิดสุริยคราสดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่หว้ากอได้

 

    ข้างหลังพระ

 

นายกนก สัชชุกร บันทึกความที่ได้จากการสัมภาษณ์ พระธรรมถาวรไว้ว่า :-

“ครั้งแรกใครจะเป็นผู้แกะพิมพ์ถวายเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ไม่ทราบแน่ แต่เป็นแม่พิมพ์ที่ไม่สู้งดงามนัก และในระหว่างที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ หมกมุ่นในการแก้ปัญหาเรื่องความร้าวหักของพระเมื่อตากแห้งแล้วนี่เอง หลวงวิจารณ์เจียรนัย ช่างทองหลวงในราชสำนักรัชกาลที่ 4 ได้มาเยี่ยมเจ้าพระคุณสมเด็จฯ และได้ขอพิจารณาแม่พิมพ์ที่ใช้สร้างพระสมเด็จฯ มาแต่เดิม และกราบเรียนเจ้าพระคุณสมเด็จฯว่า แม่พิมพ์เหล่านี้ยังไม่งดงาม สำหรับการที่จะใช้สร้างพระเครื่องฯ สำคัญเช่นนี้ เพราะขาดคุณค่าทางศิลปะเป็นอันมาก แล้วจึงได้แกะแม่พิมพ์ขึ้นใหม่ถวายเจ้าพระคุณสมเด็จฯ 2-3 แบบ ซึ่งงดงามกว่าเก่ามาก และเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ใช้แม่พิมพ์ใหม่ๆ นี้ พิมพ์พระสมเด็จฯ ตลอดมา” จากหนังสือปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง เล่มที่ 1 น.170 โดยตรียัมปวาย พ.ศ.2 511

หลวงวิจารณ์เจียรนัย "อาจ" มีครูดี มีผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาแบบอย่างตะวันตกมาให้ แต่ในทางประวัติศาสตร์นั้นกลับไม่พบบันทึกใดๆ เกี่ยวกับบุคคลท่านนี้เลย มีกล่าวถึงเพียงไม่กี่บรรทัดในหนังสือปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง เล่มที่ 1 กล่าวไว้ไม่กี่แห่งเท่านั้นและคำบอกเล่าจากประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต แต่คาดว่าจากการที่ราชสำนักเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ของตะวันตก หลวงวิจารณ์ฯเองก็น่าจะได้รับการถ่ายทอดความรู้นี้มาจากในวัง

วิธีการออกแบบเพื่อให้ได้รูปทรงอย่างที่เห็นนี้ยังคงเป็นปริศนาอยู่ แต่เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าพิมพ์พระสมเด็จที่ออกแบบโดยหลวงวิจารณ์ฯ ปรากฏร่องรอยของสัดส่วนทองที่ทำให้ผลงานเป็นอมตะเช่นเดียวกับศิลปะคลาสสิก ผู้เขียนได้นำแบบทรงขององค์พระพิมพ์ โดยใช้สัดส่วนจำเพาะที่ปรากฏในองค์พระพิมพ์เป็นสิ่งชี้นำ

อาจารย์โจ สงวนศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพระสมเด็จ ศึกษาและสืบเสาะหาข้อมูลหลักฐานของพระสมเด็จหน้าใหม่ พิมพ์มาตรฐานหรือพิมพ์นิยม ซึ่งเป็นพิมพ์ของหลวงวิจารณ์เจียรนัย พบว่ามีทั้งสิ้น 5 พิมพ์ ได้แก่ พิมพ์ใหญ่หรือพิมพ์พระประธาน พิมพ์ฐานแซม พิมพ์เจดีย์ พิมพ์เกศบัวตูม และพิมพ์ปรกโพธิ์

ที่น่าประหลาดใจคือ ทุกพิมพ์ล้วนปรากฏ “สัดส่วนทอง”  ที่ทำให้เกิดความงดงามครบองค์ประกอบทั้งทางด้านศิลปะและนัยของหลักธรรม

โดย อาจารย์โจ ได้กล่าวว่า หลวงวิจารณ์เจียรนัย ช่างทองสิบหมู่ในวังหลวงชั้นครูในช่วงต้นรัตนโกสินทร์เป็นผู้แกะแม่พิมพ์ถวายให้แก่สมเด็จพระพุฒาจารย์โต ในชั้นหลังสุดหรือเรียกว่ายุคสุดท้ายของพระสมเด็จวัดระฆังที่สร้างโดยสมเด็จฯโต นั้น สามารถใช้เครื่องมือเทียบวัดและสร้างเส้นโค้งมนที่มีขนาดความยาวเป็นสัดส่วนทองมาร่างแบบและแกะออกมาเป็น “แม่พิมพ์พระสมเด็จวัดระฆัง”

มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่า สัดส่วนทองที่พบในแม่พิมพ์พระสมเด็จ มาจากการเจริญสัมพันธไมตรีกับชาติตะวันตก ทำให้ได้รับแนวคิดการสร้างงานศิลปะที่งดงามแบบสัดส่วนทองของยุคกรีกโบราณมาใช้ในงานพุทธศิลป์ ที่หลอมรวมจิตวิญญาณของศิลปะและศรัทธาแห่งศาสนาได้อย่างลงตัว

จากองค์ความรู้ด้านศิลปะบูรณาการร่วมกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของพระสมเด็จที่อาจารย์โจได้ทำการศึกษา พบว่า การคำนวณหาสัดส่วนทองบนองค์พระสมเด็จวัดระฆังหาได้จากการลากเส้นที่ฐานขององค์พระตามแนวยาวไปจนสุดฐานทั้งสองด้าน โดยกำหนดให้ความยาวนี้เป็นหนึ่งหน่วย และใช้วิธีการคำนวณด้วยการคูณค่า 1.618 แล้วลากเส้นตั้งฉากให้มีความยาวเท่ากัน เส้นนี้ก็จะไปจรดที่ปลายพระเกศาหรือตรงขอบบนสุดของซุ้มเรือนแก้ว หรือจะใช้วิธีเขียนรูปในลักษณะเชิงเรขาคณิตจะสามารถเห็นผลได้อย่างชัดเจน เปรียบเสมือนช่างผู้รังสรรค์ผลงาน ใช้วิชาทางเรขาคณิตในวิทยาการตะวันตกให้มาบรรจบกับคตินิยมแบบไทยได้อย่างลงตัว

นอกจากนี้ยังพบว่าไม่เพียงแต่พิมพ์พระประธานเท่านั้นที่ออกแบบด้วยรูปทรงเรขาคณิต แต่ยังมีพิมพ์แบบอื่นๆ ที่มีขนาดต่างกันโดยสิ้นเชิง ก็ใช้เทคนิควิธีสร้างแบบเดียวกัน คงเป็นไปได้ยากยิ่งที่ผู้ผลิตผลงานจะสร้างพิมพ์พระเหล่านี้โดยขาดเจตนาหรือสร้างจากจินตนาการเพียงอย่างเดียว

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด ออกจะเหลือเชื่อ แต่หากลองมองย้อนกลับไปสู่ยุคสมัยที่การได้เห็นพระพุทธรูปเจริญตาเป็นนักหนา การได้ฟังพระธรรมเสนาะหู ปุถุชนต้องการแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าสักทางใดทางหนึ่งตามที่ตนถนัด ด้วยสติปัญญาความสามารถทั้งมวล ก็เป็นไปได้ว่าผู้สร้างได้แสดงความคารวะอย่างสูงสุดแด่องค์สมณะรวมถึงบูรพาจารย์ทั้งหลาย


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ข้างหลังพระ (สมเด็จฯ)

view