สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คอ.นธ.เสนอคว่ำร่างรธน.วาระ3 ทำประชามติ2รอบ ชูรธน.2517 แม่แบบ

คอ.นธ.เสนอคว่ำร่างรธน.วาระ3 ทำประชามติ2รอบ ชูรธน.2517 แม่แบบ

จากประชาชาติธุรกิจ

นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ออกแถลงการณ์แนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย โดยสรุปว่า ข้อแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรให้ประชาชนลงประชามติก่อน ส่งผลให้มีการวิพากษ์วิจารณ์และถกเถียงในด้านวิชาการว่าศาลรัฐธรรมนูญตั้งประเด็นและวินิจฉัยเกินเลยไปจากมาตรา68 หรือไม่ การลงประชามติต้องทำในขั้นตอนใด ข้อแนะนำดังกล่าวมีผลผูกพันต่อฝ่ายที่เกี่ยวข้องแค่ไหนเพียงใด ซึ่งต้องรอศึกษารายละเอียดคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตน แต่ที่มีความเห็นเป็น 3 แนวทาง คือ รัฐสภาควรเดินหน้าลงมติในวาระสามต่อไป หรือควรชะลอไว้ เพื่อไปดำเนินการออกเสียงประชามติก่อน หรือปล่อยให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไปแล้วไปดำเนินการแก้ไขเป็นรายมาตรา ซึ่งเห็นว่าการดำเนินการตามแนวทางที่ 1 แม้จะกระทำได้โดยชอบตามกฎหมาย แต่แนวทางนี้อาจเป็นชนวนหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองไม่จบสิ้น
  
นายอุกฤษ กล่าวว่า ส่วนแนวทางที่ 2 ก็ไม่มีความชัดเจน เพราะยังไม่มีร่างให้ประชาชนพิจารณาเปรียบเทียบ ก่อนตัดสินใจลงประชามติ ซึ่งจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้เหมือนกรณีการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ให้ประชาชนเลือกระหว่างร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กับสิ่งที่ยังมองไม่เห็น ขณะที่แนวทางที่ 3 คงต้องใช้เวลานาน และไม่อาจคาดหมายได้ว่าจะเสร็จเมื่อใด จึงมีข้อเสนอว่ารัฐสภาควรปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญที่รอลงมติในวาระที่ 3 ตกไป เพื่อไปดำเนินการออกเสียงประชามติ โดยกำหนดหัวข้อให้ชัดเจน คือให้ประชาชนมีตัวเลือกว่า หากไม่เอารัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว รัฐบาลจะนำรัฐธรรมนูญฉบับใดมาปรับปรุงแก้ไข และประกาศใช้บังคับแทน ซึ่งเห็นว่าควรนำรัฐธรรมนูญ 2517 มาเป็นตัวเลือก หากประชาชนลงประชามติไม่เอารัฐธรรมนูญ 2550 ก็จะนำรัฐธรรมนูญ 2517 มาปรับปรุงแก้ไขตามกระบวนการมาตรา 291 จากนั้นให้ประชาชนลงประชามติอีกครั้งก่อนประกาศใช้บังคับ
  
นายอุกฤษ กล่าวว่า ที่นำรัฐธรรมนูญ 2517 มาเป็นตัวเลือก เพราะเห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด มีความก้าวหน้าและเป็นเสรีนิยม ยึดโยงกับภาคประชาชน ที่สำคัญยังถูกร่างขึ้นภายหลังเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นช่วงที่กระแสประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน ขณะเดียวกันยังมีการบัญญัติถึงที่มา องค์ประกอบ และการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการตุลาการ เป็นผู้เลือกคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ หากเสียงข้างมากว่าเห็นควรใช้บังคับรัฐธรรมนูญ 2550 ต่อไปก็เป็นอันยุติ ไม่ต้องดำเนินการอันใดต่อไปอีก เว้นแต่การแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตราที่เห็นว่าเป็นปัญหาเท่านั้น แต่หากเสียงข้างมากเห็นควรนำรัฐธรรมนูญ 2517 มาปรับปรุงแก้ไข ให้ดำเนินการยกร่างเช่นเดียวกันกับปี 2517 คือ ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมายกร่าง โดยใช้แนวทางปี 2517 มาเป็นหลัก เสร็จแล้วให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ จากนั้นเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาตามกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 ต่อไป

นายอุกฤษ กล่าวว่า เมื่อรัฐสภาลงมติวาระแรกก็ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ส.ส.และ ส.ว.ในสัดส่วนจำนวนที่เหมาะสม จากนั้นจัดรับฟังความเห็นจากประชาชนโดยเปิดเผยและโปร่งใส ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่ออื่น ให้ประชาชนรับรู้ เมื่อพิจารณาในวาระ 2 เสร็จแล้วให้รอ 15 วัน จากนั้นจึงลงมติในวาระ 3 และนำไปสู่การออกเสียงลงประชามติ จากนั้นนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ให้ประกาศใช้บังคับต่อไป

หากดำเนินการตามแนวทางนี้จะแล้วเสร็จภายในไม่เกิน 15 เดือน หรือ 450 วัน ถึงจะต้องลงประชามติ 2 ครั้ง บางคนอาจมองว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ แต่แนวทางนี้จะสิ้นเปลืองน้อยกว่าการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่นอกจากต้องเสียการใช้จ่ายเลือกตั้ง ส.ส.ร. ยังมีเงินเดือนและงบไปจัดทำประชามติอีก ที่สำคัญแนวทางที่เสนอนี้จะทำให้รัฐธรรมนูญได้รับการยอมรับจากบุคคลทุกฝ่ายทุกสี และเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับข้อแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญด้วย


'อุกฤษ'แนะทำประชามติแก้รธน. โหวตวาระ3บ้านเมืองวุ่น

"อุกฤษ" แนะทำประชามติ ทางออกแก้แก้รธน.รายมาตรา พร้อมยกรธน. 2517 ขึ้นเปรียบเทียบ 2550 หวั่นเดินหน้าวาระสาม บ้านเมืองวุ่นวาย
นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ได้ทำหนังสือถึงสื่อมวลชน เพื่อเผยแพร่แนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ว่า ขณะนี้มีหลายส่วนได้เสนอแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็น 3 แนวทางซึ่งตนเห็นว่า ในแนวทางที่ให้รัฐสภาเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระสามทันทีนั้น เชื่อว่าจะเป็นสาเหตุให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองไม่จบสิ้น  ส่วนแนวทางที่ชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระสามไว้ เพื่อจัดทำให้มีการทำประชามติก่อน ตนเห็นว่าตามหลักการไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีร่างรัฐธรรมนูญที่ยกมาให้ประชาชนพิจารณาเปรียบเทียบ และในแนวทางที่เสนอให้ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ตกไปและให้กลับไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตรานั้น จะใช้ระยะเวลานาน

นายอุกฤษ ได้เสนอแนวทางว่า ตนเห็นว่ารัฐสภาควรปล่อยให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระสามที่ค้างอยู่ในระเบียบวาระประชุมตกไป และเดินหน้าทำประชามติ โดยเสนอตัวเลือกว่าจะเอารัฐธรรมนูญ 2550 หรือไม่ พร้อมกับนำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 มาเป็นตัวเลือกให้กับประชาชนในการลงประชามติว่าหากไม่เอารัฐธรรมนูญ 2550 รัฐบาลจะนำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517มาปรับปรุงแก้ไข และเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 291
        
"เหตุผลที่ผมเสนอให้นำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 มาเป็นตัวเลือก เพราะถือเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความก้าวหน้า เป็นเสรีนิยม และมีความเป็นประชาธิปไตยมาก เนื่องจากประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมยกร่าง และบทบัญญัติเป็นไปตามเจตนารมย์ของประชาชนอย่างแท้จริง" หนังสือของนายอุกฤษ ระบุ
       
นายอุกฤษ เสนอด้วยว่าเมื่อประชาชนเห็นด้วยเสียงข้างมากว่าควรนำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517มาใช้ ขอให้คณะรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)  เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากนั้นให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอเข้าสู่รัฐสภาเพื่อพิจารณาตามกระบวนกมาของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291  และเมื่อรัฐสภา ลงมติรับหลักการวาระที่ 1 แล้ว ให้รัฐสภาตั้งคณะกรรมการวิสามัญ 1 ชุดเพื่อพิจารณาในวาระที่สอง โดยในขั้นจตอนนี้ต้องจัดให้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชน อย่างเปิดเผย โปร่งใส โดยมีการถ่ายทอดผ่านสื่อต่างๆ  จากนั้นให้เข้าสู่กระบวนการลงมติวาระที่สาม และนำเสนอต่อประชาชนเพื่อลงประชามติต่อไป โดยวิธีการนี้ เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่เกิน15 เดือนเหรือ 450 วัน และเป็นการลดการสิ้นเปลืองงบประมาณด้วย


'อุดมเดช'หวั่นทำประชามติ2ครั้งประชาชนอาจสับสน

ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หวั่นทำประชามติ 2 ครั้งประชาชนอาจสับสน
นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) กล่าวถึงกรณีที่นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ(คอ.นธ.) ออกแถลงการณ์แนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่าให้ทำประชามติ 2 ครั้งว่า ในที่ประชุมของพรรคเพื่อไทยมีคนให้ความคิดเห็นรูปแบบนี้เหมือนกัน และยังมีข้อเสนอให้แก้เป็นรายมาตรา ซึ่งตอนนี้ก็พยายามหาวิธีที่จะให้กระบวนการกระชับขึ้น สำหรับข้อเสนอแนะของนายอุกฤษเป็นรูปแบบเดียวกันกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา แต่ตนกังวลว่าวิธีนี้ประชาชนอาจจะเกิดความสับสนกับคำถามในการทำประชามติทั้ง 2 ครั้งได้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คงต้องรอคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก่อน เพื่อจะได้กำหนดทิศทางที่แน่ชัดต่อไป


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คอ.นธ. คว่ำร่างรธน.วาระ3 ทำประชามติ2รอบ รธน.2517 แม่แบบ

view