สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แก้ขาดทุน แบงก์ชาติ ไม่ง่าย!

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ศรัณย์ กิจวศิน



เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด
  เพื่อศึกษาแนวทางลดการขาดทุนจากการดำเนินงานของแบงก์ชาติลง ซึ่งการแต่งตั้งคณะทำงานชุดนี้ เป็นไปตามข้อเสนอของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน

 ข่าวการแต่งตั้งคณะทำงานชุดนี้ มองผิวเผินอาจเป็นเพียงข่าวธรรมดา... แต่สำหรับผมในฐานะ “ผู้สื่อข่าวสายการเงิน” ที่รับผิดชอบดูแลและรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับ “นโยบายการเงิน” ของแบงก์ชาติแล้ว ผมมองว่ามัน “ไม่ธรรมดา” เพราะผลศึกษาหรือข้อสรุปสุดท้ายที่ได้จากคณะทำงานชุดนี้ ย่อมมีผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

 ก่อนอื่นต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า หลายปีที่ผ่านมาแบงก์ชาติมีผล “ขาดทุนสุทธิ” จากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยปีล่าสุด (2554) ยอดขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 10.9% ..สาเหตุการขาดทุนมาจาก 2 ส่วนหลักๆ คือ ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน และขาดทุนจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (negative carry)

 การขาดทุนของแบงก์ชาติจากทั้ง 2 ส่วนนี้ เกิดจากการทำหน้าที่ “ธนาคารกลาง” ในการดูแลเสถียรภาพด้านอัตราแลกเปลี่ยน และเสถียรภาพด้านราคา เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ

 เพียงแต่ประเด็นของเรื่องอยู่ตรงที่ การขาดทุนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการขาดทุนจาก negative carry มียอดสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2551 แบงก์ชาติมียอดขาดทุนจากส่วนนี้ประมาณ 7.9 พันล้านบาท ก่อนเพิ่มเป็น 1.2 หมื่นล้านบาท ในปี 2552 และเพิ่มเป็น 2 หมื่นล้านบาท ในปี 2553 กระทั่งปี 2554 ยอดขาดทุนจากส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาอยู่ที่ 7.4 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 271%

 ตัวเลขการขาดทุนของแบงก์ชาติที่เพิ่มขึ้นในเวลานี้ อาจยังไม่กระทบต่อการดำเนินงานของแบงก์ชาติเอง แต่ตราบใดที่ยอดการขาดทุนยังคงเพิ่มอย่างไม่หยุดยั้ง นักลงทุนต่างชาติอาจตั้งคำถามถึงความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินของแบงก์ชาติได้ ถึงเวลานั้นความเชื่อมั่นที่มีต่อนโยบายการเงินของแบงก์ชาติไทยอาจถูกลดระดับลงตามไปด้วย ท้ายสุดแล้ว คงหนีไม่พ้นที่ภาครัฐต้องเข้ามาอุ้มภาระการขาดทุนตรงนี้

 ดังนั้น การตั้งคณะทำงานชุดนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เพียงแต่โจทย์การแก้ผลขาดทุนของแบงก์ชาติ ต้องบอกว่า “ไม่ง่าย” โดยเฉพาะการลดผลขาดทุนโดยไม่ไปกระทบต่อการทำหน้าที่ของธนาคารกลางที่ต้องดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย

 ความจริงแล้วปัญหา negative carry ไม่ได้เกิดเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น เพราะประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ล้วนเผชิญชะตากรรมเดียวกันหมด อย่างกรณีของธนาคารกลางมาเลเซียก็เคยศึกษาแนวทางแก้ปัญหาเหล่านี้เอาไว้ โดยผลศึกษาครั้งนั้นสรุปออกมาได้สามแนวทาง

 แนวทางแรก เสนอให้ลดการแทรกแซงค่าเงิน เพื่อลดภาระการดูดซับสภาพคล่องที่เป็นต้นเหตุการขาดทุน แนวทางต่อมาเสนอให้ใช้เครื่องมือควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย กรณีที่เงินนอกไหลทะลักเข้ามาจำนวนมาก และแนวทางสุดท้าย คือ เสนอให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามกฎหมายไว้กับธนาคารกลาง เพื่อช่วยลดภาระการดูดซับสภาพคล่องลง

 สำหรับของไทยนั้น ต้องบอกว่าความละเอียดอ่อนมีมากเหลือเกิน โดยเฉพาะแนวทางแรกกับแนวทางสุดท้าย เพราะถ้าลดการแทรกแซงนั่นหมายความว่า ในเวลาที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว กลุ่มส่งออกซึ่งเคยได้ประโยชน์จากตรงนี้ จะออกมาเรียกร้องเหมือนทุกครั้งหรือไม่ และถ้าจะให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไว้กับแบงก์ชาติ ถามว่าธนาคารพาณิชย์ซึ่งเวลานี้ดูจะมีเสียงค่อนข้างใหญ่จะยอมหรือไม่

 ที่สำคัญ เงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีสูงกว่า 1.7-1.8 แสนล้านดอลลาร์ แม้จะแฝงไปด้วยภาระอันมหาศาล แต่ก็เปรียบเหมือนกันชนไว้รองรับในยามที่เศรษฐกิจผันผวน แล้วแบงก์ชาติจะดำเนินการอย่างไร ทั้งหมดนี้ จึงเป็นเรื่องชวนให้ติดตามยิ่งนัก!


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แก้ขาดทุนแบงก์ชาติ ไม่ง่าย

view