สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตรวจการบ้านทีมศก. ยิ่งลักษณ์ กิตติรัตน์ ไม่ให้คะแนนตัวเอง ผมก็ตกอยู่ในฐานะคนแก้ตัว

จากประชาชาติธุรกิจ

อีกไม่ถึง 30 วัน รัฐบาลภายใต้บังเหียนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะมีอายุครบ 1 ปี

เป็น 1 ปีที่ต้องฝ่าด่านอรหันต์ ทั้งปัญหาน้ำท่วมใหญ่ทั่วประเทศ บริหารความขัดแย้งทางการเมืองจากพรรคเพื่อไทย ในฐานะ ส.ส.เสียงข้างมากในสภา ที่ดึงดันเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ และออกกฎหมายปรองดอง

และเป็น 1 ปีที่รัฐบาลต้องเดินหน้าตามสัญญาประชาคม ตามนโยบายเร่งด่วน 16 ข้อที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554

โดย เฉพาะนโยบายเศรษฐกิจที่ชวนเชื่อไว้ตั้งแต่เลือกตั้งว่า จะกระชากค่าครองชีพ แก้ปัญหาปากท้อง แก้ปัญหาพลังงาน และเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นที่จับตาของสังคมอย่างใกล้ชิด

ทั้งหมดเป็นภาระหนักบนบ่า "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" ที่สวมหัวเป็น "หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ" ทำงานเคียงข้าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาตลอด 1 ปีเต็ม

เมื่อ ถามถึงวาระที่รัฐบาลมีอายุครบ 1 ขวบ ทำงานเป็นอย่างไร เขาตอบว่า "ถ้ามองเป็นกีฬาฟุตบอลต้องบอกว่า ภายใต้ผู้จัดการทีมที่ชื่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรามีทีมเวิร์กดี ทำประตูได้ ผมเชื่ออย่างนั้น ผมว่าทุกคนเขาทำงานได้ดี"

เมื่อถูกย้อนแย้งถึงหลายนโยบายที่ถูก วิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่สัมฤทธิผล "กิตติรัตน์" สวนกลับด้วยสำนวนฝรั่งว่า ขอให้คิดแบบ Means to an end มองเป้าหมายสุดท้ายเป็นสิ่งสำคัญ

"อย่า ถามผมว่าอยากเห็นกองกลางส่งลูกอย่างไร ผมอยากเห็นทีมยิงประตูเข้า และอยากเห็นฝ่ายตั้งรับสกัดบอลให้ได้ ส่วนผู้เล่นคนอื่น ๆ ก็เล่นต่างบท

ต่างบาทกัน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ว่าก็พอแล้ว"

"ผม ไม่ควรให้คะแนนทีมตัวเอง เพียงแต่คิดว่าเราต้องทำงานร่วมกัน ทั้งเรื่องแรงงานและเรื่องอื่น ๆ ผมรู้ดีว่าเวลาอธิบายอะไร ผมก็ตกอยู่ในฐานะคนแก้ตัว แต่ก็อยู่บนเหตุผล มีตัวเลขยืนยันได้ ก็ไม่มีปัญหา"

ตลอด 1 ปีบนเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี คุมเก้าอี้หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เขามองว่ารัฐบาลเดินหน้าทำงานเป็นรูปธรรมไปแล้ว 4 ประการ

1.เพิ่ม กำลังซื้อภายในประเทศ ผ่านมาตรการหลัก ๆ ทั้งขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ขึ้นเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท และโครงการรับจำนำพืชผลการเกษตร ส่งผลให้กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยมีเงิน

จับจ่ายได้มากขึ้น

"พอ เริ่มเดินหน้านโยบาย เราเห็นชัดว่าคนกลุ่มนี้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น วัดได้จากปริมาณสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐานที่ถูกใช้จ่ายมากขึ้น โดยดูจากภาษีมูลค่าที่รัฐบาลได้รับการชำระมากขึ้น"

2.ดูแลค่าครองชีพของประชาชน โดยการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง

"แม้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะทะยานสูงขึ้นด้วยเหตุผลนอกประเทศ แต่เราก็ยังสามารถดูแลให้น้ำมันขายปลีก มีอัตราการเพิ่มขึ้นช้ากว่าราคาตลาดโลกได้ แน่นอนว่าจากน้ำท่วมและสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้น ราคาสินค้าอาจแพงขึ้น แต่เราเชื่อว่าจะประคองให้อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ดี"

"มองในมุม ประชาชนก็ต้องบอกว่า สินค้ายังมีราคาแพงอยู่ ผมก็ต้องยอมรับครับ แต่เราไม่ได้อยู่บนโลกที่มีเงินเฟ้อติดลบอีกต่อไป มันเป็นบวกทุกปี และเมื่อเทียบกับการเกิดน้ำท่วมใหญ่ ราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น ถือว่าราคาสินค้าในประเทศไม่ได้ขยับขึ้นสูงนัก ขอเรียนว่าเรายังไม่เห็นการขาดแคลนสินค้าหรือน้ำมันปาล์มหายไปจากชั้นวาง ของ"

"ถ้ารัฐบาลจะแก้ตัวจะบอกว่า ทำงานไม่เป็นจะแพงกว่านี้อีก บางคนบอกมะนาวแพง 8-12 บาท ผมก็ชี้แจงว่า ผมต้องถือตะกร้าตามหลังภรรยาไปตลาดบ่อย ๆ มะนาวราคา 8-12 บาทมีให้เห็นทุกปี แต่มันก็มีมะนาวลูกละ 2-4 บาทขายทุกปีเหมือนกัน"

3.ปรับปรุงโครง สร้างหนี้สาธารณะของประเทศ เพื่อปลดเปลื้องภาระต่องบประมาณแผ่นดิน โดยการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อปรับปรุงหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ยอดหนี้สาธารณะลดลงเหลือ 30% เป็นการสร้างเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ

"ตอนนี้เรามีหนี้สาธารณะ ไม่ถึง 40% แต่ถ้าหากผมหักไม่ให้เป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดินได้อีก 1.14 ล้านล้านบาท ก็อาจทำให้เหลือหนี้ 30% เลยนะ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลทุกสมัยต้องตั้งงบฯ

รายจ่ายค่าดอกเบี้ยกองทุน เพื่อการฟื้นฟูฯไปแล้วกว่า 700,000 ล้านบาท ไม่เคยชำระเงินต้นเลย ส่วนรัฐบาลเราเข้ามาปีแรกก็ยังต้องตั้งงบฯอีก 68,000 ล้านบาท แต่ในปี 2556 เป็นต้นไป เราได้ดำเนินการจัดระบบให้มีการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเรียบร้อยแล้ว"

4.สร้าง ความมั่นใจกับภาคเอกชน หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ทั้งการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมประกันภัยพิบัติ ทบทวนแผนบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ โดยรัฐบาลผลักดัน พ.ร.ก.กู้เงิน 350,000 ล้านบาท ให้รัฐสภาอนุมัติจนสำเร็จ

"เรื่องนี้ถือว่าเป็นการ ใช้หนี้กรรมเก่าที่ประเทศไทยไม่เคยได้วางระบบป้องกันบริหารจัดการน้ำให้ดีพอ เราจำเป็นต้องสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน โดยตอนนี้มีโครงการที่เร่งดำเนินการระยะสั้นให้เสร็จภายในปีนี้ มูลค่า 28,000 ล้านบาท จากวงเงินกู้ 350,000 ล้านบาท"

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราอาจเห็นภาพรัฐบาลเร่งรีบเดินหน้านโยบายอย่างด่วนจี๋ แต่กลับกันฝ่ายตรงข้ามก็ยังเปิดแผล ย้ำตำหนิให้เห็นข้อบกพร่องอยู่หลายจุด ทั้งการทุจริตจำนำข้าว การบริหารจัดการน้ำไม่คุ้มค่าเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการก่อหนี้เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น

"กิตติรัตน์" บอกว่า บทเรียน 1 ปี สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดคือการทำความเข้าใจกับคนหมู่มาก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ยังยึดติดกับความคิดในกรอบเดิม

"เราเห็นอยู่เนือง ๆ ว่ามีคนจำนวนหนึ่งมองว่า นโยบายเราเป็นประชานิยม เป็นการก่อหนี้เกินตัว ก็ได้แต่หวังว่านักวิชาการจะทำความเข้าใจและออกมาอธิบายเรื่องนี้ให้สังคม รับทราบ"

"บางคนบอกว่าถ้าทำประชานิยมทำไมถึงให้แค่คนกลุ่มเล็ก ๆ อย่างบ้านหลังแรก รถคันแรก ผมเรียนตามตรงว่า ถ้าเราจะทำประชานิยมคงเลือกให้คนได้เป็น 10 ล้านคนไปแล้ว แต่คนกลุ่มนี้เขาไม่เคยมีบ้าน ไม่เคยมีรถ แต่รัฐเข้ามาทำให้ชีวิตคุณดีขึ้น มันก็ดีอยู่แล้ว"

ถามถึงนโยบายรับจำนำข้าว ที่ถูกฝ่ายค้านโจมตีอย่างหนักทั้งใน-นอกรัฐสภาว่า ชาวนาไม่ได้รับราคา 15,000 บาท พ่วงด้วยปัญหาทุจริตใบประทวน สวมสิทธิ์ข้าวนอกประเทศ ฯลฯ

"โครงการ นี้เกี่ยวข้องกับคนมาก ๆ ก็มีเสียงแว่วว่า มีการทุจริต ประพฤติมิชอบ เราก็มีคณะกรรมการดำเนินการอยู่ ไปไล่จับตะครุบข้าวต่างด้าวที่เบียดเข้ามาหลายรายการ ถามว่าพอใจหรือไม่

ผมก็ไม่สามารถไปอยู่ในทุกที่ทุกมุมได้ เพียงแต่ว่าโครงการนี้ดูแลให้ชาวนาได้รับราคาที่ดีกว่าเรื่องอื่น ๆ"

ส่วน เรื่องระบายข้าว ที่กลัวว่าจะส่งออกขาดทุน เขาตอบว่า "ไม่เห็นต้องรีบระบาย ยังไม่เข้าฤดูกาลใหม่ตรงไหน เราเริ่มจำนำต้นเดือนตุลาคม ตอนนี้ใครที่ทุรนทุรายอยากให้เห็นเราระบายข้าวให้ได้ ก็แปลว่ามีประโยชน์เกี่ยวข้องนะ ผมก็เพียงแต่บอกว่าอย่าหวังจะซื้อข้าวราคาถูกจากโครงการนี้"

ถามถึงความมั่นใจสมัยดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ ที่ต้องการส่งออกข้าวได้ตันละ 800 เหรียญสหรัฐ เขาแก้เกี้ยวว่า

"ก็ ดูราคาธัญพืชที่เกิดขึ้นในตลาดโลกเอาแล้วกัน เดือนที่แล้วถามอีกราคาหนึ่ง วันนี้ไปดูราคาข้าวโพดหรือถั่วเหลือง มันก็เปลี่ยนแปลงได้"

"ผมก็ขอสักทีว่าอย่าไปกังวลอะไรจนเกินไป จนกลายเป็นท่าทีให้คนคิดว่าเราจะขายข้าวราคาถูก ไม่มีทาง (เสียงดัง) เห็นนักวิชาการอาวุโสหลายคนที่เคารพนับถือ ท่านก็วิพากษ์วิจารณ์ ผมก็เคยถามท่านว่า ช่วยเสนอทางเลือกอื่นให้ผมหน่อย แต่อย่าให้กลับไปใช้วิธีเดิมนะ ผมไม่ทำ เพราะถ้ามันดีจริง ทำไมชาวนายังจนอยู่"

"กิตติรัตน์" บอกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ใช้เวลาแก้ปัญหาน้ำท่วมไปกว่าครึ่ง ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ปีต่อไปจะได้สิ่งที่รัฐบาลเร่งดำเนินการอีกหลายส่วน

"ผม อยากเห็นเศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่เรียกว่ามีเสถียรภาพ ถ้าปีนี้จะโต 6-7% ก็ขอให้เป็นอย่างต่อเนื่อง อยากเห็นราคาสินค้าที่มีเสถียรภาพ โดยมีตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 2.5% และเงินเฟ้อทั่วไปที่ 3.5% ขณะที่มีการกระจายรายได้ให้คนมีรายได้มีเงินมากขึ้นสูงกว่าเงินเฟ้อที่เขา ต้องเผชิญ"

"ส่วนดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดต่าง ๆ จะต้องมีลักษณะสมดุล แต่ 3-5 ปีข้างหน้าอาจจะมีขาดดุลบ้าง เพราะต้องนำเข้าสินค้าประเภททุน เพื่อให้ประเทศเติบโต เพื่อทำให้อัตราการว่างงานเหลือร้อยละ 1 ซึ่งจะแสดงถึงความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ"

ทั้งหมดเป็นแผนที่เขาวาด ผังอนาคตประเทศไทย แต่อาจสวนทางกับอนาคตของ "กิตติรัตน์" ที่มีกระแสสั่นเก้าอี้ให้ออกจาก "ครม.ยิ่งลักษณ์" โดยเฉพาะเสียงคำรามจาก "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ที่ต้องการโละทีมเศรษฐกิจทิ้ง

เขาบอกว่า ถามใครก็ตอบเหมือนกันว่าเป็นสิทธิ์ของนายกรัฐมนตรี หากจะมีการปรับบางคนออก รวมถึงตนเองนั้น ก็เชื่อว่าจะมีเหตุผลที่เหมาะสมพอสมควร

"ถามว่าปรับ ออกจะกระทบงานหรือไม่ ผมพูดอยู่เสมอว่า จงทำงานให้เหมือนกับจะได้อยู่ตลอดไป และทำใจถ้าหากจะหมดหน้าที่ไปในวันนี้พรุ่งนี้ ดังนั้นถ้าคิดได้แบบนี้ก็จะได้ไม่คิดแต่นโยบายสั้น ๆ ที่เร่งทำผลงานเพราะกลัวโดนปรับออก คิดแบบนี้ได้ก็จะคิดนโยบายระยะยาวได้ เหมือนผมที่ยังตั้งคำถามเหมือนกันนะว่า หนี้ 1.14 ล้านล้านบาท ทำไมถึงอยู่รอผมมาจนถึงวันนี้"


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ตรวจการบ้าน ทีมศก. ยิ่งลักษณ์ กิตติรัตน์ ไม่ให้คะแนนตัวเอง ตกอยู่ในฐานะคนแก้ตัว

view