สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หยั่งความลึก Fiscal Cliff ของสหรัฐ

หยั่งความลึก Fiscal Cliff ของสหรัฐ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สิ้นปี 2012 จะเป็นวันสุดท้ายที่มาตรการลดภาษีรวมถึงสวัสดิการและการเพิ่มค่าใช้จ่ายภาครัฐของสหรัฐหมดอายุลง
อันจะส่งผลกระทบโดยตรงต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงอัตราการว่างงานของสหรัฐที่ดูเหมือนกำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในช่วงเวลานี้   ประเด็นนโยบายการคลังดังกล่าวดูเหมือนจะได้รับความสนใจเป็นอย่างมากหลังจากที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ดร.เบน เบอร์นันเก้ ได้ย้ำว่าเรื่องดังกล่าวจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐเป็นอย่างมาก จากการประมาณการล่าสุดของสำนักงบประมาณสภาคองเกรสสหรัฐ พบว่า มาตรการการคลังที่จะหมดอายุลงสิ้นปีนี้ ด้านการใช้จ่ายจะส่งผลให้มูลค่าการขาดดุลในช่วง 10 ปีต่อไปลดลงกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ และด้านรายได้จะทำให้การขาดดุลลดลงราว 2.3 แสนล้านดอลลาร์
 

คำถามที่น่าสนใจ คือ หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการคลังต้องถูกถอดออกจริงๆ จะส่งผลอย่างไรต่อจีดีพีรวมถึงอัตราการว่างงานในสหรัฐ แต่ก่อนอื่นขอพูดถึงหน้าที่ของนโยบายการคลัง ในทางทฤษฎีซึ่งมีอยู่ 3 ประการ ดังนี้

 
ประการแรก นโยบายการคลังต้องดำเนินการในลักษณะที่เมื่อถึงท้ายที่สุดแล้ว อัตราส่วนระหว่างหนี้ของประเทศต่อจีดีพีต้องค่อยๆ ลดลงมา เพราะมิฉะนั้นแล้ว ภาระหนี้ที่พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ จะไปลดการสะสมของสินค้าทุน อันนำไปสู่การลดลงของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และไปเพิ่มปริมาณหนี้ต่างประเทศในที่สุด  ในกรณีของสหรัฐนั้น อัตราส่วนภาระหนี้ต่อจีดีพีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีค่าเฉลี่ยอยู่ราวร้อยละ 9 ของจีดีพี ซึ่งมีแนวโน้มจะลดลงในอนาคตอันใกล้จากการที่เศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัว อย่างไรก็ดี สำนักงบประมาณสภาคองเกรสสหรัฐคาดการณ์ไว้ว่า หากนโยบายด้านการคลังสหรัฐยังคงไว้เหมือนดังปัจจุบัน การขาดดุลงบประมาณในปี 2017 ซึ่งเศรษฐกิจจะขยายตัวเต็มที่อยู่ที่ใกล้เคียงร้อยละ 5 ต่อจีดีพี และจะขึ้นสูงจากอัตราดังกล่าวหลังจากเวลานั้น จึงเป็นหน้าที่ของทางการสหรัฐที่ต้องบริหารจัดการให้สถานะการคลังในระยะยาวให้มีเสถียรภาพ
 

ประการที่สอง นโยบายการคลังที่ทางการสหรัฐดำเนินการต้องไม่ไปขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ในขณะนี้ แน่นอนว่าภายใต้กฎหมายสหรัฐในตอนนี้ หากไม่มีการแก้ไขให้เรียบร้อยภายในสิ้นปีนี้ ปรากฏการณ์การคลังตกขอบหน้าผา หรือ Fiscal Cliff ก็จะอุบัติขึ้น อันประกอบด้วย
 

หนึ่ง การหมดอายุลงของมาตรการลดภาษีที่ออกมาในสมัยประธานาธิบดี จอร์จ บุช สอง การหมดอายุลงสำหรับการผ่อนปรนภาษีร้อยละ 2 ที่เก็บจากรายได้ของมนุษย์เงินเดือน สาม การสิ้นสุดของผลตอบแทนสวัสดิการที่ให้กับผู้ว่างงาน และ ท้ายสุด การตัดลดงบประมาณ และค่าใช้จ่ายในทันทีตามกฎหมายที่ระบุไว้ หากสภาคองเกรสไม่สามารถดำเนินการบริหารงบประมาณตามเป้า ที่คณะกรรมการร่วมของ 2 สภา หรือ Super committee ตั้งไว้ จะเห็นได้ว่า นโยบายการคลังที่มีเสถียรภาพในระยะยาวและการเติบโตเศรษฐกิจในระยะสั้นต่างต้องเดินควบคู่กันไป โดยการป้องกันมิให้ Fiscal Cliff เกิดขึ้นย่อมทำให้เศรษฐกิจสามารถเดินเครื่องอย่างเต็มสูบได้ และนั่นก็จะทำให้เกิดเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาว ในทางกลับกัน ความเชื่อมั่นของตลาดว่าจะเกิดเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาวก็จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยลดลงอันจะเอื้อให้การเติบโตของ เศรษฐกิจในระยะสั้นเป็นไปได้ด้วยดีเช่นกัน
 

ทั้งนี้ รายละเอียดของมูลค่าการขาดดุลงบประมาณภาครัฐแสดงไว้ดังรูป จะเห็นได้ว่าในช่วงระยะเวลา 3 ปีต่อจากนี้ที่เศรษฐกิจสหรัฐยังอาจอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวอยู่นั้น การขาดดุลภาครัฐที่คงไว้เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากการแก้กฎหมายดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดปรากฏการณ์ตกขอบหน้าผาทางการคลังของสหรัฐนั้นอยู่ระหว่างร้อยละ 2.1-3.3 ต่อจีดีพีเป็นอย่างน้อย ถึงตรงนี้มีความเห็นที่แตกต่างจาก นักเศรษฐศาสตร์อยู่ 2 กลุ่มว่าด้วยเรื่องของอานิสงส์จากการขาดดุลทางการคลังต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
 

กลุ่มแรกเห็นว่าหากขาดดุลการคลังภาครัฐร้อยละ 1 จะส่งผลต่อการเติบโตของจีดีพีร้อยละ 0.32 ในระยะสั้นและร้อยละ 0.4 ในระยะยาว ส่วนกลุ่มที่สองกลับมองว่าหากขาดดุลการคลังภาครัฐร้อยละ 1 จะส่งผลต่อการเติบโตของจีดีพีร้อยละ 1.05 ในระยะสั้นและร้อยละ 1.55 ในระยะยาว นั่นคือ ปรากฏการณ์ Fiscal Cliff ของสหรัฐในปีหน้า หากเกิดขึ้น จะส่งผลให้จีดีพีสหรัฐลดลงระหว่างร้อยละ 0.65-2.2 ในระยะสั้น และลดลงร้อยละ 0.84-5 ในระยะยาว ทั้งนี้ จากมุมมองส่วนตัวของผู้เขียน เห็นว่า ผลกระทบที่น่าจะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐอยู่ระหว่างร้อยละ 2-3.5 เป็นอย่างน้อยหรืออาจกล่าวได้ว่า จากกฎของ Okun หรือ Okun's Law ตามแนวคิดหนึ่งที่วิชาเศรษฐศาสตร์พยายามใช้ในการวิเคราะห์เรื่องการว่างงานนั้น การลดลงของเศรษฐกิจจะส่งผลต่ออัตราการว่างงานของสหรัฐให้เพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบันถึงร้อยละ 1-2 เป็นอย่างน้อยเลยทีเดียว
 

ประการที่สาม  หากทางการสหรัฐสามารถออกแบบให้นโยบายการคลังมีความสมดุลและมีเสถียรภาพ ย่อมจะส่งผลต่อแรงจูงใจในการทำงานและการออมของประชาชน รวมถึงส่งเสริมให้มีการลงทุนในการเพิ่มความชำนาญของแรงงานและการวิจัยและพัฒนา อีกทั้งยังเสริมสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
 

ท้ายสุด หากพิจารณาจากการหาเสียงของทั้ง 2 พรรคในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ พอบอกได้ว่าน่าจะมีการแก้กฎหมายอย่างน้อยในบางมาตราให้ความสูงของหน้าผาการคลังดังกล่าวลดลง โดยพรรคเดโมแครตเน้นจะเพิ่มภาษีกับผู้มีรายได้สูง แต่จะสามารถทำได้มากน้อยเพียงใด คงต้องรอดูในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครับ

 
หมายเหตุ ขอเรียนเชิญท่านผู้อ่านร่วมงานเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ของผู้เขียน ในวันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม 2555 เวลา 14.30 น. ณ ห้องสมุดมารวย อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ติดตามรายละเอียดที่ www.facebook.com/MacroView ครับ


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หยั่งความลึก Fiscal Cliff สหรัฐ

view