สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ลุ้นสหรัฐ!ฝ่าด่านมฤตยู Fiscal cliff

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ลุ้นสหรัฐ!ฝ่าด่านมฤตยู "Fiscal cliff" หากทำไม่สำเร็จ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกรายงานล่าสุดว่า หากสหรัฐไม่สามารถขจัดภาวะหดตัวทางด้านการคลัง หรือที่เรียกกันว่า หน้าผาทางการเงิน (Fiscal cliff) ได้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกทั้งหมด และว่า แนวโน้มงบประมาณของสหรัฐในปีหน้า ตกอยู่ในภาวะไร้เสถียรภาพอย่างมาก

หน้าผาทางการเงินที่ไอเอ็มเอฟพูดถึงนั้น คือสถานการณ์ที่สหรัฐ อาจจะต้องดำเนินการการเพิ่มภาษี และรัดเข็มขัด เพราะหมดหนทางที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากนโยบายลดภาษี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ หมดอายุปลายปีนี้พอดี แต่จนถึงขณะนี้ สภายังตกลงกันไม่ได้ว่าจะทำยังไงต่อ เลยมีการเปรียบเทียบสถานการณ์ของสหรัฐว่าเหมือนกำลังยืนอยู่บนหน้าผา

ไอเอ็มเอฟ ชี้ว่า ผลกระทบจากเรื่องดังกล่าว ที่มีต่อประเทศอื่นๆ ทั่วโลกนั้น มีแนวโน้มที่จะเกิดต่อช่องทางทางการค้ามากที่สุด และประเทศที่จะรับรู้ถึงผลกระทบนี้มากสุดก็น่าจะเป็นบรรดาประเทศเพื่อนบ้านของสหรัฐ อย่าง แคนาดา และเม็กซิโก ส่วนยุโรป และญี่ปุ่น ก็อาจรับรู้ได้ แต่ไม่กระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

รายงานเตือนว่า ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับช่วงขาลง คือการที่รัฐบาลไม่สามารถดำเนินใดๆ อันเนื่องมาจากอุปสรรคทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลให้การตัดสินในเรื่องนโยบายหลักๆ เป็นไปอย่างล่าช้า ซึ่งนโยบายเหล่านี้จำเป็นต่อการสนับสนุนการฟื้นตัว และการฟื้นฟูความยั่งยืนด้านการคลัง

ข้อชี้แนะของไอเอ็มเอฟ มีขึ้นหลังจากสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานในสหรัฐเพิ่มขึ้น ในสัปดาห์ที่แล้ว และบริษัทผู้ผลิตมียอดสั่งซื้อลดลงมากเกินคาดในเดือนมิ.ย.ซึ่งตัวเลขเหล่านี้บ่งชี้ว่าเป็นเรื่องยากที่เศรษฐกิจสหรัฐจะหลุดพ้นจากภาวะอ่อนแอในช่วงนี้

เศรษฐกิจสหรัฐชะลอการเติบโตในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับวิกฤติหนี้ยุโรปและภาวะ fiscal cliff หรือภาวะที่มาตรการปรับขึ้นภาษีและมาตรการปรับลดงบรายจ่ายของรัฐบาลจะเริ่มมีผลบังคับใช้โดยอัตโนมัติในช่วงต้นปีหน้า โดยกิจกรรมในภาคโรงงานของสหรัฐ ชะลอตัวลงในระยะนี้ และการขยายตัวของการจ้างงานก็ลดลงเป็นอย่างมาก

นายพอล อีเดลสไตน์ นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทไอเอชเอส โกลบัล อินไซท์ ให้ความเห็นว่า "ตัวเลขในภาคเศรษฐกิจหลายภาคสร้างความผิดหวังในระยะนี้"

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณในวันพุธที่ผ่านมาว่า เฟดเต็มใจที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไป โดยตั้งข้อสังเกตว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีแรก และอัตราการว่างงานยังคงอยู่ที่ระดับสูง โดยนักเศรษฐศาสตร์หลายรายคาดว่า เฟด จะใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบ 3 (คิวอี3) หรือมาตรการเข้าซื้อพันธบัตรในเดือนก.ย.

ขณะที่ ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 163,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 100,000-150,000 ตำแหน่ง และอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นแตะ 8.3% จากระดับ 8.2% ในเดือนมิ.ย.

การจ้างงานในภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 172,000 ตำแหน่ง แต่การจ้างงานในภาครัฐบาลลดลง 9,000 ตำแหน่ง ท่ามกลางการปรับลดรายจ่าย ส่วนจำนวนผู้ว่างงานในสหรัฐมีจำนวนทั้งสิ้น 12.8 ล้านคนในเดือนก.ค. ใกล้เคียงกับเดือนมิ.ย. แต่คิดเป็นเกือบ 2 เท่า ของระดับก่อนเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ
รายงานตัวเลขจ้างงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ช่วยผ่อนคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ และเป็นปัจจัยหนุนที่ช่วยให้ตลาดเคลื่อนไหวในแดนบวกเมื่อวันศุกร์ หลังจากที่ตลอดทั้งสัปดาห์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดในแดนลบ เนื่องจากการตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม ของธนาคารกลางหลายแห่งได้สร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุน

ขณะที่ ตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมภาคอุตสาหกรรมอ่อนแอลง โดยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา สถาบันจัดการด้านอุปทาน (ไอเอสเอ็ม) ซึ่งเป็นหน่วยงานเอกชน รายงานว่า กิจกรรมภาคการผลิตของสหรัฐหดตัวลงในเดือนก.ค.เป็นเดือนที่สองติดต่อกัน

ส่วนนายจ้างในสหรัฐ ก็ประกาศปลดพนักงานออก 36,855 คน ในเดือนก.ค.ตามแผนการที่วางไว้ โดยลดลง 1.9 % จากเดือนมิ.ย. ขณะที่ปริมาณการปลดพนักงานออกในสหรัฐนับตั้งแต่ต้นปีนี้ปรับตัวขึ้น 2.5 % เทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2554

ภาคการเงินของสหรัฐ ปลดพนักงานออก 6,156 ตำแหน่งในเดือน ก.ค. ซึ่งถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. ซึ่งนายจอห์น แชลเลนเจอร์ ซีอีโอของบริษัทแชลเลนเจอร์, เกรย์ แอนด์ คริสต์มาส มองว่า "ตัวเลขนี้อาจจะชะลอตัวลงก่อนที่จะพุ่งขึ้นอย่างมาก เนื่องจากวิกฤติหนี้ยุโรปจะดำเนินต่อไปอีกนาน และความอ่อนแอทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในสหรัฐจะยังคงสร้างความเสียหายต่อภาคการเงินต่อไป"


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ลุ้นสหรัฐ ฝ่าด่านมฤตยู Fiscal cliff

view