สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อีซีบี ส่งสัญญาณสู้วิกฤต ยื้อเวลาหามาตรการใหม่

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

สร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนทั่วโลกไปไม่น้อย สำหรับแถลงการณ์ล่าสุดของธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

เพราะเพียงแค่ไม่นานหลังจากที่ มาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ออกมาแถลงข่าว ตลาดหุ้นสำคัญในหลายประเทศก็ดิ่งวูบไปตามๆ กัน ไล่เรียงตั้งแต่ตลาดหุ้นในอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือเยอรมนี ที่หล่นวูบอยู่ระหว่าง 0.5-1.5%

เนื่องจากแม้ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญก็ยังสามารถสรุปใจความสำคัญที่ประธานอีซี บีกล่าวออกมาได้อย่างชัดเจนว่า อีซีบีจะยังไม่มีมาตรการเร่งด่วนใดๆ เพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งกำลังเผชิญวิกฤตหนี้สาธารณะอยู่ในขณะนี้

ยิ่งเมื่อ ดรากี กล่าวออกมาอย่างชัดเจนว่ากองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (อีเอสเอ็ม) ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นกองทุนช่วยเหลือฉุกเฉินที่จัดตั้งขึ้นมา เพื่อประเทศที่กำลังประสบปัญหาหนี้และจะต้องนำมาบังคับใช้ เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ยังขาดคุณสมบัติเหมาะสมที่จะใช้งานได้

ก็ยิ่งเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่า อีซีบีจะไม่มีโครงการทุ่มซื้อพันธบัตร เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนเงินกู้ของประเทศที่กำลังมีปัญหาอย่างสเปน หรืออิตาลี เพิ่มเติมในเร็ววัน ทั้งๆ ที่สองประเทศนี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้วิกฤตหนี้บานปลายหนัก

 

ผลลัพธ์ที่ได้ทำให้นักลงทุนไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากหาทางหนีไปอยู่กับสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยและความเสี่ยงต่ำอย่าง พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หรือเยอรมนี จนทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสเปนอายุ 10 ปี พุ่งเกิน 7% เช่นเดียวกับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 5.9% เป็น 6.2%

อย่างไรก็ตาม ท่าทีล่าสุดของอีซีบีก็ไม่ได้ทำให้ผิดหวังไปทั้งหมดเสียทีเดียว เนื่องจากเมื่อพิจารณาถ้อยแถลงของประธานอีซีบีอย่างถี่ถ้วนแล้ว นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า อีซีบีได้ส่งสัญญาณดีในการเตรียมที่จะเริ่มต้นโครงการทุ่มซื้อพันธบัตรชนิด ไม่มียั้งและไม่มีอั้น

และแน่นอนว่า ล้วนเป็นไปเพื่อลดต้นทุนกู้ยืมของประเทศที่กำลังมีปัญหาให้รอดพ้นจากสภาพล้มละลาย หรือการผิดนัดชำระหนี้

ทั้งนี้ สัญญาณประการแรก ก็คือ คำกล่าวของดรากีที่กล่าวออกมาว่า อีซีบีสามารถซื้อพันธบัตรรัฐบาลสเปนและอิตาลีได้แน่นอน แต่รัฐบาลของทั้งสองประเทศจะต้องยอมรับเงื่อนไขของอีซีบีด้วยเช่นกัน

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือว่า ถ้าจะให้อีซีบีซื้อพันธบัตรสเปนและอิตาลีจะต้องยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือ ถึงอีซีบีอย่างเป็นทางการ พร้อมๆ กับเดินหน้าปรับนโยบายลดการขาดดุลและดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศตาม เงื่อนไขของอีซีบี

หรือเรียกได้ว่า อีซีบีไม่ใช่ไม่ช่วย แต่ต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือว่าพร้อมให้ ช่วยมากน้อยแค่ไหน และเต็มใจที่จะร่วมมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังหรือเปล่า

สัญญาณประการต่อมา ก็คือ การที่ดรากีกล่าวออกมาอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า อีซีบีอาจจะรับภาระในการดูแลความเคลื่อนไหวในตลาดทุนทั้งหมด หากมีกรอบและเงื่อนไขการทำงานที่ชัดเจนเพียงพอ โดยประธานอีซีบีคาดว่าจะปรากฏเป็นรูปร่างได้ชัดเจนภายในไม่กี่สัปดาห์ข้าง หน้านี้

คำกล่าวข้างต้นนำไปสู่สัญญาณประการสุดท้ายที่แสดงให้เห็นว่า อีซีบีและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังอยู่ในระหว่างการหารือพูดคุย เพื่อหาข้อตกลงและมาตรการดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อให้การแก้ไขวิกฤตหนี้สาธารณะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ดรากี กล่าวว่า โครงการหรือกรอบการทำงานที่จะเกิดขึ้นนี้จะคล้ายคลึงกับโครงการตลาดหลัก ทรัพย์ (เอสเอ็มพี-Securities Market Program) ซึ่งเป็นโครงการที่ให้อำนาจอีซีบีในการเข้าแทรกแซงตลาดอนุพันธ์ได้โดยตรง ที่เพิ่งจะระงับไปเมื่อ 4 เดือนที่แล้วหลังจากประกาศใช้เมื่อเดือน พ.ค. 2553 เนื่องจากข้อจำกัดด้วยเงื่อนไขในเรื่องของเวลาและปริมาณ

“โครงการทุ่มซื้อพันธบัตรใหม่นี้จะมีความโปร่งใสและเงื่อนไขที่ชัดเจนมาก ขึ้น โดยจะระบุให้เห็นไปเลยประเทศที่เข้าร่วมมีใครบ้าง และขนาดของการซื้อพันธบัตรเป็นจำนวนเท่าไร” ดรากี กล่าวในระหว่างการแถลงข่าว

ท่าทีดังกล่าวของอีซีบีส่งผลให้นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่ง รวมถึง คริสเตียน ชูลส์ จากธนาคารเบเรนเบิร์ก เห็นตรงกันว่า เมื่อใดก็ตามที่อีซีบีสามารถทำให้นักลงทุนทั่วโลกมั่นใจได้ว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะมีความมั่นคงใช้งานได้จริง และเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนด นักลงทุนย่อมหันหน้ากลับเข้าหาตลาดยุโรปอีกครั้งอย่างไม่ต้องสงสัย

และที่สุด ผลดีก็ย่อมตกอยู่กับอีซีบีเอง เพราะเมื่อนักลงทุนเชื่อมั่น ต้นทุนภาระการกู้ยืมของประเทศสมาชิกอียู อย่างสเปนหรืออิตาลีก็จะลดลง จนอีซีบีไม่จำเป็นต้องทุ่มเงินซื้อพันธบัตรในปริมาณมหาศาล

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีคำใบ้จากอีซีบีที่ซ่อนเอาไว้ว่า อีซีบีไม่ได้นิ่งเฉยและพร้อมจะดำเนินการตามคำมั่นที่เคยให้ไว้ก่อนหน้าว่า จะทำทุกหนทางเพื่อรักษาสกุลเงินยูโร

แต่ก็ต้องไม่ลืมเช่นกันว่า ในบรรดาเงื่อนไขทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ จะต้องมีการพูดคุยกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงผู้สนับสนุนใหญ่อย่างธนาคารบุนเดส แบงก์ ของเยอรมนีที่มีจุดยืนต่อต้านการทุ่มซื้อพันธบัตรในตลาดมาโดยตลอด เนื่องจากเกรงว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลต่อราคาพันธบัตรในระยะยาว

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือว่า ถึงอีซีบีจะทำเต็มที่มากแค่ไหน แต่สุดท้ายก็ยังมีข้อจำกัดที่เกินขีดความสามารถของอีซีบีอยู่ดี

และวิกฤตหนี้สาธารณะของภูมิภาคยุโรปก็ไม่แคล้วต้องใช้เวลาจัดการไปอีกนาน


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อีซีบี ส่งสัญญาณสู้วิกฤต ยื้อเวลาหามาตรการใหม่

view