สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป พร้อมจะทำทุกอย่าง (Ready to do whatever it takes)

ผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป “พร้อมจะทำทุกอย่าง” (Ready to do whatever it takes)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม นาย Mario Draghi ผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวสุนทรพจน์ต่อนักธุรกิจและนักลงทุนที่กรุงลอนดอน
ซึ่งน่าจะเป็นข่าวปกติธรรมดา แต่ปรากฏว่าคำพูดของนาย Draghi ส่งผลต่อตลาดทุน ตลาดเงินอย่างมาก โดยเฉพาะตลาดทุนสเปนและอิตาลี กล่าวคือ ดอกเบี้ยพันธบัตรทั้งสองประเทศปรับลดลง 0.4-0.5% และราคาหุ้นปรับขึ้น 5-6% ในวันดังกล่าว ตลาดหุ้นทั่วโลกก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2%
 

คำพูดของนาย Draghi ที่ตลาดประทับใจอย่างมาก คือ “Within our mandate the ECB is willing to do whatever it takes to preserve the euro and believe me : it will be enough.” ซึ่งผมแปลว่า “อีซีบีจะทำทุกอย่างภายใต้กรอบอำนาจเพื่อปกป้องรักษาเงินยูโรและเชื่อผมเถอะศักยภาพเรามีเพียงพอ” ทั้งนี้ นักลงทุนตีความว่า คำพูดของนาย Draghi แปลว่าเขาพร้อมที่จะอนุมัติให้อีซีบีพิมพ์เงินยูโรออกมาซื้อพันธบัตรของรัฐบาลที่เผชิญปัญหา (สเปนและอิตาลี) ในปริมาณที่ไม่จำกัดจนกระทั่งทำให้ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล (10 ปี) ลดลงจากที่เคยสูงถึง 7.5% สำหรับสเปน และ 6.5% สำหรับอิตาลี ซึ่งดอกเบี้ยที่จะต่ำเพียงพอให้รัฐบาลทั้งสองสามารถบริหารหนี้ได้น่าจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 5% แต่ล่าสุด ดอกเบี้ยของสเปนก็ยังสูงใกล้ 7% และอิตาลีก็ยังสูงใกล้ 6.1%
 

ทั้งนี้ อีซีบีได้เคยซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่มีปัญหาในปี 2011 (กรีก โปรตุเกส และไอร์แลนด์) คิดเป็นมูลค่า 220,000 ล้านยูโร (โปรแกรม SMP) และได้ปล่อยกู้ที่อัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับธนาคารพาณิชย์มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านยูโรในช่วงปลายปี 2011 และต้นปี 2012 (โปรแกรม LTRO) ดังนั้น นักลงทุนจึงเชื่อว่าอีซีบีพร้อมจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลสเปนและอิตาลีเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาท โดยหนี้รัฐบาลอิตาลีมีมูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านยูโรและหนี้สเปนประมาณ 8 แสนล้านยูโร
 

แต่โดยปกติแล้ว ธนาคารกลางจะไม่สามารถเข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลได้ เพราะถือเป็นพิมพ์เงินให้รัฐบาลใช้ ซึ่งผิดหลักพื้นฐานของการรักษาวินัยทางการเงิน และในระยะยาวย่อมจะเสี่ยงต่อการทำให้เกิดเงินเฟ้อจนคุมไม่อยู่ ทั้งนี้ อีซีบีมีกรอบหน้าที่และความรับผิดชอบที่เฉพาะเจาะจง คือ คุมเงินเฟ้อไม่เกิน 2% และไม่มีหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรืออัตราการว่างงานเหมือนกับธนาคารกลางสหรัฐ ตรงนี้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์บางคนตั้งคำถามว่านาย Draghi ตีความอำนาจหน้าที่ของตนอย่างไร จึงคิดว่าสามารถพิมพ์เงินออกมาซื้อพันธบัตรรัฐบาลได้ เพราะปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อของยุโรปก็สูงกว่า 2% อยู่แล้วคือประมาณ 2.4%
 

หากอ่านคำให้สัมภาษณ์ของนาย Draghi ก็จะเห็นว่านาย Draghi ให้เหตุผลดังนี้
 

1. ในระยะสั้นกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโรเผชิญปัญหาการแบ่งแยกของระบบการเงิน (financial fragmentation) กล่าวคือ นักลงทุนซื้อ-ขายเฉพาะตราสารของประเทศตนไม่กล้าลงทุนในตราสารของประเทศอื่นในกลุ่มยูโร
 

2. การจะแก้ปมวิกฤติเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรก็ต้องแก้ไขความแบ่งแยกของระบบการเงิน เช่น กฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันและจากการที่ผู้คุมนโยบายของแต่ละประเทศ (national supervisors) กลัววิกฤติจึงขอให้ธนาคารของประเทศตนหยุดทำธุรกรรมนอกประเทศของตน
 

3. ประเด็นสำคัญ คือ คำพูดของนาย Draghi ไม่ชัดเจน นาย Draghi สรุปว่าความกลัวความเสี่ยงและการแบ่งแยกดังกล่าวทำให้ดอกเบี้ยของบางประเทศสูงกว่าดอกเบี้ยของประเทศหลักมากเกินไป คือ สะท้อนความเสี่ยงเกินกว่าระดับที่สมเหตุสมผล ทั้งนี้ นาย Draghi พูดว่า “the premia (ส่วนต่างของดอกเบี้ย) that are being charged on sovereign have to do with default and liquidity, but also has to do more and more with convertibility and the risk of convertibility” ซึ่งนาย Draghi อ้างว่าความกลัวเรื่อง convertibility นี้ เป็นสิ่งที่อีซีบีต้องเข้ามาแก้ไขและอยู่ในอำนาจของอีซีบีทำได้
 

ตรงนี้ค่อนข้างจะเข้าใจยากเพราะเมื่อใช้เงินสกุลเดียวแล้วจะมีปัญหา convertibility (การแลกเปลี่ยน) อะไร ผมตีความว่าอีซีบีมองว่าการที่นักลงทุน (ตัวอย่างเช่น) เยอรมนีไม่อยากซื้อพันธบัตร (ตัวอย่างเช่น) สเปนแม้คำนวณความเสี่ยงอย่างครบถ้วนดีแล้ว เพราะเกรงว่าจะมีปัญหารับเงินคืน เพราะ “risk of convertibility” แต่ก็ยังไม่เข้าใจว่าหมายความถึงความเสี่ยงอะไรกันแน่
 

นาย Draghi สรุปว่าหากส่วนต่างของดอกเบี้ย (premia) ส่งผลกระทบ (hamper) ต่อช่องทางการส่งผ่านของนโยบายการเงินก็เป็นเรื่องที่อยู่ในกรอบอำนาจและหน้าที่ของอีซีบีที่จะเข้าไปแทรกแซงได้ ซึ่งตรงนี้ผมจะตีความว่า การที่นักลงทุนขาดความมั่นใจทำให้ตลาดเงินและตลาดพันธบัตรของสเปนและอิตาลีขาดสภาพคล่อง (ขาดคนซื้อ) ทำให้ราคาพันธบัตรและดอกเบี้ยถูกบิดเบือนเกินปัจจัยพื้นฐาน (แปลว่าดอกเบี้ยสูงอย่างไม่มีเหตุผล) ก็เป็นสิทธิและหน้าที่ของอีซีบีที่จะเข้าไปแทรกแซงเพื่อขจัดการบิดเบือนดังกล่าว ตรงนี้บางคนอาจมองว่าเป็นการหาข้ออ้างที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาก่อนที่ปัญหาจะลุกลามออกไปจนกระทบกระเทือนระบบเงินยูโรโดยรวม ซึ่งก็เป็นเรื่องที่พอฟังได้ แต่หากจะพยายามให้เหตุผลที่ถูกต้องตามทฤษฎีและหลักการของการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางดูจะไม่ชัดเจนและมีเหตุผลที่หนักแน่นมากนัก
 

ที่สำคัญคือเมื่อนาย Draghi ให้สัมภาษณ์ออกไปตลาดหุ้นยุโรปก็ปรับขึ้นอย่างถ้วนหน้าและต่อมาผู้นำฝรั่งเศสและเยอรมนีได้ออกแถลงการณ์ร่วม ประกาศว่าจะสนับสนุนเงินยูโรอย่างเต็มที่และเร่งรัดให้ประเทศสมาชิกและองค์กรที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่และรับผิดชอบในส่วนของตนอย่างเคร่งครัด ก็ยิ่งเป็นการส่งสัญญาณให้นักลงทุนมั่นใจว่าเป็นเรื่องที่ได้ “เตี้ยม” กันมาก่อนเพื่อส่งสัญญาณให้ทราบว่าจะมีมาตรการใหม่ในเร็ววันเพื่อเพิ่มความมั่นคงให้กับเงินยูโร
 

ดังนั้น นักลงทุนกำลังคาดการณ์ว่าวันที่ 2 สิงหาคมนี้ น่าจะมีการประกาศมาตรการ 2 เรื่องหลัก คือ
 

1. อีซีบีเข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่มีปัญหาในตลาดรอง โดยจะส่งสัญญาฯว่าจะซื้อในปริมาณที่สูงเพียงพอกับสภาวการณ์
 

2. กองทุน EFSF ซึ่งปัจจุบันมีเงินเหลืออยู่ 150,000 ล้านยูโร เข้าร่วมประมูลพันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่มีปัญหาโดยตรงโดยคาดว่า EFSF จะประมูลประมาณครึ่งหนึ่งของพันธบัตรที่จะเสนอขายและเมื่อกองทุน ESM ที่น่าจะได้รับอนุมัติให้จัดตั้งขึ้นได้ในเดือนตุลาคมก็ให้ ESM รับช่วงต่อจาก EFSF โดย ESM จะมีวงเงินรวมทั้งสิ้น 500,000 ล้านยูโร
 

การดำเนินการดังกล่าวจะเกิดขึ้นหรือไม่จะทราบก่อนที่บทความนี้จะลงตีพิมพ์ในวันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม ดังนั้น หากสิ่งที่ประกาศนั้นไม่เป็นไปตามคาด ก็อาจทำให้ราคาหุ้นและค่าเงินยูโรอ่อนตัวลงได้ ทั้งนี้ การประเมินผลของมาตรการดังกล่าวมีความเห็นแตกกันเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่ง (ส่วนใหญ่นักวิเคราะห์ในยุโรป) มองว่าเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาของยุโรปอย่างเบ็ดเสร็จ เพราะเป็นการแสดงท่าทีที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของผู้นำและเป็นการนำเอาอีซีบีเข้ามามีบทบาทสำคัญ เพราะอีซีบีมีศักยภาพที่สามารถพิมพ์เงินออกมาได้ในจำนวนไม่จำกัด จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ควรจะนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง เช่น บริษัทจัดอันดับความเสี่ยงมูดี้ส์มองว่ามาตรการพิมพ์เงินไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นตอ คือ การใช้จ่ายเกินตัวของภาครัฐและการขาดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กล่าวคือ เป็นเพียงการซื้อเวลาอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นแล้วการดำเนินมาตรการดังกล่าวข้างต้นก็ยังมี ความเสี่ยงอย่างน้อย 3 ประการหลัก คือ
 

1. การเข้าซื้อพันธบัตรโดยอีซีบีนั้นมีเงื่อนไขสำคัญ คือ อีซีบีจะเป็นเจ้าหนี้ที่มีบุริมสิทธิหรืออยู่เหนือเจ้าหนี้คนอื่น (เจ้าหนี้อื่นต้องถูกลดหนี้ก่อนหากลูกหนี้เบี้ยว) ดังนั้น เมื่ออีซีบีซื้อเจ้าหนี้อื่นก็อาจรีบขายพันธบัตรให้และไม่กลับเข้ามาซื้ออีกก็ได้
 

2. ธนาคารกลางของเยอรมนีแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการให้อีซีบีเข้าซื้อพันธบัตรเมื่อปีก่อน จนกระทั่งผู้แทนของเยอรมนีในคณะกรรมการของอีซีบีประกาศลาออกเพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบ แม้ธนาคารกลางเยอรมนีจะมีเสียงข้างน้อยในคณะกรรมการอีซีบี แต่ท่าทีที่ขัดแย้งของเยอรมันย่อมทำให้อีซีบีดำเนินมาตรการดังกล่าวได้ด้วยความยากลำบาก
 

3. การใช้ทั้ง ESM และอีซีบีเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือรัฐบาลที่มีปัญหา อาจทำให้ประชาชนเยอรมนีไม่พอใจและไปร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีก็ได้ ปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าการที่รัฐบาลเยอรมนีเอาเงินภาษีประชาชนไปตั้งกองทุน ESM นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยจะแถลงคำตัดสินในวันที่ 12 กันยายนนี้


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป พร้อมจะทำทุกอย่าง Ready to do whatever it takes

view