สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

11 อรหันต์ 5 พรรคร่วม กุศโลบาย 2 หน้า แก้รัฐธรรมนูญ

11 อรหันต์ 5 พรรคร่วม กุศโลบาย 2 หน้า แก้รัฐธรรมนูญ

จากประชาชาติธุรกิจ

ทั้งสัญญาณของ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" และสัญญาณของ "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เป็นสัญญาณที่สอดคล้องเพื่อประคองรัฐบาลให้อยู่ยาว ดีกว่าเดินเกมสุ่มเสี่ยงบั่นทอนอายุรัฐนาวา

ดังนั้นในการประชุมคณะ กรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ที่ประกอบด้วยคนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ และแกนนำพรรค จึงนำสัญญาณของ "พ.ต.ท.ทักษิณ" และ "ยิ่งลักษณ์" มาตกผลึกเป็นแนวทางการตั้ง "คณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาล" 5 พรรค 300 เสียง

หลัง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ทุบโต๊ะตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด "พรรคเพื่อไทย" ฟอร์มทีมขึ้นมาอย่างทันด่วน มีตัวหลัก 7 คน ถูกดันขึ้นเป็น "เบื้องหน้า" อาทิ โภคิน พลกุล-วราเทพ รัตนากร-ชูศักดิ์ ศิรินิล-ภูมิธรรม เวชยชัย

ส่วนคนที่เป็นแนวรบอยู่ "เบื้องหลัง" ประกอบด้วย สมชาย วงศ์สวัสดิ์-จาตุรนต์ ฉายแสง-นพดล ปัทมะ

จาก นั้นร่างแถลงการณ์ถูกเขียนขึ้น ก่อนแฟกซ์ส่งตรงถึงแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล บรรหาร ศิลปอาชา แห่งพรรคชาติไทยพัฒนา- สนธยา คุณปลื้ม จากพรรคพลังชล- สุวัจน์ ลิปตพัลลภ พรรคชาติพัฒนา และให้แต่ละพรรคปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำในวงประชุมพรรคร่วมรัฐบาลอีกรอบ

ออกมาเป็น แถลงการณ์สมบูรณ์ 3 ข้อ คณะทำงาน 11 คน ใจความว่า

1.ให้ จัดตั้งคณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเป็นระบบและเร่งด่วน เป็นแนวทางให้พรรคร่วมรัฐบาล ส.ส. และ ส.ว. ได้ร่วมกันพิจารณาหาทางออกที่เหมาะสมให้แก่ประเทศชาติและประชาชน

2.ในระหว่างการรอผลการศึกษาของคณะทำงานดังกล่าว ควรจะมีการชะลอการลงมติในวาระที่ 3 ไปสักระยะหนึ่งก่อน

3.ให้ สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล รณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจถึงความมุ่งมั่น เน้นการสถาปนาหลักนิติรัฐ นิติธรรม ให้ปรากฏเป็นจริงในสังคม เพื่อให้สามารถบริหารและพัฒนาประเทศไปได้ตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา

1 ในคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิป) ซึ่งเป็นมือประสานสิบทิศของคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยด้วย บอกว่า สาเหตุหนึ่งที่ตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพราะสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว.บางส่วน ไม่กล้าลงมติวาระ 3 กลัวไปขัดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

"มี การถกเถียงกันมากว่าจะลงมติวาระ 3 เลยหรือไม่ แต่สุดท้ายก็ให้ชะลอการลงมติวาระ 3 ไว้ก่อน เมื่อพรรคร่วมเกรงว่าจะเกิดการสุ่มเสี่ยง เราต้องรับฟังเสียงพรรคร่วมรัฐบาลอื่นด้วย แม้จะเป็นพรรคที่มีเสียงข้างมาก แต่ถ้าไม่มีเสียง ส.ส. จากพรรคอื่น รวมถึงเสียง ส.ว. การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะไม่ผ่านอยู่ดี"

ทิศทางของคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลจะมีการประชุมนัดแรกวันที่ 7 สิงหาคม เพื่อวางกรอบการทำงาน

วาระเร่งด่วน "อันดับ 1" ของคณะทำงานที่ต้องถกเถียงกันคือ คำวินิจฉัยส่วนตน กับคำวินิจฉัยกลาง ของศาลรัฐธรรมนูญที่ยังเป็นปัญหา

เพราะ ในคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 8 คน มี 4 คนบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจไปวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาได้ แต่อีก 4 คนกลับเห็นว่ามีอำนาจรับวินิจฉัยได้

"ชูศักดิ์ ศิรินิล" หนึ่งในคณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาล สังกัด "พรรคเพื่อไทย" บอกว่า "เรื่องแรกที่ควรเอามาคุยกันก่อน คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งคำวินิจฉัยส่วนตนและคำวินิจฉัยกลางมาวิเคราะห์ เพราะคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมี 4 ท่านบอกว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยตามมาตรา 291 ซึ่งสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของอัยการสูงสุด ที่ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะไปวินิจฉัยได้ เป็นอำนาจของรัฐสภา"

"แต่อีก 4 คนเห็นว่ามีอำนาจวินิจฉัยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้

ดังนั้นคงต้องให้คณะกรรมการชุดนี้ สรุปความเห็นของฟากพรรคร่วมทั้งหมดว่าจะเดินหน้าต่ออย่างไร"

"เป็น ไปได้ที่จะเดินหน้าโหวตวาระ 3 ต่อ แต่ต้องหาข้อมูลมาหักล้างคำวินิจฉัยกลางให้ได้ว่า ที่ต้องการพูดอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น หากหาคำตอบได้แล้ว ทางเราก็จะมีข้อมูลไว้คอยหักล้างผู้ที่จะมายื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญในอนาคต" นายชูศักดิ์กล่าว

ด้านแหล่งข่าวที่คอยกำหนดเกมรัฐธรรมนูญในพรรค เพื่อไทยกล่าวว่า "การที่คณะทำงานหยิบคำวินิจฉัยทั้งคำวินิจฉัยกลาง และส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละท่านมาศึกษา เพราะต้องการให้เกิดความชัดเจนว่าเป็นผลผูกพันต่อสภา และมีผลต่อการลงมติวาระ 3 หรือไม่"

"จากนั้นจะเปิดเผยการศึกษานั้น ให้ประชาชนได้ทราบว่า คำวินิจฉัยของศาลถูกต้องชอบธรรม หรือเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบ ก้าวล่วงอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ การศึกษาของคณะทำงานจะเป็นเหมือนการย้อนศรศาลรัฐธรรมนูญว่าศาลทำไม่ถูกต้อง"

วาระสำคัญ "อันดับ 2" คือการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่ "พรรคร่วมรัฐบาล" เห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ที่ต้องแก้ เพราะต้องการอุด "ช่องว่าง" ไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามใช้มาตรา 68 มาเป็นเครื่องมือขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อีก

โดยเฉพาะวรรค 2 ของมาตรา 68 อาจมีการปรับถ้อยคำให้ชัดขึ้น เช่น คำว่า "ผู้ทราบการกระทำ" ให้เป็น "ผู้รู้เห็น"

และแก้ในส่วนช่องทางการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ชัดเจนขึ้น ว่าจะต้องผ่าน "อัยการสูงสุด" ก่อนหรือไม่

แหล่ง ข่าวจากคณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลอีกคนหนึ่งบอกว่า "สมมติคณะทำงานประชุมกันได้ข้อสรุปว่า จะแก้ไขเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือแก้ไขมาตราใดมาตราหนึ่งของรัฐธรรมนูญ เช่น มาตรา 68 เมื่อได้ข้อสรุปแล้วก็จะนำกลับไปแจ้งให้ที่ประชุมของแต่ละพรรคทราบ หลังจากนั้นจะมากำหนดแนวทางขับเคลื่อนในสภาอีกครั้ง"

"ส่วนร่างแก้ไข เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่คาอยู่ในวาระ 3 ก็ปล่อยให้คาไว้อย่างนั้น พรรคเพื่อไทยอาจเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านความเห็นของคณะทำงาน พรรคร่วมรัฐบาล ขึ้นไปแทนที่ร่างเดิมก็สามารถทำได้"

ดังนั้นเหตุผล ของการตั้งคณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาล มีแนวโน้ม 2 วาระ คือ 1.ให้คณะกรรมการหาข้อสรุปการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 68 และ 2.ย้อนศรคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ชาวบ้านเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้อง

นี่คือภาระของคณะทำงานชุดนี้


มติตั้งโภคิน-พงษ์เทพนำปลดล็อกแก้รธน.

จาก โพสต์ทูเดย์

มติตั้งโภคิน-พงษ์เทพนำ 11 อรหันต์ปลดล็อกแก้รธน. ให้การบ้านพรรคร่วมศึกษาคำวินิจฉัยกลาง-ส่วนตน ซัดศาลเรียงประเด็นวินิจฉัยผิด มึนไม่ล้มล้างแต่ไม่ให้แก้ทั้งฉบับ

โภคิน-พงษ์เทพ

นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา ในฐานะคณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาล 11 คนศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ แถลงหลังการประชุมนัดแรกที่พรรคเพื่อไทยว่า ที่ประชุมมีมติให้ตนเป็นประธานคณะทำงาน และแต่งตั้งนายพงษ์เทพ เทพกาญจนา สมาชิกพรรคเพื่อไทย เป็นรองประธาน โดยข้อสรุปของที่ประชุมวันนี้ได้มอบหมายให้พรรคร่วมรัฐบาลไปศึกษาคำวินิจฉัย กลางและคำวินิจฉัยส่วนตนใน 4 ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างละเอียด เนื่องจากเห็นว่ายังไม่มีความชัดเจนและนำมาร่วมหารืออีกครั้งในวันที่ 20 ส.ค.นี้

นายโภคิน กล่าวต่อว่า ที่ประชุมมีการหารือ 2 ประเด็น คือ คำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตนของศาลรัฐธรรมนูญมีสาระและนัยยะอย่างไร บ้าง โดยได้พิจารณาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญใน 4 ประเด็นและเห็นว่ายังไม่มีความชัดเจน เช่น ประเด็นแรกที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 1 วินิจฉัยว่าศาลรัฐธรรมนูญมีสิทธิรับคำร้องโดยตรงจากผู้ทราบการกระทำได้นั้น กลับไม่ปรากฏคำอธิบายในคำวินิจฉัยว่าเหตุใดก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญได้ วินิจฉัยโดยยึดหลักการต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุด (อสส.) มาตลอด อีกทั้งในเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญเองได้ระบุชัดเจนว่าต้องยื่นผ่าน อสส.เช่นกัน ดังนั้นอาจจะทำให้ประชาชนเกิดความสับสนได้ และหลังจากนี้คงไม่มีใครไปยื่นเรื่องผ่าน อสส.อีก

นายโภคิน กล่าวอีกว่า ข้อสังเกตอีกประการ คือ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นที่ 2 ที่ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 โดยการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับสามารถทำได้หรือไม่ ก่อนจะวินิจฉัยในประเด็นที่ 3 คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ซึ่งเห็นว่าประเด็นที่ 3 ควรจะได้รับการวินิจฉัยก่อนประเด็นที่ 2 เพราะเมื่อวินิจฉัยในประเด็นที่ 3 แล้วว่าไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็สามารถดำเนินการได้ แต่เมื่อนำประเด็นที่ 2 มาพิจารณาก่อนจึงส่งผลให้คำวินิจฉัยออกมาเสมือนคำแนะนำให้จัดทำประชามติก่อน แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

ส่วนอีกประเด็นที่ได้ประชุมหารือกัน คือ เพราะเหตุใดจึงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นว่ามีบทบัญญัติหลายมาตราที่ขัดแย้งกันเองในรัฐธรรมนูญ ปี 50  และขัดกับหลักนิติธรรมอย่างชัดแจ้ง อาทิ มาตรา 237 ที่ลงโทษยุบทั้งพรรคการเมืองจากความผิดของคน ๆ เดียว ซึ่งขัดกับหลักนิติธรรมที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ในมาตรา 3 อีกทั้งยังมีที่มาจากประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรง เป็นประมุข (คปค.) ซึ่งไม่ชอบธรรม และรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมาไม่เคยเคยบัญญัติเช่นนี้มาก่อน

“ดังนั้นควรให้ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญมาจากประชาชนทั้งประเทศผ่าน สสร. เพื่อสร้างความชอบธรรมเเละป้องกันไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญด้วย” นายโภคินกล่าว

นายโภคิน กล่าวทิ้งท้ายว่า ยังไม่สามารถสรุปกรอบระยะเวลาการทำงานของคณะทำงานชุดนี้ได้ต้องขึ้นอยู่กับ เนื้อหาประเด็นและความยากง่ายในการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลนำข้อสรุปของที่ประชุมไปแจ้ง แต่ละพรรคทุกครั้ง


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 11 อรหันต์ 5 พรรคร่วม กุศโลบาย 2 หน้า แก้รัฐธรรมนูญ

view